xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์ผู้บริโภคเปลี๊ยนไป๋ ชี้ธุรกิจเขย่ากระแสอยู่รอด เมินห้างฯ- เลือก “ชอป-เปิดร้าน” ในออนไลน์!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ในอนาคตเลือกที่จะพึ่งเทคโนโลยี ไม่ออกจากบ้าน ทั้ง “ชอป-เปิดร้าน-อยู่ในสังคมออนไลน์” มากขึ้น อีกทั้งต้องการสินค้าที่สะดวก-รวดเร็ว-คุ้มค่า ขณะที่ “ห้างสรรพสินค้า-ซูเปอร์มาร์เกต” ลดบทบาทลง เข้าสู่การแข่งขันเดือดระดับโกลบอล แนะกลยุทธ์ด้านตลาดต้องสร้างกระแสถึงจะดัง! หวั่นเด็กยุคใหม่ขาดทักษะในการแปลภาษากาย พร้อมเจาะลึกพฤติกรรมคน “3 ยุค” Baby Boom แสวงหาความสุข ไม่ติดแบรนด์ Generation x หาข้อมูลก่อนซื้อ ด้านเจนวายลงมามีความอดทนต่ำ-ติดออนไลน์-แคร์สังคมที่ไม่รู้จัก-ต้องการสินค้าบ่งบอกตัวตน

แบรนด์สินค้า และผู้ประกอบการกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เร่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ส่งสัญญาณชัดเจน เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิตอลรายบุคคลอย่างเต็มรูปแบบ

เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายค่าย หลายแบรนด์มีการปรับยกองค์กรใหม่ โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์ เนื่องจากอัตราการขยายตัวที่มากขึ้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ต่อคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 62.9 ล้านคน พบว่ามีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 21.2 ล้านคน คิดเป็น 33.7% ของทั้งหมด ส่วนผู้ที่ท่องโลกไซเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตในปี 2555 ประมาณ 16.6 ล้านคน คิดเป็น 26.5%

ทั้งนี้ หากภาคธุรกิจไม่สามารถปรับองค์กรได้ทันก็ต้องปิดตัวลงในที่สุด ขณะเดียวกันยังส่งผลให้การเกิดขึ้นของแบรนด์ที่สบช่องจากการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคได้ตรงจุดกลายเป็นสินค้าที่ติดตลาดในเวลาอันรวดเร็ว

ดังนั้นการวิเคราะห์เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค จึงเป็นหัวใจสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง

คุณสรินพร จิวานันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในกลุ่ม Generation Y และ Generation Z หรือกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นไป กลายเป็นผู้กำหนดกระแสของสังคม เนื่องจากคนกลุ่มนี้ถือว่ามีขนาดใหญ่ ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวมที่โดยธรรมชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามๆ กัน ซึ่งคนยุค Baby Boom จะได้รับผลการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า

โดยเฉพาะการเข้ามาของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ส่งผลให้คนตั้งแต่กลุ่ม Generation X หรือคนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2508 เป็นต้นไป มีพฤติกรรมเสพติดความเร็ว ต้องการความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นพบว่าสินค้าที่ผลิตออกมาจะปรับตัวให้ตอบสนองในส่วนนี้ถึงจะอยู่รอด
 
ภาพ: Big C
 
เทรนด์คนชอป-เปิดร้านออนไลน์
ชี้ “ห้าง-ซูเปอร์” ลดบทบาทลง
 

อย่างไรก็ตาม การเสพติดความเร็วจากการที่ผู้บริโภคหันมาใช้ชีวิตออนไลน์ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูล ข่าวสารได้ 24 ชม. โดยไม่ต้องรอ ไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ส่งผลให้คนมีความอดทนที่ต่ำลง และจากความสะดวกสบาย รวดเร็วดังกล่าว ทำให้คนมีนิสัยขี้เกียจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะพบว่าอัตราการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์สูงขึ้น เนื่องจากสะดวก ประกอบกับราคาที่ถูกกว่าหน้าร้าน สามารถเลือกซื้อได้ทั่วโลก ไม่จำกัดเวลานั่นเอง

