แรง! ได้เสมอต้นเสมอปลายจริงๆ สำหรับนักศึกษาสาวข้ามเพศแห่งรั้วแม่โดมคนนี้ “อั้ม-เนโกะ” ตั้งแต่วีรกรรมปีนป่ายโพสท่าถ่ายรูปคู่กับรูปปั้น "ปรีดี พนมยงค์" เมื่อครั้งอดีต กระทั่งปล่อยโปสเตอร์อื้อฉาว “มีเซ็กส์ในชุดนักศึกษา” เพื่อเรียกร้องเสรีภาพในชุดไปรเวท
ล่าสุด แรงถึงขั้นด่าอาจารย์ว่า “อีด_ก” หลังเข้ามาตักเตือนเรื่องสวมชุด “สั้นเสมอหู” เดินให้ว่อนมหาวิทยาลัย เจ้าตัวกลับมาโพสต์ประจานเหตุการณ์บนโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างไม่สนหัวหงอกหัวดำ ทำให้ใครต่อใครต่างแขยงคำว่า “สิทธิเสรีภาพ” ของเธอว่ามันจอมปลอม และเข้าข่ายเกินขอบเขตจน “ไร้กาลเทศะ” ไปเสียแล้ว!!
ปะทะคารม “กะหรี่-อีด_ก”
เรื่องราววุ่นวายครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้า “อั้ม-เนโกะ” หรือ “ศรัณย์ ฉุยฉาย” ไม่แต่งตัวล่อแหลมจนชวนให้อาจารย์ท่านหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกิดความคลางแคลงสงสัยว่าเธอเป็น “นักศึกษา” หรือ “ผู้หญิงขายบริการ” กันแน่ ด้วยชุดที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุ เสื้อเกาะอกที่หดสั้นแทบจะเป็นบิกินี่บวกกับท่อนล่างเป็นกางเกงยีนส์สั้นเสมอหู จึงทำให้อาจารย์คนดังกล่าวต้องเดินไปถามด้วยตัวเอง “เป็นนักศึกษาหรือเปล่าคะ ขอดูบัตรนักศึกษาหน่อย?” แต่นักศึกษานอกเครื่องแบบอย่าง อั้ม-เนโกะ กลับไม่ยอมให้ตรวจบัตร อาจารย์จึงตักเตือนไปว่า ถ้าเป็นนักศึกษาแล้วใส่ชุดอย่างนี้ในมหาวิทยาลัยก็ถือว่าอุบาทว์
“แต่งอย่างนี้แล้วจะเป็นยังไงเหรอ ก็ยังดีกว่าสารรูปตัวเองหรอก” นายศรัณย์ตอบกลับไป พร้อมถามอาจารย์ด้วยคำพูดที่ดูยิ่งใหญ่ออกไปด้วยว่า ไม่รู้หรืออย่างไรว่าตัวเองคือ “อั้ม-เนโกะ” ซ้ำยังให้อาจารย์กลับไปค้นหาความหมายของคำว่า “Human Rights” (สิทธิมนุษยชน) อาจารย์ท่านเดิมจึงฉะกลับมาว่า “เป็นนักศึกษาแต่กลับแต่งตัวเหมือนผู้หญิงขายบริการ หรือ กะหรี่” จุดเดือดจึงพุ่งสูงสุด จนนายศรัณย์โพล่งออกมาว่า “เออ กะหรี่แล้วทำไม กะหรี่ก็คน อีด_ก!”
เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่เกิดขึ้นในรั้วแม่โดม ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้เรียกร้องให้คณะศิลปศาสตร์ส่งเรื่องร้องเรียนทางวินัยมายัง อั้ม-เนโกะ หรือชื่อตามทะเบียนนักศึกษาว่า “ศรัณย์ ฉุยฉาย” เพราะเป็นคณะที่เจ้าตัวสังกัดอยู่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เหตุเพราะแหล่งข่าววงในบอกมาว่าคณะศิลปศาสตร์มีปัญหาการเมืองภายใน strong>
เรียกได้ว่าอาจารย์ส่วนใหญ่มอง อั้ม-เนโกะ อย่างปลงตก ไม่อยากจะข้องแวะให้ปวดกบาล มีเพียงอาจารย์คนที่เข้ามาตักเตือนเท่านั้นที่กล้าเสี่ยง เหตุเพราะเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศและไม่รู้จริงๆ ว่าเธอคือ อั้ม-เนโกะ ขาวีนผู้มีสิทธิพิเศษเหนือเพื่อนร่วมรั้วแม่โดม คำบอกเล่าดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่นายศรัณย์พยายามเรียกร้องมาตลอดในเรื่อง “สิทธิเสรีภาพ” และ “ความเท่าเทียม” มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เจ้าตัวต้องการ เพราะแม้แต่เธอเองยังอ้างชื่อตัวเองเพื่อชูหางความยิ่งใหญ่ เบ่งว่าตัวเองเป็น “อภิสิทธิ์ชน” โดยไม่สนคำว่า “กาลเทศะ” และลืมให้ความเคารพคนที่เรียกว่าเป็นอาจารย์ไปแล้ว
เรียกร้องความสนใจ ไม่สำนึกผิด!
เนื่องจากชุดที่เธอใส่นั้นดูหดสั้นจนแทบจะเหมือนใส่ชุดชั้นในทั้งตัว จึงทำให้เนื้อข่าวที่นำเสนอบรรยายภาพออกไปเช่นนั้น ตามคำบอกเล่าที่ร่ำลือกันมา เมื่อเห็นข่าว ผู้ที่ถูกพาดพิงอย่าง อั้ม-เนโกะ จึงโพสต์ชุดเกาะอกตัวเดียวกับที่ใส่ในวันเกิดเหตุ พร้อมตอบโต้ออกมาด้วยถ้อยคำหยาบคายเพื่อส่งสารมายังเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการ เอาไว้เช่นนี้
"ถ้าอีพวกที่ตอแหลออกสื่อนี้กล้าไปเปิดดูกล้องวงจรปิดกันมั้ยจ๊ะ? ใส่เสื้อผ้าในชุดเกือบเปลือย ท่อนบนสวมแค่เสื้อชั้นใน ด้านล่างสวมกางเกงขาสั้นคล้ายกางเกงใน ถ้าตาไม่บอดสีหรือเป็นต้อขั้นรุนแรงจนเห็นเสื้อเกาะอกสีชมพูลายจุดเป็นชุดชั้นในแนะนำค่ะ 30 บาท รักษาทุกโรคไปปรึกษาจักษุแพทย์นะคะ กางเกงก็บอกแล้วไงคะว่าสั้นเสมอหู แปลกตรงไหนคะ กูใส่มาแดกข้าวที่โรงอาหารค่ะ xxx ก็ไม่แลบ มึงไปหากฎอะไรมาอ้างก็ได้ค่ะ แม้กระทั่งอีกฎ มธ. มันก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงโรงอาหาร เบื่อนะคะโดยเฉพาะพวกสื่อมาตรฐานต่ำที่ไม่เคยกรองข่าวสารอะไรสักอย่าง... ถ้ามหาอำนาจประเทศแห่งศีลธรรมไทยมองเหี้ยไรโป๊ 30% เป็น 120% ทั่วโลกต้องเชื่อฟังนะคะ model ด้านคนดีมีจริงที่ประเทศนี้ค่ะ
ปล.กางเกงที่ใส่วันนั้นเอวสูงกว่านี้ ยาวกว่านี้นะคะ แต่ขนาดยาวกว่าติ่งหูหน่อยๆ ค่ะ ด้วยความที่อยู่ประเทศตอแหลแลนด์ แล้วยังเห็นพวกหน้าด้านกับสิ่งที่ตัวเองพยายามโกหก ทั้งที่กูน่ะเป็นคนโดนหาเรื่อง โดนกระทำ แต่พาดหัวซะกูไปทำอาจารย์ที่ไร้จรรยาบรรณนั้น แหมม ขอสักคำ ดัดจริต"
เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน และอดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นพฤติกรรมของลูกหลานนักศึกษาแบบนี้แล้วได้แต่เอือมระอา ฝากบอกเอาไว้ว่า “เธอเป็นกะเทยซึ่งไม่รู้ว่าจะแต่งเครื่องแบบอะไร จะแต่งเป็นหญิงหรือเป็นชายก็ไม่รู้ จึงต้องการสร้างจุดเด่นและพยายามต่อต้านอะไรต่างๆ เพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ ซึ่งควรจะเคารพระเบียบกติกาในการอยู่ร่วมกันในรั้วมหาวิทยาลัย”
กติกาบางอย่างถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ได้มีใครบังคับ แต่จะถูกคนในสังคมตำหนิ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บังคับให้นักศึกษามีการแต่งกายในเครื่องแบบนักศึกษาในช่วงพิธีการต่างๆ เช่น ในวันสอบ หรือในวันที่มีราชพิธี ส่วนวันอื่นๆ นั้นก็ไม่ได้มีการบังคับอะไร สามารถแต่งกายได้ตามความเหมาะกับสถานที่
“การบังคับการแต่งกายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้บังคับให้ต้องแต่งทุกวัน แต่ขอในวันสำคัญๆ เท่านั้น ซึ่งถ้าปฏิบัติไม่ได้ เวลาจบจากมหาวิทยาลัยก็คงไปทำงานในหน่วยงานที่เขามีเครื่องแบบไม่ได้ ถ้าต้องการอิสระในเรื่องการแต่งกาย ก็แนะนำให้กลับไปอยู่บ้านคนเดียว”
คำแนะนำดังกล่าว เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล โพสต์แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในเฟซบุ๊ก ไม่ทราบว่านายแพทย์ต้องการสื่อถึงใคร แต่เดาว่าน่าจะอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลนี้เอง
“ภาพที่งดงามในคราบนักเรียน นักศึกษา ของญี่ปุ่น ถ้าจะไม่แต่งชุดนัดเรียนนักศึกษาผมก็ไม่ว่าอะไร ถ้าเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน รู้จักกาลเทศะ แต่ที่น่ารังเกียจคือพวกปากว่าตาขยิบ ไม่จริงใจ ทำเป็นต่อต้านการแต่งชุดนักเรียน นักศึกษา แต่โพสต์ภาพลามกจกเปรต (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นของจริงหรือเปล่า) เพื่อเรียกร้องความสนใจให้คนหันมามอง จริงอยู่เราก็หันไปมองครับ แต่ผมมองด้วยความน่าสมเพช ความทุเรศของความคิด พวกเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเสรีชน
ผมว่าตามดูอนาคตของเยาวชนพวกนี้ต่อไปกันดีกว่า... ว่าจะเป็น "เสรีชน" หรือ "ทุรชน" ถามว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงเจริญในเกือบทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เพราะเขารวย ไม่ใช่เพราะเขาฉลาดหรือเก่ง แต่เพราะเขามีวินัยและถูกฝึกฝนมาอย่างดี มีความเคารพและให้เกียรติคนอื่น มากกว่าปล่อยปละละเลยให้ทำพฤติกรรมต่ำๆ เหมือนเยาวชนในบางประเทศ”
เสรีภาพ VS กาลเทศะ
