xs
xsm
sm
md
lg

ชี้นักการเมืองยุคนี้ “วุฒิภาวะต่ำ” “หมอแอร์” หวั่นเยาวชนเลียนแบบพฤติกรรมเน่าๆ ในสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำรวจพฤติกรรมของ ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านในการประชุมรัฐสภา “เพื่อไทย” ใช้ทุกชั้นเชิงยั่วยุจนฝ่ายค้านตบะแตก ทั้ง 2 ฝ่ายเปิดศึกปะทะคารม ด้วยถ้อยคำ “ผรุสวาจา” และฉุดกระชากลากถูโดยไม่แคร์สายตาประชาชน ดร.เจษฎ์ ระบุนักการเมืองยุคนี้วุฒิภาวะต่ำลง จุดเดือดทางการเมืองต่ำด้วย ขณะที่ ส.ว.สรรหา บอกต้นเหตุให้ ปชป.ตบะแตกง่าย เพราะมีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทยเขย่าเกมการเมือง ด้านจิตแพทย์ชื่อดัง หวั่นเยาวชนเลียนแบบนักการเมือง แนะผู้ปกครองต้องชี้แนะ
2 คู่หู : สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา(ซ้าย) และ นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา(ขวา)
ความวุ่นวายในการประชุมของบรรดาตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปบริหารประเทศในสภาอันทรงเกียรติ ภาพเหล่านั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทราบดีว่าสร้างภาพพจน์ที่ไม่ดี แต่ก็ยังมีออกมาสู่สายตาประชาชนอย่างต่อเนื่อง คราวนี้เหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐสภาแต่ละครั้ง ฝ่ายที่ถูกมองว่าแสดงพฤติกรรมไม่ดีออกมากลายเป็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์

วันนี้ภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์กับบทสุภาพบุรุษ ที่ยึดมั่นในระบบสภา กำลังถูกลากลงมาให้อยู่ในสถานะเดียวกับพรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองว่าเถื่อน ดิบ ก้าวร้าว การดึงเอาสัญชาตญาณดิบของคนในพรรคประชาธิปัตย์ออกมาสู่สายตาประชาชนทั่วประเทศ ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยทำได้สำเร็จ

นับตั้งแต่การคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 พรรคเพื่อไทยสามารถกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้งด้วยนโยบายประชานิยม ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และรับจำนำข้าว 15,000 บาท และ 20,000 บาทต่อตัน พร้อมด้วยการผนึกกำลังกับพรรคร่วมรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในสภาไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ไม่ว่าจะเป็นการลงมติเรื่องใดๆ ฝ่ายค้านที่มีประชาธิปัตย์เป็นแกนนำกับพรรคภูมิใจไทยที่บางส่วนปันใจไปให้รัฐบาล ไม่มีทางที่จะต้านทานรัฐบาลได้เลย ภาพที่เห็นได้ชัดคือคำพูดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวว่า อย่าว่าแต่ยกมือเลย ยกเท้าช่วยแล้วก็ยังแพ้

ดังนั้นการโหวตเพื่อลงมติในทุกเรื่องพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่สามารถทัดทานได้ แม้การแก้กฎหมายต่างๆ จะเป็นการดำเนินการไปเพื่อสร้างฐานอำนาจ ช่วยเหลือพวกพ้องหรือนายใหญ่ในต่างแดน หากลงมติครั้งใดทุกอย่างก็เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยต้องการ

ด้วยแต้มต่อที่มีอยู่ วันนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ลดบทบาทจากที่เคยเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรีมานิ่ง ป่วนหรือสกัดฝ่ายตรงข้ามบ้าง ในภาพรวมแล้วน้อยลงไปมาก แต่บทบาทหลักในการสกัดกั้นการเดินหมากของพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่ที่ตัวประธานรัฐสภาที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ จากพรรคเพื่อไทยเข้ามาทำหน้าที่ และบางครั้งบางโอกาสที่มีการประชุมร่วมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสมาชิกก็ยังมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เข้ามาทำหน้าที่แทนในบางครั้ง แต่เป้าหมายในการทำหน้าที่ไม่แตกต่างกัน

