xs
xsm
sm
md
lg

ตีแผ่มารศาสนาภายใต้ “ผ้าเหลือง” สู่ยุคเสื่อมสุด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิกฤตศรัทธา “ผ้าเหลือง” ยุค 2556 เสื่อมหนัก พระรับเงิน-ใช้ของแพง-ซื้อลอตเตอรี่ ผิดพระวินัยเต็มๆ แต่สังคมมองข้ามและยังถูกทำให้เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ขณะที่พระสงฆ์เลือกข้างร่วมชุมนุม กำลังทำให้วงการศาสนาเสื่อม และถูกทำลายได้ง่ายโดยพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม สำนักงานพระพุทธศาสนาฯพร้อมเปิดเรื่องร้องเรียนมากสุดพระผิดวินัยของ “บิณฑบาตรับแต่เงินไม่รับอาหาร ตั้งถังบริจาคข้ามจังหวัด” รวมถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในวัด ทั้งพระทะเลาะวิวาท พระเล่นพนัน พระเปิดเพลงดัง พระดูหนังโป๊ เกิดขึ้นเยอะมาก!

ข่าวที่กำลังโด่งดังไม่แพ้เรื่องฆาตกรรมอำพรางคดีเอกยุทธ อัญชันบุตร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “พระสงฆ์” โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ทั้งหลาย ตั้งแต่การใช้ของแพงหูฉี่ การมีเครื่องบินประจำตัว และการมีภาพถ่ายคู่สีกาในที่ลับตา ของ หลวงปู่เณรคำ หรือกรณีสื่อนอกทำคลิปล้อเลียนพระสงฆ์ไทยใช้ชีวิตหรูหรา ที่ปรากฏในสังคมออนไลน์ รวมไปถึงข่าวพระถูกหวย พระหลอกเด็กผู้ชายมา “ตุ๋ย”

ที่สำคัญกรณีพระสงฆ์เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ที่บางครั้งแสดงกิริยาท่าทางไม่เหมาะสม ถึงขนาดออกอาการจีวรปลิว ฯลฯ ทั้งหมดที่ปรากฏล้วนเป็นข่าวที่ทำให้เห็นว่าขณะนี้สังคมกำลังเกิดวิกฤตศรัทธาต่อวงการพระพุทธศาสนาหรือต่อ “ผ้าเหลือง” ที่นับวันจะยิ่งเสื่อมลง!

พฤติกรรมที่พระสงฆ์ถูกร้องเรียนมากสุด
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะปกครองสงฆ์ ได้รวบรวมข้อมูลที่พระสงฆ์ถูกร้องเรียนมากที่สุดและส่วนใหญ่พบว่าเป็นเรื่องจริง และเป็นการผิดวินัย ที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด โดยเรื่องร้องเรียนที่สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ พบมากที่สุดนั้น เป็นเรื่องของ “การบิณฑบาตไม่เหมาะสม” ซึ่งมีทั้งพระจริง และฆราวาส การบิณฑบาตไม่เหมาะสม ได้แก่ รับแต่ปัจจัยไม่รับอาหาร มีการตั้งถัง ตั้งจุดรับบริจาค โดยไม่ได้รับอนุญาต

“ปกติการตั้งถัง หรือตั้งจุดรับบริจาคจะต้องมีการขออนุญาต เช่นถ้าพระอยู่ที่จังหวัดอยุธยา การที่จะมีการตั้งถังรับบริจาคในที่ต่างๆ หรือภายในจังหวัด จะต้องมีการทำหนังสือขออนุญาตจากเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะจังหวัดก่อน และถ้ามีการตั้งถังหรือตู้บริจาคประเภทข้ามจังหวัดยังต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ จึงจะทำได้”

ดังนั้นการที่วัดต่างๆ มีการตั้งตู้รับบริจาคกันเอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่ามีความผิดทางวินัย ซึ่งมหาเถรสมาคมได้มีคำสั่งห้ามเอาไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการร้องเรียน หรือทางสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ไปพบเจอเอง ก็จะมีการตรวจสอบว่าพระนั้นๆ เป็นพระจริงหรือไม่ ด้วยการขอดูเอกสาร หลังจากดูเอกสารแล้วหากพบว่าเป็นพระจริง ก็จะมีการส่งเรื่องให้เจ้าอาวาสของวัดที่พระสงฆ์รูปนั้นเป็นพระลูกวัดอยู่ เป็นผู้พิจารณา หรือส่งให้เจ้าคณะตำบลพิจารณา แต่หากพบว่าไม่ใช่พระ เป็นฆราวาส ก็จะมีการส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดีการแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุต่อไป

