xs
xsm
sm
md
lg

กดหัวสื่อกองทัพ เซ็นเซอร์"เค วอเตอร์"ลวงโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การลุแก่อำนาจของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งนานวันยิ่งชัดเจน หากไม่นับกรณีของนายเอกยุทธ อัญชัญบุตร ที่รุนแรงถึงขั้นถูกอุ้มฆ่าเพราะทำหน้าที่สื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแล้ว จะเห็นว่าการเซ็นเซอร์ถือเป็นมาตรการปิดปากสื่อที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด การ "ตัดฉับ" เซ็นเซอร์รายการฮาร์ดคอร์ข่าว ที่กำลังนำเสนอความไม่ชอบมาพากลของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ในประเด็นที่มีข้อสงสัยต่อบริษัทเค วอเตอร์ฯ จากเกาหลีใต้ ที่คว้างานประมูลสร้างฟลัดเวย์และแก้มลิงในพื้นที่จ.นครสวรรค์ รวมมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท โดยเครือข่ายสิ่งแวดล้อมจากเกาหลีใต้และเอ็นจีโอด้านทรัพยากรน้ำของไทย ตั้งข้อกังขาว่า บริษัทนี้มีหนี้สินจำนวนมาก มีผลงานด้านการสร้างเขื่อนที่ล้มเหลวและสร้างปัญหาให้ประชาชนเกาหลีใต้ จึงกังวลว่าการเข้ามารับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศไทยจะเกิดปัญหาตามมา

ผู้ชมที่กำลังดูรายการ "ฮาร์ดคอร์ข่าว" ทางช่อง 5 ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 56 ระหว่างเวลา 18.00 - 18.30 น. ร้องเรียนว่า พิธีกรได้โปรยหัวข่าวว่า พบความไม่ชอบมาพากลที่บริษัทเค วอเตอร์ฯ มีหนี้สินสะสมมากกว่า 700เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งไม่เคยดำเนินโครงการขนาดใหญ่มาก่อน และให้ติดตามชมรายงานข่าวชิ้นนี้ แต่ปรากฏว่า เมื่อปล่อยภาพครู่เดียวก็ถูกตัดเข้าโฆษณาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จนกระทั่งจบโฆษณาและกลับมาเข้ารายการ พิธีกรก็กล่าวสวัสดีทันที และไม่มีการนำเสนอรายงานข่าวชิ้นนี้อีกแต่อย่างใด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกออนไลน์และแวดวงสื่อมวลชน

รายการดังกล่าวมีการบันทึกเทปก่อนออกอากาศประมาณ 20 นาที การถูกถอดกลางอากาศ จึงมิได้เป็นเรื่องความผิดพลาดทางเทคนิคแต่เป็นความจงใจเซ็นเซอร์รายการ ซึ่งเป็นการผลิตร่วมกันระหว่างช่อง 5 กับบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ ที่รับสัมปทานผลิตรายการข่าวให้กับสถานี

งานนี้ บิ๊กกองทัพที่ตกเป็นเป้าอยู่เบื้องหลังคือ "บิ๊กตู่" ซึ่งว่ากันว่า มีหนังสือออกมาจากกองทัพบก เตือนให้ระวังการนำเสนอข่าว

เมื่อเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการใช้อำนาจแทรกแซงสื่ออย่างกว้างขวาง ในวันถัดมาเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 56 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) จึงออกมาให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่มีการสั่งระงับการออกอากาศรายการ “ฮาร์ดคอร์ข่าว” ว่า เรื่องนี้บรรณาธิการข่าวเป็นผู้ดูแล เมื่อข่าวที่นำเสนอเกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะเนื้อหาที่ยังไม่ชัดเจนสถานีนี้จะไม่ออกอากาศ ดังนั้นจึงต้องระงับการเผยแพร่ทันที เพราะหาก ททบ. 5 นำเสนอไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอาจถูกฟ้องร้องได้ ถือเป็นการป้องกันไว้ก่อน โดยทางบรรณาธิการได้ตัดสินใจระงับการออกอากาศ ซึ่งตนทราบเรื่องเวลา 20.00 น.ของวันเดียวกัน โดยผู้ที่รับผิดชอบรายงานให้รับทราบและอธิบายถึงสาเหตุว่า สกู๊ปดังกล่าวยังไม่ชัดเจน เกรงว่าจะถูกฟ้องร้องได้ ยืนยันว่า การตัดสินใจการระงับการออกอากาศไม่มีใครสั่งการ เป็นการตัดสินใจของบรรณาธิการ
       
