xs
xsm
sm
md
lg

“สกอ.” เตรียมแผนสำรองช่วยนักศึกษา AIT การันตีสถานภาพการศึกษา-แต่ไร้ปริญญาบัตร!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการเปิดใจกับ “ทีม Special Scoop” ถึงปัญหาของ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และแผนการช่วยเหลือนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนขอกฎบัตรเก่าหรือกฎบัตรใหม่ที่ใช้ในการบริหารสถาบัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักศักษาที่กำลังจะเข้าใหม่และนักศึกษาที่จบการศึกษาตั้งแต่มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน สกอ.มั่นใจว่าปัญหาดังกล่าวมีทางออก และผู้ที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ก็คือกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ สกอ.
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ AIT ต้องประสบปัญหาขณะนี้ ?

AIT (Asian Institute of Technology) หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เกิดจากการที่หลายประเทศร่วมมือกันตั้งออกมาเป็นสถาบันที่พัฒนาด้านเทคโนโลยี ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) แล้วก็มาอยู่ที่ประเทศไทย ประเทศไทยมีมติว่าจะดูแลตั้งแต่ต้นมา เป็นโฮสต์ (Host) ใหญ่ในการจัดสถานที่ อาคาร รวมถึงงบประมาณ ในแต่ละปีก็มีการจัดให้มาโดยตลอด โดยที่ประเทศอื่นไม่ได้ลงอะไรมาก แล้วก็สร้างนักศึกษาที่มีผลงานพอประมาณ AIT ก็สร้างชื่อเสียงได้ระดับหนึ่ง

มาระยะหลังก็ประสบปัญหาเรื่องของงบประมาณพอสมควร เพราะว่าไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ตั้งใจไว้ สุดท้ายก็มีอธิการคนปัจจุบัน (นายซาอิด อีรานดุส : Sahid Irandoust) เข้ามาดูแล ภายใต้กฎบัตรเดิม ในระหว่างที่เป็นกฎบัตรเดิมจะมีกฎหมายคุ้มครององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นองค์กรที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อุดมศึกษาเอกชน และไม่ใช่อุดมศึกษาของรัฐบาล จะเป็นองค์กรพิเศษก็จะดูแลกันเอง โดยสภามหาวิทยาลัยของ AIT

เท่าที่ทราบตอนนี้มีการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎบัตรเป็นฉบับใหม่ ลงนามโดยนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แต่ว่ากฎบัตรฉบับนั้นยังไม่ได้เข้าไปให้สัตยาบรรณในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะฉะนั้นจึงเป็นกฎบัตรที่ไม่เสร็จ เมื่อไม่เสร็จ แต่ทางผู้บริหารก็ถือว่าจะใช้ สภามหาวิทยาลัยเดิมก็ยังอยู่ทั้งคู่ ก็เลยเป็นแรงกระเพื่อมที่ต่อสู้กันในเชิงนโยบายว่าใครถูกใครผิด

ผู้บริหาร AIT ต้องตอบรัฐบาลไทย-สมาคมศิษย์เก่า จากกฎบัตรใหม่ที่ใช้อยู่ขณะนี้ ?

ผมมาทราบตอนหลังที่สมาคมศิษย์เก่า (ALUMNI) มาร้องที่รัฐมนตรีว่า มีการเอาสถาบัน AIT ไปทำข้อตกลงกับบริษัทเอกชนในต่างประเทศที่ทำธุรกิจด้านการศึกษา ซึ่งทางสมาคมศิษย์เก่า เป็นกังวลว่าที่ตั้งขึ้นมาเป็นสถาบันที่ไม่เน้นผลกำไรในเชิงธุรกิจ เหตุใดไปร่วมทุน หรือมี MOU กับต่างประเทศ และการแก้ไขกฎบัตรแล้วทำให้ที่นั่งของประเทศไทยซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าภาพเหลือที่นั่งเดียวเหมือนคนอื่น จากเดิมที่มีเสียงดังกว่าคนอื่น ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อสงสัยของรัฐบาลชุดนี้เหมือนกัน

ดังนั้นในช่วงน้ำท่วม หรือการจัดงบให้ AIT จึงหยุดลง เพราะเป็นประเด็นว่ากฎหมายยังไม่แน่ใจในสถานภาพของ AIT ว่าเป็นอะไรกันแน่

AIT-IO ถือว่าได้รับการรับรองถูกต้องตามกฎหมายไทยแล้วหรือไม่ ?

