เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556
“ธรรมลีลา” ขอร่วมเฉลิมฉลองด้วยเรื่องของ “สมเด็จพระสังฆราช” ในมุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ทั้งพระอัจฉริยภาพ และพระจริยาวัตรอันงดงาม
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เคยกล่าวแก่ศิษย์ผู้หนึ่งที่อุตสาหะเดินทางไปกราบหลวงปู่ที่วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า
“อยากกราบพระดี ไม่ต้องดั้นด้นเดินทางมาถึงเชียงใหม่หรอก กราบอยู่ที่กรุงเทพฯก็ได้ ก็สมเด็จญาณฯนั่นไง”
นี่เป็นคำยืนยันการรับรองในหมู่พระสุปฏิปันโน ถึงพระจริยาวัตรของสมเด็จพระสังฆราช ว่างดงามเพียบพร้อม เป็นผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่เป็นนิจ
สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ที่ดำรงชีวิตด้วยการกินอยู่ง่าย ทรงมักน้อย อดทน เป็นพระผู้สันโดษ และไม่ยึดติดพิธีรีตอง การดำเนินชีวิตของพระองค์เป็นไปอย่างพอเหมาะแก่ความเป็นสมณะที่เรียกว่า “สมณสารูป”
แม้จะทรงดำรงสมณศักดิ์อยู่ในฐานะประมุขของสงฆ์ก็ตาม ที่อยู่อาศัยก็ไม่โปรดให้ตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดาร มีดำรัสแก่ภิกษุสามเณรในวัดอยู่เสมอว่า “พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา เป็นพระต้องจน”
กระทั่งจีวรนุ่งห่มก็ทรงใช้สอยอย่างธรรมดา เรียบง่าย โปรดใช้จีวรที่ซักย้อมเป็นประจำมากกว่าของใหม่ ทั้งยังโปรดที่จะซักและเย็บชุนด้วยพระองค์เอง
ทรงรับสั่งในหมู่พระเณรและศิษย์ใกล้ชิดเสมอๆว่า ให้ใช้สอยข้าวของอย่างประหยัด โดยทรงปฏิบัติพระองค์ให้เห็นเป็นแบบอย่าง ไม่ทรงนิยมสะสมข้าวของ และมักแจกจ่ายออกไปตามโอกาสอันควร เช่น ในวันมหาปวารณาออกพรรษา
คราวหนึ่งมีผู้ประสงค์จะถวายรถยนต์สำหรับทรงใช้สอยเวลาเสด็จไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทรงมีรับสั่งตอบว่า “ไม่รู้จะไปเก็บไว้ที่ไหน” หมายความว่า ไม่ทรงรับถวาย
และทุกครั้งเวลาเสด็จไปร่วมงานบุญงานกุศลที่วัดไหน เมื่อมีผู้ถวายปัจจัย พระองค์จะไม่ทรงรับไว้เอง จะประทานคืน โดยรับสั่งว่า “ขอร่วมทำบุญด้วย”
รูปที่ 1 สมเด็จพระสังฆราชทรงมีไมตรีแน่นแฟ้นกับองค์ทะไลลามะ ประมุขและผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต ในคราวที่องค์ทะไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 นั้น ได้เสด็จเยือนวัดบวรนิเวศวิหาร ในโอกาสนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ถวายคำแนะนำการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแบบเถรวาทแด่องค์ทะไลลามะ
และอีกครั้งหนึ่งในคราวเสด็จเยือนประเทศไทยปี พ.ศ. 2536 องค์ทะไลลามะเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพบกันในพระอุโบสถ องค์ทะไลลามะได้กล่าวทักทายเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า “พี่ชายคนโตของข้าพเจ้า”
รูปที่ 2 สมเด็จพระสังฆราช ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระโสภนคณาภรณ์ ทรงเป็น “พระอภิบาล”(พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
รูปที่ 3 ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการทรงผนวช และทรงเป็นพระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัยขณะที่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 6-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
รูปที่ 4 และ 5 พระอัจฉริยภาพด้านภาษาของสมเด็จพระสังฆราชมีมากมาย นอกจากภาษาจีนแล้ว ยังสนพระทัยภาษาต่างประเทศอื่นๆอีก เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สันสกฤต ขอม ในภาพนี้กำลังทรงอักษรจีนด้วยพู่กันจีน เมื่อครั้งเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2536 คำที่เขียนเป็นคำมงคล มีความหมายว่า “รำลึกถึงพระพุทธเจ้าจิตใจจะผ่องใส”
รูปที่ 6 พระอิริยาบถที่เห็นได้ชัดของสมเด็จพระสังฆราช คือ ทรงมีพระอัธยาศัยนุ่มนวล อ่อนน้อม และทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงวางองค์เป็นกันเองกับคนทุกเพศทุกวัย ในภาพนี้เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ หน้าตำหนักคอยท่า ปราโมช
รูปที่ 7 และ 8 เมื่อครั้งที่เสด็จไปทอดพระเนตรเสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ซึ่งอยู่กลางทุ่งนา หมู่บ้านนิคลิหะวา ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศเนปาล สถานที่ตั้งของเสาอโศกนั้นอยู่ไกล ต้องเสด็จผ่านทุ่งนาและเดินบนคันนา ซึ่งเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างลำบาก ทำให้คณะที่ตามเสด็จพากันอ่อนล้า เมื่อถึงที่หมายจึงประทับกับพื้นหญ้ากลางทุ่งนาแบบไม่มีพิธีรีตอง เป็นอีกพระอิริยาบถหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นผู้วางตนเรียบง่ายและไม่ถือพระองค์
รูปที่ 9 เนื่องด้วยนามสกุลเดิมของสมเด็จพระสังฆราช คือ “คชวัตร” หมายถึง “ช้างจำศีล” จึงมักมีผู้นำตุ๊กตารูปช้างมาถวายพระองค์อยู่เสมอ ส่วนไก่ตัวนี้เป็นไก่แจ้ตาบอด ทรงมีพระเมตตาเลี้ยงไว้ และดูแลเป็นอย่างดี
รูปที่ 10 ขณะทรงสนทนากับท่านพุทธทาสภิกขุ ที่สวนโมกขพลาราม ไก่แจ้ของท่านพุทธทาสก็เข้ามาร่วมวงด้วย ทำให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแย้มพระสรวล
รูปที่ 11 ทรงอยู่ท่ามกลางคนหูหนวก และทำสัญลักษณ์ภาษามือ ว่า “I Love You”
รูปที่ 12 “เจ้าจุด” สุนัขที่อาศัยอยู่ในวัดบวรนิเวศวิหาร มักชอบคอยตรวจตราสถานที่ภายในวัดก่อนที่สมเด็จพระสังฆราชจะไปถึงที่นั้นๆ เป็นสุนัขที่มีความภักดีอย่างยิ่ง เวลาเจ้าพระคุณสมเด็จฯเสด็จกลับมาวัด เจ้าจุดก็วิ่งไปรับเสด็จที่รถพระประเทียบ และพระองค์ก็จะทรงทักเจ้าจุดด้วยพระเมตตา เมื่อเสด็จไปทรงปฏิบัติศาสนกิจ ณ พระอุโบสถ เจ้าจุดก็รอจนพระองค์ทรงทำกิจเสร็จ ไม่ว่าดึกแค่ไหนก็จะไปส่งที่ตำหนัก
(ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากหนังสือ “พระของประชาชน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” จัดพิมพ์โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)