ในฐานะที่เป็นอาจารย์เหมือนกัน เห็นลูกศิษย์ลุกขึ้นมาด่าทออาจารย์โดยไม่สนหัวหงอกหัวดำแบบนี้ ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ประจำรั้วแม่โดม แต่ก็ขอวิเคราะห์ตักเตือนเสนอแนะเอาไว้ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง และในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันสื่อ
“ปกติแล้วการด่ากัน 2 คน ถ้าตามกฎหมายทั่วไปก็จะเป็นการทะเลาะวิวาท ถ้ามีการลงไม้ลงมือด้วยก็อาจจะปรับ 500 บาทก็จบไป แต่พอด่าแล้วคุณเอามาเขียนลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก โพสต์แล้วก็ทำให้มันเสียหาย และอาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท ต่อว่า-ใส่ร้ายอาจารย์ ทำให้อาจารย์เสื่อมเสียและดูไม่ดีด้วยหรือเปล่า ต้องดูให้ดี
คนเราถึงจะมีสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต่อว่าใครก็ได้ และการโพสต์ต่อว่าอาจารย์แบบนั้น จริงๆ แล้ว อาจารย์ไม่ได้เป็นฝ่ายเสียอะไรด้วยซ้ำ เพราะคนเป็นครูบาอาจารย์ก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ตัวเด็กเองนั่นแหละจะเสีย ถามว่าคนที่จะรับเขาเข้าทำงานต่อไปจะคิดยังไงถ้ามาเห็นสิ่งที่เขาต่อว่าอาจารย์อย่างนี้ ไม่มีหน่วยงานไหนหรอกค่ะที่รับเด็กที่เคยด่าว่าอาจารย์ลงเฟซบุ๊กขนาดนี้ หน่วยงานไหนเขาก็ต้องการคนที่ดีและมีพื้นความคิดที่สมควรจะเป็นในสังคมไทยอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น มันก็เสียที่ตัวคนโพสต์เอง แต่ตัวเขาเองอาจจะยังไม่รู้ว่าเขากำลังได้รับผลเสียจากการกระทำของตัวเอง เขาใช้เฟซบุ๊กเล่าทุกอย่างแล้วก็ตัดสินไปว่าคนนั้นถูกคนนั้นผิด โดยที่ลืมตัวไปว่าเฟซบุ๊กเป็น Record ของทุกที่ คนที่รู้เขาก็จะเก็บประวัติ แค่เสิร์ชในชื่อคนนั้นก็จะมีข้อมูลออกมาให้เห็นเยอะแยะ ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีข้อมูลให้เห็นเท่านั้น ยิ่งใช้ไปในการวิจารณ์คนอื่นเยอะเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเสียมายังตัวคุณเองเท่านั้น ส่วนตัวอาจารย์ เขาก็ไม่ได้เสียอะไรมากมายอยู่แล้ว เพราะตัวเขาเองก็ยังต้องทำหน้าที่สอนต่อไป”
ในเรื่องของการตักเตือนระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์นั้น อาจารย์ทุกคนสามารถดุเด็กได้เป็นเรื่องปกติ คือ 1.ดุเพื่อเป็นการรักษาระเบียบวินัยของสถาบัน 2.ดุเพื่อชี้แนะว่าควรจะทำอย่างไร “แต่มันจะแตกต่างกันตรงข้อสุดท้ายนี่แหละค่ะคือ 3.เทคนิคการพูด เพราะอาจารย์แต่ละคนก็มีวิธีตักเตือนไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธ ระบายออกมาเป็นคำด่า อันนี้ถือว่าไม่ถูกอย่างยิ่งสำหรับการเป็นอาจารย์ ต้องดูว่าแต่ละคนทำหน้าที่อะไรอยู่”
ส่วนเรื่องชุดสั้นเสมอหูของนายศรัณย์นั้น ถ้าทางธรรมศาสตร์ระบุเอาไว้ว่าไม่ต้องใส่ชุดนักศึกษาก็ไม่ผิด ก็ถือว่านักศึกษาคนดังกล่าวไม่ได้ทำผิดกฎ เพียงแต่ชุดที่เลือกมาใส่ก็ต้องเป็นชุดที่สุภาพด้วย
