xs
xsm
sm
md
lg

“พระอนิลมาน” แนะคนไทยลด “โลภะ” สู่หนทางดับทุกข์ -ชี้ “เงิน” ซื้อบุญ(สวรรค์)ไม่ได้!(ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ชี้ “มหานิกาย-ธรรมยุติ” อยู่ร่วมกันได้ ยึดศีล 227 ข้อเหมือนกัน ยุคสมเด็จพระญาณสังวรฯ ประสานลงตัวไร้ปัญหา เผยจุดอ่อนพุทธศาสนาคือการตีความด้านหลักธรรม จนเกิดนิกายต่างๆ มากมาย ระบุศาสนาพุทธอยู่ท่ามกลางยุคทุนนิยม  แนะแนวทางปฏิบัติภาคประชาชนสร้างกรอบชีวิตพิจารณาตัวเอง รู้จักปล่อยวาง ลด “โลภะ” แค่นี้ก็ไร้ทุกข์ ขึ้นสวรรค์โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อบุญและสร้างหนทางสู่นิพพานได้ด้วย!

แม้ว่าประเทศไทยจะมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาพุทธ แต่ภายใต้ศาสนาพุทธของเมืองไทยยังแยกออกเป็น2 นิกายใหญ่คือมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ทั้ง 2 นิกายต่างก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ประมุขของพระสงฆ์

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จากนี้ไปขั้นตอนในการสรรหาและแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ จึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (แก้ไข 2535)

ทีม Special Scoop เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน มีโอกาสสัมภาษณ์พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร ถึงในยุคสมัยที่สมเด็จพระญาณสังวรทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่า สิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นอยู่นั้นอาจจะเป็นพระพิเศษ หรือผู้นำที่พิเศษ พระองค์ท่านเป็นทั้งมหานิกายและธรรมยุติ เดิมท่านบวชเป็นมหานิกาย วัดเทวสังฆาราม บวชได้ 1 พรรษา หลังจากนั้นกลับมาบวชเป็นธรรมยุติ จึงแตกต่างกับพระทั่วๆ ไปในประเทศไทย พระในระดับนี้จะไม่มีแบบพระองค์ท่าน

ดังนั้นในเรื่องการแบ่งแยกนิกาย สมเด็จฯ มีความสุขุม แยบยลและเป็นที่เคารพของทั้ง 2 นิกายโดยที่ไม่มีข้อติ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ตอนที่ได้รับสถาปนาเมื่อปี 2532 ตอนนั้นผู้ที่อาวุโสกว่า คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา แล้วยังมีสมเด็จพระพุทธาจารย์ วัดมหาธาตุ ทั้ง 2 พระองค์เป็นมหานิกาย แต่ทั้ง 2 พระองค์ ขอถอนตัว ขอเสียสละ และบอกว่าควรถวายสมเด็จพระญาณสังวรเป็นสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จฯ รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณกับพระมหานิกายตลอดเวลา ท่านเคยรับสั่งเป็นส่วนตัวกับอาตมาว่า “ท่านได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชเพราะพระทั้ง 2 พระองค์นี้ ท่านก็ยังไปกราบทั้ง 2องค์นี้เมื่อมีโอกาส แม้เป็นสมเด็จสังฆราชแล้ว ไม่มีคำว่าแบ่งแยกเป็นนิกาย”

สมเด็จฯ ท่านเป็นผู้ประสานประโยชน์ทั้งมหานิกายและธรรมยุติได้ดีที่สุดพระองค์หนึ่ง และในด้านธรรมยุติก็เจริญรุ่งเรืองอยู่ในยุคของพระองค์ ท่านประสานประโยชน์กับมหานิกายจนไม่มีอะไรต้องเป็นปัญหา ขณะเดียวกันรูปแบบการทำงานของพระองค์ทำให้ธรรมยุติเจริญรุ่งเรืองไปด้วย

เรื่องนิกายในยุคของสมเด็จฯ จึงไม่ใช่สาระสำคัญ นิกายอื่นๆ อย่างมหายานหรือวัชรยานเอง ท่านก็ประสานประโยชน์ได้ดี ใครจะเข้าเฝ้าก็ไม่เคยกีดกัน หรือองค์ทะไลลามะท่านก็ให้ความเสมอภาค ทั้งเรื่องการนั่ง การวางตัว แม้ว่าพรรษาท่านทะไลลามะน้อยกว่า แต่เป็นประมุขราชอาณาจักร การใช้คำ สมเด็จฯ ทรงละเอียดในเรื่องเหล่านี้มาก
 
