xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” พูดอย่างทำอย่าง หลักฐานชัดฝ่าไฟแดงเสียเอง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วาทกรรมอันสวยหรูของยิ่งลักษณ์เป็นแค่คำพูดหลอกประชาชน แต่รัฐบาลทำตรงกันข้ามไม่เคารพกฎหมาย กระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แถมยังเดินหน้าเลือกตั้งนำประเทศไปสู่วิกฤต ทั้งที่เห็นแล้วว่าจะเกิดปัญหาวุ่นวายตามมาทั้งจากการเลือกตั้งไม่ครบ และคนที่ส่งลงรับสมัครอาจเจอบทลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง กลายเป็นการละเลงงบเลือกตั้ง 3,885 ล้านบาทเล่น ปัญหานี้จะยุติได้ต้องยุบพรรคอีกครั้งหนึ่ง!
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
“เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย”

“ขอให้เคารพกฎหมาย”

“การดำเนินงานของรัฐบาลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ”

ถ้อยคำเหล่านี้มักจะได้ยินจากปากของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตกเป็นรอง มักจะถูกหยิบยกมาใช้เพื่อเป็นเหตุผลในการช่วงชิงความได้เปรียบเสมอ นอกจากนี้ยังกลายเป็นเกราะกำบังให้กับรัฐบาลในการสร้างความชอบธรรมและในบางครั้งยังกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลได้อีกด้วย

โดยเฉพาะในช่วงปลายรัฐบาล ที่เครื่องมือในการตรวจสอบรัฐบาล อย่างองค์กรอิสระเดินเครื่องในคดีความต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการเข้าข่ายต่อการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงการออกมาเดินเกมนอกสภาอย่างจริงจังของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์

แม้ในทางปฏิบัติพรรคฝ่ายค้านจะไม่สามารถทัดทานการบริหารงานของรัฐบาลได้ ด้วยหลักเสียงข้างมากที่ลงมติกันครั้งใดก็แพ้ทุกครั้ง รัฐบาลอยากจะแก้กฎหมายหรือผุดโครงการใดๆ ทุกอย่างทำได้สะดวก และไม่มีเสียงทัดทานจากพรรคร่วมรัฐบาลหากยังต้องการเป็นฝ่ายรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย ดังนั้นการยื่นเรื่องเพื่อให้องค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกระบวนการทางศาลจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยยับยั้งอำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้

ที่สำคัญสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กระทำโดยลุแก่อำนาจนั้น สุดท้ายก็กลายเป็นบูมเมอแรงกลับมาเล่นงานรัฐบาลและพลพรรคเพื่อไทยอย่างแสนสาหัสอยู่ในขณะนี้

ประชาธิปไตยแต่เผด็จการ

เห็นได้จากการกระทำที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ใช้วิธีการตกแต่งแปลงร่างกันเพื่อยกเว้นความผิดให้กับผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงและมีการปราบปรามในปี 2553 ถูกขยายเวลาออกไปจนถึงช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศในปี 2547 เท่ากับเป็นการยกเว้นโทษที่อดีตนายกฯ คนนี้เคยถูกศาลพิพากษาให้จำคุกและถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท โดยอาศัยเหตุการณ์ในปี 2553 เป็นแค่เหตุที่อ้างอิง และเท่ากับเป็นการยกเว้นความผิดให้กับรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นที่เป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม เท่ากับเป็นการเฉลยถึงเหตุผลที่แท้จริงคือเพื่อต้องการช่วยนายใหญ่อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

โดยเฉพาะการลงมติผ่านร่างกันรวดเดียวในวันดังกล่าวจาก 31 ตุลาคมต่อเนื่องมาจากรุ่งเช้าของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กลายเป็นชนวนให้ผู้คนทั้งประเทศไทยไม่พอใจ แม้กระทั่งคนเสื้อแดงเอง เมื่อถูกกระแสกดดันอย่างหนัก การลงมติในชั้นของวุฒิสภาจึงได้คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ลงเพื่อลดกระแสความไม่พอใจ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลมักพูดเสมอว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารไม่ได้เข้ามายุ่งกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผันกลับสามารถดึงเอาพรรคร่วมรัฐบาลเหล่านั้นมาลงสัตยาบรรณร่วมกันได้ว่าจะไม่นำเอากฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก

ประการต่อมารัฐบาลมักกล่าวอ้างระบอบประชาธิปไตยเสมอ แต่คำว่าประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมากเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย และการที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแต่รัฐบาลกลับไม่สนใจเสียงทักท้วงเหล่านี้และดันผ่านวาระ 2 และ 3 ในชั้นของนิติบัญญัติภายใต้เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่แตกต่างอะไรกับการเป็นเผด็จการรัฐสภา