ตามขั้นตอนถ้าลงสัตยาบรรณแล้ว ต้องยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เก่า และเขียน พ.ร.บ.ใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะคุ้มครองกฎบัตรใหม่ ถ้าปัจจุบันยังไม่ยกเลิกก็ยังอยู่ แต่จะใช้กฎบัตรใหม่ กับ พ.ร.บ.เก่า หรือกฎบัตรใหม่กับ พ.ร.บ.ใหม่ จะใช้แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับ ครม. ซึ่งตรงนี้ยังไม่ออกมา เมื่อไม่ออกมา ในฐานะคนจัดการศึกษาต้องมองว่า AIT เป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพอยู่แล้ว หลักสูตรต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตผ่านการรับรองอยู่แล้ว

นักศึกษาถามว่าสถานภาพเป็นอย่างไร คำตอบของ สกอ.ก็จะบอกว่า ถ้าอาศัย พ.ร.บ.เดิม กฎบัตรเดิม (AIT) ก็ยังรับรองอยู่ แต่เมื่อไรที่นักศึกษาจบด้วยกฎบัตรใหม่ ซึ่งยังไม่รับรอง (AIT-IO) สกอ.ก็ไม่สามารถรับรองได้ ดังนั้นการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ไม่รับรอง ปัญหาจะอยู่ที่ตัวปริญญา ถ้าปริญญาเขียนมาว่า รับรองโดยกฎบัตรใหม่ (AIT-IO) ก.พ.ก็ไม่สามารถรับรองได้

ถ้า AIT-IO ยืนยันว่าถูกต้องตามกฎบัตรใหม่ ?

ก็จะเกิดคำถามว่าถูกคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เดิมหรือไม่ ถ้ายังคุ้มครองอยู่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ไม่ปฏิเสธที่จะรับทราบ รับรองหลักสูตร แต่ขณะนี้สถานภาพยังไม่ชัดเจน แม้แต่กระทรวงการต่างประเทศก็ยังไม่มีข้อยุติว่าอยู่ในสถานภาพอย่างไร ก็ยังมีข้อถกเถียง ถ้าอ่านในข้อมูลของสมาคมศิษย์เก่า (ALUMNI) ที่ว่าอธิการคนนี้ได้รับการแต่งตั้งจากกฎบัตรเดิม จึงไม่มีอำนาจที่จะทำอะไรกับกฎบัตรใหม่ แต่ถ้าอ้างว่ากฎบัตรใหม่แต่งตั้งอธิการแล้ว ต้องถามว่ากฎบัตรใหม่ได้รับการรับรองแล้วหรือยัง

ถ้ากฎบัตรใหม่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (AIT-IO) อธิการที่ตั้งปัจจุบันก็ยังใช้ไม่ได้อยู่ดี เป็นข้อโต้แย้งทางกฎหมายอยู่ สกอ.ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายในการดำเนินการของมหาวิทยาลัยได้ เพราะถือว่าเป็นความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย เหมือนสภามหาวิทยาลัย กับอธิการบดีมหาวิทยาลัยอื่นๆ จนกว่าจะทะเลาะกันเสร็จ แล้วเกิดการฟ้องร้องกัน แล้วจะให้ สกอ.เข้าไปยุ่งตรงไหนค่อยว่ากัน

สกอ.เตรียมแผนในการดูแลนักศึกษาอย่างไร ?