ไร้ปัญหามหานิกาย-ธรรมยุติ

อาจเรียกได้ว่าในยุคของพระองค์ท่านการบริหารงานในพุทธศาสนาถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างเรื่องมหาจุฬา (มหานิกาย) หรือมหามกุฎ (ธรรมยุติ) มหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง พระองค์ท่านได้มีการผลักดันจนรัฐบาลรับรองวุฒิปริญญา และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในปี 2542

ในแง่ของการทำงานท่านไม่มีคำว่านิกาย อย่างการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมวันวิสาขบูชาก็ทั้ง 2 นิกาย ท่านเป็นผู้ริเริ่ม สำนักอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ 2509 พระองค์เป็นผู้ริเริ่ม ก็ไม่มีนิกาย เอาทั้ง 2 นิกายมา ดังนั้นในความขัดแย้งของทั้ง2 นิกายน้อยมากในยุคของท่าน พระองค์ไม่กีดกัน ให้ความสำคัญเท่าๆ กัน

การมองว่าในวงการสงฆ์มีเรื่องของความแตกแยกนั้น เป็นมุมมองของฆราวาส ในแง่ความคิดของพระ มหานิกายก็ถือศีล 227 ข้อ ธรรมยุติกถือ 227 ข้อเช่นกัน อาจมีบางอย่างทำด้วยกันได้ บางอย่างทำด้วยกันไม่ได้บ้าง อย่างเช่น เรื่องของสังฆกรรมนั่งประชุมด้วยกันได้หรือไม่แค่นั้นเอง นอกนั้นก็สามารถทำร่วมกันได้ สวดมนต์ด้วยกันได้ ฉันร่วมกันได้ นอนวัดเดียวกันได้ สวดมนต์ด้วยกันได้

มหานิกายในรูปแบบเดิม บางอย่างเป็นเรื่องที่ปฏิบัติตามประเพณีของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ครูบาอาจารย์ปฏิบัติมาอย่างนั้น ส่วนธรรมยุติในรัชกาลที่ 4 ยึดตามหลักคัมภีร์ ตามคำสอน เลยมองว่าธรรมยุติเคร่ง จริงๆ ก็คือหลักเดียวกัน

ในยุคนั้นพระธรรมยุติถูกมองว่าเป็นพระหัวก้าวหน้าที่ค้านข้อปฏิบัติเดิมๆ ได้ ทุกวันนี้สังคมไทยมีเยอะ อย่างการคิดของท่านอาจารย์พุทธทาส หรือของท่านเจ้าคุณประยุทธ พระหัวก้าวหน้าเหล่านี้มีมาก แต่ในช่วงรัชกาลที่ 4 พระหัวก้าวหน้า (ธรรมยุติ) เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ แต่พระวินัยยังเหมือนกัน

พระที่ปฏิบัติหย่อนยาน เมื่อประชาชนติเตียน ก็ทำให้ส่วนที่หย่อนยานตึงขึ้นมา อย่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 เห็นชัดความประพฤติของพระสมัยนั้นไม่เรียกว่ามหานิกาย เรียกว่ากลุ่มที่ปฏิบัติตามอาจารย์ กับกลุ่มที่ปฏิบัติตามคัมภีร์มีความแตกต่างเยอะ ปัจจุบันความแตกต่างตรงนั้นแทบจะไม่มีแล้ว มีบ้างเช่น ใส่รองเท้าเดิน กินนมหลังเที่ยง ตอนนี้กลับมาใกล้เคียงกันแล้ว

สมเด็จฯ ท่านไม่ได้มาแบ่งแยกนิกาย พระองค์ท่านมองเห็นวิวัฒนาการเหล่านี้มาโดยตลอด เป้าหมายของ ร.4 ไม่ใช่มาแบ่งแยกเป็นนิกาย ดังนั้นการแยกนิกายเป็นคำที่ผิดความจริง แต่ในความหมายของสงฆ์แบ่งเป็นกลุ่ม นิกายในพระพุทธศาสนาหมายถึง การเน้นอะไร บางกลุ่มเน้นในศีล ปฏิบัติ อย่างทีฆนิกาย หมายถึงคัมภีร์พระสูตรที่รวบรวมพระสูตรที่ยาวๆ มัฌชิมานิกาย คือพระสูตรที่กลางๆ หรืออังคุตรนิกาย พระสูตรที่มีธรรมเป็นตัวเลข คือการแบ่งหมวดหมู่ของหลักธรรม ซึ่งเป็นการจัดหมวดหมู่ เหมือนกับคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ไม่ได้หมายความว่าคณะใดดีกว่าคณะใด ที่มีวิชาแกนกลางที่ต้องเรียนด้วยกัน
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
ตีความธรรมะ-ต้นเหตุการซื้อบุญ

