xs
xsm
sm
md
lg

“อิรานดุส” ดิ้นหนีความผิดบริหาร AIT เจ๊ง! ล็อบบี้ “บอร์ด”-ขอออกจากตำแหน่งอย่างไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลือหึ่งทั่ว AIT อิรานดุสดิ้นหนีความผิด เดินสายล็อบบี้ Board of trustees เรียกร้อง 4 ข้อ ขอออกจากตำแหน่งอย่างโปร่งใส และได้รับเงินค่าจ้างจนสิ้นสุดสัญญา วงใน AIT ชี้รับไม่ได้ข้อเสนออิรานดุส เหตุเชื่อมีการทุจริตเงิน AIT เข้ากระเป๋าไปใช้เรื่องส่วนตัว จึงต้องได้รับการตรวจสอบ พร้อมถามเงินทุน KING-QUEEN 15-20% อยู่ไหน? ขณะที่ประธาน Board of trustees ยอมรับข่าวลือนี้จริง แต่ยังไม่ยุติ...

หลังจากเกิดปัญหาการบริหารงานใน AIT ของอธิการบดี นายซาอิด อิรานดุส (Sahid Irandoust) ที่มีชนวนระเบิดที่ทำให้คณาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่าต่างเห็นว่าปัญหา AIT กำลังวิกฤตหนัก คือการประกาศใช้กฎบัตรใหม่หรือ AIT-IO ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2555 ทั้งๆ ที่เป็นกฎบัตรที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย คือประเทศไทยไม่ได้ลงสัตยาบรรณในกฎบัตรนี้ การใช้กฎบัตรใหม่จึงส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ไม่สามารถรับรองปริญญาที่เกิดขึ้นจากกฎบัตรใหม่นี้ได้ ทำให้นักศึกษา AIT ที่จบการศึกษาในปี 2555 ได้ปริญญาบัตรในแบบที่ก.พ.ไม่รับรองให้หลายร้อยคน รวมถึงยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีของนายซาอิด อิรานดุส ที่มีท่าทีที่จะแปรองค์กรไม่แสวงหากำไรของ AIT เพื่อขายให้กับกลุ่มธุรกิจการศึกษา “ลอรีเอท” ซึ่งเป็นการไม่สมควร รวมทั้งยังมีการตั้งข้อสงสัยว่านายซาอิด อิรานดุส มีพฤติกรรมนำเงินของ AIT ไปใช้ในผลประโยชน์ส่วนตัวด้วย

เหตุนี้ 3 ภาคส่วนใน AIT ได้แก่ คณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า จึงมีมติในที่ประชุมของทั้ง 3 ส่วนไปในทางเดียวกัน โดยเห็นควรว่าจะต้องให้นายซาอิด อิรานดุส ออกจากตำแหน่ง และให้มีการ “ตรวจสอบ” เรื่องราวทั้งหมด โดยเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศทำการจัดประชุมโดยประธานสภามหาวิทยาลัย หรือ Board of trustees ชุดที่ขึ้นอยู่กับกฎบัตรเก่าที่กฎหมายไทยรองรับ เพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงโดย Board of trustees นำโดย นายนพปฏล คุณวิบูลย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานสภามหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมบอร์ดในวันที่ 12 ธันวาคม 2555 และ 22 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา และสรุปว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และมีมติให้อธิการบดีอิรานดุสลาหยุดงานจนกว่าจะสอบสวนเสร็จ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใน AIT กล้าที่จะนำหลักฐานเอกสารต่างๆ ให้คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจอธิการบดี

ระหว่างนี้ ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ในฐานะรักษาการอธิการบดี AIT แทน จึงทำการพิจารณากรณีอาจารย์ที่ได้ร้องเรียนกับกระทรวงการต่างประเทศได้แก่ ม.ล.ฐนิสา ชุมพล, ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต และ ศ.ดร.จายาน คูมาร์ เราเทรย์ ว่าถูกนายซาอิดใช้อำนาจไม่เป็นธรรมในการให้ออกจากงาน เพื่อหาข้อยุติที่เป็นธรรมในแต่ละกรณี ในบางกรณีมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อเสร็จสิ้นแล้วหากพบว่านายซาอิด อิรานดุส ได้ทำการใช้อำนาจโดยมิชอบ อาจารย์ที่ถูกกลั่นแกล้งก็สามารถกลับไปทำงานได้ทันที

