xs
xsm
sm
md
lg

“ข้าวแลกรถไฟจีน” ยุทธการกลบข้าวเน่า “ยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการเกียรติคุณ ประเมินแนวทางข้าวแลกรถไฟฟ้ากับจีน แค่สร้างภาพขายข้าวได้ แก้ปัญหาสต๊อกล้น ล้างภาพล้มเหลว ชี้มีแต่ประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้นที่ทำ ต้นตอเกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ด้านนักเศรษฐศาสตร์จากจุฬาฯ ระบุเป็นการหนีระบบตลาด ที่เป็นระบบที่ดีที่สุดในการแลกเปลี่ยน ด้านคนในวงการค้าข้าวเผยที่ผ่านมาไม่เคยสำเร็จ แถมช่องทางทุจริตเพียบ

ในช่วงที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 โดยที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเดินทางมาในครั้งนี้เป็นพิเศษ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการมาชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณอยู่ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล แต่ก็สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ทั้งจากการออกพระราชกำหนดความมั่นคงในพื้นที่โดยรอบและเจรจาจนผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่

ครั้งนี้มีการโหมโรงถึงหัวข้อในการหารือ ที่รัฐบาลจงใจให้เรื่องนี้กลายเป็นพระเอกจากการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีจีน นั่นคือ ข้อเสนอที่ทางการไทยมีแนวคิดที่จะนำสินค้าเกษตรของไทย ไปแลกหรือใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูงกับรัฐบาลจีน โดยมีการจัดทำเป็นเอกสารบันทึกความเข้าใจ (MOU)

นับว่าเป็นการผุดเอาแนวคิดบาร์เตอร์เทรด (BARTER) หรือการแลกเปลี่ยนสินค้า ด้วยการนำเอาสินค้าเกษตรของไทยมาแลกกับสินค้าหรือเทคโนโลยีต่างๆ จากประเทศคู่ค้า ด้วยการตีมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าจากประเทศคู่สัญญา ไม่ว่าจะเป็นข้าวแลกน้ำมัน หรือสินค้าเกษตรอื่นๆ แลกกับเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีอื่นๆ

แนวคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้มากในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สินค้าเกษตรหลายรายการถูกจับคู่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการชำระค่าสินค้าที่ประเทศไทยต้องการซื้อ โดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ

ข้อมูลที่ระบุไว้ในยุค ‘รัฐบาลทักษิณ’ ปี 2549 มีการนำการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดมาใช้ในโครงการใหญ่ๆ อาทิ 1. กองทัพบกต้องการซื้อปืนใหญ่จากฝรั่งเศสมูลค่า 1,800 ล้านบาท 2. กระทรวงกลาโหมต้องการซื้อรถหุ้มเกราะจากแคนาดามูลค่า 7,900 ล้านบาท 3. กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยต้องการซื้อสินค้าเพื่อตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยจากออสเตรเลีย มูลค่า 3,700 ล้านบาท 4. การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการซื้อหัวรถจักรจากจีนมูลค่า 1,800 ล้านบาท 5. โครงการซื้อรถไฟจากจีนมูลค่า 700 ล้านบาท แลกกับข้าวประมาณ 50,000 ตัน 6. โครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรไทยกับเครื่องจักรในโรงงานยาสูบ จ.เชียงใหม่ 7. โครงการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ ตู้คอนเทนเนอร์ของกรมศุลกากร 8. โครงการซื้อเครื่องบินรบซู 30 จากรัสเซีย คิดเป็นมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

ยิ่งลักษณ์สานต่อทักษิณ

ส่วนใหญ่แล้วแนวคิดดังกล่าวมีความสำเร็จของโครงการต่ำมาก เพราะปัญหาและขั้นตอนต่างๆ ค่อนข้างยุ่งยาก แต่เมื่อการเลือกตั้งในปี 2554 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งน้องสาวอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาและเป็นนายกรัฐมนตรีสมใจพี่ชาย เธอก็สานต่อแนวคิดของพี่ชายอย่างต่อเนื่อง ที่เริ่มกล่าวถึงเรื่องการบาร์เตอร์เทรดสินค้าเกษตร ด้วยการนำข้าวไปแลกกับรถไฟฟ้ากับจีนตั้งแต่ช่วงที่ชนะเลือกตั้ง

แต่ในช่วง 2 ปีแรก รัฐบาลต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศและสาละวนอยู่กับโครงการประชานิยม ทั้งบ้านหลังแรก รถคันแรกและโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงการเร่งแก้กฎหมายสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคเพื่อไทย

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีจีนครั้งนี้ รัฐบาลเพื่อไทยเริ่มให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศจีนมากขึ้น หลังจากที่ถูกข้อครหาเรื่องการเลือกเกาหลีใต้เป็นแกนหลักในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทและไม่ให้ความสำคัญกับจีน