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) บอกว่า ในฐานะนักวิชาการทางพุทธศาสนา มองว่า เป็นความพยายามของยุคล่าอาณานิคม ต้องการให้แตกแยก ถ้าเราเข้าใจอย่างในญี่ปุ่นหรือจีน พวกเขาไม่เคยบอกว่านับถือมหายาน บอกแต่ว่านับถือศาสนาพุทธ เช่นเดียวกันกับไทย ซึ่งทุกคนก็นับถือพระพุทธเจ้า ต่างกันที่วัฒนธรรม แต่ละประเทศแต่ละวัฒนธรรมมองคำสอนอย่างไร

“ความจริงแล้วคำสอนคือคำสอนเดียวกันต่างกันที่การตีความในแต่ละวัฒนธรรมเท่านั้น”

โดยทุกวันนี้เราใช้คำว่า Globalization แต่ความจริงเป็นเพียงแค่ Concept  เพราะสิ่งที่ออกมาจากโลกาภิวัตน์ที่เป็นจริงคือ Glocalization เป็นการปรับแต่งมาเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ศาสนาก็เช่นเดียวกัน เพราะหากเรานำเอาวัฒนธรรมของที่อื่นมาใช้กับประเทศไทยก็ไม่สามารถปฏิบัติเหมือนกันได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างกัน

อย่างวินัยบางข้อเช่นให้อาบน้ำ 15 วัน 1 ครั้ง เพราะมีที่มาที่ไป สมัยนั้นมีโรงอาบน้ำเพียงโรงเดียว เวลาพระไปอาบน้ำชาวบ้านก็ถอยให้ บางครั้งกษัตริย์จะมาอาบน้ำก็ต้องนั่งรอ ชาวบ้านก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าก็เลยให้พระอาบน้ำ 2 อาทิตย์ 1 ครั้งก็พอ อาบมากกว่านั้นเป็นอาบัติ แต่หลักการดังกล่าวใช้กับปัจจุบันไม่ได้

ดังนั้นจึงควรมองที่หัวใจของพระพุทธศาสนา แต่บางครั้งข้อเท็จจริงก็เริ่มมีปัญหาเมื่อมีการตีความธรรมะ ที่ตีความเกินขอบเขต ทั้งนี้พุทธศาสนามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งพุทธศาสนาคือมีอิสระในการตีความ แต่บางครั้งก็อันตราย กลายเป็นจุดอ่อนไป

การที่พุทธศาสนารอดมา 2,600 ปีคือพระวินัย 227 ข้อ ถ้าผิดพระวินัยมีบทลงโทษ แต่การตีความธรรมะ ไม่มีบทลงโทษ อย่างการตีความนิพพานว่ามีหรือไม่มี อัตตามีหรือไม่มี ปัญหาที่เกิดนิกายต่างๆ ก็เกิดจากสิ่งเหล่านี้คือการตีความวินัยและการตีความธรรมะ

เรื่องวินัยที่ตีความธรรมะโยงกับภูมิศาสตร์ เลยเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวินัย เช่น พระกินข้าวเย็นไม่ได้ แต่แถวเชียงตุง พระฉันข้าวเย็นได้ หรือพวกหลวงจีนต่างๆ ฉันอาหารเย็นได้ เมื่อถามก็บอกว่าในคัมภีร์ฉันไม่ได้ แต่เป็นเพราะในอดีตพระต้องทำนาเอง จึงไม่มีแรง แต่เลี่ยงไปเรียกว่าฉันยา

อย่างท่านพุทธทาส การตีความธรรมะในรูปแบบใหม่ๆ ของท่านมีที่มา มีหลักฐานชัดเจน ก็เป็นที่ยอมรับ บางสำนักก็พยายามตีความธรรมในรูปแบบใหม่ๆ โดยมีหลักฐานบ้างไม่มีบ้าง

