xs
xsm
sm
md
lg

"อั้ม เนโกะ" : โอ้แม่เจ้า! เอากันในชุดนักศึกษาท่าพิสดาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพโปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านระเบียบแต่งชุดนักศึกษาช็อกสังคมของ “อั้ม เนโกะ” นักศึกษาข้ามเพศ ปี 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ส่งให้เธอ “ดังชั่วข้ามคืน” ยิ่งกว่าคราวนุ่งสั้น แยกขา โพสต์ท่าโหนรูปรัฐบุรุษอาวุโสผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ หรือเมื่อครั้งสวมชุดบิกินี่อวดเรือนร่างร่วมกิจกรรมของคณะช่วงกระแส “กระหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ” ของการ์ตูนนิสต์ชื่อดัง ชัย ราชวัตร

ไม่ว่าอีเว้นต์ของเธอแต่ละครั้งจะมีความมุ่งหมายเช่นใด แต่เสียงที่สะท้อนกลับมาส่วนใหญ่มีแต่ก้อนอิฐ ไม่ใช่ดอกไม้ โดยเฉพาะความไม่เหมาะไม่ควร ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ใช่เรื่องที่เธอจะแคร์เพราะเป้าหมายคือการเปิดประเด็นให้สังคมได้ถกเถียง โต้แย้ง ขบคิด บรรลุจุดประสงค์แล้ว และครั้งนี้ก็เช่นกัน

ความจริงจะว่าไปแล้วประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักศึกษาที่เกิดปัญหาปะทะกันทางความคิดของผู้บริหารมหาวิทยาลัยกับนักศึกษาของสถาบันการศึกษาแห่งนี้มีมาเป็นระยะๆ แต่ไม่มีครั้งใดที่นักศึกษาจะเลือกวิธีการแสดงออกแบบ “แรงส์ นะหล่อน” อย่างที่อั้ม เนโกะ เธอเลือกกระทำ โดยที่ผ่านมาผู้บริหารกับนักศึกษามักใช้วิธีการพูดคุยเจรจาตกลงประนีประนอมหาจุดที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย เพราะหลักการสำคัญคือ เมื่อเกิดความขัดแย้ง เห็นต่าง ผู้เป็นปัญญาชนย่อมใช้ปัญญาในการแสวงหาทางออกร่วมกันถึงจะถูกต้อง

ความแรงของโปสเตอร์กำลังร่วมเพศในชุดเครื่องแบบนักศึกษาของ หญิง-ชาย และ ชาย-ชาย พร้อมคำบรรยายภาพ 1. “midterm ที่ผ่านมาคุณยังต้องใส่ชุดนักศึกษาอยู่หรือเปล่า? 2. ปลดแอกความเป็นมนุษย์ของคุณออกมา 3.ชุดนักศึกษามีเซ็กซ์มันส์กว่าป่ะ? และ 4. “เมื่อชุดนักศึกษากำลังถูกท้าทาย” หากจับประเด็นจากคำอธิบายของเธอผ่านสื่อต่างๆ ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังการทำโปสเตอร์ดังกล่าวเพื่อเรียกความสนใจจากสังคมแล้ว ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เรื่องต่อต้านการบังคับแต่งชุดนักศึกษาทั้งในเวลาเรียนปกติและการสอบ เรื่องการใช้อำนาจ หรือเรื่องการท้าทายต่อวลี“ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ของศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดี เท่านั้น

ทว่า เธอยังต้องการสื่อถึงปัญหาเรื่องเซ็กซ์ที่เป็นอยู่ในสังคมนี้ ปนเปเข้าไปจนทำให้มีการตีความหมายของภาพที่สื่อออกมาหลายทิศหลายทาง และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่เห็นว่านักศึกษาข้ามเพศเช่นเธอนั้นมีปัญหา อยากดัง กระทั่งรุ่นพี่ธรรมศาสตร์ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลฎีกา ที่ว่าไปแล้วบทบาทในระยะหลังๆ ก็มีปัญหาไม่น้อยไปกว่าอั้ม เนโกะ เสนอให้ส่งเธอเข้าโรงพยาบาลรักษาสภาพจิต

