xs
xsm
sm
md
lg

"สภาคณาจารย์-พนักงาน" ยื่นหนังสือย้ำ "บัวแก้ว" รีบแก้วิกฤต AIT

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาคณาจารย์และพนักงาน สถาบัน AIT กว่า 30 คนเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยนายชัยเลิศ หลิมสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นผู้รับแทน
สภาคณาจารย์-พนักงาน AIT กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือแสดงจุดยืนให้กระทรวงการต่างประเทศ เร่งดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนไทย กรณีความขัดแย้งเรื่องกฎบัตร ส่งผลให้ปริญญาบัตรของนักศึกษา AIT ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมายไทย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 ต.ค. 2555 ตัวแทนสภาคณาจารย์และพนักงานสถาบัน AIT (Asian Institute of Technology) หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียกว่า 30 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือแก่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหากรณี AIT เปลี่ยนแปลงสถานภาพเป็นสถาบัน AIT ระหว่างชาติ (AIT-IO) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

ขณะที่สถานภาพใหม่นั้นประเทศไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบรรณในกฏบัตรใหม่ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งทางกฏหมายระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและผู้บริหารสถาบันฯ กลายเป็นปัญหายืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 8 เดือน ส่งผลกระทบต่อการไม่รับรองปริญญาบัตรของนักศึกษา และสถานะการเงินของสถาบัน

จนกระทั่งตัวแทนนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจำนวนกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของ AIT เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา

คณาจารย์-พนักงาน ล่า 100 รายชื่อแสดงจุดยืน AIT
 

โดย นายนพดล เพียรเวช อาจารย์สถาบัน AIT เปิดเผยว่า หลังจากได้หารือกัน สภาคณาจารย์และพนักงานสถาบัน AIT มีมติสอดคล้องกันว่า การดำเนินการของสถาบัน AIT ระหว่างชาติ (AIT-IO) ต้องอยู่ภายใต้และสอดคล้องกับกฎหมายไทย ซึ่งเป็นครรลองปฏิบัติสากล ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับข้อแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศที่ให้การดำเนินงานของสถาบันฯ ในประเทศไทยขณะนี้ ก่อนที่ประเทศไทยจะให้สัตยาบรรณและออกกฎหมายใหม่มาคุ้มครอง ให้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสถาบันเอไอที ปี พ.ศ. 2510 โดยมีสภามหาวิทยาลัย (Board of Trustees) เป็นองค์กรบริหารสูงสุด และเรียกร้องให้คณะมนตรี (Council) และผู้บริหารสถาบัน AIT-IO ยึดแนวทางนี้ เร่งแก้ไขปัญหาการไม่รับรองปริญญาบัตรนักศึกษา และการชะลอการให้เงินทุนสนับสนุนจากประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความอยู่รอดของสถาบันฯ

โดยคณาจารย์และพนักงานของสถาบันฯ มีมติร้องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบโดยตรงต่อการกำหนดสถานภาพของสถาบันฯ ช่วยเร่งดำเนินการ และใช้มาตรการตามความจำเป็น ให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน

“ทางอาจารย์และพนักงานกังวลใจเป็นอย่างมากต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องปริญญาบัตรของนักศึกษาและเรื่องสถานะการเงินของสถาบันที่ค่อนข้างย่ำแย่ โดยเฉพาะการถูกตัดงบประมาณช่วยเหลือจากเหตุการณ์น้ำท่วม และสถาบันเองก็ไม่มีแผนการหาเงินที่เด่นชัดในช่วงที่ผ่านมา วันนี้จึงนำมติในที่ประชุมของสภาคณาจารย์และพนักงานกว่า 100 รายชื่อที่ร่วมลงนามให้กระทรวงการต่างประเทศรับไปพิจารณา”

โดยนายชัยเลิศ หลิมสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้รับหนังสือแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ซึ่งติดภารกิจต่างประเทศ และรับปากว่าจะรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยไม่นิ่งนอนใจ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่กระทรวงให้ความสนใจและกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