เมื่อเป็นเสียงข้างน้อย ลงมติครั้งใดก็แพ้ ประชาธิปัตย์เลือกที่จะยื้อเกมของรัฐบาลในสภา เห็นได้จากกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภามีเพียงพระราชบัญญัติงบประมาณเท่านั้น ที่เหลือยังอยู่ในขั้นตอนการแปรญัตติ อภิปรายกันอย่างยืดเยื้อยาวนาน

การสกัดกั้นเกมของประชาธิปัตย์ โดยใช้อำนาจของประธานสภาเข้ามาบีบเพื่อให้เป้าหมายในการแก้กฎหมายของรัฐบาลสัมฤทธิผล ดังนั้นการประลองกำลังกันของฝ่ายประชาธิปัตย์ที่ต้องการยืดเรื่องกฎหมายออกไปกับฝ่ายของรัฐบาลที่มีประธานสภาเป็นหัวหอก ด้านหนึ่งคือปล่อยให้อภิปรายยืดเยื้ออีกด้านหนึ่งใช้อำนาจของประธานตัดเกมเป็นระยะ ยั่วให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต้องหลุดจากภาพลักษณ์สุภาพบุรุษกลายมาเป็นผู้ร้ายในรัฐสภา

ประชาธิปัตย์นอตหลุด

เพียงแค่ 2 ปีของพรรคเพื่อไทยที่เข้ามาบริหารประเทศ ทำเอา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เกิดอาการหลุดจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันถึง 4 ครั้ง

เริ่มจากเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเมื่อ 30 พฤษภาคม 2555 มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ท้วงติงว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายการเงิน ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามก่อน โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า เรื่องนี้มีการวินิจฉัยไปแล้วว่าเป็นเรื่องด่วน และไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน และตนใช้อำนาจหน้าที่ถูกต้องแล้ว และมีผู้เสนอเลื่อนและมีผู้รับรองถือว่าถูกต้องแล้ว ท่ามกลางเสียงโห่ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมโพกหัวด้วยผ้าข้อความ “สายล่อฟ้า” ประท้วงว่า ติดใจประธานพูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและทำผิดรัฐธรรมนูญ จากนั้นนายเทพไทก็ฉีกร่าง พ.ร.บ.ปรองดองโชว์ที่ประชุม แล้วมีการแจกกระดาษที่มีข้อความ “หยุดปรองดอง ล้างผิดให้คนโกง” และ “ปรองดอง ต้องไม่ฟอกผิดให้เป็นถูก” โชว์ในห้องประชุม

ระหว่างการประชุมเมื่อ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยและประธานสภาพูด จะถูกโห่จากพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นพูดว่า “ทีพวกผมพูด พวกคุณโห่กัน ต่อไปนี้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์พูด พวกผมจะโห่บ้าง” พูดไม่ทันจบก็ถูกโห่อีก ทำให้นายประชาด่าออกมา “โห่ทำเ...ยไรครับ” พร้อมชี้มือไปทางพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อทุกอย่างไม่เป็นใจ พรรคประชาธิปัตย์ได้วิ่งขึ้นไปบนที่นั่งประธาน พร้อมดึงแขนนายสมศักดิ์ออกจากเก้าอี้ โดยด้านหน้าบัลลังก์ประธาน ส.ส.ประชาธิปัตย์ไปรุมประท้วงที่หน้าบัลลังก์ จนตำรวจสภาต้องเข้ามาล้อมอารักขาประธานสภา

หลังจากนั้นนางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ที่เข้าไปลากเก้าอี้ประธานสภาลงมาจากบัลลังก์ เนื่องจากมองว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรทำหน้าที่ประธาน ขณะที่ ส.ส.หญิงของพรรคเพื่อไทย ออกมาช่วยกันยื้อและแย่งเก้าอี้ประธานรัฐสภาคืน
เหตุการณ์เมื่อ 30 พ.ค.2555 น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ลากเก้าอี้ประธานสภาลงมาจากบัลลังก์
จากนั้นในการประชุมสภาเมื่อ 20 สิงหาคม 2556 ในช่วงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธานสภาคือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เสนอให้มีการลงมติทั้งๆ ที่ยังเหลือฝ่ายประชาธิปัตย์ที่ขอแปรญัตติยังไม่ได้อภิปราย โดยประธานได้รวบรัดให้มีการลงมติ “ขอให้ลงมติเลยครับ เป็นอย่างไรก็เป็นกัน”

