แฉเหตุ AIT หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กำลังเข้าสู่ยุค “ถังแตก” ชี้มกราคมปี 56 จะไม่มีเงินจ่ายคณาจารย์-พนักงาน? พบเบื้องหลังอาจมีการจัดฉากเพื่อปูทางให้ “ลอรีเอท เอดูเคชั่น” บริษัทธุรกิจข้ามชาติเข้ามาบริหาร ขณะที่ อธิการบดีคนปัจจุบัน ไม่สนกฎหมายไทย ทั้งที่ “กต.-ศธ.-กฤษฎีกา” ท้วงติง ส่งผลต่อปริญญาบัตรของนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาไทยกว่า 140 คนที่จบโท-เอก ปรากฏว่า “ก.พ.” ไม่รับรอง “สมัครงาน-ปรับวุฒิ” ไม่ได้!
ท่ามกลางการหาทางออกด้านระบบการศึกษาไทย ว่าการศึกษาไทยจะพัฒนาไปทางไหน และจะทำระบบให้ดีขึ้นได้อย่างไร กลับพบว่า การเรียนการสอนในระดับสูงสุด หรือ Higher Education หรือการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ก็มีหลายภาคส่วนที่กำลังมีปัญหาอย่างหนักด้วย
โดยเฉพาะสถาบันที่มีชื่อเสียงมาก และมีชื่อเสียงยาวนานมากว่า 50 ปี อย่างสถาบัน AIT (Asian Institute of Technology) หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
สถาบัน AIT ก่อตั้งโดยความร่วมมือจากกลุ่มประเทศสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ในปี พ.ศ. 2502 มีวัตถุประสงค์เริ่มแรกให้มีการเปิดสอนเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษา คือ ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยเน้นการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ ซึ่งเน้นการเรียนการสอนในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย
เนื่องจากเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นสถาบันที่ไม่เน้นผลกำไรในเชิงธุรกิจ ที่ผ่านมา AIT จึงเน้นด้านการเรียนการสอนในเชิงวิชาการระดับนานาชาติ จนมีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพยิ่ง
ที่ผ่านมาจึงมีนักศึกษาจากทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชาวต่างประเทศมาเรียนในประเทศไทยจำนวนมาก อีกทั้งสำหรับนักศึกษาที่เป็นคนไทยเอง ก็เป็นนักศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นจำนวนมาก ศิษย์เก่าที่สำคัญเช่น ดร.อาณัติ อาภาภิรม, ดร.สุบิน ปิ่นขยัน, ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์, ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน, ดร.ศรีสุข จันทรางศุ, ดร.ประเทศ สูตะบุตร, ธานินทร์ บำรุงทรัพย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์, ชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการทีมกรุ๊ป ประสงค์ ธาราไชย อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ฯลฯ โดยที่ผ่านมา AIT ได้ผลิตบัณฑิตมาแล้วกว่า 12,000 คน
จับตา AIT กำลังจะตาย!
ขณะเดียวกัน ใครจะทราบว่า ผู้ที่ได้รับปริญญาบัตร จาก AIT จะไม่สามารถใช้ในการอ้างอิงวุฒิการศึกษาได้ เพราะไม่ได้รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
จบปริญญาโท จบปริญญาเอก จาก AIT มีปริญญาบัตร แต่ไปสมัครงาน ก.พ.ก็ไม่ได้ ไปสมัครงานเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการของไทย
AIT กำลังจะตาย ด้วยงบการเงินที่ดิ่งเหว และผู้ที่จบการศึกษาที่นี่ไม่สามารถใช้วุฒิในการทำงานในประเทศไทยได้!
