xs
xsm
sm
md
lg

เวรกรรมทันตา-โกงจำนำข้าว “2 พี่น้องชินวัตร” พินาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใกล้อวสานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จำนำข้าวชี้ขาดหลุดเก้าอี้ เข้าตำรา “หมองูตายเพราะงู” วัดใจ ป.ป.ช. สอยหรือไม่ 27 กุมภาฯ นี้ นักวิชาการด้านข้าวชี้โครงการนี้สร้างปัญหามากมาย ทำลายระบบค้าข้าวทั้งหมด รัฐบาลกลายสภาพเป็นพ่อค้าเอง ขัดหลักการทำธุรกิจแข่งเอกชน ข้าวไทยกลายเป็นข้าวด้อยคุณภาพ ซ้ำร้ายสร้างภาระให้ชาวนาเหตุต้นทุนการผลิตเพิ่มเป็น 9 พันบาทต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดวูบเหลือ 6-7 พันบาท ชาวนาสุดระทม

โครงการรับจำนำข้าวถือเป็นนโยบายเด็ดของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเมื่อปี 2554 บวกด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ด้วยแรงหนุนจากชาวนาและมนุษย์เงินเดือนทั่วประเทศ ด้วยนโยบายที่โดนใจกับฐานเสียงที่มากที่สุดของประเทศ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยลอยลำกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เข้าสูตร ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ เล่นเอาพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนโยบายในลักษณะนี้ออกมาเช่นกัน แต่รูปแบบและวิธีการแตกต่างกัน รวมถึงตัวเลขที่เสนอให้กับประชาชนน้อยกว่าเพื่อไทย ทำให้ประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายดังกล่าวจากนักวิชาการมากมาย แต่พรรคเพื่อไทยไม่สน เดินหน้านโยบายดังกล่าวตามที่หาเสียงไว้

ด้วยภาวะที่ประเทศคู่แข่งที่ผู้ผลิตข้าวประสบปัญหาเรื่องส่งออก ไอเดียที่คิดจะให้ประเทศไทยเป็นผู้กำหนดราคาข้าวของโลกถูกขยายผ่านคนในพรรคเพื่อไทยทุกคน ด้วยมุมมองว่าเมื่อประเทศไทยคุมสต๊อกข้าวไว้ได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว สุดท้ายราคาข้าวในตลาดโลกก็จะขยับขึ้นมา แม้จะรับจำนำจากชาวนาสูงกว่าราคาตลาด สุดท้ายเมื่อราคาข้าวในตลาดโลกขยับขึ้น รัฐบาลก็จะขายข้าวออกไปในราคาสูงเช่นกัน

ใครที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ จะถูกโต้กลับจากคนของพรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะเป็นระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐมนตรีจนถึงนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาสอดรับกันไปในแนวทางเดียวกันว่า พวกที่เห็นต่างเป็นเพราะไม่ต้องการเห็นชาวนาลืมตาอ้าปากได้

2 ฤดูกาลแรกของโครงการรับจำนำข้าวทุกอย่างเดินได้อย่างราบรื่น แม้จะมีเสียงเตือนและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทุจริตในขั้นตอนต่างๆ รัฐบาลสามารถหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาได้ตามสัญญา นำข้าวมาจำนำกับโรงสีเสร็จได้รับใบประทวนนำไปขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 7 วันรับเงิน

แต่ในฤดูกาล 2556/2557 ทุกอย่างเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ชาวนาไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 เรื่อยมา ย่างเข้าเดือนที่ 6 รัฐบาลก็ยังไม่สามารถจัดการหาเงินมาจ่ายชาวนาได้ จึงกลายเป็นการออกมาประท้วงของชาวนาเกือบทั้งประเทศ

เมื่อเจอ 2 แรงบวกทั้งจากการชุมนุมของ กปปส.และการชุมนุมของชาวนาทั่วประเทศ ทำเอารัฐบาลเริ่มตกอยู่ในที่นั่งลำบากขึ้นทุกขณะ ความพยายามที่จะยื้ออยู่ในอำนาจต่อของรัฐบาลทำทุกวิถีทาง แต่ทีเด็ดทีขาดคงต้องอยู่ที่คำตัดสินของ ป.ป.ช.และกระบวนการทางกฎหมาย ต้องวัดดวงกันดู
นโยบายพรรคเพื่อไทย
ทำลายข้าว-ทำลายชาวนา