พฤติกรรมไม่เหมาะสมในวัด-เจ้าอาวาสเอือม

ส่วนอีกพฤติกรรมที่สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ พบมากรองลงมา คือ “พฤติกรรมไม่เหมาะสมภายในวัด” ซึ่งพบมากและมีหลายพฤติกรรม ได้แก่ การฉันอาหารตอนเย็น การเล่นพนัน การเปิดเพลงเสียงดัง การทะเลาะวิวาทกับฆราวาส เช่น ไม่ให้ฆราวาสใช้ของในวัด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะมีการเข้าไปตรวจสอบและนำเสนอเจ้าคณะตำบลต่อไป

ส่วนกรณีการดูหนังโป๊ และมีสีกาอยู่ในกุฏินั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องในที่ลับที่ไม่สามารถพบเห็น หรือรู้เองได้ จำต้องมีผู้มาร้องเรียน ซึ่งก็จะถือเป็นการปาราชิกร้ายแรง จะต้องมีการหารือทั้งเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบล หรือบางกรณีต้องหารือเจ้าคณะจังหวัดด้วย

เช่นเดียวกับกรณีของหลวงปู่เณรคำ ซึ่งถือว่าการใช้ของแพงเกินสมณศักดิ์ และการมีภาพถ่ายคู่กับสีกาในลักษณะไม่เหมาะสมนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องมีการตรวจสอบโดยขั้นตอน ซึ่งขณะนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว

ขณะที่กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยนายสันตศักดิ์ จรูญงามพิเชษฐ์ ประธานกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เปิดเผยว่า มีการนำเรื่องหลวงปู่เณรคำเข้าพิจารณาแล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเชิญทุกฝ่ายเข้ามาชี้แจง ทั้งฝ่ายสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา ที่ดูแลเรื่องพระวินัยของสงฆ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพระที่มีข่าว เพื่อให้หลวงปู่เณรคำได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งการชี้แจงก็จะมีลักษณะเป็นเวทีคล้ายอนุญาโตตุลาการที่จะเรียกทุกฝ่ายมา เพื่อทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ สามารถมีอำนาจไปดำเนินการปราบปรามพระที่ทำผิดพระวินัยต่อไปด้วย

“พระพุทธศาสนาไม่มีวันเสื่อม แต่บุคคลนั่นแหละที่ทำให้ตัวเองเสื่อม ตรงนี้เป็นกฎแห่งกรรม และสังคมจะลงโทษแน่นอน พระปลอม พระเลว น่าสาปแช่ง น่าประณามมาก”

นายสันตศักดิ์ยืนยันว่า เมื่อพระทำผิดพระวินัยก็ต้องมีการลงโทษ และต้องให้อำนาจสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ในการไปป้องปราม และปราบปรามพระที่ทำผิดเหล่านี้ให้หมดไป จะได้ไม่เกิดความเสียหายต่อวงการศาสนาอีก

หลักเกณฑ์สำนักพุทธตรวจสอบพระผิดวินัย

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า มีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับพระสงฆ์จำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วมีคนร้องเรียนมา และบางส่วนเจ้าอาวาสซึ่งได้สั่งสอนพระในวัดของตัวเองแล้ว แต่พระไม่เชื่อฟังก็มีการร้องเรียนเข้ามาให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เข้าไปร่วมตรวจสอบ

โดยขั้นตอนนั้นจะเริ่มจาก 1. ต้องมีการร้องเรียน 2. ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเข้าไปตรวจสอบ รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำร่วมกับพระที่ดูแลพื้นที่ในระดับต่างๆ กัน และ 3. ส่งเรื่องต่างๆ ไปให้พระผู้มีอำนาจในการดูแลระดับต่างๆ เป็นผู้พิจารณาตัดสินว่าพระมีพฤติกรรมที่ผิดพระวินัยหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้จะอยู่ที่ว่า อธิกรณ์ร้ายแรงขนาดไหน และผู้ทำความผิดคือใคร เช่นถ้าพระสงฆ์ในวัดธรรมดา ก็ให้ผู้บังคับบัญชา คือเจ้าอาวาสเป็นคนตัดสินได้ แต่ถ้าเป็นระดับเจ้าอาวาสก็ต้องดูว่าพฤติกรรมที่ผิดพระวินัยร้ายแรงระดับไหน ถ้าร้ายแรงมาก เช่นการผิดปาราชิก ได้แก่การเสพเมถุน การลักทรัพย์  การฆ่ามนุษย์ หรือการอวดอุตตริมนุสสธรรม

