xs
xsm
sm
md
lg

แค่ครึ่งแรก! สมศ.ไม่รับรอง “วท.ลุ่มน้ำปิง-ม.หาดใหญ่-ม.เนชั่น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศ.เผยผลประเมินครึ่งแรกไม่รับรอง 3 สถาบันอุดม “วท.ลุ่มน้ำปิง-ม.หาดใหญ่-ม.เนชั่น” ขณะที่ภาพรวม ม.ในกำกับ ม.รัฐ ได้รับรอง 100% ส่วน มรภ.รับรอง 33 แห่ง เว้น มรภ.กาญจนบุรี รับรองแบบมีเงื่อนไข “ชาญณรงค์” แนะ มหา’ลัยที่ไม่ได้รับรองหรือรับรอง ส่งแผนปรับปรุงให้ สกอ.และต้องทำได้ภายใน 2 ปี ส่วนปัญหาภาพรวมยังขาดการสร้างงานวิจัย และเผยแพร่ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ

นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สมศ.ทำการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 (พ.ศ.2554-2558) ระดับอุดมศึกษา ขณะนี้ สมศ.ประเมินเสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 136 แห่งจากที่ต้องประเมินทั้งหมดกว่า 200 แห่ง โดยสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองจำนวน 131 แห่ง แบ่งเป็น รับรองระดับดีมาก 32 แห่ง ระดับดี 99 แห่ง รับรองแบบมีเงื่อนไขจำนวน 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยภาคกลาง และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี และ ไม่รับรองจำนวน 3 แห่ง คือ วิทยาลัยลุ่มน้ำปิง มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยเนชั่น โดย สมศ.จะนำรายชื่อมหาวิทยาลัยทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรับรองมาตรฐานและ ประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก่อนประกาศรายชื่อขึ้นเว็บไซต์ของ สมศ.ต่อไป ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการประเมิน

ทั้งนี้ แยกเป็นสังกัดได้แก่ สถานศึกษาสังกัด สกอ.จำนวน 88 แห่ง ได้รับการรับรองทั้งหมด 83 แห่ง คิดเป็น 94.32% แบ่งเป็น รับรองระดับดีมาก 14 แห่ง คิดเป็น 15.91% รับรองระดับดี 69 แห่ง คิดเป็น 78.41% ไม่รับรอง 3 แห่ง คิดเป็น 3.41% และรับรองแบบมีเงื่อนไข 2 แห่ง คิดเป็น 2.27% สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 38 แห่ง ได้รับการรับรองทั้งหมด 38 แห่ง คิดเป็น 100% แบ่งเป็น รับรองระดับดีมาก 18 แห่ง คิดเป็น 47.37% รับรองระดับดี 20 แห่งคิดเป็น 52.63% สังกัด กระทรวงกลาโหม จำนวน 5 แห่ง ได้รับการรับรองในระดับดีทั้ง 5 แห่ง สังกัดกระทรวงคมนาคม จำนวน 2 แห่ง ผ่านการประเมินระดับดีจำนวน 2 แห่ง สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา จำนวน 1 แห่ง ผ่านการรับรองระดับดีจำนวน 1 แห่ง สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 1 แห่งผ่านการประเมินระดับดีมากจำนวน 1 แห่ง และสังกัดสภากาชาดไทย จำนวน 1 แห่ง ผ่านการประเมินระดับดีจำนวน 1 แห่ง
นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์
ผอ.สมศ.กล่าวต่อว่า ขณะที่หากจำแนกตามประเภทสถานศึกษา มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือ ม.นอกระบบ จำนวน 8 แห่ง ได้รับการรับรองทั้งหมด 8 แห่ง คิดเป็น 100% แบ่งเป็นรับรองระดับดีมาก 4 แห่ง คิดเป็น 50% และรับรองระดับดี 4 แห่ง คิดเป็น 50% มหาวิทยาลัยรัฐบาล จำนวน 7 แห่ง ได้รับการรับรอง 7 แห่ง คิดเป็น 100% รับรองระดับดีมาก 4 แห่ง คิดเป็น 57.14% และรับรองระดับดี 3 แห่ง คิดเป็น 42.86% มหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 34 แห่ง ได้รับการรับรอง 33 แห่ง คิดเป็น 97.06% รับรองระดับดีมาก 1 แห่ง คิดเป็น 2.94% ระดับดี 32 แห่ง คิดเป็น 32% และรับรองแบบมีเงื่อนไข 1 แห่ง คิดเป็น 2.94% สถาบันเอกชน จำนวน 39 แห่ง รับรอง 35 แห่ง คิดเป็น 89.74% รับรองระดับดีมาก 5 แห่ง คิดเป็น 12.82% ระดับดี 30 แห่ง คิดเป็น 62.50% ไม่รับรอง 3 แห่ง คิดเป็น 7.69% และรับรองแบบมีเงื่อนไข 1 แห่ง คิดเป็น 2.56% สถาบันเฉพาะ จำนวน 48 แห่ง ได้รับการรับการรับรอง 48 แห่ง คิดเป็น 100% ระดับดีมาก 18 แห่ง คิดเป็น 37.50% ระดับดี 30 แห่ง คิดเป็น 62.50%

สำหรับมหาวิทยาลัยที่ สมศ.ไม่รับรองทั้ง 3 แห่ง และรับรองแบบมีเงื่อนไข 2 แห่งจะต้องส่งแผนประเมินไปให้ต้นสังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และปรับปรุงให้ได้ตามแผนภายใน 2 ปี ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ผลการประเมินในครึ่งแรก ถือว่ามีมหาวิทยาลัยผ่านประเมินถึง 96.32% ถือว่ามาก โดยอาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คุ้นเคยกับการประเมินของ สมศ.มากขึ้น และนำผลการประเมินทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด”ผอ.สมศ.กล่าว

นายชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นปัญหาในภาพรวมของสถาบันอุดมศึกษาไทยนั้น ในภาพใหญ่คือ ขาดการสร้างงานวิจัยที่ได้รับตีพิมพ์ในวารสารที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ และงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศได้ ยังถือว่ามีน้อย ขณะที่ระบบการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยก็มีปัญหา เนื่องจากยังพบว่าวุฒิของอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย ยังมีอาจารย์ที่จบระดับปริญญาตรีอยู่จำนวนมาก กระทบกับการสร้างงานวิจัย และการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ ซึ่งในการประเมินรอบต่อไปของ สมศ.ก็จะต้องมีการปรับตัวบ่งชี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยปรับตัวให้มีมาตรฐานมากขึ้น
 

กำลังโหลดความคิดเห็น