ปมปัญหา AIT ที่ต้องได้รับการแก้ไขด่วน
แหล่งข่าวนักวิชาการใน AIT ระบุว่า AIT นั้นมี พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของ AIT และมีกฎบัตรที่ระบุชัดว่า AIT จะต้องเป็นหน่วยงานที่บริหารการศึกษาแบบไม่หวังผลกำไร ที่ผ่านมาจึงมีการบริหารงานในรูปของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งหมด 33 คน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่บริจาคที่ตั้งให้สถาบันฯ และเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุดเพื่อใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัย รวมทั้งอุดหนุนด้านการศึกษา บอร์ดของสภามหาวิทยาลัยจึงมีคนไทยรวมทั้งหมด 7 คน โดย เตช บุนนาค เป็นประธานสภามหาวิทยาลัยคนล่าสุด
อีกทั้งในการบริหารงานก็จะมีการสรรหา President หรือผู้มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยโดยบอร์ดของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันอธิการบดีของ AIT คือ นายซาอิด อีรานดุส (Sahid Irandoust)
อย่างไรก็ดี กลุ่มคณาจารย์และนิสิตสถาบันกลุ่มหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการบริหารงานของ นายซาอิด อีรานดุส (Sahid Irandoust) อย่างหนัก ด้วยข้อสงสัยว่า นายซาอิด อีรานดุส กำลังบริหารงาน AIT โดยมีเป้าหมายเปลี่ยน AIT เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่จะเปิดโอกาสให้ ลอรีเอท เอดูเคชั่น (Laureate Education) และลอรีเอท อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ (Laureate International University) แห่งสหรัฐอเมริกาเข้ามาบริหารงาน แลกกับเงินสนับสนุน 1,000 ล้านบาท และทั้งหมดเป็นการดำเนินการในทางลับ!
“มีข้อสังเกตหลายประการที่แสดงให้เห็นความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน และมีความพยายามอย่างมากที่จะใช้กฎบัตรการดำเนินงาน AIT ฉบับใหม่ เพื่อปูทางให้กลุ่มลอรีเอท ซึ่งเป็นกลุ่มบริหารการศึกษาในเชิงธุรกิจเข้ามาร่วมทุนกับ AIT ซึ่งผิดกับวัตถุประสงค์การจัดตั้ง AIT อย่างมาก”
ปัจจุบัน AIT ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่กำลังมีลมหายใจร่อแร่ และปีหน้า ตั้งแต่มกราคม 2556 กล่าวได้เลยว่า AIT จะประสบปัญหาเรื่องงบการเงินในการบริหารงานอย่างหนัก!
สกอ.-บัวแก้วยืนยัน AIT ผิดกม.
อีกทั้งสกอ.ทั้งกระทรวงต่างประเทศของไทยก็ได้ทำกฎหมายสอบถามไปยังกฤษฎีกา ซึ่งยังยืนยันว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่ลงสัตยาบรรณกับกฎบัตรใหม่ของ AIT ผู้บริหาร AIT จะต้องดำเนินการตามกฎบัตรเดิมก่อน ไม่ใช่นั้นประเทศไทยคงจะให้การรับรองประกาศนียบัตรที่ออกโดย AIT ภายใต้กฎบัตรใหม่ที่มีการเปลี่ยนชื่อผู้ลงนามในประกาศนียบัตรตามกฎบัตรใหม่ไปแล้วไม่ได้
ซึ่งหากสถาบันฯ ยังจัดการศึกษารวมทั้งอนุมัติปริญญาภายใต้กฎบัตรฉบับใหม่ก็จะมีผลกระทบต่อนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษา และยังถือเป็นผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 ทันที
อย่างไรก็ดี อธิการบดียังยืนยันว่าจะใช้กฎบัตรฉบับใหม่ โดยกฎบัตรฉบับใหม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารบอร์ด จากการที่ให้เกียรติประเทศที่บริจาคสูงสุดอย่างประเทศไทยเป็นคณะกรรมการบอร์ดได้ 7 คน ต่อไปประเทศไทยก็จะมีตัวแทนได้เพียง 1 คนอีกตาหาก