“ “อั้ม เนโกะ” กระทำตัวในเรื่องที่นักศึกษาทั้งในอดีตและปัจจุบันของมหาวิทยาลัยที่มีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว ไม่กระทำกัน แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติทางสภาพจิตที่สมควรจะต้องได้รับการดูแลรักษาเยียวยามากกว่าปล่อยออกไปและอาจทำสิ่งที่คาดไม่ถึงภายภาคหน้าได้ เหมือนกับสองกรณี (คดีศยามล กับ คดีเสริม) ที่อ้างมาข้างต้น

“ปี 2555 เป็นนักศึกษาน้องใหม่ กระทำตัวด้วยการแต่งกายที่ไม่สุภาพเรียบร้อยไปแสดงท่าทางที่ไม่สมควรถ่ายรูปกับรูปปั้นของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ผู้ประศาสน์การคนเดียวของมหาวิทยาลัย ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่นักศึกษาส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ความเคารพนับถือ เป็นที่โด่งดังมาครั้งหนึ่งแล้ว มาปีนี้ถ่ายภาพตนเองกับผู้ชายที่กำลังแสดงถึงพฤติกรรมของคนที่กำลังมีอารมณ์ความใคร่ทางเพศ และทุกภาพแสดงเหมือนกับคนที่มีความช่ำชองในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ แล้วนำภาพดังกล่าวเผยแพร่ไปทั่วมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการต่อต้านการที่นักศึกษาต้องแต่งเครื่องแบบของมหาวิทยาลัย"

"พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักศึกษาคนนี้มีภาวะทางจิตใจไม่ปกติ เพราะคนที่จิตใจปกติมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ไม่มีใครกระทำเช่นนี้" นายชูชาติได้ย้ำไว้ในเฟสบุ๊ค ของ เขา

แต่สำหรับ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้น ยกนิ้วให้กับขบถตัวแม่คนนี้ ตั้งแต่เธอปีนป่ายรูปท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยขึ้นไปถ่ายรูปแล้ว

ขณะที่อั้ม เนโกะ บอกว่า การที่นักศึกษาจะใส่ชุดนักศึกษาหรือไม่ไม่ได้มีผลต่อการเรียนว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง จะดีหรือไม่ดีไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัว ขณะเดียวกันเรื่องเซ็กส์ในสังคมที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันแล้วถูกปิดกั้น จนทำให้สังคมมีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์เยอะมาก แต่ไม่มีการส่งเสริมให้เด็กเสพเซ็กส์อย่างถูกวิธี ซึ่งหากจะส่งเสริมจะช่วยลดปัญหาต่างๆ ได้ คล้ายๆ กับจะบอกทำนองว่าให้ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและถูกจุด อย่าดัดจริตปกปิดปัญหากันเอาไว้ จะมีเสือผู้หญิงหรือนักเที่ยวคนไหนปฏิเสธนักศึกษาสาวไซต์ไลน์ ที่อัพราคาสูงต่ำตามชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยบ้าง

มองย้อนกลับไปในอดีต การแต่งกายของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประเด็นถกเถียงกันของคนในประชาคมธรรมศาสตร์เป็นระยะๆ ตลอดมาในแต่ละยุคสมัย เพราะมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการเมืองเชิงสัญลักษณ์อยู่ค่อนข้างมาก แรกเริ่มเดิมทีเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)ในปี 2477 นั้น สถาบันการศึกษานี้มีสถานะเป็นตลาดวิชาหรือมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ทำการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์คือวิชากฎหมายและการเมือง ตามเจตจำนงของผู้ประศาสน์การ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ต้องการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้งอกงามในประเทศไทย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยนั้น ก็คือประชาชนทั่วไปผู้ใฝ่ในการศึกษา พวกเขาไม่ใช่นักเรียนจึงแต่งกายกันตามปกติวิสัยที่เคยแต่งกัน

สถานการณ์และการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดสถานะและบทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักศึกษาธรรมศาสตร์ นับจากความพ่ายแพ้ทางการเมืองของนายปรีดี ผู้ประศาสน์มหาวิทยาลัยในช่วงหลังปี 2490 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ถูกฝ่ายตรงกันข้ามกับนายปรีดี เข้าควบคุมและพยายามเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้เหมือนกับสถานศึกษาอื่นๆ ทั่วไปที่มุ่งผลิตบุคคลากรเข้าไปรับใช้ระบบ

