xs
xsm
sm
md
lg

ไทยสู่ยุค “คนชราเต็มเมือง” จี้รัฐกันเงินก้อนโตไว้ดูแล หมอแนะผู้สูงวัยตุนเงิน “3 ล้านบาท” ไว้รักษา 2 โรคยอดฮิต!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ประเทศไทยใกล้เข้าสู่ภาวะคนชราเต็มเมือง แพทย์ชี้โรคหัวใจ-มะเร็ง ผลาญงบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอ่วม แนะว่าที่ “คนแก่” ต้องเตรียมเงินค่ารักษาตัวโรคละ 1.5 ล้านบาท พร้อมเตรียมใจรับสภาพปัญหาขาดแคลนผู้ดูแลระดับวิกฤต สังคมตกที่นั่งลำบาก “เตี้ยอุ้มค่อม” ด้าน ม.มหิดล ของบพันล้านสร้างศูนย์ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุครบวงจร วางรากขยายผลทั่วประเทศ กรมอนามัยเผย 3 แผนยุทธศาสตร์พัฒนาผู้สูงอายุ-บริการรัฐ-ชุมชนท้องถิ่น แนะรัฐสร้างระบบสวัสดิการผู้สูงวัย ด้าน กทม.เทงบ 3 พันล้านสร้างโรงพยาบาลผู้สูงอายุ

“สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำก็คือการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวทางที่จะไม่เป็นโรคอย่างจริงจัง ซึ่งทำได้หลายระดับ ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ในรูปแบบของข้อมูลเฉยๆ แต่รวมไปถึงการส่งเสริมทางสังคม เช่น จัดถนนหนทางให้คนขี่จักรยานได้โดยไม่มีรถมาชน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนออกกำลังกายระหว่างเดินทางไปทำงาน เพราะตอนนี้โอกาสที่คนไทยจะได้ออกกำลังกายแทบจะเหลืออยู่อย่างเดียวคือ การเดินทางไปทำงาน”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์หัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 แสดงทัศนะต่อบทบาทเชิงรุกที่รัฐบาลควรทำในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว เพราะในจำนวนประชากรทั้งหมด 64 ล้านคน มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่ประมาณ 6 ล้าน 3 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกันแล้ว ประเทศไทยนับว่ามีประชากรสูงวัยมากที่สุด รองลงมาคือสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 9 และอินโดนีเซียซึ่งมีประมาณร้อยละ 6

โดยอ้างอิงตามนิยามของสหประชาชาติที่ว่า เมื่อประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมดถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เมื่อมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และร้อยละ 14 ตามลำดับ

ดังนั้น อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงถึงร้อยละ 14 และต่อจากนั้นอีกไม่เกิน 10 ปี ไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี พ.ศ. 2575 เมื่อประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20
ประชากร 1 ใน 5 จะมีอายุสูงกว่า 65 ปี และประชากรครึ่งหนึ่งในประเทศไทยจะมีอายุสูงกว่า 43 ปี!

ไล่หลังประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่เป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2555 ที่ผ่านมา เพราะญี่ปุ่นมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 24 ขณะเดียวกันประชากรโลกโดยรวมก็กำลังมีอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันโลกมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป 8% หรือ 565 ล้านคน จากประชากรโลกทั้งหมด 7,058 ล้านคน

อาจจะช้าเกินไปด้วยซ้ำที่ประเทศไทยเพิ่งมาตั้งคำถามกันว่า จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยเต็มอัตรา ?!?

 
ว่าที่ “คนแก่” เตรียมคนละล้านห้าต่อโรค รักษา 2 โรคยอดฮิต

นพ.สันต์กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้แม้แต่ชาวไร่ชาวนาก็ไม่ได้ออกแรง ส่งผลให้ชาวไร่ชาวนามีอัตราการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคของคนไม่ออกแรง สูงพอๆ กับคนที่อยู่ในเมือง เพราะชาวไร่ชาวนาในปัจจุบันกลายเป็นผู้จัดการท้องนาที่ไม่ต้องออกแรงเหมือนเดิม กิจกรรมการเกี่ยวข้าวไถนาล้วนแต่เป็นหน้าที่ของรถเกี่ยวรถไถที่ถูกจ้างมาแทนที่แรงคน

“ทำอย่างไรจะให้คนได้เดินทางไปทำงานพร้อมกับออกกำลังกายไปในตัว เป็นเรื่องที่ต้องทำในระดับรัฐบาล โดยอาจจะตั้งต้นด้วยเมืองเล็กๆ นำร่องขึ้นมาสักเมือง กำหนดถนนสำหรับคนเดินและขี่จักรยานโดยเฉพาะ แล้วค่อยๆ ขยายออกไป ในที่สุดคนก็จะได้ออกกำลังกาย เพราะอย่างไรเขาก็ต้องเดินทางไปทำงานอยู่แล้ว ทุกวันนี้บางคนเขาก็อยากเดินหรือขี่จักรยานไปทำงาน แต่ทำไม่ได้ เพราะกลัวถูกรถชน”

ดังนั้น รัฐต้องส่งเสริมให้คนเริ่มรักษาสุขภาพตนเองตั้งแต่วันนี้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นคนจะเสี่ยงต่อ 3 กลุ่มโรควัยชราต่อไปนี้

1. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคกลุ่มหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง จากข้อมูลปัจจุบันคนไทยราว 55% มีปัจจัยเสี่ยงของโรคเหล่านี้ ทำให้คนไทยเกินครึ่งเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้
2. โรคสมองเสื่อม ซึ่งมากับคนอายุยืน
3. โรคซึมเศร้า ซึ่งตามมากับภาวะสมองเสื่อมและโรคเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