สกอ.จะดูเรื่องบัณฑิต กับนักศึกษาที่อยู่ในระบบ และเห็นว่า AIT-IO จะเป็นปัญหาทันทีที่รับนักศึกษาใหม่ ซึ่งขณะนี้คงกำลังทยอยรับนักศึกษาอยู่ ก็จะไม่รู้ว่าเข้ามาเรียนในหลักสูตรของใคร ถ้าเป็น AIT เดิมก็รับรองอยู่แล้ว เด็กก็สามารถที่จะเรียนจบ และมีปริญญาของประเทศไทยได้

แต่ถ้าเรียนด้วยวิธีอื่น หรือ AIT-IO ตามกฎบัตรใหม่ ก็เป็นการจัดการศึกษาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เราก็จะตีความว่าเป็นการศึกษาเชิงเอกชนที่ไม่ได้ขออนุญาต ก็ผิดกฎหมายอีก เพราะหากใครจะมาเปิดสถาบันการศึกษาโดยไม่ขออนุญาตไม่ได้ ถ้าเป็นเอกชนก็ต้องขออนุญาต ถ้าเป็นองค์กรระหว่างรัฐก็ต้องแสดงสถานภาพให้ชัดเจน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศต้องรับรองว่าเป็นองค์กรเดิม

ถ้าวันนี้ไม่แก้ไข สกอ.ยังถือเป็นองค์กรเดิมอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข เท่าที่ทราบตัวปริญญาเป็นปัญหาแล้ว ถ้าเซ็นออกมาโดยอธิการคนเดียวก็จะเป็นปัญหา ถ้าเซ็นโดยผู้ที่ไม่ได้รับอำนาจมาก็จะเป็นปัญหา โดยทั่วไปต้องมี 2 รายที่เซ็นคือ นายกสภาสถาบันและอธิการบดีร่วมกันรับรองจึงถูกต้องตามระเบียบในการจบหลักสูตรของประเทศไทยที่ใช้กันตลอดมา

กรณีจบตามกฎบัตรใหม่ ทาง สกอ.จะช่วยอย่างไรไม่ให้นักศึกษาต้องเดือดร้อน ?

ทางเดียวก็คือ การไปให้สัตยาบันว่าเป็นอันใหม่ หากจะใช้ พ.ร.บ.เดิม สกอ.ก็จะดูแลต่อได้ ก็รับรองให้สัตยาบันที่ ครม. ครม.ต้องเรียกประชุมอีกที เรื่องนี้สุดท้าย ครม.มอบให้กระทรวงการต่างประเทศไปทำความชัดเจน ว่า ALUMNI เค้าแย้งมาเรื่อง ธรรมาภิบาล และลอรีเอท อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ (Laureate International University) ว่าไง ตราบใดที่ยังไม่ตอบก็ส่งกลับเข้า ครม.ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกระทรวงการต่างประเทศจะต้องทำความชัดเจนจุดนี้ก่อน ว่าสถานภาพเป็นอย่างไร

สำหรับนโยบายของ สกอ.คือดูแลเด็ก ถ้าใครหลงผิดเข้าไปก็คล้ายกรณีมหาวิทยาลัยอีสาน ถ้ารับไปปีนี้ ถ้าเป็น AIT-IO ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ในที่สุดไม่ถูกต้องก็ต้องเข้าไปดูแลเด็กในวันนี้ โดยการโอนย้ายไปที่อื่น แต่เด็กที่อยู่ก่อนหน้านั้น ใน AIT ที่ถูกต้อง และเห็นว่าไม่ได้เป็นประเด็นด้านการจัดการศึกษา แต่เป็นเรื่องของกฎหมาย เพราะฉะนั้นไม่ควรให้เด็กต้องรับกรรม ถ้าจะให้จบตรงนั้น ต้องหาวิธีให้เด็กจบ

โดยอาจดำเนินการในรูปที่ให้ สกอ.รับรองว่าจบ AIT จริง เรียนจบแล้ว แต่ปัญหาคือไม่มีปริญญาที่ได้รับการรับรอง ไม่มีตัวปริญญาบัตร ถ้าจะเอาจริงๆ ต้องย้อนไปให้นายกสภาเก่าเซ็น ก็คือ ท่านเตช บุนนาค

วันนี้ AIT มีทางออกกี่ทางที่ไม่ผิดกฎหมายไทย และนักศึกษาได้วุฒิบัตรอย่างถูกต้อง ?