แม้ความต้องการดึงเอาเทคโนโลยีรถไฟฟ้ากับจีนมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมกะโปรเจกต์ 2 ล้านล้านบาท แต่มีเงื่อนไขทั้งการชำระค่าสินค้าที่เป็นสินค้าเกษตร และในการเปิดประมูลนั้นการก่อสร้างจะเป็นการเปิดประมูลแบบทั่วไป

นั่นหมายถึงโอกาสที่จีนจะได้เข้ามาร่วมในโครงการนั้นยังคงต้องรอและต้องแข่งขันกับเจ้าของเทคโนโลยีสัญชาติอื่นๆ หากชนะการประมูลจึงจะเข้าสู่ข้อตกลงดังกล่าว

ที่ผ่านมาความสำเร็จในการนำเอาสินค้าเกษตรไปแลกหรือชำระค่าสินค้ากับประเทศอื่นนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นไปได้น้อยมาก แต่รัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังคงเดินหน้าโครงการนี้ต่อ ทั้งที่ในทางปฏิบัติแล้วมีปัญหาต่างๆ มากมาย

เลี่ยงระบบตลาด

ผศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนำเอาสินค้าเกษตรไปแลกกับสินค้าหรือบริการอื่น ในรูปแบบการค้าแบบรัฐต่อรัฐ ถือเป็นวิธีการเลี่ยงระบบตลาด โดยทั่วไประบบตลาดถือว่าเป็นกลไกที่ดีที่สุดในการทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสินค้า ผู้ซื้อได้เลือกซื้อของที่ดีที่สุด

“การทำการค้าแบบรัฐต่อรัฐจะต้องโปร่งใส ต้องกำหนดว่าสินค้าอะไรที่จะนำไปแลกกับคู่ค้า มีการตีมูลค่าออกมาทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เช่นนั้นสินค้าของเราที่เป็นสินค้าเกษตรอาจถูกกดราคาลงมาจนต่ำกว่าราคาตลาด”
 ผศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
สร้างภาพ-กลบปัญหา

ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่รัฐบาลเสนอสินค้าเกษตรไปแลกกับรถไฟฟ้าของจีนนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะ MOU เป็นเพียงข้อตกลงไม่ใช่สัญญา อีกทั้งยังไม่มีใครรู้ว่ารถไฟฟ้าที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตรของไทยมีมูลค่าเท่าไหร่ มีการซ่อนราคากันไว้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นช่องทางนำไปสู่การทุจริตได้

“โลกสมัยนี้ไม่ควรมีการค้าระบบนี้แล้ว การค้าแบบรัฐต่อรัฐเหมาะที่จะทำในช่วงที่ประเทศไม่มีเงิน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีใครทำกัน มีเพียงประเทศที่ด้อยพัฒนาเท่านั้นที่ต้องการทำ”

นักวิชาการเกียรติคุณจากทีดีอาร์ไอกล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเอาข้าวไปแลกรถไฟฟ้า แสดงว่ารัฐหมดปัญญาขายข้าวแล้ว ซึ่งที่จริงรัฐต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการขายข้าว หากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ข้าวก็สามารถขายได้ ทุกวันนี้ข้าวในสต๊อกของรัฐบาลมีข้าวในฤดูกาลอื่นๆ เข้ามาปะปน มีทั้งข้าวปี 2548-2550

“รัฐบาลต้องการโชว์ว่าเราขายข้าวได้ เพื่อกลบปัญหาที่ตัวเองขายข้าวไม่ได้ ที่ผ่านมาเราขายอิรักสุดท้ายก็ถูกตีกลับ จนทักษิณออกมาโวย ข้าวในโกดังที่ขายไม่ได้ในเวลานี้ นับวันคุณภาพยิ่งลดลง ซึ่งจีนก็ทราบเรื่องนี้ จึงต้องการซื้อข้าวในราคาถูก เพื่อนำไปให้กับคนจนบริโภค”
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
ต้นเหตุจากจำนำข้าว

ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากความต้องการผูกขาดตลาดข้าว ด้วยการเก็บสต๊อกเอาไว้ เพื่อดึงให้ซัปพลายขาด หลังจากนั้นก็จะทำให้ราคาสูงขึ้น ทฤษฎีนี้เป็นของทีมงานที่ไม่เคยทำธุรกิจค้าข้าว ตอนนี้ทุกคนเงียบหมด เพราะทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คาด เดิมประเมินว่าอินเดียที่เกิดปัญหาภายในประเทศจนต้องงดส่งออกข้าว แต่ผิดคาด ในช่วงที่ผ่านมาอินเดียยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ดังนั้นจึงมีข้าวออกมาในตลาดมาก เวียดนามซึ่งเคยหวังว่าจะปรับราคาข้าวขึ้นตามไทยนั้น สุดท้ายก็ต้องปรับลดลงมาเมื่ออินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้อีกครั้ง