มติเสียงข้างมาก 339 เสียง เห็นว่าคำแปรญัตติทั้ง 57 คนขัดหลักการ ขณะที่ 15 เสียงเห็นว่าไม่ขัดหลักการ ทำให้ที่ประชุมไม่อนุญาตให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง 57 คนที่เสนอคำแปรญัตติขัดหลักการอภิปรายในที่ประชุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหา

เหตุการณ์ยังคงไม่สงบ ส.ส. ประชาธิปัตย์เกือบทุกคนได้ลุกขึ้นยืนประท้วงและมีการตะโกนว่า “สภาทาส” “เผด็จการ” “ขี้ข้าทักษิณ” ขณะที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า “ประชุมต่อไปเลยจะได้รางวัล ทักษิณดูอยู่”

ทำให้นายสมศักดิ์นำค้อนทุบบนบัลลังก์ 3 ครั้ง เพื่อเป็นสัญญาณให้ยุติความไม่สงบ พร้อมสั่งให้ตำรวจรัฐสภาเข้ามาในห้องประชุมเพื่อนำตัวสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ยอมนั่งลง และไม่อยู่ในความสงบออกจากห้องประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาคุ้มกันนายสมศักดิ์

นอกจากนี้นายสมศักดิ์กล่าวกับตำรวจสภาว่า “ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่ต้องรีรอ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ผมถือว่าขัดคำสั่งประธานและจะตั้งกรรมการสอบ” ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสภาเข้าไปยังกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับ ส.ส.ประชาธิปัตย์

เมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปได้ช่วงหนึ่ง ได้มีการปะทะคารมกันระหว่าง ส.ส.หญิงของทั้ง 2 พรรค โดย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลูกสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนการที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหน้ารัฐสภาเพราะรู้สึกว่าการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาของตนเองมีความปลอดภัย หลังจากเกิดเหตุการณ์วุ่นวายและมีเสียงเหมือนชะนีโหยหวน

ด้าน นางนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ตอบโต้ว่า การตัดสินว่าใครทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่ดี อยู่ที่การกระทำและสติปัญญา ไม่ใช่หน้าตา และอยากให้ น.ส.ขัตติยาถอนคำพูดที่ระบุว่ามีเสียงชะนีโหยหวนด้วย ขณะที่ น.ส.ขัตติยาก็ตอบโต้เช่นกันว่า เรื่องความสวยเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้

ต่อมา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธาน ได้สั่งให้ น.ส.ขัตติยาถอนคำพูดเรื่องมีเสียงชะนีร้องโหยหวน ซึ่ง น.ส.ขัตติยาได้ถอนคำพูดดังกล่าว

จากนั้นนายสมศักดิ์ ได้กลับมาทำหน้าที่ประธานอีกครั้ง และได้ให้ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ประชาธิปัตย์ เริ่มอภิปรายแต่นายเทพไทไม่ยอมอภิปราย ขอใช้สิทธิ์ประท้วงการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ ทำให้นายสมศักดิ์บอกว่า หากไม่อภิปรายจะให้สมาชิกคนอื่นอภิปรายต่อไป ทำให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ หลายคนก็ลุกขึ้นประท้วง จนตำรวจรัฐสภาต้องเข้ามายืนล้อมคุ้มกันประธานในที่ประชุม และนายสมศักดิ์ได้สั่งพักการประชุม
เหตุการณ์เมื่อ 20 ส.ค.2556 ตำรวจรัฐสภาเชิญตัว ส.ส.ประชาธิปัตย์
ตามมาด้วยเหตุการณ์วันที่ 4 กันยายน 2556 มีการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และส.ว.ได้ขอเวลาที่ประชุมประมาณ 30 นาทีเพื่อหารือถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพารา แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาไม่อนุญาต ทำให้นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงและกล่าวว่า “จะขายชาติเพื่อเยียวยาสินค้าเกษตรอื่นอีกเท่าไร ประชาชนเดือดร้อน ขอเวลาหารือ” จนนายสมศักดิ์ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภานำตัวนายวัชระออกจากห้องประชุมเพื่อสงบสติอารมณ์