       “ผมยืนยัน 100% ว่า ไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงหรือสั่งการใดๆ ทั้งสิ้น ผมได้เรียกบรรณาธิการที่รับผิดชอบรายการดังกล่าวมาสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งทางบรรณาธิการยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะตัดสินใจด่วนที่นำสกู๊ปดังกล่าวมาเผยแพร่ ทั้งที่ควรตรวจสอบมากกว่านี้ก่อน ผมได้กำชับว่า เรื่องที่เกิดขึ้นให้ถือเป็นบทเรียน ต้องไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก การเสนอข่าว ททบ.5 ต้องมีความรอบคอบ เป็นไปตามนโยบายให้ถูกต้องชัดเจนและเชื่อถือได้ อย่าทำงานรีบร้อนต้องตรวจสอบให้ละเอียด ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้สั่งกำชับภายหลังทราบข่าวว่า การทำงานด้านข่าวต้องเชื่อถือได้ ไม่ใช่ทำแบบนี้ แต่ถือว่ายังโชคดีที่ระงับการออกอากาศทัน” ผอ.ททบ.5 ระบุ

นี่คือผลของการกำชับของ "บิ๊กตู่" ที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ช่อง 5 ออกตัวแทนว่า มีคำสั่งออกมาหลังจากทราบข่าว

       หากช่อง 5 ไม่ถูกสั่งปิดปาก ความเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ ย่อมรู้ว่า เรื่องนี้สามารถออกอากาศได้โดยไม่ต้องกลัวถูกฟ้อง เพราะสามารถนำเสนอให้รอบด้านได้ ทั้งข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของ เค วอเตอร์ จากเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการน้ำระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนไทยและเครือข่ายสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ โดยมีคำชี้แจงจากผู้บริหาร เค วอเตอร์ในประเด็นที่ถูกข้อสงสัย รวมไปถึงขอคำอธิบายจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ในเรื่องกระบวนการคัดเลือกผู้ประมูล ไม่ได้มีอะไรยากเกินความสามารถของทีมข่าวรายการ “ฮาร์ดคอร์ข่าว” เว้นเสียแต่จะถูกคำสั่งให้ระงับการออกอากาศ แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ของช่อง 5 ก็มาทำแก้เกี้ยวอธิบายข้างๆ คูๆ

ชั่วระยะเวลาเพียงเดือนเดียว สื่อกองทัพ ได้จัดการเซ็นเซอร์รายการที่กระทบต่อ "ความมั่นคงของรัฐบาล" ถึงสองครั้งสองคราว โดยก่อนหน้านี้ คือ กรณีที่ “บิ๊ก อ.” ผู้เกรี้ยวกราดแห่งกระทรวงกลาโหม แสดงความไม่พอใจต่อการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา ทนายความและนักพูดชื่อดัง ที่แสดงความเห็นผ่านรายการวิทยุคลื่นข่าวเอฟเอ็ม 101 คลื่นในสังกัดสถานีวิทยุกกระจายเสียง กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งบริหารงานโดยบริษัท วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด ผู้บริหาร
คลื่นวิทยุดังหลายคลื่นเช่น เก็ต 102.5, เอฟเอ็มวัน 103.5 และแฟต เรดิโอ 98

กรณีดังกล่าว คำสั่งของ “บิ๊กกองทัพ” ให้ถอดนายวันชัยถูกส่งด่วนลงมาที่ผู้บริหารของสถานี เอฟเอ็ม 101 โดยมีเงื่อนไขว่าหากไม่ถอด “ทนายวันชัย” ก็จะยื้อการต่อสัญญาสัมปทานคลื่นวิทยุไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย. นายวันชัย ซึ่งปกติจะโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยในรายการ “สนามข่าว101” ในช่วงเช้าเวลา 7.30-8.00น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ก็หายไปจากวิทยุคลื่นดังกล่าว ในวันเดียวกันนั้น นายวันชัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ทนายวันชัย สอนศิริ” ยอมรับว่า ทางผู้บริหารสถานีถูกบีบให้ถอดตนออกจากคลื่นจริงๆ