“คำสอนที่สอนว่านิพพานคืออัตตา ของวัดธรรมกายก็เป็นสิ่งที่บิดเบือนพระวินัย และเรื่องนี้ได้มีคำสั่งไปถึงวัดธรรมกายแล้ว ให้ยุติการบิดเบือนพระธรรมคำสอน”

กรณีที่พระระดับผู้ใหญ่มีพฤติกรรมผิดวินัยสงฆ์ที่ร้ายแรง ก็จะมีการส่งเรื่องให้พระในระดับผู้ใหญ่กว่าในการพิจารณา ได้แก่ เจ้าคณะระดับตำบล เจ้าคณะระดับจังหวัด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของพระสงฆ์ที่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดพระวินัย สามารถดูรายละเอียดได้จากหนังสือ นวโกวาท แปลว่า คำสั่งสอนพระใหม่หรือพระบวชใหม่ เป็นชื่อหนังสือที่เป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร หนังสือ นวโกวาท มี 3 ส่วน คือส่วนต้นเป็น วินัยบัญญัติ หรือศีลของภิกษุ ส่วนกลางเป็น ธรรมวิภาค คือธรรมที่ต้องแยกคัดจัดไว้เป็นหมวดหมู่ เช่นธรรมที่มี 2 ข้อย่อย รวมไว้หมวดหนึ่ง มี 3 ข้อย่อยรวมไว้หมวดหนึ่ง เป็นต้น และส่วนหลังเป็น คิหิปฏิบัติ คือหลักปฏิบัติและหลักควรเว้นสำหรับคฤหัสถ์หรือชาวบ้านทั่วไป เช่น อบายมุข ซึ่งส่วนนี้จะดูได้จากนวโอวาทว่าด้วยพระวินัยสงฆ์ ร่วมกับคำสั่งมหาเถรสมาคม (มส.)

ทั้งนี้ สำหรับพระที่มีตำแหน่งปกครอง จะมี จริยาพระสังฆาธิการ ที่จะเป็นพระวินัยที่ละเอียดขึ้นมาอีกขั้นมาคอยดูแล เช่น เจ้าอาวาส, เจ้าคณะตำบล, เจ้าคณะภาค, เจ้าคณะจังหวัด ฯลฯ

พระเล่นการเมืองผิดร้ายแรง

ขณะเดียวกันพฤติกรรมของพระสงฆ์ในปัจจุบันที่เข้าไปเกี่ยวข้องทางการเมืองและการร่วมชุมนุมต่อต้านตามสถานที่ต่างๆ และมีการแสดงท่าที่ไม่สำรวม ซึ่งบางครั้งถึงกับมีการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ กำลังทำให้พระพุทธศาสนามัวหมอง และเสื่อมลงอย่างมาก ทั้งนี้เพราะพระไม่สามารถเล่นการเมือง หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมืองได้ โดยมีคำสั่งของมหาเถรสมาคม ปี พ.ศ. 2538 ห้ามไว้อย่างชัดเจน

“พระที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทางสำนักพุทธรับทราบจากการที่สื่อมวลชนเผยแพร่ เราไม่ได้เข้าไปเก็บข้อมูลในที่ชุมชน จึงทำได้แค่เพียงเก็บข้อมูลจากสื่อที่นำเสนอไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าพระสงฆ์รูปนั้นเป็นพระจากวัดใด”

อย่างไรก็ตาม พระเล่นการเมือง พระเลือกข้างทางการเมืองนั้น กลับมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีอิทธิพลต่อสังคม ตรงนี้ได้มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า พระยุคนี้มีพฤตกรรมเลือกข้างทางการเมืองชัดเจน

อาจารย์ไกรฤกษ์ ศิลาคม อาจารย์หมวดวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดร, รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดร ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองของพระสงฆ์โดยตรง ในงานวิจัยเรื่อง “เสรีภาพทางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมไทย” ซึ่งมีการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 22 ปี 2555

โดยอาจารย์ไกรฤกษ์บอกกับทีม Special Scoop ว่า พระสงฆ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบัน เพียงแต่ว่าในยุคนี้มีให้เห็นมากขึ้นเท่านั้น จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าในอดีตพระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยมีตัวอย่างให้เห็นในสมัยพระนเรศวรที่มีพระไปร้องขอบิณฑบาตชีวิตของแม่ทัพนายกองที่รบผิดพลาดเพื่อไม่ให้ต้องโทษประหารชีวิต

