ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลเกษตรล้นตลาด ราคาตกต่ำ ปิดถนนประท้วง อาจทำได้ไม่ยากหากเปลี่ยนโจทย์ใหม่จากการผลิตพืชอาหารมาเป็นพืชพลังงาน ด้วยการจัดโซนนิ่ง ตั้งคณะกรรมการจัดการ 6 พืชหลักเป็นวาระแห่งชาติ และปรับแนวส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและนิคมฯ พลังงานทางเลือกให้เป็นจริง แทนการจมปลักอยู่กับปัญหาพืชผลเกษตรราคาตกต่ำและอุตสาหกรรมก่อมลพิษไม่รู้จบสิ้น
ข้อเสนอและข้อถกเถียงดังกล่าว เป็นประเด็นหลักในงานสัมมนาครั้งประวัติศาสตร์ เรื่อง “Energy : Main Road to Low Carbon Society” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 ที่โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศปาร์ค กรุงเทพฯ โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดงานสัมมนาครั้งนี้ โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ เข้าร่วมงานสัมมนาประมาณ 400 คน
นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานคณะอำนวยการด้านพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก คณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ความท้าทายสู่การเป็นนิคมเกษตร-พลังงานทางเลือก...เป็นไปได้หรือไม่” ว่า หากประเทศไทยยังใช้พลังงานในแบบปัจจุบัน ภายในอีก 20 ปีข้างหน้าเราจะต้องนำเข้าพลังงานที่สูงเหมือนเช่นญี่ปุ่น ทำให้ประเทศจะไปไม่รอด เพราะเศรษฐกิจเราไม่แข็งแรงเหมือนญี่ปุ่น ดังนั้นจึงต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย 6 ชนิดที่เป็นสินค้าส่งออกทำรายได้มากกว่า 50 % ของ GDP คือ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ขณะนี้ข้าวและยางพาราก็มีปัญหาราคาตกต่ำ ชาวบ้านก็ออกมาปิดถนนประท้วง
“เราต้องนำพืชทั้ง 6 ตัวนี้มาพัฒนาให้สอดคล้องทั้งเรื่องอาหารและพลังงาน เช่น ข้าว ถ้าเราปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม ปลูกในเขตชลประทานจะผลิตข้าวได้ดี แต่ปัญหาตอนนี้คือผลิตในที่ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นจะต้องจัดโซนนิ่งประกาศพื้นที่ที่เหมาะสมว่าจะปลูกอะไร อย่าไปปลูกเกิน ทำแผนให้ชัดเจน สร้างระบบชลประทาน แต่พืชบางชนิดก็ไม่ต้องการน้ำมาก เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง และต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง รวมทั้งดูเรื่องการตลาดด้วย” นายประวิทย์กล่าว
สำหรับพืชพลังงานทดแทนนั้น อ้อยถือว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพที่จะเติบโต และประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในเอเชีย นอกจากจะนำมาเป็นน้ำตาลแล้วยังสามารถผลิตเป็นไฟฟ้า เป็นเอทธานอลได้อีก หากเพิ่มพื้นที่ปลูกอีกประมาณ 6 ล้านไร่ ก็จะนำมาแทนน้ำมันเบนซีนได้อีกประมาณ 6,000 ล้านลิตร เช่น ประเทศบราซิลถือเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จที่ได้ทั้งน้ำตาลและพืชพลังงาน โดยใช้พลังงานทดแทนจากอ้อยถึง 46 % หรือโรงงานผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวโพดครบวงจรที่รัฐเนบราสกา สหรัฐอเมริกา ที่นำข้าวโพดมาผลิตเป็นอาหาร เมล็ดพลาสติก และยังนำมาผลิตเป็นเอทธานอลได้ด้วย
ส่วนข้อเสนอของหอการค้าไทยนั้น นายประวิทย์ กล่าวว่า 1.พืชทั้ง 6 ชนิดจะต้องถือเป็นวาระแห่งชาติตามการจัดการโซนนิ่ง 2.จัดตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานเข้ามาศึกษา ดูแลดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมจนถึงห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ของพืชนั้นๆ 3.ผลิตอาหารและพลังงานให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน 4.ต้องมีการเชื่อมโยงการผลิตจากวัตถุดิบถึงผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่า ทำให้ราคาพืชผลการเกษตรมีความเสถียร