รุมสวด “เตช บุนนาค” พูดไร้ความรับผิดชอบ
 

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักศึกษากลุ่มหนึ่งในสถาบัน AIT คือการที่นักศึกษาไม่สามารถนำปริญญาบัตรไปใช้ในการทำงานราชการได้ เพราะประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณรับรองกฎบัตรใหม่ของ AIT-IO ซึ่งเป็นองค์การศึกษาระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการเรียกร้องให้อธิการบดีของสถาบันฯ ศ.ซาอิด อิรานดุส ทำตามคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศที่แนะนำให้สถาบันฯ กลับไปใช้ Board of Trustees ใน พ.ร.บ. 2510 จัดการบริหารไปพลางก่อน

แต่ผู้บริหารสถาบันฯ กลับเห็นแย้ง และยืนกรานที่จะบริหารภายใต้กฎบัตรใหม่ต่อไป โดยอ้างว่า เมื่อประเทศไทยได้ร่วมลงนามในร่างสัตยาบัน และ AIT-IO เกิดขึ้นแล้ว ก็มีสิทธิทางกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้สามารถดำเนินงานในประเทศไทย โดยใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสถาบัน พ.ศ. 2510 คุ้มครองได้ ซึ่งมีการระบุไว้ในร่างกฎบัตร

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ค้างคามานานกว่า 8 เดือน นับตั้งแต่กฎบัตรใหม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 30 มกราคม 2555 ส่งผลให้เกิดปัญหาการประกาศไม่รับรองปริญญาของ AIT ที่ออกโดย Council ภายใต้กฎบัตรใหม่ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และปัญหาสถานะทางการเงินของสถาบันฯ ซึ่งมีผลมาจากการหยุดให้เงินช่วยเหลือและทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทย

ขณะที่ท่าทีของ ศ.ซาอิด อิรานดุส อธิการบดี AIT และ ดร.เตช บุนนาค อดีตประธานคณะกรรมการจัดการ (Board of Trustees) ที่ประกาศสลาย Board of Trustees เมื่อ AIT-IO เกิดขึ้น กลับยืนยันที่จะไม่ทำตามคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศ

โดย ดร.เตชแสดงความเห็นว่า แม้ว่าหลังวันที่ 30 มกราคม 2012 ก.พ.จะไม่รับรองวุฒิบัตร ป.โท-เอก แต่นักศึกษา AIT ส่วนใหญ่ไม่ได้รับราชการ และเอกชนทุกแห่งก็ยังรับรองหลักสูตรของ AIT เหมือนเดิม

“สกอ.ก็เช่นกันต้องไปตามรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็ไม่รับรองปริญญา AIT แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เป็นคนไทยไม่รับราชการ ที่อื่นๆ เขาก็รับรอง ส่วนนักศึกษาที่เป็นต่างชาติ อย่างที่มาจากเวียดนาม ซึ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติมากที่สุด เขาไม่แคร์ว่ารัฐบาลไทยจะรับรองหรือไม่ เพราะว่ารัฐบาลเวียดนามรับรอง เขาก็ลงนาม” (คำสัมภาษณ์ของ ดร.เตช บุนนาค ในสกู๊ป “เปิดใจ เตช บุนนาค กรณีปัญหา AIT”)

ประเด็นดังกล่าวนี้ นายนพดล อาจารย์สถาบัน AIT ตอบโต้ว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการให้สัมภาษณ์ของ ดร.เตช ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงต่อนักศึกษาของอธิการบดีสถาบัน AIT ในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ผลกระทบเกิดกับนักเรียนเพียงกลุ่มเล็กกลุ่มเดียว นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่มีปัญหา หากเรียนจบไปทำงานเอกชนในประเทศไทยก็ไม่เป็นไร ซึ่งเป็นคำตอบที่คณาจารย์รับไม่ได้ เพราะในฐานะที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา หากเห็นนักเรียนได้รับผลกระทบเสียหายแม้เพียงคนเดียวก็ต้องรีบแก้ไขแล้ว

ขณะที่ ม.ล.ฐนิสา ชุมพล อาจารย์ Language Center ของ AIT แสดงความเห็นว่า การที่ ดร.เตช พูดว่า ก.พ.ไม่รับรองวุฒิบัตร AIT ก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ของ AIT ไม่ได้รับราชการนั้น ถือเป็นคำพูดที่ไม่มีความรับผิดชอบมาก ซึ่งทั้งสตาฟฟ์ อาจารย์ และนักศึกษา AIT ไม่มีใครรับคำพูดนี้ของท่านได้

