xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังเปลี่ยนชื่อธรรมศาสตร์ หวังปลุกจิต "เด็กมธ."ต้านปฏิวัติ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรรคเพื่อไทยต้องการกินรวบทุกวงการ ไม่เว้นกระทั่งสถาบันการศึกษา อาศัยช่องช่วงแก้กฎหมายธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ เสนอเพิ่มชื่อเป็น “ธรรมศาสตร์และการเมือง” เบื้องหลังคือการปลุกจิตสำนึกให้เด็กธรรมศาสตร์หนุนเพื่อไทย ต้านกองทัพทำรัฐประหาร ด้านผู้บริหาร มธ.-กมธ. ยอมรับ 7 ปีที่ผ่านมานักศึกษาวางตัวไม่ถูกเพราะสังคมแตกแยกมาก ขณะที่นักศึกษามีวุฒิภาวะทางการเมืองสูงขึ้น และสังคมไทยก้าวสู่ยุคเผด็จการพลเรือนแล้ว

การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่หลายมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ ด้วยเหตุผลเรื่องความคล่องตัวในการบริหารจัดการ มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แต่ยังคงได้รับเงินอุดหนุนตามเดิม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ต้องการออกนอกระบบ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ...ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2556

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น และเป็นนิติบุคคล

นอกจากนี้ กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีรายได้จากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี และให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตาม กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 27 มีนาคม 2556 และผ่านไปตามวาระ ในช่วงของการที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนของชั้นกรรมาธิการ ได้มีการถกเถียงกันอย่างหนักในเรื่องของชื่อมหาวิทยาลัย แทนที่จะเป็นเรื่องของความกังวลใจในเรื่องค่าเล่าเรียนที่อาจจะปรับสูงขึ้นหรือกรณีจะรักษาคุณภาพการศึกษาเฉกเช่นมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ออกนอกระบบได้มีการถกเถียงกัน

หวังปลุกขบวนการนักศึกษา

หนึ่งในกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กล่าวว่า ชื่อของมหาวิทยาลัยกลายเป็นหัวข้อหลักในการหารือกันอย่างหนัก ในคณะกรรมาธิการมีเสียงข้างมากจากพรรคเพื่อไทย ต้องการให้มหาวิทยาลัยกลับไปใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” ขณะที่เสียงข้างน้อยที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์เห็นพ้องที่จะให้ใช้ชื่อในปัจจุบันคือ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกตรงที่กรรมาธิการเสียงข้างมากที่ส่วนใหญ่เป็นของพรรคเพื่อไทย ต้องการให้เพิ่มคำว่าการเมืองเข้าไปด้วย ที่สำคัญส่วนใหญ่จบมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีศิษย์เก่าของธรรมศาสตร์อย่างนายอดิศร เพียงเกษ จากพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้เปลี่ยนชื่อ

ขณะนี้เรื่องชื่อของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือว่าจบแล้ว โดยได้ข้อยุติเรื่องชื่อ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เหมือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยที่กรรมาธิการเสียงข้างมากยอม

ที่มาที่ไปของการที่กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยต้องการให้มีการเพิ่มคำว่า “และการเมือง”ต่อท้ายชื่อเดิมนั้น เนื่องจากมองว่าบทบาทของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปลี่ยนไปจากเดิม โดยดูจากเหตุการณ์ยึดอำนาจของทหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งนั้นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่มีท่าทีต่อต้านการยึดอำนาจเหมือนครั้งก่อนๆ

การเสนอให้มีการเพิ่มชื่อเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นเรื่องของความหวังที่จะช่วยให้คำท้ายที่เพิ่มเข้าไปนั้น ช่วยปลุกแนวคิดของนักศึกษาเรื่องการต่อต้านการยึดอำนาจให้กลับมาเหมือนเดิม ในปี 2549 นั้นมีศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นอธิการบดี ซึ่งไม่มีท่าทีใดๆ ในการต่อต้านการเข้าทำรัฐประหารในครั้งนั้น จนมองว่านักศึกษามหาวิทยาลัยนี้ลืมคำว่า ธรรมศาสตร์และการเมือง นักการเมืองในฟากรัฐบาลจึงรู้สึกไม่พอใจกับอดีตอธิการบดีท่านนี้
นายอดิศร เพียงเกษ กรรมาธิการ พรรคเพื่อไทย
สร้างพวกเพิ่มความได้เปรียบ

ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญไม่ว่าจะเป็นเหตุการณในปี 2516 หรือ 2519 และในปี 2535 นักศึกษาธรรมศาสตร์นับว่ามีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการยึดอำนาจโดยทหารมาตลอด ดังนั้นเหตุการณ์เมื่อปี 2549 ฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจก็หวังว่าจะให้ขบวนการนักศึกษาเข้ามาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อต้าน แต่ทุกอย่างกลับนิ่งเฉย