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นทั้งผู้บริจาคที่ดินที่ตั้งสถาบัน รวมทั้งเป็นผู้บริจาคอุดหนุนการศึกษารายใหญ่ที่สุดของ AIT คือมีทุนการศึกษาให้ทุกปี ปีละ 49 ล้านบาท ไม่รวมกับงบอื่นๆ ที่ทางประเทศไทยจะอนุมัติให้เป็นเรื่องเฉพาะ แต่การไม่ยอมทำตามพ.ร.บ.คุ้มครอง พ.ศ. 2510 ซ้ำยังตั้งกฎบัตรใหม่ขึ้นมาใช้ โดยที่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณอีก ถือว่าตอนนี้การบริหารงาน AIT ตามกฎบัตรใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ถือว่าผิดกฎหมาย
สรุปคือประเทศไทยจะให้งบประมาณสนับสนุนได้ ถ้า AIT ยืนยันว่าจะกลับมาดำเนินงานภายใต้กฎบัตรและพระราชบัญญัติคุ้มครอง ปี พ.ศ. 2510 ตามระเบียบและข้อกฎหมายของประเทศไทย
“ประเทศไทยยืนยันว่าพร้อมจะสนับสนุน แต่ทางผู้บริหารต้องบริหารงานให้โปร่งใสตามกฎหมายไทยที่รองรับการบริหารงาน AIT ที่ใช้มากว่า 50 ปีเสียก่อน แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้บริหารไม่ได้สนใจที่จะทำตามกฎหมายไทย เพราะยังยืนยันที่จะใช้กฎบัตรใหม่ เพื่อปูทางให้บริษัทข้ามชาติด้านการศึกษาเข้ามาร่วมบริหารงาน AIT”
โดยเรื่องนี้ได้รับการให้ความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในหนังสือลงวันที่ นร.0901/2555 โดยกฤษฎีกาลงความเห็นว่า พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ยังไม่ถูกยกเลิก
ดังนั้น ในการบริหารและการเรียกประชุมต่างๆ ยังต้องอยู่ในข้อบังคับของกฎบัตรเดิม ไม่ใช่ฉบับใหม่
ปูทางกลุ่มธุรกิจการศึกษาข้ามชาติร่วมบริหาร
แหล่งข่าวนักวิชาการใน AIT ย้ำว่า ในช่วงวิกฤตน้ำท่วมปี 2553 นั้น คณาจารย์ในสถาบันฯ เริ่มมีความเป็นห่วงว่าการเรียนการสอนจะสะดุด เพราะ AIT ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดที่มีน้ำท่วมใหญ่ ก็เริ่มมองหาสถานที่ไปใช้ในการเรียนการสอนชั่วคราว และขณะนั้นก็มีมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานครหลายแห่งที่พร้อมจะให้ AIT ไปใช้สถานที่ในการเรียนการสอนชั่วคราว
แต่ทางอธิการบดีได้พยายามทำหนังสือแจ้งในมหาวิทยาลัยช่วงแรกว่า โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมในสถาบันฯ นั้นมีน้อยมาก ไม่ต้องเป็นห่วง และไม่ได้สนใจที่จะติดต่อขอใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยของรัฐในกรุงเทพมหานครเหล่านั้นเลย แต่ต้องการให้ทางสถาบันฯ ย้ายไปใช้พื้นที่ในหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมหาวิทยาลัยที่จะไปใช้พื้นที่นั้นก็เป็นมหาวิทยาลัยในเครือข่ายของกลุ่มบริษัท Laureate Education
ที่สำคัญที่ผ่านมายังมีความพยายามให้คนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มบริษัท Laureate Education มาเป็นผู้บริหารของสถาบันฯ ในตำแหน่งรองอธิการบดี ด้านวิชาการ ซึ่งมีการตรวจสอบแล้วว่าจริง เพราะเคยเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเครือของ Laureate Education ที่สำคัญยังมีการพยายามให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของกลุ่มบริษัท Laureate Education มาสอนใน AIT ด้วย
“คณาจารย์ใน AIT กำลังเป็นห่วงว่า สถาบันการศึกษาที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในด้านวิชาการในภูมิภาคนี้อย่างมากนั้น กำลังจะเปลี่ยนไป หากให้บริษัทที่เน้นทำธุรกิจการศึกษามาบริหาร เพราะต่อไป สถาบัน AIT ที่ทรงคุณค่าด้านวิชาการ ก็จะเปลี่ยนไปเป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นแต่การแสวงหากำไร ไม่เน้นคุณภาพ ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก”
นอกจากนี้ การบริหารงานในสถาบัน AIT ที่ผ่านมา ในการประชุมสำคัญๆ ก็มักจะมีการเชิญตัวแทนศิษย์เก่า และประธานนักศึกษาในปัจจุบันเข้าร่วมการประชุม แต่ระยะหลังผู้บริหาร AIT ก็จัดการประชุมโดยพยายามกันตัวแทนสมาคมศิษย์เก่า และประธานนักศึกษาไม่ให้เข้าร่วมการประชุมบริหารงาน AIT