อย่างไรก็ดี เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อนายซาอิด อิรานดุส ถูกตำรวจ สภ.คลองหลวง ตั้งข้อหาเกี่ยวกับการเข้าทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย โดยไม่มี Work permit ที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย คือ พ.ร.บ.ทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ด้วย โดยการแจ้งความของสำนักหางานจังหวัดปทุมธานี ทำให้นายซาอิดต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเบื้องต้นแล้วในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมหลักฐานจากทางตำรวจ เพื่อนำส่งอัยการตามกระบวนการยุติธรรมของไทยต่อไป

เรื่องราวทั้งหมดกำลังเดินหน้าไปสู่การ “ตรวจสอบ” และผลของการตรวจสอบ ที่จะฟันธง! ว่า “อิรานดุส” จะอยู่หรือไป จาก AIT ซึ่งแนวโน้มทั้งหมดดูเหมือนจะบีบรัดให้นายซาอิด อิรานดุส ต้อง “ไป” จาก AIT เท่านั้น!

ปัญหาในเวลานี้คือ ใช่ว่า นายซาอิด อิรานดุส จะยอมไปจาก AIT อย่างง่ายๆ!

ลือหึ่ง! อิรานดุสดิ้นหนีความผิด

แหล่งข่าวภายใน AIT เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวใน AIT ว่านายซาอิด อิรานดุส มีความพยายามอย่างมากที่จะออกไปจาก AIT อย่างที่ตัวเองต้องขาวสะอาด โดยมีข้อเรียกร้องลับๆ ผ่านไปยังคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือ Board of trustees เพื่อขอให้ช่วยนายซาอิด ออกไปอย่างโปร่งใส

โดยข้อเรียกร้องของนายซาอิด อิรานดุส ประกอบด้วย ขอรับเงินและสวัสดิการที่เคยได้รับจาก AIT ในตำแหน่งอธิการบดีไปจนกว่าจะหมดสัญญา (contract) ในเดือนมิถุนายน 2556, ขอต่อวีซ่าเพื่อใช้ในการทำงานต่อ เช่น เซ็นใบปริญญา และหลังจากนั้นขอลางานไปอย่างมีเกียรติ, ให้มีการลบล้างคำครหาที่มีต่อนายซาอิด อิรานดุส และชื่นชมผลงานที่ผ่านมา โดยให้ Board of trustees เป็นผู้ประกาศ และให้ AIT จ่ายค่าทนายความและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับคดีความทั้งหมดของนายซาอิด อิรานดุส หลังนายซาอิดพ้นจากตำแหน่งอธิการบดี AIT แล้ว

แหล่งข่าวภายใน AIT กล่าวว่า เงื่อนไขที่อิรานดุสเสนอนั้น แท้จริงแล้ว นายซาอิด อิรานดุส จะปฏิเสธความผิดที่ทำไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทำไม่ได้ โดยเฉพาะข้อมูลจากสมาคมนักศึกษาเก่า AIT ได้เสนอต่อคณะกรรมการสอบสวนนายซาอิด อิรานดุส 4 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่

1. การบริหารที่ล้มเหลว จากการที่นายซาอิด อิรานดุส ยืนกรานในการใช้กฎบัตรใหม่ เริ่มตั้งแต่ 30 มกราคม 2555 ทำให้เกิดปัญหาสถานะทางกฎหมายของสถาบันเป็นเวลา 10 เดือน ซึ่งเป็นผลทำให้มีการมอบปริญญาบัตรสมาชิกผิดกฎหมาย การตัดงบประมาณจากรัฐบาลไทย เนื่องจากมีการเปลี่ยนสถานะของสถาบัน และทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของสถาบัน และการที่นายซาอิด อิรานดุส เริ่มให้มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ซึ่งผิดจากความตั้งใจแรกเริ่ม และสนธิสัญญาที่ประเทศไทยได้เซ็นร่วมไว้กับ SEATO อีกทั้งนายซาอิด อิรานดุส ได้เริ่มเจรจากับบริษัท Laureate ซึ่งเป็นบริษัทแสวงหากำไรทางการศึกษา เพื่อจะให้มีการร่วมมือกัน ซึ่งผิดจากหลักการของเอไอที ที่เป็นสถาบันไม่แสวงหาผลกำไร

2. การขาดธรรมาภิบาล โดยนายซาอิด อิรานดุส ได้บริหารจัดการเอไอทีราวกับว่า สถาบันนั้นเป็นของเขาเอง ใครที่มีความคิดเห็นต่าง จะโดนกำจัด อิรานดุสได้ข่มขู่อาจารย์ นักศึกษา พนักงานของสถาบัน เพื่อที่จะครอบครองอำนาจของตนในการควบคุมเอไอที