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กนอ.ได้ปรับแนวคิดจากนิคมอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเปลี่ยนมาเป็น Eco Industrial Town หรือ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีดุลภาพและยั่งยืน เช่น การนำวัสดุหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การใช้พลังงานทางเลือกจากขยะ และแสงอาทิตย์ โดยขณะนี้ กนอ. ได้รณรงค์เรื่องเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไปแล้ว 15 นิคมฯ จากนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 48 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะนิคมฯ เกิดใหม่ก็จะนำแนวคิดนี้ไปใช้ตั้งแต่การออกแบบให้เป็นนิคมฯ สีเขียว
ส่วนในอนาคต กนอ.มีวิสัยทัศน์ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กนอ.ได้เซ็น MOU ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทางเลือก ระยะเวลาศึกษา 1 ปี และคาดว่าภายในปี 2559 จะสามารถจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกได้ โดยมีเป้าหมายแห่งแรกอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร
ส่วนรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกนั้น จะมีลักษณะรวมกลุ่มการผลิตแบบคลัสเตอร์ เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ซึ่งนอกจากจะผลิตเป็นสินค้าอาหารแล้ว ยังนำมาผลิตเป็นพลังงานด้วย ส่วนโรงงานที่จะเข้ามาตั้งในนิคมนอกจากจะได้รับสิทธิพิเศษจากบีโอไอ.แล้ว ยังอาจได้รับสิทธิพิเศษในฐานะอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากเป้าหมายที่จังหวัดพิจิตรแล้ว ขณะนี้ที่จังหวัดนครพนมและนครราชสีมาก็มีความสนใจที่จะจัดตั้งนิคมฯ พลังงานทางเลือกด้วยเช่นกัน
นายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่าทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานของประเทศไทยมุ่งเน้นสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การจัดตั้งนิคมเกษตรฯ ก็จะต้องเชื่อมโยงกับพืชเกษตร เช่น ปาล์ม อ้อย โดยมีเป้าหมายในปี 2564 จะต้องใช้เอทานอลปริมาณ 9 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนปาล์มน้ำมันจะมีปัญหาเรื่องราคาสต็อกและราคาผลผลิตไม่คงที่ หากราคาปาล์มสูงก็จะทำให้กระทบต่อราคาน้ำมันไปด้วย
อย่างไรก็ตามในปี 2557 จะผลิตน้ำมัน B7 สามารถดึงปาล์มมาผลิตน้ำมันได้อีก 240,000 ตัน และปี 2560 จะสามารถผลิตน้ำมันจากปาล์มได้ประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน และจะสามารถดึงปาล์มมาใช้ได้ประมาณ 350,000 ตัน ทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานจากน้ำมันปาล์มมากกว่าการใช้เพื่อบริโภค ซึ่งก็จะต้องดูด้วยว่าจะมีน้ำมันปาล์มเหลือบริโภคหรือไม่ แต่ที่สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ราคาน้ำมันปาล์มราคาถูกลง
ส่วนการนำมาผลิตเอทานอล ปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 2.7 ล้านลิตร โดย 2 ล้านลิตรมาจากกากน้ำตาล และอีก 7 แสนลิตร ผลิตจากมันสำปะหลัง ซึ่งเราพยายามควบคุมสัดส่วนให้สมดุลกัน ซึ่งหากดูแลเรื่องมันสำปะหลังได้ก็จะทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนพืชพลังงานอีกชนิดหนึ่งคือหญ้าเนเปียร์ ซึ่งทาง พพ.มีเป้าหมายจะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ตอนนี้เริ่มนำร่องผลิต 15 เมกะวัตต์ และยังสามารถนำหญ้าเนเปียร์มาผลิตแทนก๊าซเอ็นจีวีได้โดยในขณะนี้ทาง พพ.เปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ และเกษตรกรสามารถปลูกหญ้าเนเปียร์แทนพืชเกษตรที่มีรายได้ต่ำโดยจะต้องมีการจัดโซนนิ่งเพื่อปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมเกษตรเชิงนิเวศน์เพื่ออาหารและพลังงาน ถือเป็นการมองมุมใหม่ เพราะเป็นการจัดเขตพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมที่เหมาะสมโดยการนำหลักการนิคมเชิงนิเวศน์มาใช้ เพื่อผลิตสินค้าทางเกษตรสำหรับอาหารและพลังงานที่มีความยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้บริโภค กลไกตลาด และปัญหาด้านวิกฤตพลังงานและอาหาร โดยต้องมีการกำหนดเขตพื้นที่ว่าพื้นที่ใดควรปลูกอะไร ขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม ผลผลิตต่อไร่ มีตลาดรองรับการผลิต โดยมีหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุน ทั้งด้านปัจจัยการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน งานวิจัย ฯลฯ
“เราควรเปลี่ยนเนวคิดอุตสาหกรรมใหม่ โดยเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นอุตฯ ส่งออกได้ จะสามารถสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ได้ โดยนิคมฯ ควรกระจายไปแต่ละภาค รวมทั้งหมดให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งอาหาร พลังงาน มีการวิจัยเพื่อต่อยอด เช่น เรื่องเครื่องสำอาง ยาสมุนไพร โดยมีเครือข่ายภาคเอกชนมาร่วมด้วย มาลงขันทำงานวิจัย และหนุนให้มหาวิทยาลัยท้องถิ่นศึกษาเพื่อป้อนความรู้ให้กับนิคมฯ” ดร.ขวัญฤดีกล่าว
ในเวทีเดียวกันนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง “เสียงจากผู้ประกอบการ … ถามหาแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อนิคมสีเขียว/พลังงานทางเลือก… สู่การขายคาร์บอนเครดิต… คุ้มค่าหรือไม่?” โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กล่าวถึงการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำว่า สามารถทำได้โดยขับเคลื่อนด้วย 3 เสาหลัก คือ 1.จัดการเมือง ซึ่งต้องมีการจัดการพื้นที่ จัดการระบบลอจิสติกส์ ที่อยู่อาศัย หรือนิคมอุตสาหกรรม 2.ประหยัดพลังงาน โดยส่งเสริมให้คนในเมืองหรือนิคมฯ ประหยัดพลังงานเป็นที่ตั้ง และ 3. พลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทน ที่ต้องเสาะแสวงหาด้วยการวิจัยเทคโนโลยี สนับสนุนผู้ประกอบการให้คิดค้น เพื่อป้อนให้กับเมืองหรือนิคมฯ เพื่อขับเคลื่อน 3 เสาหลักไปพร้อมๆ กัน
“เกาะสมุยสามารถทำเป็นกรณีตัวอย่างในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น ลงสนามบินมีรถยนต์ไฟฟ้าให้เช่า ชาร์ตแบตจากพลังงานแสงอาทิตย์ จัดรถบัสไปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญฟรี เป็นสัญลักษณ์สังคมคาร์บอนต่ำ เอกชนก็ทำภาครัฐก็ทำให้เกิดการบูรณาการ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ หรือกรณีนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ก็ริเริ่มกันแล้ว และในอนาคตอาจจะมีสมาร์ทซิตี้ สังคมไทยก็จะอยู่แถวหน้าที่คิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้าไม่คิด เมืองพัฒนาไป พื้นที่สีเขียวหายไปแล้ว เช่นเวลานี้สมุยขยายแนวราบ เพราะกฎห้ามตึกสูงเกิน 12 เมตร” ดร.ทวารัฐ ยกตัวอย่าง
ดร.ทวารัฐ ยังกล่าวถึงประเด็นการเชื่อมโยงภาคเกษตรที่เป็นพื้นฐานของประเทศหรือเป็นกระดูกสันหลังกับภาคพลังงานด้วยว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยอาศัยแนวคิดรวมตัวกันจัดโซนนิ่งคลัสเตอร์ เชื่อมโยงทุกอย่าง วัตถุดิบ การผลิต ลอจิสติกส์ รีไซเคิล ให้เป็นพลังงานได้ทุกรูปแบบ เช่น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่มีโรงไฟฟ้าระบบความร้อนร่วม ผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยหรือไอน้ำสำหรับใช้ในโรงงาน หากเหลือใช้ก็ขายเข้าระบบ ส่วนกากน้ำตาลเอาไปทำเอทานอลหมุนเวียน เป็นอุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่าไม่มีของเสียหรือซีโร่เวสท์ และยังต่อยอดได้อีก เช่น เอาชานอ้อยไปทำพาร์ติเคิลบอร์ด