ที่สำคัญในช่วง 1-2 ปีมานี้ ใครที่คัดค้านการบริหารงานของ AIT ทางคณะผู้บริหารฯ ก็จะใช้วิธีให้ออกจากงาน ทั้งระดับเจ้าหน้าที่ และคณาจารย์ ซึ่งสิ้นปี 2555 นี้จะมีอาจารย์ที่ถูกไล่ออกโดยไม่ต่อสัญญากับ AIT ที่เป็นแบบปีต่อปีอีกถึง 7 คน
โดยข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดว่า AIT กำลังเปลี่ยนทิศทางการบริหาร โดยมุ่งเน้นแสวงหากำไรคือการเปิดรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีมาได้ 3 ปีแล้ว ซึ่งถือเป็นการทำผิดกฎหมายการคุ้มครองการบริหารงานของ AIT ที่เน้นการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้นไป คือระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เท่านั้นด้วย
แต่สิ่งที่นักศึกษาส่วนมาก โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาไทยยังไม่รู้คือ ปริญญาบัตรที่ได้รับเหล่านั้นจะใช้ในประเทศไทยไม่ได้ เพราะ AIT กำลังอยู่ในสถานะที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย ทั้งนักศึกษาปริญญาตรีที่จะเริ่มมีการจบการศึกษาในอีก 1 ปีข้างหน้า และระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่จบการศึกษาไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 แล้ว เฉพาะนักศึกษาไทย 140 คน รวมถึงผู้ที่กำลังจะจบและรับปริญญาบัตรในเดือนธันวาคมนี้อีกเป็นจำนวนไม่น้อย
ปัญหามันเกิด เพราะคนที่จบเดือนมิถุนายน 2555 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ เอาวุฒิไปใช้สมัครงานใน ก.พ. และในมหาวิทยาลัยของรัฐ ปรากฏว่าประกาศนียบัตรที่ได้มา นำไปใช้ไม่ได้
ดังนั้น นักศึกษาที่จบการศึกษาไป และนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาจึงเริ่มรวมตัวกันเพื่อทำหนังสือร้องเรียนหลายภาคส่วนแล้ว เพราะเรื่องนี้เรื่องใหญ่!
“ขณะนี้เรากำลังประสานกันระหว่างคณาจารย์และนักศึกษาทั้งศิษย์เก่าและผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาที่เพิ่งรับปริญญาบัตรไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จะมีการประชุมและเคลื่อนไหวไปยังหน่วยงานของรัฐทั้งที่กระทรวงการต่างประเทศ สกอ. ก.พ. แม้กระทั่ง ท่านเตช บุนนาค ประธานสภามหาวิทยาลัยคนล่าสุด และอาจไปยื่นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีด้วย”
ม.ค.ปี 56-AIT ไม่มีเงินจ่ายอาจารย์-พนักงาน
“ปัญหามันเห็นได้ชัดขึ้นทุกวันๆ ว่าผู้บริหาร AIT กำลังทำทุกอย่างเพื่อให้ Laureate Education เข้ามาบริหารให้ได้ ซึ่งแผนหนึ่งที่ทางคณาจารย์เป็นห่วงมากคือการบริหารงบการเงินของ AIT ที่เมื่อดูกราฟแล้ว เป็นกราฟที่มีตัวเลขดิ่งลงเหว”
แหล่งข่าวนักวิชาการใน AIT บอกว่า ขณะนี้บรรดาคณาจารย์มีความกังวลและเป็นห่วงฐานะทางการเงินของ AIT ซึ่งกำลังมีตัวเลขที่ดิ่งลงอย่างน่าตกใจ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ผู้บริหาร AIT ไม่ยอมบริหารให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายไทย ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยซึ่งเป็นผู้บริจาคให้ AIT รายใหญ่ที่สุด
“ตอนนี้ AIT มีเงินเหลือในการบริหารงานเพียง 32 ล้านบาท เราห่วงว่าตั้งแต่มกราคม ปี 2556 จะเริ่มไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างให้คณาจารย์และสตาฟฟ์ในสถาบันด้วย ด้วยฐานะทางการเงินของ AIT อาจจะถูกใช้เป็นเหตุผลให้บริษัทข้ามชาติด้านการศึกษาเข้ามายึด AIT ได้ง่าย”
ประเด็นดังกล่าวจึงกลายเป็นข้อสงสัยที่เริ่มปะทุกับคนทุกภาคส่วนใน AIT แล้ว และเชื่อว่านี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า AIT สถาบันด้านการศึกษาที่มีคุณภาพแห่งนี้ กำลังจะตาย!