ดังนั้น ผู้ประกอบการในอนาคตที่จะอยู่รอดได้ต้องปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขันในระดับสากล โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ยิ่งจะเป็นการค้าที่เปิดกว้างมากขึ้น และจากการที่คนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเทรนด์ในอนาคตก็จะมาในทิศทางนี้ ย่อมส่งผลต่อการเช่าพื้นที่ในการเปิดร้านอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นตามศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ฯลฯ ก็จะมีผู้เช่าที่น้อยลง เนื่องจากการเปิดออนไลน์ใช้ต้นทุนที่ถูก จึงขายได้ถูกกว่า และตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตอีกด้วย

อีกทั้งยังพบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ขายสินค้าให้ประชาชนเลือกเดินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก ไลฟ์สไตล์มอลล์ ฯลฯ ต่างจากอดีตที่มีให้เลือกน้อย ดังนั้นหากเจ้าของพื้นที่เช่าไม่ปรับกลยุทธ์ หรือหันมาดูแลร้านค้า หรือเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค และเทรนด์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีสิทธิที่จะต้องปิดลงในที่สุด ซึ่งจากอดีตที่ผู้เช่าต้องเป็นฝ่ายเข้าหาเพื่อขอเช่าพื้นที่ในทำเลที่ดี

“คนไทยในปัจจุบันเข้ามาอาศัยอยู่ในตัวเมืองมากขึ้น อยู่คอนโดมากขึ้น มีอัตราการอยู่อาศัยเป็นรายบุคคล หรือมีครอบครัวที่เล็กลง สินค้าจึงมีขนาดเล็กลง กะทัดรัด มีความกระฉับกระเฉง สะดวกสบายมากขึ้น เช่น โทรทัศน์บางลง รถยนต์เล็กลง ตู้เย็นขนาดย่อม ฯลฯ โดยพบว่าสินค้าขนาดครอบครัวจะเล็กลง สินค้าที่เป็นขนาดคนเดียวจะโตขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค กล่าว
 
ภาพ: Clinique
 
เจาะลึกพฤติกรรมคน “3 ยุค”
 

คุณสรินพรบอกอีกว่า ได้จัดแบ่งพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตาม Generation ประกอบด้วย

Baby Boom (อายุ 67-49 ปี) กลุ่มนี้จะแสดงหาความสุข ไม่ยึดติดแบรนด์ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มประชากรที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 หรือประมาณปี พ.ศ. 2489-2507 มีอยู่จำนวนมาก เนื่องจากในยุคนั้นมีการส่งเสริมให้มีบุตร เพื่อเป็นกำลังของประเทศชาติ คนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต เน้นการทำงาน หาเงิน เพื่อเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ดังนั้นในวัยนี้ถือว่ามีเงินเก็บ มีกำลังทรัพย์ในการซื้อมาก จึงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ

ส่วนพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของคนกลุ่มนี้จะคำนึงถึงการตอบสนอง ความต้องการ ความพึงพอใจเป็นหลัก คนกลุ่มนี้จะไม่ยึดติดที่แบรนด์ ไม่ได้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเพื่อต้องการส่งเสริมบุคลิกภาพ หรือภาพลักษณ์ แต่ซื้อเพื่อแสวงหาความสุขให้กับชีวิต ซึ่งจะพบว่ามีผลิตภัณฑ์ด้านการเกษียณเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หรือแบรนด์ที่เจาะกลุ่มนี้มักจะเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์เป็นส่วนใหญ่ เช่น ประกัน สุขภาพ แพกเกจท่องเที่ยว นวด สปา ฯลฯ มากกว่าสินค้าประเภทเสื้อผ้า หน้า ผม เพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนยาก

“คนกลุ่มนี้จะมองเรื่องคุณภาพของสินค้า เมื่อใช้แล้วรู้สึกชอบ ก็จะใช้ต่อไป ไม่เลือกซื้อ เพราะเพียงต้องการบ่งบอกความเป็นตัวตน หรือสร้างภาพในสังคม”

Generation x (อายุ 48-34 ปี) เป็นกลุ่มที่หาข้อมูลก่อนซื้อ เลือกสิ่งที่คุ้มค่า จะเป็นกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2508-2522 เติบโตมาจากพ่อ แม่ในยุค Baby Boom ที่เน้นให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง และเห็นว่าพ่อแม่ทำงานหนัก จึงเป็นกลุ่มที่สร้างสมดุลในชีวิต ไม่ทำงานหนักเท่าคนกลุ่มแรก เพราะรู้แล้วว่าการทำงานมากอาจไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว แต่ก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่ทำงานเยอะอยู่

