xs
xsm
sm
md
lg

“กูรู” ยัน กทม.น้ำไม่ท่วม- “มหาอุทกภัย” ปี 54 ไม่เกิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมชลประทานยันคนเมืองกรุงสบายใจได้ น้ำไม่ท่วมเหมือนปี 2554 แน่นอน เหตุน้ำเหนือเขื่อนในภาคเหนือน้อยกว่ามาก ไม่ปล่อยน้ำลงมาสมทบ แจงเหตุท่วมในหลายพื้นที่เป็นเพราะฝนตกหนักท้ายเขื่อน น้ำท่วมพื้นที่ภาคกลางเป็นผลจากเขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ ส่วนเขื่อนขุนด่านฯ เริ่มระบายน้ำออกฉะเชิงเทราพรุ่งนี้ ภาคอื่นหากฝนไม่ซ้ำไม่นานคลี่คลาย

สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน นั้น เป็นไปตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีฝนตกหนักในทุกพื้นที่ตลอดทั้งวัน เนื่องจากจะมีพายุดีเปรสชันที่ประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ในระยะเวลาดังกล่าวเกิดฝนตกที่ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล

รวมไปถึงร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชายฝั่งภาคตะวันออก

ประกอบกับก่อนหน้านี้มีฝนตกมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคกลาง ทำให้เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทต้องมีการเร่งระบายน้ำออกมา ทำให้ปริมาณน้ำเอ่อท่วมชุมชนริมน้ำในอำเภอผักไห่ และเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 จากนั้นน้ำเริ่มไหลเข้าไปท่วมในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง

ถัดมากรุงเทพมหานครได้เปิดเผยพื้นที่ 37 จุดในกรุงเทพฯ ที่เป็นจุดเสี่ยง ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมเป็นพิเศษในช่วงวันที่ 19-20 กันยายน 2556

ตามมาด้วยการสำทับของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เมื่อ 18 กันยายน ที่แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ โดยเฉพาะพายุดีเปรสชัน จะเคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ ซึ่งพัดผ่านมาจากทางทิศตะวันตก เข้าใกล้ประเทศไทยมากขึ้น และพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงจะได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมพัดผ่านคือ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนเคลื่อนไปทางภาคเหนือ และลงสู่ภาคกลางของประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดปริมาณฝนตกมาก และกรุงเทพมหานคร อาจจะได้รับผลกระทบ แต่มั่นใจจะไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554

เมื่อดีเปรสชันพัดเข้าสู่ประเทศไทยทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ที่อุบลราชธานีฝนตกติดต่อกัน 2 วัน ทำให้มีน้ำท่วมขังบนถนนบางจุดสูงถึง 50 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ต่ำมีปริมาณน้ำท่วมขัง 1 เมตร

ต่อเนื่องจากอุบลราชธานีทำให้น้ำท่วมขังที่จังหวัดศรีสะเกษ ประกอบกับอ่างเก็บน้ำห้วยป่าอ้อได้พังลงมาทำให้น้ำไหลเข้ามาท่วมในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมตามจังหวัดต่างๆ อย่างเช่นน้ำท่วมรางรถไฟที่อำเภอปากช่อง นครราชสีมา

ตามมาด้วยน้ำเข้าท่วมที่จังหวัดสุรินทร์ ระดับน้ำสูงกว่าถนน 60-80 เซนติเมตร นับเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์หนักที่สุดในรอบ 40 ปี

ขณะเดียวกันยังมีการตรวจพบพายุอุซางิ ที่จะส่งผลให้ฝนตกหนักทั่วกรุงเทพฯ ยิ่งเป็นตัวสร้างความกังวลให้กับคนเมืองกรุงเพิ่มขึ้น

ส่วนที่จังหวัดเพชรบูรณ์ น้ำป่าจากเทือกเขารังทะลักท่วมพื้นที่อำเภอชนแดน

ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี น้ำไหลเข้าท่วมในช่วง 23 กันยายน นับว่าหนักสุดในรอบ 20 ปี โดยระดับน้ำในบางพื้นที่สูงถึง 1 เมตร และน้ำยังเข้าท่วมในจังหวัดอำนาจเจริญ

ย้อนกลับมาในพื้นที่ภาคกลาง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้บางพื้นที่ของอยุธยาและอ่างทองประสบปัญหาน้ำท่วม จากนั้นน้ำได้เข้าท่วมในบางพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานีในช่วงวันที่ 22 กันยายน

เส้นทางของน้ำที่เริ่มท่วมจากอยุธยา ลงมาที่ปทุมธานี นี่คือเส้นทางเดิมที่เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 และถ้าหลุดจากปทุมธานีก็จะลงมาที่นนทบุรี ประกอบกับเกิดน้ำท่วมที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ยิ่งทำให้คนเมืองกรุงหวาดหวั่นกับเหตุการณ์ที่เริ่มใกล้เคียงกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เพราะถ้าน้ำผ่านจากนนทบุรีเป้าหมายต่อไปก็คือกรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงจะไหลลงสู่อ่าวไทย

ดังนั้นภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยย้ำนักย้ำหนาว่าบริหารจัดการได้ น้ำไม่ท่วม แต่ท้ายที่สุดก็ทำเอาพื้นที่ชานเมืองและอีกหลายเขตของกรุงเทพมหานครต้องกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วม แม้กระทั่งสนามบินดอนเมือง ภาพเก่าๆ เริ่มกลับมาสร้างความวิตกกังวลของคนกรุงอีกครั้ง