สำหรับพระสงฆ์ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในปัจจุบันจะมี 2 ระดับที่เห็นได้ชัด คือพระที่เป็นชาวบ้าน และพระที่มีชื่อเสียง

พระที่เป็นชาวบ้านนั้น ไม่ได้บอกว่าจะเป็นพระทุกรูป และยังถือว่าเป็นพระส่วนน้อย แต่จะมีลักษณะเป็นชาวบ้านที่บวชเป็นพระ ดังนั้น พระที่อยู่ท้องถิ่นใด ภาคใด ก็จะมีความคิดความเชื่อพื้นฐานทางการเมืองอิงพื้นฐานกลุ่มด้วย เช่นพระในภาคใต้ อาจชอบการบริหารงานของพรรคประชาธิปัตย์ หรือพระในภาคเหนือกับอีสานชอบพรรคเพื่อไทย เป็นต้น โดยพระกลุ่มนี้มักจะไปร่วมอยู่ในการชุมนุมของชาวบ้านด้วย

ทั้งนี้ พระส่วนใหญ่ยังยืนยันว่าไม่ได้เลือกข้างการเมืองฝ่ายใด จากการสำรวจพระนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผลโดยแบ่งตามภาคดังนี้ พระสงฆ์ภาคใต้ 68%, พระสงฆ์ภาคกลาง 60.3%, พระสงฆ์ภาคเหนือ 60.3% และพระสงฆ์ภาคอีสาน 40%

ส่วนพระที่ยืนยันว่าเลือกฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ทั้งที่ออกมาชุมนุม และไม่ออกมาชุมนุมนั้น พบว่า เป็นพระฝ่ายเสื้อแดงมีจำนวนมากกว่า คือพระฝ่ายเสื้อแดงในภาคอีสานมี 57.3%, พระสงฆ์จากภาคเหนือ 47%, พระสงฆ์จากภาคกลาง 33% และพระสงฆ์จากภาคใต้ 4.7%

ส่วนพระเสื้อเหลือง จะมีอยู่ในภาคใต้มากที่สุด 27.3%, ภาคเหนือ 3.7%, ภาคอีสาน 2.7% และภาคกลาง 6.7%

พระดังเลือกข้างระวังทำพุทธศาสนาเสื่อมหนัก

อีกกลุ่มเป็นพระที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งถือว่าเป็นพระที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมสูง ในงานวิจัยนี้ได้มีการแบ่งพระออกเป็นสีเหลือง กับสีแดง ซึ่งเกิดจากสายตาสื่อและสังคมที่มองว่าพระรูปนั้นเป็นพระเลือกข้างทางการเมืองสีต่างๆ ได้แก่

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย และพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นพระเสื้อเหลือง

ขณะที่ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว และพระมหา ดร.สมชาต ฐานวุฑโฑ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมกาย เป็นพระเสื้อแดง เป็นต้น

อาจารย์ไกรฤกษ์กล่าวว่า พระที่ถูกสังคมมองว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่งนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะปฏิเสธว่ามีความคิดทางการเมืองเลือกข้างชัดเจน แต่สังคมและสื่อจะเป็นผู้นำเสนอว่าพระรูปนั้นเป็นพระเสื้อสีใดมากกว่า เช่น ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ไปแสดงธรรมในรายการทีวีบ่อยครั้งกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ถูกมองว่าเป็นพระเสื้อเหลืองทันที

ด้วยประเด็นดังกล่าวจึงเห็นว่า พระที่มีชื่อเสียงอาจต้องระวังตัวให้มากขึ้นว่าจะไปออกสื่อช่องไหน เช่น สื่อช่อง blue sky ของพรรคประชาธิปัตย์ หรือ Voice TV ของพานทองแท้ ชินวัตร

“พระไปออกรายการในช่องใดช่องหนึ่งหลายครั้ง จะถูกมองทันทีว่าเลือกข้าง เช่นหากไปออกรายการของพรรคประชาธิปัตย์บ่อยครั้ง คนเสื้อเหลืองก็จะฟังพระธรรมที่พระรูปนั้นไปเทศน์ แต่คนเสื้อแดงก็จะไม่เชื่อฟังและมีปฏิกิริยาต่อพระรูปนั้นในทางลบทันที”

ซึ่งเป็นจุดที่ต้องระวัง!