เหตุการณ์ “เซ็นเซอร์สื่อทหาร” ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เกิดจากความอ่อนแอของผู้บริหารระดับสูงในกองทัพ หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลรักษาความมั่นคงของไทย ที่สยบยอมต่อความฉ้อฉล และชั่วร้ายของนักการเมือง ในยุคที่พวกเขาอ้างว่าเป็นยุคประชาธิปไตย แต่กลับพยายามทุกวิถีทางในการปิดปากประชาชน และสื่อมวลชนที่ออกมาเปิดเผยความไม่ชอบธรรมต่างๆ และแม้แต่ละครอย่าง "เหนือเฆม" ทางช่อง 3 ที่สะท้อนภาพความฉ้อฉลของนักการเมือง ผู้มีอำนาจ ก็ถูกถอดกระทันหัน กลายเป็นละครประวัติศาสตร์ที่ไม่มีตอนจบ

ย้อนกลับมายังกรณีของ เค วอเตอร์ฯ บริษัทนี้ยิ่งใหญ่มาจากไหนถึงคว้างานประมูลไปได้ถึง 1.63 แสนล้านบาท จากงบบริหารจัดการน้ำรวม 3.5 แสนล้าน คำตอบอาจจะมาจากปริศนาภาพถ่ายที่สังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกับทีมผู้บริหาร เค วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น พร้อมกับมีป้ายข้อความยินดีต้อนรับติดที่หน้าตึกอย่างเป็นทางการ ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 54 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการป้องกันอุทกภัยและระบบป้องกันสาธารณภัยของเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ย. 54

สังคมออนไลน์ ตั้งข้อสังเกตกันว่า การที่บริษัท เค วอเตอร์ ชนะการประมูลแผนก่อสร้างใน 2 โมดูล ของโครงการ
บริหารจัดการน้ำอาจมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลที่มีเงื่อนงำ เพราะบริษัทดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีสถานะการเงินอยู่ในขั้นย่ำแย่ และมีหนี้ท่วมกว่า 700% ที่สำคัญโครงการจัดการน้ำที่ เค วอเตอร์ ก่อสร้างในเกาหลีใต้ก็ประสบความล้มเหลวและมีปัญหา

ยิ่งกว่านั้น จากการตรวจสอบของ "ASTVผู้จัดการ" ยังพบว่า เค วอเตอร์ฯ ที่จดทะเบียนในไทยในชื่อ บริษัท เค วอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 56 ที่ตั้ง ณ เลขที่ 90 อาคารไซเบอร์ เวิลด์ ทาวเวอร์ ชั้น 26 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310 มีทุนจดทะเบียนเพียง 3 ล้านบาท มีนายยูน บียอนฮุน เป็นกรรมการ ระบุประเภทดำเนินธุรกิจว่า เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ประกอบกิจการบริหารโครงการเกี่ยวกับการจัดการน้ำ แต่กลับสามารถประมูลงานในไทยได้มโหฬารถึง 1.63 แสนล้าน อีกทั้งยังเป็นการตั้งบริษัทก่อนที่จะประมูลงานล่วงหน้าเพียง 20 วัน

ทั้งนี้ บริษัทแม่ของ บ.เค วอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค วอ
เตอร์) จากประเทศเกาหลีใต้ ถูกนาย ยัม ฮยอง โชว ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ เอ็นจีโอ แฉว่า เค วอเตอร์มีประวัติไม่ดีนัก การชนะการประมูลงานบริหารจัดการน้ำในไทย 2 แผนงาน งบกว่า 1.6 แสนล้านนั้น กลัวว่าจะมีปัญหาตามมาภายหลัง ทั้งปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และปัญหาเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกินกว่าราคาเสนอโครงการ

โดยแต่เดิมบริษัทดังกล่าวเป็นรัฐวิสาหกิจที่พัฒนาระบบน้ำ แต่ต่อมาก็รับงานก่อสร้างอื่นๆ เช่น การสร้างระบบน้ำประปาในพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ และมาก่อสร้างด้านการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ ก่อสร้างพนังกั้นน้ำท่วม ซึ่งไม่ใช่งานหลัก ทั้งที่ก่อตั้งมาในฐานะรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีทุนสนับสนุนโดยรัฐบาลที่ถือหุ้นมากถึง 99% และมีผู้บริหารระดับสูงหรือซีอีโอที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเกาหลีใต้