นี่คือจุดอ่อนของพระพุทธศาสนา ที่การตีความทางธรรมะทำได้อย่างอิสระ หากจะถามว่าหน่วยงานอื่นที่จะเข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างมหาเถรสมาคมนั้น ถ้าทำได้จริงคงไม่เกิดสันติอโศกหรือธรรมกายรวมถึงนิกายเล็กๆ อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย
 
สังคมไทยเข้าสู่ 'บุญนิยม-สวรรค์นิยม'

บางสำนักมีการตีความพระไตรปิฎกที่ต่างไปจากเดิม แต่ทั้งนี้ก็ถือเป็นเรื่องของเสรีภาพ เจ้าของพระไตรปิฎกไม่ใช่มหาเถรสมาคม ในประเทศอย่างศรีลังกา พม่า ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าใครจะตีความอย่างไร ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่ซับซ้อนกันอยู่ ถ้าแนวทางดังกล่าวถูกนำมาใช้ปฎิบัติสังคมพุทธเราก็จะเป็นบุญนิยม สวรรค์นิยม กรรมนิยม ซึ่งตอนนี้ก็เป็นอยู่แล้วไม่ต้องรอถึงพระไตรปิฏกของธรรมกาย

พวกเราชอบวัฒนธรรมที่สะดวก รวดเร็ว สำเร็จรูป อยากได้อะไรเร็วต้องลงทุน ในประเทศอื่นก็เป็นแล้ว พุทธในญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เป็นพุทธศาสนาในยุคทุนนิยม คือเรากำลังเอาสิ่งที่ทำแล้ว ล้มเหลวแล้วเข้ามาในประเทศไทย

มันคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ เหมือนกับเรื่องเทคโนโลยีเราเอามาจากตะวันตก แต่เรื่องความคิด ความเชื่อศาสนามาจากตะวันออก ประเทศไทยอยู่กึ่งกลางไม่รู้จะเอาใคร ประเทศไทยกำลังโดนกลืนจากความคิดเหล่านี้ ที่มีทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน เป็นความคิดแรง หรือแม้แต่ทิเบตที่มีอิทธิพลในตะวันตก

ประเทศไทยไม่ใช่แค่มีธรรมยุติหรือมหานิกาย แต่ยังมีนิกายอื่นๆ อีกมาก นิกายของจีน ไต้หวันออกมาตั้งเป็นมูลนิธิ สมาคม มีศูนย์ปฏิบัติธรรมอยู่ตามคอนโดหรูหรา มีเต็มไปหมด แล้วอย่างนี้มหาเถรสมาคมจะคุมได้อย่างไร ไม่มีอำนาจที่จะครอบคลุมไปถึง
 
ลด 'โลภะ' หนทางสู่นิพพาน
 
สำหรับในภาคประชาชนเมื่อสังคมพุทธศาสนากำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ในขณะนี้ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคนไทยว่า ตั้งแต่ตื่นเช้ามาจนถึงเราเข้านอน ดูสิว่า “โลภ” เรามีกี่ตัว ถ้ามี 100 ตัว เมื่อปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาแล้ว ลดลงมาได้ 50 ตัวหรือไม่ ถ้าลงมาจนถึงไม่มี ก็คือนิพพาน

“อย่างอาตมาด้วยกฎระเบียบที่มีของพระทำให้กิเลสไม่สามารถเบิกบานเต็มที่ได้ ของบางอย่างเราไม่ได้ใช้ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ หรือโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 ใช้ปัญญาคิดก็ไม่ตกเป็นเหยื่อ ของบางอย่างที่แถมมาก็ใช้ไม่ทันหรือใกล้หมดอายุ คนจะมีปัญญาได้คือศีล มีผลต่อความคิดขึ้นมา เช่นเป็นพระฉันมื้อเดียว เสื้อผ้าพระก็ใช้ไม่ได้ กลับมาดูว่าเราต้องใช้หรือกินขนาดไหน คุ้มหรือไม่ ก็เลยทำให้ไม่อยาก”

สำหรับประชาชนทั่วไปก็สร้างกรอบขึ้นมา กรอบของเราคือความจำเป็นตามเป็นจริง ไม่ใช่ความเป็นจริงตามกิเลส ความจำเป็นตัวนี้ทำได้ด้วยทรัพยากรที่เรามี มีเงินเดือน 3,000 บาทอยากได้กระเป๋าแพงๆ ผิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นแหละ ต้องรู้จักตัวตนของเราว่าอยู่ในสภาวะไหน