3. นายซาอิด อิรานดุส มีส่วนต้องรับผิดชอบกับปัญหาทางการเงินของเอไอที ในช่วง 3 ปีหลังนี้ อิรานดุสบริหารสถาบันด้วยบัญชีที่ติดลบ ซึ่งตอนนี้เงิน reserve ที่เหลืออยู่มี 32 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินเดือนต่อเดือน การใช้จ่ายหมดไปกับการซ่อมแซมเฉพาะหน้า ค่าใช้จ่ายทางทนายความ และการประชาสัมพันธ์ หรือการพีอาร์ ซึ่งไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยกับสถาบัน

4. พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ว่ากันว่านายซาอิด อิรานดุส ใช้เครดิตการ์ดของสถาบันและโทรศัพท์ เพื่อเหตุส่วนตัว โดยไม่จ่ายคืนสถาบัน โดยอิรานดุสใช้เครดิตการ์ดของสถาบันไปมากกว่า 1.1 ล้านบาท ในปี 2554 และบิลค่าโทรศัพท์ในระดับแสนบาทต่อเดือน และยังมีข้อมูลอีกว่า นายซาอิด อิรานดุส ได้ขอกู้เงินของสถาบันสองรอบ มีมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านบาท และ 2.5 ล้านบาท

นอกจากนี้เรื่องที่มีการร้องเรียนไปแล้ว ขณะนี้มีการกล่าวขวัญถึงงบประมาณจากทุนของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะทุน King’s Scholarship และทุน Queen นั้น รัฐบาลไทยจะให้ทุนแบบ 100% ซึ่ง 47% ของทุนจะไปอยู่ที่แผนกบริหารสถาบัน AIT แล้ว 15-20% ของ 1 ทุนที่สนับสนุนโดยรัฐบาลนี้จะไปที่ตัวอธิการบดีโดยตรง

“คำถามคือเงินก้อนนี้ไปอยู่ที่ไหน และมีการนำมาใช้อย่างไร?” ตรงนี้ยังไม่มีการตรวจสอบ! และชาว AIT คงรับไม่ได้ ถ้าจะปล่อยให้นายซาอิด ออกจากตำแหน่งโดยไม่รับผิดชอบการใช้เงินที่ไม่โปร่งใสไปได้

ปัญหาคือตอนนี้ก็มีกระแสข่าวว่า นายซาอิด อิรานดุส กำลังวิ่งเต้นกับ Board of trustees เพื่อขอให้การตรวจสอบข้อร้องเรียนของตัวเองนั้น จบลงด้วยความโปร่งใสของตัวเอง

เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไร?

ประธานบอร์ดเผยเรื่องจริง-แต่ยังไม่ยุติ

นายนพปฏล คุณวิบูลย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงตามที่มีข่าวลือว่านายซาอิด อิรานดุส มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อต่อ Board of trustees ในทางลับนั้น เกิดจากความตั้งใจของทูตปากีสถานที่ต้องการให้เกิดการรอมชอม จึงมีการพูดคุยกับนายอิรานดุส และนำข้อเสนอดังกล่าวมาคุยกับตนอย่างไม่เป็นทางการ ในฐานะที่เป็นคนกลาง จึงนำเรื่องนี้ไปคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหาข้อตกลงร่วมกันก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบอร์ดอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นช่วงต้นเดือนนี้

“ถ้าอยู่ดีๆ นำข้อเสนอดังกล่าวเข้าไปในบอร์ดเลย อาจจะต้องเถียงกันอุตลุด ซึ่งจะทำให้ไม่มีข้อยุติ จึงต้องมีการสอบถามท่าทีก่อนว่าแต่ละฝ่ายรับข้อเสนอดังกล่าวได้แค่ไหน ดังนั้นจึงยังไม่ถือว่าเป็นข้อเสนอ แต่เป็นไอเดียที่เอามาคุยกันถึงความเป็นไปได้ ส่วนคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไป เพราะทุกฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรมีกลไกในการตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้น”

สำหรับข้อเรียกร้อง 4 ข้อ เช่น การขอรับเงินและสวัสดิการที่เคยได้รับจาก AIT ในตำแหน่งอธิการบดีไปจนกว่าจะหมดสัญญาในเดือนมิถุนายน 2556 ถือเป็นเรื่องที่นายอิรานดุสสามารถเรียกร้องได้ เพราะเป็นพันธกรณีของ AIT ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างตามสัญญาว่าจ้าง แต่หากมีคนเสนอให้ลดจำนวนลง ก็ต้องมีการพูดคุยตกลงกันต่อไปในที่ประชุมบอร์ด

กำลังโหลดความคิดเห็น