“และการบอกว่าประเทศเวียดนามไม่เห็นมีปัญหา เราก็อยากตั้งคำถามว่า ท่านเป็นคนไทยหรือคนเวียดนาม จึงพยายามช่วยคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศอื่น แต่กลับไม่ช่วยดูแลนักเรียนไทย”

ล่าช้า! เจอม็อบรวม "คณาจารย์-นักศึกษา"
 

ขณะเดียวกัน นายนพดล ผู้นำคณาจารย์สถาบัน AIT ย้ำว่า ขณะนี้มีประเด็นใหม่เกิดขึ้นมา โดยมีคนเริ่มสงสัยในความชอบธรรมของการดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบัน AIT ของนายอิรานดุส ตั้งแต่เปลี่ยนเป็น AIT-IO ตามกฎบัตรใหม่ เนื่องจากกฎบัตรใหม่จะเขียนไว้ชัดเจนว่า การประชุมคณะมนตรี (Council) ครั้งแรกจะต้องแต่งตั้งอธิการบดีใหม่ แต่ผ่านการประชุมมาถึง 4 ครั้งแล้วกลับไม่มีกระบวนการแต่งตั้ง

“พอมีคนถามท่านก็บอกว่า บอร์ดเก่าแนะนำให้ท่านทำงานต่อ และคณะมนตรีใหม่รับรองตามนั้น แต่ตามหลักแล้วการเลือกอธิการบดีของเราไม่ใช่จะเลือกหรือแต่งตั้งใครง่ายๆ มันต้องมีกระบวนการสรรหา กำหนดคุณสมบัติ แต่ท่านมาบอกว่าบอร์ดเก่าเลือกแล้ว จึงมารายงานตัวเป็นอธิการบดีกับของใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง”

นอกจากนั้น ที่ผ่านมาคณาจารย์ AIT ไม่ค่อยกล้าพูดอะไรเท่าไร เพราะเคยมีกรณีที่แสดงความเห็นแย้งแล้วถูกค้นประวัติ หรือถูกบีบโดยวิธีการต่างๆ นานา อาทิ ไม่ต่อสัญญาการทำงาน แต่เมื่อมาถึงจุดที่เกิดปัญหากับนักศึกษาและสถาบัน ก็ถึงเวลาที่คณาจารย์และพนักงานต้องออกมาแสดงจุดยืน

ขณะที่มติของที่ประชุมสภาคณาจารย์เห็นชอบให้คณะมนตรี (Council) ต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาทุกๆ ด้านอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าไม่เช่นนั้นผู้บริหารก็ต้องทำตามคำแนะนำของรัฐบาลไทย คือมอบอำนาจให้บอร์ดเก่ามาบริหาร AIT ภายใต้ พ.ร.บ.เดิมก่อน จนกว่ากฎบัตรใหม่จะผ่านการรับรอง และออก พ.ร.บ. จึงค่อยบริหารโดยกลุ่มใหม่

ถ้าหากผู้บริหารไม่ยอมปฎิบัติตาม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือปัญหาที่อธิการบดีเองก็ไม่อยากให้เกิด ทั้งเรื่องการตัดเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย ปัญหาเรื่องการอนุญาตสิทธิพิเศษด้านการเข้าเมืองของอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งเคยเกิดมาแล้วเช่นกัน รวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่ประเทศไทยยังให้ความช่วยเหลืออยู่ในตอนนี้ เช่น ที่ดินของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันซึ่งเป็นที่ของรัฐ จึงต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาช่วยให้เกิดความชัดเจน
 

“หลังจากนี้หากคณะมนตรี (Council) ยังไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น หรือดำเนินการล่าช้า คณาจารย์ พนักงาน และนักศึกษา AIT ก็พร้อมที่จะรวมตัวกันประท้วงโดยไม่รอช้า เราได้ขีดเส้นไว้อย่างช้าสัปดาห์หน้า” นายนพดล เพียรเวช อาจารย์สถาบัน AIT ระบุ
 
 







กำลังโหลดความคิดเห็น