ตัวอย่างเช่น กรณีที่ทางสถาบันฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีถูกน้ำท่วมหนักในปี 2554 ความจริงแล้วรัฐบาลจะอนุมัติเงินช่วยเหลือให้ 2 ครั้ง ครั้งละ 300 ล้านบาท แต่เนื่องจากการบริหารงาน AIT มีปัญหา และประเทศไทยไม่เซ็นรับรองกฎบัตรใหม่ ทำให้กฎหมายไทยไม่รองรับการบริหารงานของ AIT ในปัจจุบันนี้ ส่งผลให้ไม่มีการอนุมัติงบ 600 ล้านบาทเพื่อไปซ่อมแซมอาคารเรียนและห้องแล็บของสถาบันฯ ซึ่งทำให้จนถึงขณะนี้ทางสถาบันฯ ยังไม่มีเงินซ่อมแซมอาคารเรียน และห้องแล็บที่ถูกน้ำท่วมตรงบริเวณชั้น 1 ของสถาบันทั้งหมด
ดังนั้น ที่ผ่านมา อธิการบดีจึงทำหนังสือทวงถามถึงรัฐบาลไทย หน่วยงาน สกอ. หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ : ศธ) เบิกจ่ายงบประมาณเยียวยาเรื่องน้ำท่วม และพิจารณาทบทวนการเบิกจ่ายงบประมาณที่เกี่ยวกับทุนการศึกษาพระราชทานฯ
โดยในเรื่องนี้ สกอ.ได้ตอบกลับอธิการบดีอย่างชัดเจนยิ่งว่า ทาง ครม.ไม่สามารถมีมติช่วยเหลือ AIT ได้ เพราะว่า AIT ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องสถานภาพขององค์กรตามกฎหมาย ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็มีหนังสือกระทรวงการต่างประเทศที่ 1004/741 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ลงความเห็นว่า กฎบัตรฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 มกราคม 2555 นั้น ยังถือเป็นกฎบัตรที่ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทย เพราะไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบรรณ และออกพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงาน
วอน “เตช บุนนาค” กู้ชีพ AIT
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาการบริหารงานของ AIT ใช่ว่าไม่มีทางออก เพราะกระทรวงการต่างประเทศชี้แนะว่า คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือ Board of Trustees ชุดที่มี ดร.เตช บุนนาค เป็นประธานนั้น ต้องเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อหาทางออก หาทางรอดให้สถาบัน AIT โดยเร็วที่สุด เพราะขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า คณะกรรมการชุด ดร.เตช เป็นประธานนั้นยังมีอำนาจในการบริหาร เพราะประเทศไทยยังไม่รับรองกฎบัตรใหม่
แต่เนื่องจากที่ผ่านมา คณะกรรมการบอร์ดที่ส่วนใหญ่เป็นคณะทูตโดยตัวบุคคล ไม่ได้เป็นที่ตำแหน่ง ทำให้หลายท่านกลับประเทศไปแล้ว และยากที่จะเรียกกลับมาประชุม
ทางรอด AIT จึงเหมือนริบหรี่ลงทุกที และ “ท่านเตช บุนนาค” เท่านั้นที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ว่าจะทำให้ AIT อยู่รอดในสถานะสถาบันการศึกษาที่ทรงคุณค่าต่อไปได้อย่างไร
“เราอยากวอนขออดีตท่านทูต เตช บุนนาค เข้ามาแก้ปัญหานี้ และทำให้ AIT อยู่รอดในสถานะสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป ที่สำคัญคืออยากให้มาช่วยนักศึกษาที่กำลังจบการศึกษาในช่วงนี้ ถ้าไม่มีใครรับรองก็ไม่รู้จะมาเรียนทำไม อีกทั้งยังจะทำให้คนที่มาเรียน AIT ต่อไปต้องตัดสินใจหนัก และคาดว่าจะกระทบต่อจำนวนนักศึกษาใหม่ที่จะมาเรียนใน AIT อย่างมากด้วย” แหล่งข่าวนักวิชาการใน AIT กล่าว
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมผ่าทางตัน เพื่อให้สถาบัน AIT อยู่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย และดำรงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถาบันการศึกษา รวมไปถึงปริญญาบัตรของนักศึกษาโท-เอก ที่จบไปแล้วและกำลังจะจบ ต้องได้รับการรับรองเพื่อใช้ในการทำงานหรือเรียนต่อได้อย่างถูกต้องต่อไป!