ไม่เพียงแค่เรื่องของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่สะท้อนความเป็นเผด็จการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ทั้งเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 การใช้อำนาจของเสียงข้างมากที่มีอยู่เอาชนะฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความเป็นเผด็จการของรัฐบาลชุดนี้

ขัดรัฐธรรมนูญ-ไม่เคารพกฎหมาย

เมื่อสถานการณ์จวนตัวผู้ชุมนุม กปปส. ประกาศจะบุกบ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงวันที่ 22 ธันวาคม 2556 นายกรัฐมนตรีได้ออกมาแสดงความหวังว่าผู้ชุมนุมจะชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย แต่หากกลับไปพิจารณาจากการกระทำของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ที่ออกแถลงการณ์ตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ตัดสินเรื่องประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาถูกวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2556 นั่นเท่ากับเป็นการไม่เคารพคำตัดสินของศาล
การออกมาตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม การลุแก่อำนาจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับมวลชนอย่างยิ่ง จึงเป็นที่มาของการรวมพลต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ประชาชนเรือนล้านคนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ

แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าบริหารประเทศต่อไป จนกระทั่งมีการนัดชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ จึงประกาศยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และรัฐบาลยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการ แม้จะมีเสียงคัดค้านในเรื่องการเป็นรัฐบาลรักษาการที่อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของการเลือกตั้ง อันเนื่องจากความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และยังมีข้อเรียกร้องให้มีการปฎิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อ

จากนั้นในวันที่ 7 มกราคม 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติกล่าวโทษสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา 308 คน ที่มีการขอยื่นถอดถอนในคดีที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จากจำนวนที่มีการขอถอดถอนทั้งสิ้น 381 คน

ตามมาด้วยอีกคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เมื่อ 8 มกราคม 2557 โดยศาลชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

กระแสความไม่พอใจจากภาคประชาชนที่เห็นพฤติกรรมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่กระทำการอันขัดต่อหลักกฎหมาย ไม่เคารพกฎหมาย รวมถึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การออกมาแสดงพลังครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 และครั้งที่ 2 เมื่อ 9 ธันวาคม 2556 ครั้งที่ 3 เมื่อ 22 ธันวาคม 2556 และครั้งที่ 4 ในวันที่ 13 มกราคม 2557 ที่ประกาศปิดกรุงเทพฯ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ

วาทกรรมอำพราง

แม้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงการกระทำที่ผ่านมาของรัฐบาลว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาทั้งนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ที่กระทำการส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และการถูกกล่าวโทษ ส.ส.ที่ส่วนใหญ่สังกัดในพรรคเพื่อไทยและ ส.ว.อีก 308 คน กับการลงมติร่างดังกล่าวที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผลจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขกฎหมายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และการกล่าวโทษของ ป.ป.ช. นับเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคำพูดของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มักหยิบยกคำว่าประชาธิปไตย ต้องเคารพกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเพียงวาทกรรมเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคและฝ่ายของรัฐบาลเท่านั้น

เนื่องจากการกระทำที่ผ่านมาล้วนแต่ขัดกับความเป็นจริง รัฐบาลใช้เสียงข้างมากโดยไม่คำนึงถึงเสียงข้างน้อย จึงไม่แตกต่างกับการเป็นเผด็จการ หรือการพร่ำบอกให้คนเคารพกฎหมาย แต่พรรคเพื่อไทยเองกลับออกมาแถลงต่อสาธารณะปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และที่ชัดเจนคือการกระทำในการแก้กฎหมายของรัฐบาลล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โยนเลือกตั้งไปที่รัฐบาล

นาทีนี้คงไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องจริยธรรมหรือความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาลกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รัฐบาลยังยื้อที่จะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่ฟากฝั่ง กปปส.ได้นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 13 มกราคมนี้เช่นกันกับปฏิบัติการ Shut Down Bangkok

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนที่จะถึงนัดหมายการชุมนุมใหญ่ของ กปปส.ได้มีการท้วงติงถึงการเดินหน้าเพื่อการเลือกตั้งจากทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อ 9 มกราคม ซึ่งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ 3,885 ล้านบาท โดยกังวลว่า การจัดเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงมิให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายเงินแผ่นดินจำนวนมาก จึงมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีการพิจารณาทบทวนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง
และเมื่อ 10 มกราคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาล พิจารณาออกพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยหยิบยกน้ำหนักไปที่จำนวนผู้สมัคร ส.ส.ที่ยังขาดอยู่อีก 28 เขต ที่จะส่งผลให้สัดส่วนของ ส.ส.หลังจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไม่ครบ 95% และไม่สามารถเปิดสภาได้

