xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นมาของคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อปี 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้ตัดสินว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และให้ไทยถอนทหารหรือตำรวจออกจากปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตของกัมพูชา และคืนวัตถุโบราณที่ไทยอาจโยกย้ายออกจากปราสาทฯ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 โดยล้อมรั้วลวดหนามกำหนดขอบเขตบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร

ครึ่งศตวรรษต่อมา กัมพูชาได้ยื่นคำขอต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 ขอให้ตีความคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505 โดยอ้างข้อ 60 ของธรรมนูญศาล ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลฯ จะตีความคำพิพากษาเมื่อมีการร้องขอโดยคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” โดยระบุในคำร้องถึง “ประเด็นในข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา” ที่เป็นปัญหาว่า

“(1) สำหรับกัมพูชา คำพิพากษา 2505 อยู่บนพื้นฐานของเส้นเขตแดนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกำหนดขึ้นและยอมรับโดยรัฐทั้งสอง
(2) สำหรับกัมพูชา เส้นเขตแดนนั้นได้ถูกกำหนดโดยแผนที่ซึ่งศาลอ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษา ... แผนที่ซึ่งทำให้ศาลตัดสินว่าอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นผลโดยตรงและอัตโนมัติจากอธิปไตยของกัมพูชาเหนือดินแดนที่ปราสาทตั้งอยู่
(3) สำหรับกัมพูชา ไทยมีพันธกรณี (ตามคำพิพากษา) ที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือเจ้าหน้าที่อื่นจากบริเวณใกล้เคียงปราสาทบนดินแดนของกัมพูชา”

ในวันเดียวกันกับที่ยื่นคำร้องต่อศาลฯ กัมพูชายื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฯออกมาตรการชั่วคราวด้วย ดังนี้
1.การถอนกำลังของฝ่ายไทยทั้งหมดออกจากดินแดนเหล่านั้นของกัมพูชาซึ่งอยู่ในพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร
2.ห้ามกิจกรรมทางทหารทั้งหมดโดยไทยในพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร
3.ให้ไทยละเว้นจากการกระทำหรือการดำเนินการใดซึ่งอาจก้าวก่ายสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้ข้อพิพาทในคดีหลักรุนแรงขึ้น
การพิจารณาของศาลเกี่ยวกับคำขอให้กำหนดมาตรการชั่วคราวดังกล่าวได้มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 30 และอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2554

ระหว่างการพิจารณาของศาล ไทยได้ยืนยันว่าไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 ทั้งนี้ ไทยไม่เคยโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ดังที่ยอมรับไว้ในวรรคแรกของข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษาไทยย้ำว่าไม่เคยโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ว่าไทยมีพันธกรณีที่ต้องถอนกำลังทหารออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียง ไทยโต้แย้งว่าพันธกรณี “ณ ขณะนั้น” ได้รับการปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนโดยไทยแล้วและไม่สามารถนำไปสู่คำพิพากษาตีความ และไทยยืนยันว่าด้วยเหตุนี้ ศาลจึงขาดอำนาจอย่างชัดเจนที่จะ “ตัดสินคำขอให้ตีความของกัมพูชา” และกำหนดมาตรการชั่วคราวดังที่ผู้ร้องขอ

ในตอนท้ายของข้อสังเกตทางวาจารอบสอง กัมพูชาได้ย้ำคำขอให้มีการกำหนดมาตรการชั่วคราว ตัวแทนประเทศไทยจึงมีคำร้องขอต่อศาลให้จำหน่ายคดีที่ยื่นโดยราชอาณาจักรกัมพูชาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 จากสารบบ

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว ศาลให้ข้อสังเกตแต่แรกว่า “ในชั้นต้นดูเหมือนจะมีข้อพิพาท” ระหว่างคู่ความเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 และศาลไม่อาจทำตามคำร้องขอของไทยให้คดีที่เสนอโดยกัมพูชาถูกจำหน่ายออกจากสารบบ
จากนั้น ศาลได้กำหนดมาตรการชั่วคราว 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารซึ่งอยู่ในเขตปลอดทหารชั่วคราวที่ศาลกำหนดโดยทันที 2.ไม่ให้ไทยขัดขวางการเข้าออกปราสาทพระวิหารโดยอิสระของกัมพูชา 3.ให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการตามความร่วมมือที่ได้ตกลงกันในกรอบอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ที่ตั้งขึ้นโดยอาเซียนเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราว และ 4.ให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำหใข้อพิพาทในศาลฯทวีความร้ายแรงหรือแก้ไขยากขึ้น พร้อมกันนี้ศาลฯได้กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายรายงานศาลฯเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวข้างต้น จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับคำขอให้ตีความ

นอกจากนี้ ศาลได้กำหนดวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 เป็นเวลาสิ้นสุดการเสนอข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไทยเกี่ยวกับคำขอให้ตีความที่ยื่นโดยกัมพูชา และศาลให้โอกาสคู่ความยื่นคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษร และได้กำหนดวันที่ 8 มีนาคม 2555 และ 21 มิถุนายน 2555 เป็นเวลาสิ้นสุดสำหรับการยื่นคำอธิบายดังกล่าวโดยกัมพูชาและโดยไทยตามลำดับ และศาลให้โอกาสคู่ความที่จะมีการอธิบายเพิ่มเติมทางวาจาตารางเวลาของการนั่งพิจารณาที่ได้กำหนดขึ้น ระหว่างวันที่ 15 - 19 เมษายน 2556 และคาดว่าจะมีคำตัดสินในอีก 6 เดือนข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น