น้ำเหนือน้อยกว่าปี 54

ทีมงานของศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำที่ท่วมในหลายจังหวัด รวมถึงข้อกังขาว่าสภาพน้ำที่เป็นอยู่ในเวลานี้จะเป็นเหมือนเหตุการณ์ในปี 2554 หรือไม่

ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนของปีนี้เทียบกับปี 2554 แตกต่างกันมาก ในปี 2554 มีมรสุมเข้ามาถึง 5 ลูก ส่วนปีนี้เรามีพายุเข้ามาเพียงลูกเดียว น้ำเหนือเขื่อนในปีนั้นมีปริมาณที่มากจนเกือบเต็มความจุ จึงต้องปล่อยน้ำออกมาทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ตอนนั้นที่เขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำที่ 3-4 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ตอนนี้เราระบายเพียง 2 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำหรับน้ำที่ท่วมหลายพื้นที่ในขณะนี้เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก ประการสำคัญคือฝนที่ตกในช่วงที่ผ่านมาเป็นฝนที่ตกในพื้นที่ท้ายเขื่อน ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำที่ท่วมขังเป็นประจำอยู่แล้วเกิดสภาพน้ำท่วม อีกประการหนึ่งของสาเหตุน้ำท่วมนั้นเกิดจากคันกั้นน้ำ ทำให้การระบายน้ำทำได้ล่าช้า แต่หากไม่มีฝนตกเข้ามาอีกก็น่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้

ส่วนความกังวลในเรื่องเขื่อนขุนด่านปราการชลที่รับน้ำไว้ในปริมาณที่มากกว่า 90% ของปริมาณความจุนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการระบายน้ำออกมา หากจำเป็นต้องระบายจริงๆ ก็ไม่กระทบต่อพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร

เขื่อนขุนด่านระบายน้ำพรุ่งนี้

นายสุรพล เขมันนามัด ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก กล่าวว่า สถานการณ์ในวันนี้ (24 ก.ย.) เขื่อนขุนด่านฯ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 94% ของความจุ โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนที่จะมีพายุเข้ามาซึ่งอยู่ที่ 79% ในช่วงที่เกิดฝนตกใหญ่ช่วง 19-21 กันยายน ทางเขื่อนก็ไม่ได้ปล่อยน้ำออกมา ขณะนี้ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 14 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในทางปฏิบัติแล้วการระบายน้ำออกของเขื่อนเมื่อปริมาณน้ำอยู่ที่ระดับ 80-90% ก็ต้องระบายน้ำออก อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.) ทางเขื่อนจะเริ่มมีการระบายน้ำออกมาที่ระดับ 30-40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เริ่มที่เวลา 17.00 น. เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำนครนายกลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่ง และการปล่อยน้ำออกมาก็จะไม่ทำให้ปริมาณน้ำสูงจนล้นตลิ่ง

การระบายน้ำออกในครั้งนี้ท้ายน้ำจะลงไปที่แม่น้ำนครนายกแล้วไหลไปที่แม่น้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา แล้วออกสู่ทะเล ส่วนการคาดการณ์ว่าอาจจะมีพายุเข้ามาอีก 1 ลูกระหว่าง 25-30 กันยายนนี้ก็ต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง

ฟันธง “กรุงเทพฯ” ไม่ท่วม

ปริมาณน้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่เห็นอยู่ในเวลานี้ อาจทำให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมาณฑล อยู่ในภาวะที่หวาดผวา เกรงว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยกับปี 2554 แต่เมื่อประเมินจากปริมาณน้ำเหนือที่จะเป็นต้นเหตุสำคัญต่อภาวะน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว วันนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในภาวะน้อยกว่าปี 2554 การปล่อยน้ำลงมาเพื่อลดความเสี่ยงของตัวเขื่อนอย่างเช่นในอดีตจะไม่เกิดขึ้น

มีเพียงปัจจัยเดียวนั่นคือปริมาณฝนที่ตก หากมรสุมลูกต่อไปทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อนได้ก็จะทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคกลางหรือพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบน้อยลง หรือถ้าทิศทางของมรสุมที่จะเข้ามาเปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ภาพโดยรวมของสถานการณ์น้ำท่วมก็จะคลายความกังวลลง

สำหรับพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ ที่อาจเห็นบางพื้นที่มีน้ำท่วมอย่างที่เกาะเกร็ด อาจทำให้กังวลนั้น ที่ผ่านมาปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มากขึ้นเป็นผลจากการเร่งระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาท และถ้ามีการหนุนตัวของน้ำทะเลก็จะทำให้การระบายออกทำได้ยาก

ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น มั่นใจได้ว่าน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 2554 แน่นอน ยิ่งถ้าไม่มีฝนตกเข้ามาเพิ่มอีก สถานการณ์ทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลาย

ส่วนในพื้นที่อื่นที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับสูงมากกว่า 80% ของความจุเขื่อน อย่างเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี หากไม่มีฝนตกลงมาคาดว่าการคลี่คลายสถานการณ์คงใช้เวลาไม่นาน

กำลังโหลดความคิดเห็น