“คราวนี้ก็มาเป็นปัญหาที่ว่าคนตีความคำว่า “สุภาพ” ไม่เป็น ถ้าเขาจะเช็กว่าอย่างนี้ใส่ได้มั้ย คนอื่นคิดว่าสุภาพหรือเปล่า ถ้าคิดเองไม่ออกจริงๆ อาจจะต้องให้เพื่อนนักศึกษาด้วยกันสัก 10 คนมายืนดูแล้วช่วยกันลงคะแนน แต่จริงๆ แล้วคิดว่าตัวเด็กเองก็คงจะรู้สำนึกแหละ เพียงแต่เขาไม่ได้ยืนอยู่ในจุดที่จะสนใจเรื่องสุภาพหรือไม่สุภาพ แต่เขาจ้องมองอยู่แค่เรื่องสิทธิเสรีภาพของตัวเอง เหมือนอาจารย์ยืนอยู่ที่กฎอีกตัวหนึ่ง เรื่องสัมมาคารวะ ระเบียบที่ควรจะเป็น แต่ตัวนักศึกษายืนอยู่บนกฎอีกตัว ถือเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นใหญ่ โดยลืมไปว่ามันก็ต้องมีขอบเขตของมันอยู่”
เพราะจริงๆ แล้ว คำว่า “สิทธิเสรีภาพ” ถึงจะอิสระแค่ไหน แต่ก็จะมีกรอบ 3 ตัวครอบไว้อยู่ดีคือ สังคม วัฒนธรรม และกฎหมาย “ถ้าวัดจากกรอบของวัฒนธรรมแล้ว คุณมีสิทธิเสรีภาพในการครองคู่ก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณสามารถไปนอนกับใครก็ได้ มีอะไรกับสามีชาวบ้านก็ได้ คุณคิดว่าคุณมีเสรีภาพขนาดนั้นเลยหรือ ก็คงทำไม่ได้ เพราะด้วยกรอบทางสังคม กรอบของจริยธรรมและวัฒนธรรม ครอบเอาไว้ หรือคุณบอกว่าตัวเองมีเสรีภาพในการแต่งกาย คุณสามารถไปเดินแก้ผ้ากลางถนนได้มั้ย ก็ไม่ได้ เพราะมันติดกรอบเรื่องกฎหมาย ถ้าแก้ผ้าไปก็เข้าข่ายลามกอนาจาร”
ขาดๆ เกินๆ อย่าไปสนใจ
ลองให้วิเคราะห์ดูว่าเหตุใดคนคนหนึ่งถึงต้องการลุกขึ้นมาสร้างกระแส ทำตัวต่อต้านสังคมให้เป็นที่สนใจอยู่ตลอดเวลา ผศ.ดร.พรทิพย์ ผู้แทนไทยในการประชุมยูเนสโก้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อครั้งล่าสุด บอกเอาไว้ว่า “บางทีคนคนหนึ่งถ้าไม่มีสื่ออยู่ในมือ เขาจะไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเยอะแยะขนาดนี้หรอกค่ะ เขาก็จะแสดงอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ของเขา ไม่มีใครตามรู้ตามเห็น แต่นี่ เขาเป็นจุดสนใจ มีคนพูดถึงเขาชั่วข้ามคืน เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ นี่คือสิ่งที่เด็กทุกคนในสังคมนี้เป็น คนที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่ามีความสำคัญ ไม่ว่าทางใดก็ตาม
ในกรณีของ อั้ม-เนโกะ ที่เขาเป็นที่สนใจอยู่ในตอนนี้เพราะเขาใส่สื่อเป็น เขาใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อเพิ่มความดัง คิดดูว่าถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีเพจของเขา เราจะรู้ข่าวเขามั้ย ก็ไม่รู้ แต่นี่เขารู้ว่ามีคนที่ตามดูเขาอยู่ เขารู้ว่ายังมีคนที่คิดแบบเขา เขารู้ว่ามีคนที่อยากด่าว่าอาจารย์เหมือนกับเขา เพราะฉะนั้น เขาก็ใช้สื่อให้เกิดประโยชน์กับการนำเสนอสิ่งที่เขาต้องการ โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า เขากำลังใช้สื่อนั่นแหละทำร้ายตัวเขาเอง”