ถัดมาอีกแค่ 1 วัน ช่วงที่มีการหารือด่วนเรื่องการใช้กำลังตำรวจอาวุธครบมือได้ยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่กำลังสลายการชุมนุมโดยด่วน แต่นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ชิงเสนอญัตติขอปิดอภิปราย แม้ประธานในที่ประชุมจะประนีประนอม และ ส.ส.ประชาธิปัตย์ยังลุกขึ้นประท้วง จน นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้ลุกขึ้นทุ่มเก้าอี้ พร้อมตะโกนด้วยความโกรธแค้นท้าให้ปิดอภิปรายไปเลย เพราะทำตามใจทุกอย่างอยู่แล้ว
เหตุการณ์เมื่อ 20 ส.ค.2556 ตำรวจรัฐสภาเข้าอารักขาประธาน
บีบพระเอกเล่นบทผู้ร้าย

ดร.เจษฎ์ โทณวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า สิ่งที่เราเห็นกันนั้นเป็นเพราะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน ไม่มีท่าทีระบายอารมณ์ เดิมเมื่อเกิดปัญหาที่ไม่พอใจระหว่างการประชุมขึ้นก็ลงมาแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ด้านล่าง แต่วันนี้ทุกอย่างดูเหมือนจะถูกปิดทุกทาง แถลงข่าวแล้วรัฐบาลก็เฉย อยากจะพูดอะไรก็พูดไป

อีกทั้งฝ่ายค้านมีการแปรญัตติกันหลายคน จึงต้องลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลกันมาก เมื่อถูกประธานรัฐสภาสั่งให้ทำหรือไม่ให้ทำ ผลที่ออกมาจึงเป็นความรุนแรง

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือตัวระบบและตัวบุคคล ทุกวันนี้การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาไม่ค่อยมีกฎ กติกา มารยาท เป็นกันตั้งแต่ตัวประธานยัน ส.ส.

ประธานก็ทำหน้าที่รวบรัดตัดตอน ตั้งกติกาของตัวเองขึ้นมา โดยหลักของคนทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินจะต้องอยู่บนกฎ กติกา ในทางปฏิบัติแล้วคนเราทุกคนไม่เป็นกลาง เหมือนเป็นกรรมการฟุตบอล ในใจรู้อยู่แล้วว่าชอบทีมไหน หรือบางครั้งก็ทำหน้าที่เพื่อเป็นประโยชน์กับทีมอื่นแม้จะไม่ใช่คู่ที่กำลังลงแข่งขัน เราจึงได้เห็นการทำหน้าที่แบบรักพี่เสียดายน้อง พี่คือเจ้านาย น้องคือ ส.ส.ในสภา
เหตุการณ์เมื่อ 4 ก.ย.2556 ตำรวจรัฐสภาเชิญตัวนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกนอกห้องประชุม
“วันนี้วุฒิภาวะโดยรวมของ ส.ส. และ ส.ว.ต่ำลง ทำให้จุดเดือดทางการเมืองต่ำลงเช่นกัน ดังนั้นอุณหภูมิทางการเมืองหรือในการประชุมรัฐสภาจึงเดือดง่ายกว่าเดิม ส่วนการทำหน้าที่ของประธานสภาตามสายตาของคนนอกที่มองเข้าไปก็รู้ว่าทำหน้าที่เอียง ซึ่งก็เป็นมาหลายยุคหลายสมัย”

เมื่อระบบไม่มีทางออก รัฐบาลไม่สนใจฝ่ายค้าน นายกรัฐมนตรีไม่เข้าประชุมสภาฝ่ายเดียวกันต่างก็ออกมาปกป้อง ถึงวันนี้ทุกอย่างจึงไม่เป็นระเบียบ

หากเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ทำไมไม่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้น ดร.เจษฎ์อธิบายว่า ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยมีมวลชนเสื้อแดงด้านนอก จึงมีที่ระบาย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ไม่มีมวลชนของตนที่จะทำได้เหมือนกับของพรรคเพื่อไทย

ประการต่อมาตัวบุคคลของพรรคประชาธิปัตย์เล่นบทสุภาพ คนที่เล่นบทอื่นที่เป็นตัวร้ายอย่างของเพื่อไทยไม่มี เมื่อพระเอกทนไม่ไหวและจำเป็นต้องเล่นบทร้ายโดยใช้อารมณ์ ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพลบ เพราะเล่นบทนี้ไม่เป็น