ดังนั้นการใส่คำว่า "และการเมือง" เข้าไปท้ายชื่อเดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นอีกกลวิธีที่แยบยลของนักการเมืองที่หวังจะดึงเอาพลังของนักศึกษาเข้ามาเป็นพวก หากต่อไปมีการยึดอำนาจอีกครั้ง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วโอกาสของการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกับปี 2549 กับรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีความเป็นไปได้

หากฝ่ายรัฐบาลสามารถปลุกพลังของนักศึกษาธรรมศาสตร์ให้พร้อมเข้ามายืนเคียงข้างรัฐบาลหากมีการยึดอำนาจครั้งต่อไป ก็จะเป็นกองกำลังสำคัญในการต่อสู้กับฝ่ายทหาร ได้ภาพลักษณ์ที่กลุ่มปัญญาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ยิ่งเมื่อบวกรวมกองกำลังเสื้อแดง ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยสร้างความได้เปรียบในทางการเมืองมากขึ้น

บริบทการเมืองเปลี่ยน

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ต้องยอมรับความจริงว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่หวังพึ่งทหารเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศ เพราะด้วยเสียงในสภาที่มากกว่าทำให้พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถที่จะทัดทานมติของรัฐบาลได้ อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันก็มีความแตกต่างไปจากเดิม

ในอดีตพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นตัวแปรสำคัญ หากฝ่ายค้านตรวจสอบการทุจริตที่ชัดเจน จนทำให้เกิดกระแสสังคมที่ไม่ชื่นชอบรัฐบาล พรรคร่วมก็จะถอนตัวออกมา โดยรัฐบาลอาจมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และหลังเลือกตั้งพรรคร่วมรัฐบาลในอดีตก็มักจะหันไปจับมือกับพรรคฝ่ายค้านเข้ามาเป็นรัฐบาล

แต่ปัจจุบันแตกต่างจากเดิม ไม่ว่ารัฐบาลจะบริหารงานผิดพลาดอย่างไร หรือมีกระทำการทุจริตอย่างโจ่งแจ้ง พรรคร่วมรัฐบาลก็จะนิ่งเงียบ ทำให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไปได้ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน

อีกทั้งรูปแบบในการบริหารประเทศนับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยยุคที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งในปี 2544 มีการนำเอาหลักการตลาดเข้ามาใช้กับงานการเมือง มุ่งไปที่กลุ่มคนชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นประชาชนที่มีจำนวนมาก พร้อมทั้งผุดนโยบายประชานิยมเต็มรูปแบบเข้ามาใช้ในการหาเสียง ดังนั้นเสถียรภาพของรัฐบาลที่ถูกสั่นคลอนจากคนชนชั้นกลางที่มักเป็นกลุ่มที่ล้มรัฐบาลมาเสมอนั้น แม้จะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ประชาชนตามต่างจังหวัดก็เลือกพรรคเดิมกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลทุกครั้ง

ยุคนี้เผด็จการพลเรือน

“วุฒิภาวะทางการเมืองของนักศึกษาธรรมศาสตร์มองเรื่องการเมืองได้ดีกว่า ที่ผ่านมาแม้จะเป็นหัวหอกแทบทุกครั้ง แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป แนวทางในการเคลื่อนไหวจึงดูเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้นนักการเมืองที่ต้องการเอาขบวนการนักศึกษาเป็นพวกก็อาจหงุดหงิดในเรื่องนี้”

ปัจจุบันเผด็จการทางทหารได้เปลี่ยนไปจากเดิม วันนี้กลายเป็นเรื่องของเผด็จการพลเรือน พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันมีอำนาจมาก นอกจากเรื่องคะแนนเสียงในสภาแล้ว ยังดึงเอาบรรดาข้าราชการต่าง ๆ เข้ามาเป็นพวก โดยใช้อำนาจและผลประโยชน์เข้ามาเป็นข้อแลกเปลี่ยน เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลที่แบ่งปันเก้าอี้กระทรวงต่าง ๆ ให้พร้อมด้วยเงินงบประมาณ

ดังนั้นเราจึงได้เห็นรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมานั้นได้ให้อำนาจกับองค์กรอิสระในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็พยายามที่หาทางควบคุมหรือกำจัดองค์กรเหล่านี้ออกไป

เมื่อกระบวนการปลุกนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เข้ามาร่วมกับภาคการเมืองไม่สำเร็จ ดังนั้นการพิจารณาในชั้นของกรรมาธิการของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักการเมืองที่คาดหวังในพลังนักศึกษาที่จะให้เข้ามาช่วยค้ำรัฐบาลของเขาจึงเข้ามาแทรกในครั้งนี้