ดังนั้นจะมีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาล

เลือกตั้งปัญหาเพียบ

นายคมสัน โพธิคง นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ มองถึงสถานการณ์ที่รัฐบาลจะเดินหน้าเลือกตั้งต่อไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ว่า อุปสรรคก็คือมีอีก 28 เขตที่ยังไม่มีผู้สมัคร ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งก็จะได้จำนวน ส.ส.มาไม่ครบ 95% จึงเปิดสภาไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ทาง กกต.ก็ทราบดี จึงเสนอเรื่องนี้ไปที่รัฐบาลให้ตัดสินใจ ก็เป็นการโยนเรื่องกันไปมาของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
นายคมสัน โพธิคง นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์
หากจะมีการดึงดันเพื่อเปิดสภาให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ครบองค์ประกอบก็จะถูกฟ้องร้องกันอีก หรือถ้ามีการเลือกตั้งกันภายหลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ครบก็จะต้องเสียงบประมาณในการเลือกตั้งอีก

ดังนั้น กกต.จะต้องชี้ออกมาก่อนว่าควรมีการเลือกตั้งหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็จะเท่ากับเป็นการละลายงบประมาณ 3,885 ล้านบาทไปอย่างเปล่าประโยชน์

นี่เป็นเพียงขั้นตอนการเลือกตั้งตามปกติที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคต หากรัฐบาลจะเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป และอาจมีปัญหาต่อไปอีกเมื่อรายชื่อที่พรรคการเมืองส่งไปลงรับสมัครเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ ป.ป.ช.กล่าวโทษมากกว่า 200 คนเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา และถ้ามีการลงโทษด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองขึ้นมาหรือต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทั่งมีการยุบพรรคการเมือง ทาง กกต.ก็จะต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งกันใหม่

เมื่อเห็นแนวทางที่จะเกิดขึ้นแล้ว การจะเดินหน้าเลือกตั้งต่อไปจึงจเป็นการสร้างภาระให้กับงบประมาณในการเลือกตั้งและยังสร้างความขัดแย้งทางการเมืองให้เพิ่มขึ้น และการตัดสินใจจากนี้ไปคงอยู่ที่รัฐบาลหลังจากที่ กกต.โยนเรื่องนี้ไปที่รัฐบาลแล้ว

หากรัฐบาลยังดื้อเดินหน้าต่อไปปัญหาจะไม่ยุติ และอาจต้องมีการยื่นเรื่องการกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมาให้ศาลพิจารณาว่าขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่ และถ้าผิดจริงอาจมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค นั่นน่าจะเป็นการยุติปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ทางเดินรัฐบาลแคบลง

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว และแกนนำ กปปส. กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกกี่ครั้ง ถ้าไม่มีการเข้าไปแก้ไขกับต้นเหตุของปัญหาก็ไม่มีประโยชน์ หากรัฐบาลยังคงดื้อแพ่งอยู่อย่างนี้ และผลที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือประชาชนกลายเป็นเหยื่อของหน่วยงานรัฐที่ยื้อกันไปมา
 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว และแกนนำ กปปส.
เมื่อ กกต.เสนอเรื่องของปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ให้รัฐบาลตัดสินใจแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลยังต้องการเดินหน้าต่อโดยอาจบีบบังคับ กกต. ดำเนินการเลือกตั้งต่อ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือรัฐบาลก็จะถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น

ยิ่งถ้าเลือกตั้งไปแล้ว ป.ป.ช.ชี้มูลบรรดา ส.ส.ที่ถูกร้องอาจมีการดำเนินคดีทั้งอาญาและในทางการเมือง ก็จะกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตกันยิ่งขึ้น และถ้าเป็นเช่นนั้นประเทศที่อยู่ในภาวะที่ไร้ ส.ส.บ้านเมืองก็เดินต่อไปไม่ได้

ดังนั้นดีที่สุดคือต้องมีการปฏิรูปประเทศก่อน จึงจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ อีกทั้งภาคประชาชนส่วนใหญ่ก็ตอบรับกับเรื่องดังกล่าว เห็นได้จากการนัดชุมนุมใหญ่ครั้งใดของ กปปส. ก็จะมีผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นมาทุกครั้ง ถึงวันนี้ทางเดินของรัฐบาลแคบลงทุกวัน แต่เส้นทางการปฏิรูปกลับเปิดกว้างขึ้นทุกขณะ

ด้วยวาทะของผู้นำประเทศที่พร่ำบอกต่อผู้คนเสมอว่าให้เคารพกฎหมาย รัฐบาลนี้ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมามีเครื่องที่พิสูจน์ชัดแล้วว่าการกระทำของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เคารพกฎหมายและยังมีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการที่รัฐบาลยังดึงดันที่จะเดินหน้าการเลือกตั้งต่อไปรังแต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคมและประเทศชาติมากยิ่งขึ้น ดังนั้นปัญหาของประเทศชาติที่เกิดขึ้นในเวลานี้จะยุติลงได้ด้วยการตัดสินใจของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น