ส่วนพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อจะเน้นการหาข้อมูลเยอะ เช่น หารีวิวผ่านบล็อก ผ่านอินเทอร์เน็ต ฯลฯ เพื่อให้ได้สิ่งที่คุ้มค่าที่สุด เลือกใช้แบรนด์เนมในระดับสากลที่เป็นที่รู้จักในสังคม
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมผู้บริโภคระหว่าง Generation X กับ Generation Y จะมีพฤติกรรมบางอย่างที่สอดคล้องกัน มีการรวมตัว และมีวัฒนธรรมที่เชื่อมกัน หรือทรานซิชัน (Transition Zone) ดังนั้นพฤติกรรมจึงไม่ได้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ระหว่าง Generation Y กับ Baby Boom จะต่างกันมากกว่า เห็นชัดกว่า

สำหรับ Generation Y เป็นต้นไป อายุตั้งแต่ 33 ปีลงมา คนกลุ่มนี้จะมีความอดทนต่ำ-ติดออนไลน์-แคร์สังคม-ต้องการมีตัวตน จัดเป็นกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ ถูกเลี้ยงมาค่อนข้างสบาย พ่อแม่มีฐานะดี จึงส่งผลให้มีความอดทนค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจะสังเกตพบว่าคนกลุ่มนี้เมื่ออยู่ในวัยทำงานจะทำงานในที่เดิมได้ไม่นานมากนักก็จะออกจากงาน โดยเฉพาะเมื่อไม่พอใจกับการทำงาน อีกทั้งยังมีความเป็นตัวตนสูง และเกิดมากับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงขี้เบื่อ มุ่งแสวงหาความแปลกใหม่ในชีวิต

“คนกลุ่มนี้จะค่อนข้างตามกระแส แคร์สังคม กลัวว่าจะไม่เข้ากลุ่ม กลัวจะแตกแยก เช่น หากเพื่อนในกลุ่มใช้สินค้าแบรนด์ใดก็จะเลือกใช้เหมือนกัน จำเป็นต้องมี ซึ่งเป็นไปตามกลุ่ม โดยเฉพาะเริ่มใช้สื่อออนไลน์”

เมื่อคนรุ่นนี้เข้าสู่สังคมออนไลน์ ซึ่งสังคมที่กว้างออกไปมาก เชื่อมต่อทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างบุคคลต่อบุคคลอีกต่อไป จึงพบว่าเมื่อทำอะไรก็จะนิยมแชร์ให้เพื่อนในสังคมออนไลน์รับรู้ ดังนั้นการใช้สินค้าไม่ใช่แค่เพื่อนที่เจอกันถึงจะเห็น แต่คนในสังคมออนไลน์เห็นทั่วโลก การเลือกใช้สินค้าจึงต้องการบ่งบอกถึงตัวตนให้สังคมรับรู้ ต้องทำให้ตนเองดูดี มีความพิเศษ

สำหรับแบรนด์ที่กลุ่มนี้เลือกใช้จะไม่ใช่แบรนด์เนมในระดับสากล เหมือนในกลุ่ม Generation X ที่จะเลือกใช้ LOUIS VUITTON, CHANEL, GUCCI ฯลฯ แต่จะเลือกแบรนด์ที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนมากกว่า จึงพบว่าปัจจุบันมีแบรนด์แปลกๆ เกิดขึ้นมาจำนวนมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะไม่เลือกใช้สินค้าคนเดียว จะติดอยู่กับสังคมที่อยู่ เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั่นเอง

“หากมีกระแส หรือประเด็นอะไรในสังคมที่มีการพูดถึง คนกลุ่มนี้จะต้องหามาเสพ เพราะกลัวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าพวก ดังนั้นการจะประสบความสำเร็จ สร้างแบรนด์ที่ดังให้เป็นที่รู้จัก เข้าถึงคนกลุ่มนี้ จะต้องสร้างกระแส เพราะคนกลุ่มนี้จะเชื่อคนในออนไลน์ แม้ไม่รู้จักกันก็ตาม”
 
 
ภาพ: Central
 
อนาคตคนอยู่แต่ในบ้าน ขาดทักษะความเป็นสังคม
 

จากข้อมูลข้างต้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด ได้วิเคราะห์ถึงลักษณะของสังคมที่เปลี่ยนไปในอนาคตว่า คนรุ่นใหม่จะหันมาทำงานที่บ้านมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร จะเดินทางน้อยลง เช่น ส่งงานทางอีเมล ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต ให้คนมาส่งถึงบ้าน ซึ่งทุกอย่างจะออนไลน์ถึงกัน

พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากคน Generation ใหม่ ที่โตมากับเทคโนโลยี การสื่อสารด้วยการพูดคุยจะน้อยลง เปลี่ยนเป็นการสื่อสารผ่านการพิมพ์ ผ่านตัวอักษร ทำให้คุ้นกับการเป็นสังคมมนุษย์น้อยลง ต่างจากอดีตที่การทำงานจะมีการพบปะพูดคุยในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน มาเจอหน้ากัน อยู่เป็นกลุ่มก้อน แต่ปัจจุบันแม้คนจะยังต้องการอยู่รวมกันเป็นสังคม แต่อยู่ในรูปแบบของสังคมแบบใหม่ หรือสังคมออนไลน์แทน โดยไม่ต้องเจอตัว

“คนรุ่นใหม่จะมีความสามารถในการอ่าน แปลภาษากายน้อยลง และสังคมจะเชื่อมต่อกันน้อยลง อีกทั้งยังพบว่าคนรุ่นใหม่นิยมแยกออกมาอยู่เอง มีกิจกรรมกับครอบครัวน้อยลง การมีปฏิสัมพันธ์ของคนจะน้อยลงเรื่อยๆ คุ้นกับการอยู่คนเดียว แต่เหมือนไม่ได้อยู่คนเดียว เพราะอยู่ในสังคมออนไลน์ จะเห็นว่าสามารถนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในห้องเป็นวันโดยไม่เบื่อ”

ดังนั้น การจะทำธุรกิจก็จำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พร้อมเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อปรับให้ทันต่อความต้องการของมนุษย์ ทั้งนี้เชื่อว่าธุรกิจประเภทบริการจะมีอัตราการเติบโตที่ดี ที่สามารถสร้างความสบาย ความแปลกใหม่ และชวนให้คนรุ่นใหม่ประหยัดได้ด้วย
เห็นได้จากปัจจุบันมีห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต หรือแม้แต่เจ้าของแบรนด์สินค้าก็ต้องปรับตัว และหันมาเปิดชอปออนไลน์เสริม เพราะผู้ประกอบการเหล่านั้นมองเห็นเทรนด์ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า Central ที่มีเว็บ Shopping Online โดยเลือกดึงดูด จากการนำเสนอสินค้าราคาพิเศษเฉพาะลูกค้าที่ซื้อผ่านเว็บไซต์เท่านั้น ขณะที่ซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่อย่าง Big C และTesco Lotus ได้เปิดบริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าเหมือนกัน ส่วนแบรนด์สินค้าเองก็หันมาทำการตลาดออนไลน์ หรือเปิด Shopping Online เอง เช่น เครื่องสำอาง Clinique ที่เลือกทำตลาดออนไลน์โดยการจัดเซตสินค้าพิเศษเฉพาะในออนไลน์ พร้อมสร้างความเป็นผู้นำเทรนด์ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ โดยให้สิทธิก่อนชอป

ตัวอย่างการซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อซื้อสินค้าผ่าน Big C Shopping Online ครบ 1,500 บาท จะทำการจัดส่งให้ฟรีถึงหน้าบ้าน โดยลูกค้าสามารถกำหนดวันและเวลาได้เอง พร้อมเสริมความสะดวก ความสบายใจให้แก่ลูกค้าในการจ่ายเงินกับพนักงานที่มาส่งของได้โดยตรงด้วยเงินสด หรือรูดบัตรเครดิตยังเครื่องรูดบัตรที่พนักงานนำติดตัวมาให้บริการด้วย ขณะที่ Central Shopping Online ให้ลูกค้าชอปง่ายเพียง 3 ขั้นตอน 1. เลือกสินค้า 2. ลงทะเบียน 3. เลือกวิธีส่งสินค้า และชำระเงิน

ส่วนร้านค้าออนไลน์เล็กๆ ก็พบว่ามีการเปิดขายมากขึ้น ทั้งผ่านเว็บขายของ www.ebay.co.th, www.trarad.com, www.dealfish.co.th, www.lazada.co.th, www.weloveshopping.com ฯลฯ หรือแยกตัวออกมาตั้งเว็บไซต์ขายเองก็มีให้เห็นเป็นจำนวนมาก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น