ในปี พ.ศ. 2495 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ใหม่ เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และในปีเดียวกันนั้นจอมพล ป. ก็เข้าควบคุมมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง เปลี่ยนตำแหน่งผู้ประศาสน์การเป็นอธิการบดีเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วไป แต่ในเวลานั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยเปิด

ต่อมา ในปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งให้โอนย้ายมหาวิทยาลัยทั้งหมดรวมทั้งธรรมศาสตร์ที่เป็นองค์กรอิสระอยู่แต่เดิมให้เข้าสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐเพื่อความสะดวกในการควบคุมนักศึกษา ในปี 2503 จอมพลสฤษดิ์ ส่งจอมพลถนอม กิตติขจร ไปเป็นอธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ยกเลิกความเป็นตลาดวิชาของธรรมศาสตร์ไปเสีย โดยกำหนดให้เป็นมหาวิทยาลัยปิด ทำการสอบคัดเลือกเข้าเรียนเพื่อจำกัดจำนวนนักศึกษา ทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ลดจำนวนลงจาก 30,000 เหลือเพียง 300 คนเท่านั้น

หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีกระบวนการในการผลิตนักศึกษาให้ต่างจากประชาชนธรรมดาทั่วไป การกำหนดลักษณะเครื่องแต่งกายเป็นหนึ่งในนั้น โดยมีการออกระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งกายนักศึกษาในปี 2509 และแก้ไขใหม่ในปี 2549 ช่วงสมัยที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ เป็นอธิการบดี

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคแรกๆ นั้นก็แต่งเครื่องแบบกันเป็นส่วนใหญ่ และเครื่องแบบนักศึกษา ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นปัญญาชนที่โก้หรูในยุคที่เรียกว่าสายลมแสงแดด ดังกลอนประชดประชันของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ว่า

“กูเป็นนิสิตนักศึกษา เจ้าขี้ข้ารู้จักกูหรือไหม หัวเข็มขัด กลัดกระดุม ปุ่มเน็คไทร์ หลีกไปหลีกไปอย่ากีดทาง”

กลอนของสุจิตต์ วงษ์เทศ ดูเหมือนจะสะท้อนภาพพจน์และเครื่องแบบนักศึกษาได้ดี ด้วยพลังของกลอนบทนี้และกระแสฮิปปี้ในตะวันตกช่วงยุคทศวรรษ 1970 น่าจะเป็นแรงบันดาลใจอย่างแรกๆ ให้เกิดการต่อต้านเครื่องแบบนักศึกษาโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาสังคมการเมืองกันอย่างกว้างขวางทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่นิยมแต่งเครื่องแบบ แต่สร้างรูปแบบการแต่งกายของพวกเขาเองที่รู้จักกันดีในนาม 5 ย คือ เสื้อยืด กางเกงยีน สะพายย่าม ผมยาว และสวมรองเท้ายาง เช่น กลุ่มสภาหน้าโดม ที่มีนักศึกษาหัวก้าวหน้า เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ปรีดี บุญซื่อ, สุเนตร อาภรณ์สุวรรณ, อรรถวิบูลย์ ศรีสุวรนันท์, จรัญ ดิษฐาอภิชัย ฯลฯ ขณะที่โดยทั่วไปแล้วนักศึกษาส่วนใหญ่สมัยนั้นก็ยังนิยมสวมเครื่องแบบนักศึกษาอย่างกว้างขวาง แม้ว่าผู้นำนักศึกษาหลายคนจะออกแนว 5 ย แล้วก็ตาม

การต่อต้านเครื่องแบบเกิดขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญหลัง 6 ต.ค. 19 เมื่อฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมเห็นว่านักศึกษาโดยเฉพาะธรรมศาสตร์เป็นภัยสังคม ขบวนการฝ่ายขวามักนิยมใช้ความรุนแรงทำร้ายนักศึกษา การแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษาจึงเป็นเรื่องไม่ปลอดภัย นักศึกษาจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะในกลุ่มที่ทำกิจกรรมทางเมืองหลัง 6 ตุลาฯ ต้องหลบหลบๆ ซ่อนๆ และอำพรางสถานะของตนเอง