แต่กว่าจะมาถึงวันที่รัฐบาลตกที่นั่งลำบากในวันนี้ โครงการรับจำนำข้าวได้พ่นพิษกับภาคส่วนต่างๆ มากมาย ทั้งจากการที่แนวคิดที่ทักษิณคิดไว้อย่างความต้องการควบคุมราคาข้าวไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามสามารถผ่านพ้นเรื่องภัยพิบัติกลับสามารถส่งออกได้อีกครั้ง แถมเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่แบกสต๊อกข้าวไว้ค่อนข้างมาก

ผลที่ตามมาคือประเทศไทยไม่สามารถส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้เหมือนเดิม เนื่องจากมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง แถมผู้ซื้อเดิมก็หันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน ทำให้ประเทศไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวที่เคยครองแชมป์ต่อเนื่องกันมาหลายปี หล่นลงไปอยู่อันดับ 3 รองจากอินเดียและเวียดนาม

สำหรับผลกระทบกับวงการค้าข้าว นโยบายนี้ยังเป็นการทำลายอาชีพของผู้ส่งออกข้าวทั้งหมด ผู้ส่งออกบางรายต้องปิดกิจการลง เพราะไม่มีชาวนารายใดมาขายข้าวให้ เนื่องจากโครงการนี้แม้จะเรียกว่าโครงการรับจำนำ แต่ในความเป็นจริงเมื่อราคาที่ตั้งไว้สูงกว่าราคาตลาดมาก ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจึงไม่มีใครคิดจะไถ่ถอนออกไปขายกับรายอื่นที่ให้ราคาตลาดที่ต่ำกว่ามาก ส่วนใหญ่จึงเป็นการขายข้าวขาดให้กับรัฐบาล

ที่สำคัญคือลักษณะที่รัฐดำเนินการดังกล่าวเท่ากับรัฐบาลเป็นผู้ค้าข้าวรายเดียวของประเทศ นั่นเท่ากับเป็นการทำธุรกิจแข่งกับเอกชน โดยเป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งออกเอง ซึ่งขัดกับหลักการที่รัฐบาลไม่ควรเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน

ประการต่อมา โครงการรับจำนำข้าวยังทำให้ระบบการผลิตข้าวของไทยเสียหาย จากเดิมที่ชาวนาต้องพยายามหาข้าวพันธุ์ดีมาปลูกเพื่อทำให้ข้าวมีคุณภาพ แต่โครงการนี้รับจำนำข้าวทุกเมล็ดชาวนาจึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการแบบเดิม แค่พันธุ์ข้าวทั่วไปปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมาเพียงเพื่อเข้าโครงการรับจำนำเท่านั้น ทำให้ข้าวจากประเทศไทยกลายเป็นข้าวด้อยคุณภาพ ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศไทยลดลงมาเหลือเท่ากับข้าวจากประเทศอินเดีย

เมื่อเกิดโครงการนี้ขึ้นมาทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากค่าเช่านา ค่าแรงงานอันสืบเนื่องมาจากค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาท ค่ารถไถต่างๆ ดังนั้นต้นทุนในการผลิตข้าวจึงสูงขึ้นมาเป็น 9,000 บาทต่อตัน สูงขึ้นจากก่อนมีโครงการที่ 7,000 บาทต่อตัน ไม่ว่าโครงการนี้จะมีต่อไปหรือไม่ แต่ต้นทุนการผลิตข้าวนั้นไม่มีทางปรับลดลง ขณะที่ราคาข้าวในตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 6-7 พันบาท

นั่นเท่ากับชาวนาถูกหลอก ทั้งหลอกให้เลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถรับผิดชอบกับการค้างเงินค่าข้าวชาวนาได้ ต้นทุนการผลิตจากนี้ไปก็สูงขึ้น รวมไปถึงเรื่องค่าครองชีพ แถมยังทำให้ชาวนาใช้จ่ายเงินเกินตัว เช่น เมื่อข้าวได้ราคาดีก็ซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าเมื่อเงินที่รัฐบาลค้างจ่ายชาวนาสะดุดลง ของที่ซื้อมาในราคาเงินผ่อนนั้นจะถูกยึดไปหรือไม่ ยิ่งรายที่ไม่มีเงินสำรองไว้จะลำบาก