อาจารย์ไกรฤกษ์กล่าวว่า ความจริงแล้วในพระวินัยไม่ได้มีกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าพระห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่อย่างไรก็มีกรอบและขอบเขตที่จะบอกว่าพระควรทำอะไรในทางการเมือง หรือไม่ควรทำอะไร

โดยกรอบที่สำคัญคือ คำสั่งมหาเถรสมาคม ปี พ.ศ. 2538 ที่ระบุห้ามพระยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งมีเหตุผลสำคัญคือว่า การที่พระไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในการเลือกข้างนั้น จะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาจากประชาชนในระยะยาว

อีกทั้งหากเป็นพระสีเหลือง และฝ่ายการเมืองสีแดงเป็นรัฐบาล ก็ย่อมมีสิทธิที่ฝ่ายการเมืองจะมาทำลายองค์กรสงฆ์ได้ หรือฝ่ายพระสีแดง และฝ่ายการเมืองสีเหลืองเป็นรัฐบาล ก็อาจจะมีการมาทำลายองค์กรสงฆ์ได้เช่นกัน

ดังนั้นพระสงฆ์จึงไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ

ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ หรือพระผู้ใหญ่ ที่นิ่งเฉย ไม่ออกมาตักเตือนในสิ่งที่ผิดต่อค่านิยมดีงามของสังคมก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน

“พระต้องยึดพระธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ไปยึดประชาธิปไตยเหมือนชาวบ้าน เช่น ถ้าชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าจะสนับสนุนให้มีการสร้างบ่อนกาสิโน แต่โดยหลักศีลธรรมอันดีของสังคมแล้ว การส่งเสริมการพนันเป็นเรื่องที่ผิด ดังนั้นพระก็ต้องออกมาคัดค้าน และตักเตือนสังคมในสิ่งที่ควรยึดถือไว้ เป็นต้น”

พระรับเงิน-ใช้ของแพง-ซื้อลอตเตอรี่ผิดเต็มๆ

นอกจากนี้ในฐานะที่ อาจารย์ไกรฤกษ์ ได้ศึกษาเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญา รวมทั้งการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพบว่ายังมีเรื่องที่น่าห่วงสำหรับเรื่องการทำผิดพระวินัยของพระสงฆ์ ใน 3 ประเด็นสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดพระวินัยชัดเจน แต่คนในสังคมกลับยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ได้แก่

1. การรับเงิน หรือให้คนอื่นรับเงินแทน ถือว่าเป็นเรื่องอาบัติ พระจะรับเงินไม่ได้ จะต้องแสดงอาบัติและสละเงินทิ้งไป จึงจะพ้นอาบัติ แต่ปัจจุบันกลับมีการมอบเงินให้พระกันเป็นเรื่องปกติ ใครไม่ถวายเงินให้พระกลับเป็นเรื่องผิดไปเสียอีก ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะพระพุทธเจ้าท่านบอกไว้อย่างชัดเจนว่า “เงินทองไม่สมควรต่อสมณศากยบุตร” และไม่สนับสนุนให้พระเรี่ยไร หรือแสวงหาเงินในรูปแบบต่างๆ

“วันนี้ก็มีข่าวพระที่ถูกลอตเตอรี่ 34 ล้านบาท หรือว่าพระที่มีของแพงๆ ใช้ พระเหล่านี้ก็ทำผิดพระวินัยแล้ว เพราะพระห้ามรับเงิน ห้ามแสวงหาเงิน”

2. กฐิน โดยวัตถุประสงค์แล้ว พระพุทธเจ้าต้องการให้พระได้เปลี่ยนจีวร หลังจากหน้าฝน จึงอนุญาตให้ญาติโยมถวายผ้าพระกฐินได้ แต่ปัจจุบันมีแต่การถามหาเงิน ไม่มีการถามหาผ้าแล้ว ถือเป็นการเบี่ยงเบนวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการทำกฐิน

3. พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เป็นสมณะที่รับเงินจากการเป็นหมอดู, ร่ายมนตร์, บวงสรวง, ปลุกเสก ฯลฯ โดยเฉพาะพระที่บอกว่าเป็นพระธุดงค์ สามารถปลุกเสกกุมารทองได้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นความผิดในพระวินัยหมวดจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ที่ชัดเจน

“น่าเป็นห่วง เพราะพระวินัยเป็นรากแก้วของศาสนา การที่พระทำผิดพระวินัยมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ศาสนาพุทธค่อยๆ เสื่อมไปด้วย” อาจารย์ไกรฤกษ์ระบุ

กำลังโหลดความคิดเห็น