1. AIT กลับไปเป็นเหมือนเดิม ยกเลิกกฎบัตรใหม่เสีย ทุกอย่างดำเนินการไปโดยไม่ขัดข้องอะไรอีกต่อไป เหมือนในอดีต เพียงแค่ชี้แจงมาว่ากลับไปใช้กฎบัตรเก่าแล้ว แล้วก็ใช้กฎหมายเดิม สามารถรับรองหลักสูตร รวมถึงงบประมาณสนับสนุนต่างๆ ทุน ความช่วยเหลือเรื่องการเยียวยาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในอดีต สำนักงบประมาณเตรียมเอาไว้แล้ว แต่ไม่สามารถปล่อยได้

2. ถ้าเป็นกฎบัตรใหม่ แต่แก้ไขปัญหาแล้ว แล้วไปให้สัตยาบันใน ครม. ซึ่งเราคิดว่า ครม.คงใช้ พ.ร.บ.เดิมให้คุ้มครองเหมือนเดิม แบบนี้ก็จะเป็นว่าปริญญาเดิมก็รับรอง ปริญญาใหม่ก็รับรอง แต่ต้องเข้า ครม.ก่อน

3. ไปเป็นเอกชน ก็ออกจากองค์กรร่วมระหว่างประเทศเสีย แล้วก็ตั้งขึ้นเป็น ม.เอกชน อันนี้ยากสุด เพราะจะเริ่มต้นจากศูนย์ไม่ได้ จะมีกรณียกเว้นหลายเรื่อง เช่น กรณีนักศึกษาที่มีอยู่จะทำอย่างไร จะต้องเคลียร์นักศึกษารุ่นเก่า เหมือนการยกเลิก AIT กลับมาที่เก่าคือ นักศึกษาที่จบไปก็จบ นักศึกษาที่ยังไม่จบก็ต้องย้ายไปมหาวิทยาลัยเอกชนอื่นไปก่อน แล้วก็เริ่มรับใหม่ อาจทำเป็นข้อเฉพาะการว่ารับเข้ามาเลยได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก มิฉะนั้นก็จะเป็นปัญหากับมหาวิทยาลัยอื่น

กรณีอย่างนี้ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะนี่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ แล้วเปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนไม่เคย สุดท้ายผมก็ต้องถามว่ามหาวิทยาลัยเอกชนทำไมทำไม่ได้ และทำไมมหาวิทยาลัยนี้ทำได้ ถ้าเค้าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน เค้าต้องย้ายที่ไปหาที่ใหม่ แต่เค้าอาจจะบอกว่าให้คงนักศึกษาเดิมหรือไม่ อันนั้นคือข้อยาก ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะกระทบกับนักศึกษาแน่นอน

เราจึงมองว่า 2 แบบแรกดีที่สุด สภามหาวิทยาลัยกับทางอธิการ ต้องหาทางออกร่วมกัน ถ้ายังขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้คงต้องไปอาศัยกฎหมาย และอยากเตือนผู้บริหารกับผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แรกรีบหาข้อยุติ เพราะจะเกิดผลกระทบกับนักศึกษาเป็นวงกว้างในไม่ช้านี้

เพราะปัจจุบันกฤษฎีกาตีความมาว่ากฎบัตรเดิมยังอยู่ กฎบัตรใหม่ยังไม่รับรอง แสดงว่าสภามหาวิทยาลัยเดิมยังมีอำนาจอยู่ จึงเห็นว่าควรต้องเรียกประชุมกันว่าจะเอาอย่างไร แล้วมีมติออกมา ถ้ายกเลิกควรยกกันเอง หากยอมใช้กฎบัตรใหม่ (AIT-IO) ก็เป็นมติออกมาให้ชัด ควรเรียกประชุมก่อน แล้วมีมติออกมาว่าไง ขณะนี้บอร์ดที่นั่งอยู่คือกระทรวงการต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเจ้ากระทรวงต้องตัดสินใจ ถ้าจะรับรอง AIT-IO ใหม่ เหมือนเจ้ากระทรวงคนเก่า ก็รับรอง แล้วนำเข้า ครม.