รัฐอ่วม-ออมสินกระอัก

ข้าวในสต๊อกที่มีมากกว่า 18 ล้านตัน ทั้งจากการกุมสต๊อกไว้เพื่อรอราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และไม่สามารถขายข้าวออกไปได้ เนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง สต๊อกข้าวที่มากขึ้นเริ่มสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลมากขึ้น ยิ่งเก็บไว้นานข้าวยิ่งเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้ราคาข้าวต้องลดลงตามสภาพ ยิ่งสร้างภาระขาดทุนให้กับรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาล เริ่มไม่สามารถมีเงินมาใช้หมุนเวียนสำหรับการรับจำนำในฤดูกาล 2556/2557 ได้ อันเนื่องมาจากสต๊อกข้าวเหล่านั้นกลายเป็นต้นทุนของรัฐบาล เมื่อไม่มีเงินจากการขายข้าวมาใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการรับจำนำครั้งต่อไป การค้างจ่ายเงินให้กับชาวนาจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 เป็นต้นมา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดม็อบชาวนาขึ้นทั่วประเทศ

ความพยายามดิ้นรนหาเงินมาจ่ายชาวนา เพื่อลดกระแสความไม่พอใจ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องวิ่งหาเงินจากแหล่งต่างๆ โดยมุ่งไปที่ธนาคารของรัฐเป็นหลัก เข้ามาเพื่อแก้ปัญหา ทั้งจาก ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้กับโรงสี และที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้กับ ธ.ก.ส. 2 หมื่นล้านบาท แต่เลี่ยงจะตอบต่อสาธารณะว่าเป็นการปล่อยกู้โครงการรับจำนำข้าว

ทันทีที่แน่ชัดว่าธนาคารออมสินเปิดวงเงินให้กับ ธ.ก.ส.ไปจ่ายเงินให้กับชาวนา ปฎิกิริยาของผู้ฝากเงินกับธนาคารออมสินเกิดขึ้นทันทีที่เริ่มตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ของวันมาฆบูชาและหนักมากขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 มียอดฝาก 1 หมื่นล้านบาท และถอน 3 หมื่นล้านบาท ถัดมา 18 กุมภาพันธ์ มีการฝากเงิน 1.08 หมื่นล้านบาท และถอนเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท รวม 2 วันมีเงินไหลออกไป 4.8 หมื่นล้านบาท

ส่งผลให้คณะกรรมการธนาคารออมสินยกเลิกปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์กับ ธ.ก.ส. พร้อมเรียกคืนเงิน 5 พันล้านบาท แรงกดดันที่เกิดขึ้นส่งผลให้นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประกาศลาออก
การถอนเงินที่ธนาคารออมสิน ชุมพร
ยิ่งลักษณ์หนีไม่พ้น

ในส่วนของวิบากกรรมที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องเผชิญจากโครงการนี้ โดยเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งคณะไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่ามีพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและเอกสารยืนยันชัดเจนว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. ที่ทักท้วงว่าโครงการรับจำนำข้าวจะก่อให้เกิดปัญหาทุจริตอย่างมหาศาล ทุกขั้นตอนและกระบวนการ

แทนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะระงับยับยั้งโครงการตาม พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 (1) กลับยืนยันที่จะดำเนินโครงการต่อไป จึงแสดงถึงเจตนาของผู้ถูกกล่าวหาที่จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270

โดย ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ในวันนี้ให้มีหนังสือเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหามาพบและแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบตามระเบียบการไต่สวนทุจริต ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้

นับเป็นความต่อเนื่องของการพิจารณาในคดีดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น และบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 15 รายและบริษัทจีเอสเอสจี บริษัทไห่หนาน และบุคคลที่อ้างว่าเป็นกรรมการผู้จัดการตัวแทนของบริษัทนี้ รวมถึงตัวแทนคนไทยที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อ 16 มกราคม 2557

คิดพลาด-บริหารพลาด

การผุดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเพื่อไทย เพียงเพื่อต้องการเอาชนะทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ได้ก่อให้เกิดปัญหานานัปการกับอุตสาหกรรมข้าวไทย ทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ผิดพลาด เนื่องจากมองว่าสามารถควบคุมตลาดค้าข้าวได้ การต้องการเอาชนะตลาดเพื่อเป็นผู้ควบคุมราคาข้าวด้วยการคุมเรื่องของปริมาณข้าวไว้ในมือ โดยหวังว่าเมื่อปริมาณข้าวในตลาดโลกมีน้อยลงราคาข้าวก็จะขยับขึ้น จากนั้นจึงจะขายข้าวออกไปในราคาสูง แต่ทุกอย่างพลาดเนื่องจากประเทศอื่นๆ สามารถผลิตข้าวได้มากขึ้นทั้งอินเดียและเวียดนาม