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2012 เควอเตอร์มีทรัพย์สินอยู่ที่ 676,000 ล้านบาท 304,000 ล้านบาท และหนี้สินประมาณ 372,000 ล้านบาท ส่วนภาษีเงินได้ของบริษัท อยู่ที่ 99,000 ล้านบาท ซึ่งระยะเวลา 3 ปีจากปี 2008-2011 ที่ เค วอเตอร์ ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนใน 4 แม่น้ำและคลองกังงิน รวมระยะทาง 600 กม. โดยใช้งบสูงถึง 5,945,000 ล้านบาท ทางบริษัทระบุว่า เป็นการสร้างฟลัดเวย์และแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งของเกาหลีใต้ พบว่า ผลจากการก่อสร้างก่อหนี้สินสูงขึ้นถึง 758% ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความล้มเหลวของเควอเตอร์มากที่สุด โดย 50% ของงบประมาณ เค วอเตอร์ใช้เพื่อการบำรุงรักษาโครงการหลังก่อสร้าง ความล้มเหลวนี้ทำให้คนเกาหลีใต้เกือบ 80% ต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว

ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นมากมายเช่นกัน ซึ่งเขื่อนใน 4 แม่น้ำ สร้างปัญหาสาหร่ายเขียว (Green late) ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำของเกาหลีใต้ ทำให้สัตว์และพืชสำคัญเสียหายอย่างรุนแรง ดังนั้น เค วอเตอร์ จึงเข้าข่ายทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะที่ความไม่โปร่งใสเรื่องการเงินนั้นอยู่ในช่วงการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของเกาหลีใต้ และสำนักงานตรวจสอบการทุจริต เพราะเข้าข่ายทำผิดกฏหมายการเงิน

เมื่อถูกแฉโพย นายมณฑล ภาณุโภคิน ตัวแทนจาก บ.เค วอเตอร์ ก็ออกมาตอบโต้กลับว่า กลุ่มเค วอเตอร์ ซึ่งถือหุ้นโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ย่อมมีความแข็งแกร่งทางการเงิน ส่วนเรื่องภาระหนี้สินเป็นเรื่องปกติของการลงทุน และโครงการต่างๆ ที่เค วอเตอร์ดำเนินการล้วนเป็นโครงการบริการประชาชนที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร โดยขณะนี้ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเกาหลีให้ส่งรายงานทางการเงินมาให้ทางเค วอเตอร์ไทยนำเสนอต่อสังคมไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนคนไทยให้เชื่อมั่นว่าเค-วอเตอร์จะไม่ทิ้งงาน

ถึงแม้ว่า เค วอเตอร์ จะมีระดับบิ๊กยิ่งใหญ่แค่ไหนหนุนหลังอยู่ก็ตาม การคว้างานประมูลบริหารจัดการน้ำของรัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้รายนี้อาจต้องใช้เวลารอคอยอีกนานแสนนานกว่าจะได้ลงมือดำเนินการ เช่นเดียวกับผู้ประมูลอื่นๆ ที่ได้รับคัดเลือก เพราะว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และกลุ่มประชาชน รวม 45 คน ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ หรือ กยน.คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กบอช.และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และสั่งให้ร่วมกันจัดให้มีการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
       
โดยศาลมีคำพิพากษาให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57(2) มาตรา 67(2) โดยให้นำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล เนื่องจากมีโครงการบริหารจัดการน้ำที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง อาทิ โครงการแก้มลิง เพราะการที่ให้บริษัทเอกชนผู้รับจ้างไปรับฟังความคิดเห็นอาจได้ผลที่เบี่ยงเบนและไม่ตรงกับความเป็นจริง

หลังศาลปกครองมีคำพิพากษา นายปรเมศวร์ มินศิริ แกนนำกลุ่มไทยฟลัด พิมพ์ข้อความในทวิตเตอร์ @iwhale ว่า ชัยชนะยกที่ หนึ่งของประชาชนได้มาแล้ว ยกต่อไปต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ชี้ขั้นตอนการจัดจ้างแบบไม่มีราคากลาง มีความผิดตาม พ.ร.บ.ทุจริต ทั้งนี้ รัฐบาลทำเสียเวลาไปหนึ่งปีครึ่ง แทนที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการน้ำ กลับกีดกันมาตลอด จะเอาแต่เอกชน จนมาถึงวันนี้ต้องโทษรัฐบาล ศาลสั่งให้ไปทำอีไอเอ รับฟังประชาชนใช้เวลาหนึ่งปีขึ้นไป อย่าเพิ่งรีบไปกู้เงิน เสียดายดอกเบี้ย รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษา 8 พันล้านอย่ารีบจ้าง

เรียกว่างานนี้อ้อยกำลังจะเข้าปากช้าง โดยง้างเท้าถีบคนวิพากษ์วิจารณ์ให้พ้นทาง แต่สุดท้ายแต่แพ้พ่ายต่อกระบวนความยุติธรรมที่ยังคงพอมีเหลืออยู่

(27 มิ.ย. 56)
กำลังโหลดความคิดเห็น