ปัญหาคือเราไปสร้างค่านิยมตรงนี้ ซึ่งเป็นกิเลส เมื่อในโลกปัจจุบันในแง่ของความเป็นมนุษย์เมื่อเราไม่สามารถมีได้ ก็เลยไปตั้งความหวังกับสวรรค์
 
การซื้อบุญไม่ใช่ช่องทางขึ้น 'สวรรค์'

แนวคิดในเรื่องบุญทางพุทธศาสนาอย่างบางสำนักในประเทศไทยแตกต่างกับแนวทางเดิม บุญซื้อได้ แต่บุญตามหลักศาสนาคือการละทุกอย่าง บุญของเราเงินซื้อไม่ได้ สมเด็จสังฆราชท่านนิพนธ์ไว้ว่า บุญแปลว่าชำระล้างกิเลส บุญมาจากศาสนาพราหมณ์ คือการล้างใจ ล้างกิเลส ล้างโลภ โกรธ หลง อย่างการใส่บาตรวิธีการคือการล้างโลภ โกรธ หลง

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์  อธิบายว่าในทางพุทธศาสนา การใส่บาตรคือการสละ ละโลภ คือการลดความตระหนี่ ลดความเห็นแก่ตัว ลดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ใส่บาตรเพื่อให้พระมีฉัน ให้เราได้มีเมตตากรุณาที่จะนึกถึงคนอื่น

“เมื่อเราทำบุญโดยหวังผล ก็กลายเป็นวิธีการลงทุน ซึ่งก็เป็นเหยื่อของวัดบางแห่งที่สอนให้ทำบุญเยอะๆ เน้นให้บริจาคมากๆ แล้วจะได้ไปสวรรค์ได้ง่าย”

ดังนั้นการที่เราจะลดความยึดมั่นถือมั่นได้จะต้องเริ่มจากกระบวนการที่เรียกว่าทาน หากเราไปเปลี่ยนว่าทานคือการลงทุน มันผิดตรงนี้ ทานคือการละ ลดโลภ ถ้าเราเป็นคนที่ให้ตลอดจะช่วยให้ลดความโกรธได้ด้วย คือการให้อภัย เดิมให้ของเมื่อให้อภัยเป็นเรื่องของใจ คนที่ให้เยอะๆ ความโกรธจะช้า

ส่วนความหลง ต้องให้ความรู้ ให้ปัญญา ถ้าทัศนคติของเราทำให้เห็นแก่ตัวมากขึ้น แสดงว่าเป็นสิ่งที่ผิด 

นอกจากนี้พระศากยวงศ์วิสุทธิ์  ได้ชี้ให้เห็นยุคทุนนิยมในปัจจุบันมีการจัดไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ  กลายเป็นแฟชั่นไปแล้ว ซึ่งความจริงก็คือการไปพักผ่อน เมื่อกลับมาก็เป็นเหมือนเดิม เช่นเดียวกับบรรดาทัวร์ธรรมะต่างๆ อย่างทัวร์จัดโปรแกรมไปไหว้สังเวชนียสถาน 4 แห่ง หนึ่งในคำเชิญชวนคือการได้ไปสักการะสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งจะได้ขึ้นสวรรค์

“เป็นเรื่องที่ไร้สาระ เรื่องสวรรค์เป็นการสร้างของเราเอง สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในศตวรรษนี้ การค้นพบสถานที่เหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ความนิยมในการเดินทางไปยังสถานที่ทั้ง 4 แห่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 40 ปี แค่ทำให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าก็เหมือนคนทั่วไป ก่อนหน้านี้ไปน้อย สิ่งนี้เป็นเรื่องของทุนนิยมหรือเป็นการซื้อบุญจริงๆ

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์  ได้ให้หลักคิดในแนวทางปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนาว่า เวลาที่เรามีทุกข์เพราะเรายึดไว้ ถือไว้ ถ้ารู้จักปล่อยวางก็ไม่ทุกข์ การปล่อยวางคือการละทุกอย่าง สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนให้ระวังคือช่องว่างระหว่างสติ อารมณ์กับปัญญา และเรื่องของศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่ได้แปลว่าเชื่อ แต่แปลว่าไว้วางใจ ตราบใดที่เรายังมีความเชื่อ เราก็จะไม่รู้ความจริงนั่นเอง!

กำลังโหลดความคิดเห็น