จำที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร พูดไว้ได้หรือไม่ว่า รัฐบาลจะพังเพราะโครงการรับจำนำข้าว ตอนนี้กำลังจะเป็นอย่างนั้น เนื่องจากรัฐบาลตั้งราคารับซื้อไว้สูงกว่าราคาตลาดโลก ข้าวที่รับจำนำที่ราคา 15,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวที่สหรัฐฯ อยู่ที่ 11,000 บาท แน่นอนว่าในช่วง 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา รัฐบาลน่าจะขาดทุนจากโครงการนี้ไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ

อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับโครงการนี้คือการระบายขายหลังจากที่รับจำนำมา ในปีแรกระบายข้าวออกไปได้แค่ 4-5 หมื่นตัน ปีที่ 2 ระบายได้มากขึ้นราว 1 แสนตัน เฉลี่ยแล้ว 2 ปี ระบายข้าวได้ 7.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

อย่างเรื่องการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐนั้น ทาง ป.ป.ช.ก็ชี้ออกมาแล้วว่าไม่มีการดำเนินการจริง หรือแม้กระทั่งการระบายข้าวผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) ในช่วง 6 เดือนแรกไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพิ่งมาทำในช่วง 6 เดือนหลัง แต่ตลาดในส่วนนี้เงียบมานานจึงทำให้การระบายข้าวออกทำได้เพียงแค่ 1-2 แสนตันเท่านั้น
สภาพข้าวสารในโรงสี จังหวัดพิษณุโลก
รัฐบาลต้องลาออกสถานเดียว

นอกจากนี้โครงการรับจำนำข้าวนอกจากจะเป็นเครื่องมือหนึ่งทางการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยนำมาใช้เพื่อเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองแล้ว ยังมีช่องโหว่เปิดให้มีการทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การนำข้าวจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ มีการซื้อโควตาของชาวนา เปิดทางให้โรงสีได้รับประโยชน์มาก รวมถึงยังมีเรื่องค่าบริหารจัดการข้าว ค่าเช่า ต่างๆ อีกมากมาย

ถึงวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่าง บุญทรง เตริยาภิรมย์ หรือยรรยง พวงราช โกหกประชาชน ไม่ได้จัดการหรือบริหารข้าวให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำหน้าที่แค่รับจำนำ แต่ไม่ได้ทำการระบายข้าวออกไป และตอนนี้ก็สายเกินไป เพราะคู่แข่งมีมาก การระบายข้าวออกอย่างมากก็ทำได้ไม่เกิน 8 ล้านตัน อีกทั้งกระทรววงการคลังก็เจอปัญหาเรื่องรัฐบาลรักษาการที่ติดขัดในเรื่องการสร้างหนี้ผูกพันกับรัฐบาลใหม่

ปัญหาทุกอย่างจึงติดขัดไม่มีทางออก ยิ่งตอนนี้มีปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาลอีกโดยเฉพาะที่กระทรวงพาณิชย์ ยิ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องลาออก เพราะไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว ทั้งหมดเป็นผลมาจากความผิดพลาดในเรื่องนโยบายและผิดพลาดในเรื่องการบริหารจัดการ

โครงการรับจำนำข้าวที่เคยเป็นตัวช่วยให้พรรคเพื่อไทยจากเสียงของชาวนาอุ้มเข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2554 วันนี้โครงการนี้จากชาวนาที่เคยเทคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทยได้กลายเป็นการเทเสียงเพื่อขับไล่รักษาการรัฐบาลยิ่งลักษณ์แทน และอีกปัจจัยหนึ่งที่จะชี้ขาดการอยู่หรือไม่ของนางสาวยิ่งลักษณ์คือมติของ ป.ป.ช.ว่าจะมีการชี้มูลความผิดในโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ งานนี้จึงเข้าตำราหมองูตายเพราะงู

เพราะวันนี้ชาวนากำลังยกระดับไล่ล่ายิ่งลักษณ์เพื่อทวงถาม ‘เงิน’จำนำข้าวของชาวนามันหายไปไหน!!

กำลังโหลดความคิดเห็น