ส่วนปาล์มนั้น ทลายปาล์มสามารถผลิตเป็นพลังงาน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แต่ต้องมีการจัดการ มีการรวมกลุ่มครบวงจร เพื่อเสริมสรรพกำลังซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น โรงงานน้ำตาล 47 โรง บางแห่งเล็ก ทำครบวงจรไม่ได้ ในต่างประเทศมีบางเมืองที่เอาโรงน้ำตาลมาตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน แล้วมีโรงไฟฟ้า ผลิตจากชานอ้อยอยู่ใกล้ๆ ตอนนี้โรงไฟฟ้าจากชานอ้อยของเรายังไม่มีประสิทธิภาพ ถ้ารวมตัวกันแล้วยกระดับเทคโนโลยีในการผลิตได้จะดีขึ้น
สำหรับมาตรการจูงใจผู้ประกอบการนั้น ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า นอกจากเรื่องการลดภาษีแล้ว พพ.ยังมีการอัดฉีดแบบให้เปล่าเป็นมาตรการเสริมเป็นครั้งคราว เช่น “โครงการแปดสิบ-ยี่สิบ” ที่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ติดอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ผู้ประกอบการจะจ่ายแค่ 80 ส่วนอีก 20 รัฐเป็นผู้จ่ายให้ เป็นต้น และในปีหน้า พพ.จะขยายกลุ่มเป้าหมายออกไปไม่ใช่แค่โรงงาน แต่จะครอบคลุมไปถึงกลุ่มโรงแรม รีสอร์ท และกรณีบ้านประหยัดพลังงาน เช่น บ้านที่ติดฉนวนกันความร้อน มีหลังคา อิฐบล็อก การออกแบบ ที่ทำให้ประหยัดค่าไฟ จะได้รับการสนับสนุนจากพพ. เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดและส่งสัญญาณไปยังผู้ออกแบบอาคารและเจ้าของบ้านด้วยว่าถ้าออกแบบหรือเลือกวัสดุที่ลดการใช้พลังงานจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งความคืบหน้าขอให้ติดตามจากเวปไซต์ของ พพ. รวมทั้งยังมีการศึกษาอุปกรณ์ที่อยู่ในข่ายประหยัดพลังงานด้วย เช่น บอยเลอร์ หากพิสูจน์ทราบว่าสินค้าต่างๆ เหล่านี้ประหยัดพลังงานได้จริงกรมฯ ก็จะเข้าไปรับรองติดฉลากประหยัดพลังงาน
ทางด้านนางประเสริฐสุข จามรมาน (รักษาการ) ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวถึงแรงจูงใจในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ว่า ผู้ประกอบการจะมองถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ โดย อบก. มีการยกเว้นภาษีจากผู้ขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งที่ผ่านมามีการยื่นขอยกเว้นหลายร้อยล้านบาท และมีการยกเว้นให้ประมาณสี่ห้าสิบล้านบาท ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะยกเว้นให้กับซื้อด้วยหรือไม่ และการพิจารณาในเรื่องแหล่งเงินทุน ซึ่งมีแหล่งเงินต่างประเทศเสนอเข้ามาที่ อบก.ว่าสนใจจะรับหรือไม่ โดยตนเองมองว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ไม่ได้เป็นแค่แหล่งเงินเท่านั้น แต่ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เราจะได้ด้วย เพราะไทยไม่สามารถทำได้ประเทศเดียวโดยลำพัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยยังขาด รวมทั้งการเลือกใช้เทคโนโลยีด้วย
ด้านนางสาวศุกลรัตน์ ภูริวัฒนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กสิกรไทยมีส่วนร่วมในการปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ประหยัดพลังงานมาหลายปี และธนาคารก็เป็นผู้ทำเองด้วย โดยทำตึกที่แจ้งวัฒนะ และบางปะกง ทำให้ได้รับรางวัลสีเขียว เป็นการสร้างให้พนักงานมีจิตสำนึก สำหรับสินเชื่ออนุรักษ์พลังงานทำมาสามปีแล้ว โดยจับมือกับบริษัทเอสโก้ปล่อยสินเชื่อไปสิบกว่าแห่ง เพราะธนาคารเชื่อว่า กระแสเงินสดผู้ประกอบการจะดีขึ้น เมื่อมีการรับประกันการประหยัดพลังงานจากเอสโก้ ธนาคารก็จะให้สินเชื่อร้อยเปอร์เซนต์ โดยเอสโก้จะทำออดิตว่าลดพลังงานได้อย่างไร ค่าธรรมเนียมแบงก์ที่จ่ายก็นำมาขอสินเชื่อด้วย เอาส่วนที่ประหยัดพลังงานมาผ่อนจ่ายกับธนาคาร
“กสิกรไทย เราบอกว่าต้องมองเป้าหมายเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยว ภาคการผลิต ขายเก่งแล้วลดต้นทุนเก่งไหม โดยเฉพาะไฟฟ้า จัดการพลังงานอย่างไร ภาครัฐมาแนวนี้ แบงก์ก็จะมีส่วนที่ช่วยเสริม สมุย มีผู้มาขอสินเชื่อด้านนี้เยอะขึ้นมาก”