“ผมเคยพูดเล่นๆ ว่า ให้หาเวทีมวยมาตั้งไว้ที่หน้ารัฐสภาได้เลย เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม ถ้าจะลงไม้ลงมือกันให้มาชกกันบนเวที”

ทั้งหมดนี้ทุกฝ่ายต้องลงมาแก้ปัญหาร่วมกัน สร้างกฎ กติกากันใหม่เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในสภา

เกมสภาเพื่อไทยคุม

สอดคล้องกับความเห็นของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่มองปัญหาความวุ่นวายที่เกิดในรัฐสภาว่า เกิดจากผู้มีอำนาจเหนือพรรค ที่ต้องการแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์กรอิสระหรือแม้กระทั่งที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

“ต้องไม่ลืมว่าประธานรัฐสภามาจากพรรคการเมือง เรื่องเหล่านี้คงมีการวางแผนกันมา รัฐบาลกุมเสียงอยู่ 340-350 เสียง ฝ่ายไหนจะพูดอะไรก็พูดไป วันนี้รัฐบาลเล่นเกมสุภาพบุรุษ ปล่อยให้ฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยโวยวายออกมา และใช้วิธีการปิดการอภิปรายเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้พูด”

เกมนี้พรรคเพื่อไทยคุมได้ทั้ง 2 สภา ตัวประธานก็ทำหน้าที่เอียง อย่าง ส.ว.ที่มีแนวคิดคนละแบบกับรัฐบาล ยกมือเพื่อขอพูด ประธานก็เห็นแต่ไม่เรียกให้ขึ้นมาพูด ทำเป็นหันข้างให้เหมือนกับมองไม่เห็น และด้วยความเหนื่อย อ่อนล้าที่ต้องพิจารณากฎหมายกันมาหลายวัน ส่วนฝ่ายที่เสนอหรือรัฐบาลไม่ต้องทำอะไรมาก ปล่อยให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยพูดกันไป เมื่อถึงเวลาก็เสนอการปิดอภิปราย เป็นใครก็คงตบะแตก

แต่จะถึงขั้นวุ่นวายเหมือนการประชุมสภาที่ไต้หวันหรือไม่ นายสมชายคาดว่าคงไม่รุนแรงเท่าไต้หวัน เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคเก่าแก่คงดึงเกมให้เบาลง
เหตุการณ์เมื่อ 5 ก.ย.2556 นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ทุ่มเก้าอี้ในสภา
หวั่นเยาวชนเลียนแบบ

สำหรับภาพของความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น อาจกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบและทำตามของเด็กและเยาวชน ในเรื่องดังกล่าว พันตำรวจโทหญิง แพทย์หญิงอัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือหมอแอร์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจิตแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงเด็กและเยาวชน ที่อาจเห็นภาพความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐสภา

“สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรง เมื่อเด็กเห็นว่าผู้ใหญ่ทำได้ เด็กก็ทำได้ เรื่องนี้ยิ่งหนักกว่าฉากที่ไม่เหมาะสมในละครอีก แต่นี่เป็นชีวิตจริง เรายังเชื่อว่าสถาบันครอบครัวไทยยังแข็งแรงเพียงพอ พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องให้คำแนะนำในเรื่องดังกล่าวว่าการใช้อารมณ์ ความรุนแรง เป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทำ” หมอแอร์กล่าวทิ้งท้าย

ภาพลบที่เกิดขึ้นภายใต้การบรรลุโทสะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ จึงกลายเป็นความสำเร็จของเกมรัฐบาลเพื่อไทย ที่อาศัยความได้เปรียบทั้งจากจำนวนเสียงในสภาและเสียงในวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง ควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ สร้างเงื่อนไข ยั่วยุ หรือแม้กระทั่งใช้เกมที่ได้เปรียบหยุดยั้งการทำหน้าที่ของฝ่ายตรงข้ามได้ตลอดเวลา รวมถึงอาศัยอำนาจของประธานสภาสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาเข้ามาเชิญตัว ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ออกนอกห้องประชุม เพื่อบีบให้คนที่เล่นบทพระเอกหันมาเล่นบทผู้ร้าย ส่วนจะวุ่นวายหรือรุนแรงถึงขั้นมีการชกต่อยกันเหมือนที่รัฐสภาไต้หวันหรือไม่คงต้องรอดูกันต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น