ต้นทุนของรัฐบาลการรับจำนำที่สูง เมื่อตลาดไม่เป็นไปตามคาด ราคาข้าวในตลาดโลกปรับลดลงมา จึงทำให้รัฐประสบปัญหาขายข้าวไม่ได้ และต้องแบกต้นทุนในการรับซื้อไว้จึงมีสต๊อกข้าว 17-18 ล้านตัน

สินค้าเกษตรไม่เหมือนสินค้าอุตสาหกรรม ความต้องการที่จะผูกขาดสินค้าเกษตรนั้นไม่มีทาง มีเรื่องของปริมาณ ฤดูกาลและคู่แข่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าราคาตลาดสูงก็มีคู่แข่งมาก แตกต่างจากน้ำมันที่เก็บอยู่ใต้ดินจะขายก็สูบออกมา ตอนนี้ทุกประเทศรู้ปริมาณสต๊อกข้าวของรัฐบาล รู้ว่ารัฐบาลร้อนเงิน ทำให้ราคาข้าวร่วงลงมา

อย่างข้อมูลที่อาจารย์ณรงค์ เพชรประเสริฐ บอกว่า รัฐบาลอ้างว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนาได้ประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วประโยชน์ตกอยู่กับชาวนาเป็นส่วนน้อย การเป็นนักการเมืองต้องไม่โกหกประชาชนหรือปิดบังข้อมูล เพื่อหลอกคนว่ารัฐบาลทำจริง
สต๊อกข้าวรัฐบาล
ช่องทุจริตเปิดกว้าง

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวว่า การนำเอาข้าวไปแลกกับรถไฟของจีนนั้น เป็นไปได้ทั้งการสร้างภาพว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการเรื่องสต๊อกข้าวที่เป็นปัญหาได้ ลดข้อครหาเรื่องความผิดพลาดของนโยบายจำนำข้าวได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อสต๊อกข้าวลดลง โอกาสที่ราคาข้าวจะปรับสูงขึ้นก็มี

แต่นั่นเป็นเรื่องของหลักการ เพราะยังไม่มีใครทราบว่าคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อตีราคาข้าวหรือมูลค่าของรถไฟฟ้าจากจีนจะเป็นเท่าไหร่ หากตีราคาข้าวออกมาแล้วต่ำกว่าราคาตลาด รัฐบาลก็จะขาดทุนหนักกว่าเดิม

ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลชุดนี้พยายามจะใช้วิธีนี้มาโดยตลอด ซึ่งในทางปฎิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย สินค้าเกษตรราคาขึ้นลงตามฤดูกาล มีคู่แข่งในตลาดมาก เน่าเสียง่าย ไม่สามารถจัดเก็บไว้ได้นานเพราะมีผลต่อคุณภาพของสินค้า

โครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลนั้น กว่าทุกอย่างจะเริ่มต้นขึ้นได้อาจต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ ได้ รวมไปถึงข้อตกลงเรื่องการส่งมอบหากยืดเวลาออกไป ราคาสินค้าเกษตรย่อมมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงไปได้ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งที่เราจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากราคาสินค้าที่นำไปแลกกับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ประการต่อมาภายใต้ขั้นตอนการประเมินราคาหรือการส่งมอบสินค้า ย่อมต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ ช่องว่างเหล่านี้จะทำให้เกิดโอกาสของการทุจริตได้ทุกขั้นตอนทั้งจากฝ่ายไทยและฝ่ายคู่ค้า

ถัดมาคือโอกาสของความสำเร็จของแนวทางดังกล่าว มีความเป็นไปได้ต่ำ และไม่สามารถนำเอาสินค้าเกษตรไปชำระค่าสินค้าได้ทั้ง 100% ทั้งนี้เนื่องจากมีความยุ่งยากทั้งฝ่ายของผู้ขายและผู้ซื้อ ฝ่ายผู้ซื้อก็ต้องนำเอาสินค้าที่ได้รับมาไปกระจายต่อ ซึ่งจะตรงความต้องการของคนในประเทศผู้ซื้อในเวลานั้นหรือไม่ย่อมเป็นเรื่องที่ยากต่อการคาดเดา ขณะที่ฝ่ายผู้ชำระเงินในรูปของสินค้าเกษตร ก็ต้องจัดหาสินค้ามาให้เพียงพอต่อการส่งมอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะมีปัจจัยเรื่องดินฟ้าอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตกันได้ทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย ตั้งแต่ขั้นตอนในการจัดหาสินค้าหรืออาจมีการนำเอาสินค้าด้อยคุณภาพอื่นเข้าไปปลอมปน รวมไปถึงเรื่องของการตีมูลค่าของสินค้า กลายเป็นเรื่องที่สมประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย

กำลังโหลดความคิดเห็น