ถ้าเหตุการลุกลามจนทำให้ AIT ต้องปิดหรือย้ายไปต่างประเทศจะกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ ?

การต้องยุติครั้งนี้จะไม่กระทบอะไรมากมายต่อวงการศึกษาไทย เช่น ไม่ทำให้มหาวิทยาลัยในไทยอ่อนแอลง เพราะไม่ได้ติดอันดับอะไร และไม่ได้ทำให้ชื่อเสียงแย่ลง ไม่กระทบต่อการรับนักศึกษาต่างประเทศ เพราะมหาวิทยาลัยไทย มีความพร้อมในการรับอยู่แล้ว ทั้งยังไม่กระทบต่อด้านเทคโนโลยี เพราะ มจพ.( มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) และอีกหลายมหาวิทยาลัยมีความพร้อมด้านนี้อยู่แล้ว แต่จะกระทบกับผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งเป็นจุดที่ สกอ.ไม่อยากให้ล้ม กระทบต่อความรู้สึกแน่นอน เค้าต้องการมาเรียนที่ AIT แต่ให้เค้าไปเรียนที่อื่น

ดังนั้น หาก AIT หรือ AIT-IO ล่มสลายก็ไม่มีคนช่วย เพราะมหา'ลัยในประเทศไทยมีจำนวนมาก เกินแล้ว เด็กที่ออกมาจาก AIT มีคนเตรียมรับหมดไม่ต้องห่วง ถ้าอยู่ AIT ไม่ได้ ต้องโละทิ้ง เด็ก AIT ที่ค้างอยู่มีคนรอรับเยอะแยะ

ส่วนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมองว่าไม่ว่าจะเป็น ม.รัฐก็มีคนต่างประเทศเยอะ เค้ารับชาวต่างชาติได้อยู่แล้ว สอนได้ ไม่มีอะไรแตกต่าง ไม่มีใครเดือดร้อน มหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมรับอาเซียนอยู่แล้ว ไม่ว่าประเทศไหนก็เข้ามาได้ คนที่เป็นกังวลมีแต่ ALUMNI เพราะเขารักสถาบันของเค้า

ส่วนวิธีการเข้าไปแก้ไขปัญหาหากถึงจุดต้องยุติ ก็ไม่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยอีสาน คือ สกอ.ต้องเข้าไปดูก่อน ส่วนคนจบไปก็จบไปแล้ว ปัญหาใหญ่คือ คนเพิ่งเข้าปีนี้ ทั้งปริญาตรี โท -เอก จะเป็นปัญหาหลัก เพราะจะต้องนับ 1 ใหม่หมด ถือว่าไม่รับรองตั้งแต่ต้น ผู้จัดการศึกษาไม่มีอำนาจในการจัดการศึกษา ถ้าออกมาว่าเป็น AIT-IO ถามว่าจะหาบ้านใหม่ให้เด็กเหล่านั้นอยู่ไหม ตอบว่ายาก เพราะมันไม่รับรองตั้งแต่ต้น หลงผิดเข้ามาเอง แต่คนที่เข้ามาสักพัก ถูกวิธีเดิม ต้องช่วย ปี 2 ไปแล้ว หาทางให้เค้าไปต่อได้ เพราะไม่ใช่ความผิดของนักศึกษาเหล่านี้

-----------------

สาระสำคัญเพิ่มเติม

1. AIT เดิม ตั้งขึ้นด้วยกฎบัตรเก่าปี 2510 และมี พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของเอไอที 2510 และวุฒิบัตรออกโดย Board of Trustees

2. AIT-IO (AIT - Intergovernmental Organization) ถูกระบุว่าเป็นการตั้งขึ้นตามกฎบัตรใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2555 และตั้งขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ ภายใต้การบริหารสถาบันและการให้วุฒิบัตรโดย AIT Governing Council

กำลังโหลดความคิดเห็น