เครื่องแบบนักศึกษากลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นหรือหลายกรณีเป็นภัยสำหรับชีวิตนักศึกษา ในยุค 1980s เป็นต้นมา แนวคิดแบบนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่มากในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงนั้น ถึงแม้มหาวิทยาลัยมีระเบียบว่าด้วยการแต่งกายแต่ไม่เคยบังคับใช้อย่างเคร่งครัด นักศึกษาในยุควิกฤตศรัทธาและการแสวงหาครั้งที่ 2 (ระยะปี 2520-2530) ไม่เพียงแต่ไม่ได้แต่งกายด้วยชุดนักศึกษาเท่านั้น หากแต่ถือว่าแต่งกาย “ไม่สุภาพ” ในมาตรฐานสังคมทั่วไปในขณะนั้นด้วย แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ถือว่านั่นเป็นเสรีภาพในร่างกายและเป็นวิจารณญาณของนักศึกษาเอง

ศ.คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี น่าจะเป็นอธิการบดีคนแรกๆ ของธรรมศาสตร์ในยุคหลังที่มีความพยายามจะจับนักศึกษาสวมเครื่องแบบ ด้วยการงัดระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งกายขึ้นมาบังคับใช้อีก นักศึกษาในสมัยนั้นต่อต้านเช่นกันแต่ด้วยวิธีการที่ค่อนข้างประนีประนอมด้วยการหารือกับอธิการว่า การบังคับเรื่องการแต่งกายนั้นให้เหลือระดับแค่ “สุภาพ” ตามมาตรฐานสังคมทั่วไป ไม่ถึงกับจำเป็นจะต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษา เพราะระเบียบว่าด้วยการต่างกายนักศึกษานั้น กำหนดว่านักศึกษาต้องแต่งกายสุภาพหรือด้วยเครื่องแบบนักศึกษา

คำว่า “สุภาพ” โดยทั่วไปคือ ไม่สวมเสื้อยืดและรองเท้าแตะ และให้สอดชายเสื้อไว้ในกางเกงหรือกระโปรงก็เพียงพอแล้ว ส่วนเครื่องแบบนั้นก็ให้เป็นความสมัครใจของปัจเจกบุคคล และประการสำคัญที่สุดคือการบังคับใช้จะทำได้เฉพาะเวลาสอบหรืองานพิธีการของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ดังนั้นนักศึกษาทั่วไปในยุคนั้นมักแต่งกายด้วยชุดไปรเวทไปเรียนเป็นประจำ ซึ่งการต่อต้านเครื่องแบบนักศึกษาในยุคนี้คือ การต่อต้านการใช้อำนาจเหนือเสรีภาพในร่างกายของนักศึกษาเป็นหลักใหญ่ อีกด้านหนึ่งคือการท้าทายระเบียบสังคมเดิมๆ ในมหาวิทยาลัยที่ตกค้างมาจากสมัยเผด็จการ

อย่างไรก็ตาม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคหลังทศวรรษ 1990 เริ่มแต่งกายด้วยเครื่องแบบมากขึ้นตามสมัยนิยมและนักศึกษาจำนวนมากห่างเหินจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือทางสังคมอย่างมาก นักศึกษาในยุคหลังไม่ได้ต่อต้านเครื่องแบบด้วยเหตุทางการเมืองแบบเดิมๆแต่มุ่ง “ดัดแปลง” เครื่องแบบโดยเฉพาะนักศึกษาหญิงให้เป็นแฟชั่นและสมัยนิยม ซึ่งก็ถือเป็นการใช้เสรีแบบหนึ่งเช่นกันเพียงแต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัดมาก

โปรดสังเกตว่า เครื่องแบบนักศึกษาหญิงของไทยนั้นมีลักษณะแฟชั่นมากกว่าประเทศอื่นในโลกนี้ มีสารพัดแบบภายใต้กรอบของ สีและรูปลักษณ์เสื้อหรือกระโปรง นักศึกษาไทยน่าจะเป็นชาติเดียวในโลกที่ “ตีความ” เครื่องแบบของตัวเองได้หลากหลายมาก ในประเทศอื่นเราอาจจะแยกแยกความแตกต่างของเครื่องแบบของนักศึกษาหญิงในสถานศึกษาเดียวกันได้เพียงคุณภาพของเนื้อผ้าและฝีมือตัดเย็บเท่านั้น
แต่ในประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยเดียว เครื่องแบบนักศึกษาหญิงอาจจะมีความหลากหลายได้ถึง 10 สไตล์หรือมากกว่า คุณค่าของเครื่องแบบเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการตีความด้วยเหมือนกัน จำนวนมากไม่ได้บ่งบอกว่ามันเป็นเครื่องแบบของผู้คงแก่เรียนในฐานะนักศึกษาเลย แต่ดูเหมือนสัญลักษณ์ของการดึงดูดทางเพศมากกว่า

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกประกาศลักษณะการแต่งกายที่ใช้เสรีภาพเกินกว่าขอบเขตอันเหมาะสม เช่น กรณีนักศึกษาหญิงห้ามใส่สายเดี่ยว เอวลอยเหนือสะดือ เกาะอก แขนกุดหรือรัดรูปเกินไป กระโปรงที่สั้นจนถึงครึ่งหนึ่งของต้นขาหรือกางเกงที่เอวต่ำกว่าสะโพก หรือการแต่งกายที่ล่อแหลมจนเกินควร หรือเปิดเผยเนื้อตัว ร่างกายจนมีลักษณะยั่วยุทางเพศ ส่วนนักศึกษาชาย ห้ามเสื้อแขนกุด เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้นเลยเข่า กางเกงกีฬาขาสั้น หรือกางเกงเล ชุดนอน หรือแต่งกายที่มีลักษณะเห็นชัดว่าไม่สุภาพ ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะเป็นอย่างยิ่ง “นักศึกษาที่แต่งกายในลักษณะดังกล่าวนี้จะถูกห้ามไม่ให้ขึ้นอาคารเรียนหรือเข้าห้องเรียน และห้องสมุดและหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมีสิทธิงดให้บริการได้”

หากว่าตามประกาศนี้ อั้ม เนโกะ เธอมีปัญหาแน่ เพราะแต่ละชุดของเธอ ไม่สายเดี่ยว ก็สั้น โชว์หวิว หากจะให้เหตุผลข้างๆ คูๆ ว่า ก็ไหนบอกว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ก็ควรจะยกเอาสิ่งที่ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ เตือนสติไว้ในคราวเดียวกันว่าต้องไม่ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย หากจะบอกว่า ก็เธอแต่งของเธอ ละเมิดสิทธิของใครกัน นั่น ต้องถกเถียงกันว่า วิธีการของเธอทำให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของสถาบันแห่งนี้ “หน้าชา” ถูกดูหมิ่นเกลียดชังว่ามีนักศึกษาธรรมศาสตร์แสดงออกถึงความต่ำทรามตามมาตรฐานศีลธรรมของสังคมที่ไม่เอาเรื่องการร่วมเพศมาโชว์ต่อสาธารณะ เป็นการละเมิดสิทธิคนอื่นหรือไม่ ?

ถึงวันนี้ อั้ม เนโกะ ถูกเรียกตักเตือน ขณะที่มหาวิทยาลัยไม่บังคับให้นักศึกษาที่เรียนวิชา TU130 หรือวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของคณะวิทยาศาสตร์ แต่งชุดนักศึกษาในการเรียนปกติโดยให้แต่งชุดที่สุภาพและเหมาะสม แต่ในระเบียบซึ่งเป็นกฎที่รองจากข้อบังคับ กำหนดให้แต่งชุดนักศึกษาเข้าสอบทั้งการสอบกลางภาคและปลายภาค ประชาคมธรรมศาสตร์คงต้องมาหารือร่วมกันว่าระเบียบดังกล่าว เป็นปัญหาหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง

อีเว้นต์ต่อต้านบังคับแต่งชุดนักศึกษาผ่านโปสเตอร์เซ็กส์เร่าร้อนผ่านพ้นไป แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน อั้ม เนโกะ คงจะเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น