ถือเป็นลักษณะของเด็ก Generation Y เด็กยุคปัจจุบันที่จะชอบทำตัวออกนอกกฎ และการที่เด็กชอบออกนอกกรอบกันมากๆ ก็เพราะเขาเห็นอะไรๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มันกว้างขวาง ไร้ขอบเขต “เขาเห็นอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี เห็นจากทุกที่ในโลกใบนี้จนไม่มีขอบเขต เขาก็พร้อมจะรับทุกอย่างมาโดยที่ไม่มีตัวกรอง และเขาก็ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีอยู่ในมือ ใช้สื่อสร้างความเป็นฮีโร่ สร้างความเป็นดารา สร้างกระแส สร้างความสนใจ และสร้างพรรคพวกขึ้นมา
อันนี้เราก็ต้องปล่อยเขาให้แสดงออกได้เต็มที่ตามหลักประชาธิปไตย แต่ก็อาจจะต้องเตือนเขาว่าสิ่งที่เขาแสดงออกไป มันสะท้อนภาพกลับมายังตัวคุณว่ายังไง คุณกำลังสื่ออะไรกับสังคม คิดว่าตัวเองมีสิทธิ พูดได้ทุกอย่าง แต่ลืมไปหรือเปล่าว่ามันกำลังสะท้อนด้านลบของคุณเอง คุณกำลังทำให้เสียสถาบันหรือเปล่า เสียชื่อเพื่อนร่วมสถาบันหรือเปล่า จะทำให้คนอื่นด่ากราด เหมารวมหรือเปล่าว่า อ๋อ...เด็กธรรมศาสตร์เป็นแบบนี้”
ส่วนเรื่องที่ อั้ม-เนโกะ ทำตัวแรงๆ ให้เป็นข่าวตลอดช่วงที่ผ่านมานั้น อาจารย์วิเคราะห์เอาไว้ว่า “ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะการเป็นกลุ่มของเพศที่สามด้วย กลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีสิ่งที่เกินและขาด เพราะฉะนั้น เขาจะหาสิ่งมาเติมเต็ม ในกรณี อั้ม-เนโกะ ก็อาจจะใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กมาเติมเต็มในสิ่งที่เขาขาด แต่เวลาเขาแสดงออกมา มันกลับดูเกินจากขอบเขตของสังคม”
ดังนั้น วิธีรับมือที่ดีที่สุดสำหรับพฤติกรรมขาดๆ เกินๆ ของนักศึกษานักประท้วงเกินขอบเขตคนนี้ อาจจะต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ อย่างที่ ดร.เสรี ได้เสนอแนะเอาไว้ “การกระทำพฤติกรรมแย่ๆ หลายๆ อย่างที่ไม่เหมาะสม เป็นการประชดประชันเกินเหตุ ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ได้ และเลยจุดความสนใจไปแล้ว อย่าให้ความสนใจ เพราะถ้ายิ่งสนใจจะยิ่งทำให้เขาดัง”
แต่ฝ่ายที่จะปล่อยนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้แล้ว เห็นทีจะเป็นคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าไม่อยากให้ไส้ติ่งแห่งรั้วแม่โดมรายนี้ระเบิดครั้งแล้วครั้งเล่าและสร้างความอื้อฉาวไปมากกว่านี้ อาจถึงเวลาพิพากษา “ตัดทิ้ง” เพื่อ “รักษา” ส่วนรวม
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
เผยเบื้องหลัง อาจารย์นึกว่า “อั้ม เนโกะ” ขายบริการในรั้ว มธ.หวังตรวจสอบ แต่เจอด่ากลับ อีด_ก
“ดร.เสรี” ไล่ “อั้ม เนโกะ” กลับบ้านไปอยู่คนเดียว อัดหมิ่นสถาบันไม่มีจิตสำนึกความเป็นคนไทย
โปสเตอร์อื้อฉาว! เซ็กซ์ในเครื่องแบบ เมื่อเสรีภาพย้อนทิ่มแทงวิถีโดม