จะเห็นได้ว่าเมื่อขบวนการนักศึกษาไม่ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารเหมือนที่ผ่านมา ภายในธรรมศาสตร์เองก็ได้มีการฟอร์มทีมกลุ่มอาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้อย่างกลุ่มนิติราษฎร์ ที่นอกจากต่อต้านการทำรัฐประหารแล้ว กลุ่มนี้ยังมีแนวคิดมุ่งไปที่การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง ดังจะเห็นได้ว่ากลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทางความคิดจากคนในพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง แต่เมื่อไม่มีฐานหนุนจากนักศึกษาจึงทำให้กลุ่มนี้ไม่สามารถออกมาจุดกระแสให้กับสังคมได้

ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอออกนอกระบบและต้องดำเนินการผ่านอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบันของพรรคเพื่อไทย จึงเป็นโอกาสที่ต้องการเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดิมก็ยังมีความเป็นไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่พึงประสงค์

นักศึกษาไม่ยอม

อย่างไรก็ดีในที่ประชุมของกรรมาธิการและการหารือนอกรอบกับบรรดาศิษย์เก่าธรรมศาสตร์จะพบว่าพวกศิษย์เก่าที่จบมานาน ก็อยากที่จะให้กลับไปใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” เพราะความผูกพันในอดีต แต่กลุ่มศิษย์ปัจจุบัน รวมทั้งรุ่น50ต้น ๆ ลงมา มองว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคณะต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงาน อธิการบดีพบนักศึกษา เมื่อ 12 มิถุนายน 2556 โดยสภานักศึกษา ตลอดจนการประชุมร่วมระหว่าง องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับคณะกรรมการนักศึกษาของคณะในมหาวิทยาลัยทั้ง 21 คณะ ซึ่งทั้งสองมีการถกเถียงในประเด็นชื่อสถาบัน และต่างมีมติเอกฉันท์ให้คงชื่อ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ไว้ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนชื่ออาจก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อคณะวิชาอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางการเมืองโดยตรงโดยอาจสร้างความรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในแต่ละคณะ เกิดต้นทุนจากการเปลี่ยนชื่อจำนวนที่มากพอจะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกมหาวิทยาลัยได้มากกว่านี้ รวมถึงความคาดหวังว่านักศึกษาทุกคนต้องสนใจการเมือง ในความเป็นจริงนักศึกษาของแต่ละคณะก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมผ่านศาสตร์ความรู้ที่เรียนรู้มา ซึ่งไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงก็ได้ ดังนั้น ชื่อของมหาวิทยาลัยจึงยังคงใช้ชื่อเดิมไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
การชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญของไทย
ยันธรรมศาสตร์เหมือนเดิม

ขณะที่เรื่องการเปลี่ยนแปลงชื่อของมหาวิทยาลัยนั้น อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นรอง เพราะช่วงที่ไม่มีคำว่า “และการเมือง” นักศึกษาธรรมศาสตร์ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดือนตุลาคม ปี 2516 หรือ 2519 รวมไปถึงเดือนพฤษภาคม 2535

พร้อมทั้งอธิบายถึงการตั้งข้อสังเกตเรื่องบทบาทของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ขอยืนยันว่า ความคิดและกระบวนการที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองนั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ทางนักศึกษาก็มีการเปิดโต๊ะให้ร่วมลงชื่อขับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือการขึ้นเวทีร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ หรือบางกลุ่มก็ขึ้นเวทีของกลุ่ม นปช.ในนามของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท.

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 รูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เปลี่ยนไป ประเด็นนี้เกิดจากนักศึกษาเองก็ได้วิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านจึงเชื่อว่า หากปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศต่อไป อาจทำให้เสียหายมากขึ้น จึงไม่ได้ออกมาต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพในครั้งนั้น

“ไม่ใช่นักศึกษาไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง แต่วิธีการขับเคลื่อนของนักศึกษาในครั้งนั้นอาจไม่ถูกใจพรรคเพื่อไทยก็ได้”

หากจะมองว่าการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาในปัจจุบันน้อยกว่าปี 2535 หรือไม่ คำตอบคือใช่ เพราะในครั้งนั้นประชาชนไม่แตกแยก นักศึกษาไม่แตกแยก เป็นการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยกับเผด็จการ แต่เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาการต่อสู้กันทางการเมือง มีทั้งถูกทั้งคู่และผิดทั้งคู่ในเรื่องของวิธีคิด

ทั้งนี้เพราะหากสนับสนุนพันธมิตรฯ ก็เท่ากับเห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ถ้าเข้าร่วมกับเสื้อแดงก็เท่ากับสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วอย่างนี้จะให้นักศึกษาอยู่ตรงไหน ถ้าเข้าข้างใดข้างหนึ่งก็ขัดกับหลักการ พลังนักศึกษาจึงไม่ออกมาซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องชื่อของสถาบันว่าเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” ตามที่พรรคเพื่อไทยตั้งธงไว้เพื่อจะเปลี่ยนชื่อสถาบันในครั้งนี้!

กำลังโหลดความคิดเห็น