“3 โรคนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมคนชรา โดยเฉพาะ 2 โรคที่ค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าเพื่อนคือ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เพราะทางการแพทย์ยังไม่รู้วิธีรักษา จึงต้องรักษาที่ปลายเหตุ ส่งผลให้เป็นกลุ่มโรคที่กินเงินมากที่สุด โดยสังเกตได้จากการลงทุนของโรงพยาบาลภาคเอกชนที่จะเน้นลงทุนในกลุ่มนี้ เพราะสามารถเก็บเงินได้มาก”

นพ.สันต์บอกอีกว่า ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล 2 โรคแพงในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลขั้นต้นของโรคมะเร็งในโรงพยาบาลเอกชนจะตกอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท ไม่นับรวมต้นทุนการดูแลเมื่อคนไข้ทุพพลภาพหรือเป็นผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งในทางการแพทย์อาจจะหยุดให้การรักษา เมื่อถึงจุดที่รักษาแล้วคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น

ขณะที่ต้นทุนการรักษาโรคหัวใจ เฉพาะค่ารักษาขั้นต้นในโรงพยาบาลเอกชน จะมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่จบลงโดยไม่ต้องผ่าตัด ค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท และชนิดที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดมีค่ารักษาประมาณ 800,000 บาท

“นี่เป็นค่ารักษาขั้นต้นที่ยังไม่ได้นับรวมความยืดเยื้อเรื้อรังและค่าเสียโอกาสที่ทำงานไม่ได้ ดังนั้น ถัวเฉลี่ยแล้วโรค 2 กลุ่มนี้จะมีต้นทุนการรักษาขั้นต้น 6-8 แสนบาทต่อคนต่อโรคโดยประมาณ ไม่นับรวมภาวะทุพพลภาพที่เกี่ยวเนื่องจากโรค และการรักษาในฐานะผู้ป่วยที่สิ้นหวังระยะสุดท้าย ซึ่งการรักษาลุกลามจนเสียชีวิตก็ไม่น่าจะถูกกว่าการรักษาขั้นต้น โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่พอๆ กัน หรือมากกว่า ดังนั้นโดยประมาณแล้วจะต้องใช้เงินต่อโรค 1,500,000 บาทต่อการดูแลผู้ป่วย 1 คน”

นพ.สันต์อธิบายอีกว่า ในขณะที่โรคสมองเสื่อมกับโรคซึมเศร้า มีต้นทุนการรักษาไม่แพง แต่ต้นทุนที่แพงไม่แพ้กันคือต้นทุนในแง่ของคุณภาพชีวิต เพราะคนที่เป็น 2 โรคนี้ชีวิตจะไม่มีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้นคือจะไปมีต้นทุนที่ผู้ดูแล ซึ่งโครงสร้างสังคมไทยในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ยังมีผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัวอยู่ แต่หลังจาก 10 ปีข้างหน้าไปแล้ว ยังไม่มีหลักฐานว่าใครจะเป็นผู้ดูแลคนชรา

แต่เป็นที่คาดการณ์ว่าผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลคงจะเป็นภาระของสังคม นั่นหมายความว่ารัฐอาจจะต้องจัดตั้ง Nursing Home ขึ้นมาดูแลคนสูงอายุที่ไม่มีใครเอา เพราะลูกไม่พอเลี้ยงดู จากขนาดครอบครัวที่เล็กลง และผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูกหลาน เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่งโรคในกลุ่มโรคชราเรื้อรังจะต้องตกเป็นภาระของสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป แต่ไปพีคในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้นทุนค่ารักษาโรคชราทั้งหมดอาจประมาณการไม่ได้ แต่โรคกลุ่มมะเร็งกับโรคหัวใจมีราคาแพงที่สุด ดังนั้นแค่ 2 โรคนี้ประเทศชาติจ่ายเงินอ่วมอรทัยแน่ ซึ่งความจริงแล้ว ต้นทุนที่รัฐจะใช้ในการป้องกันถูกกว่ามากที่จะปล่อยให้เป็นโรคแล้วมารักษา

 
หวั่นสังคมคนแก่ตกภาวะ “เตี้ยอุ้มค่อม” เต็มเมือง

“ในความเป็นจริง วาระการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังควรเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องรีบทำ และทำกันแบบขนาดหนัก แต่ปรากฏว่า ณ ขณะนี้ยังหน่อมแน้ม ไม่มีใครพูดถึงปัญหานี้อย่างจริงจังเลย”
นพ.สันต์เปรยอย่างเป็นห่วงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของโรคชราทำให้คนเริ่มอยู่ในภาวะกึ่งทุพพลภาพ คนที่เคยทำการผลิตได้เปลี่ยนไปเป็นผู้บริโภค ทำให้มีการคาดหมายกันว่าในอนาคตสังคมทั่วโลกคนจะต้องทำงานจนถึงอายุ 79 ปี จึงเกษียณได้ เพราะไม่มีใครเลี้ยงใครอีกต่อไป

นั่นหมายถึงถ้าคนจำนวนหนึ่งเจ็บป่วย คนทำงานจะเหลือน้อยลง และสังคมจะตกที่นั่งลำบาก หรืออยู่ในภาวะเตี้ยอุ้มค่อม

สอดคล้องกับสภาพปัญหาการขาดแคลนคนรับจ้างดูแลที่เริ่มมีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน หากไม่หาแรงงานต่างด้าวมาฝึก ลูกก็ต้องลาออกจากงานมาดูแลพ่อแม่เอง เนื่องจากค่าจ้างคนดูแลบางครั้งมีราคาแพงกว่าเงินเดือนเสียอีก ดังนั้นสภาพที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ลูกอายุ 50-60 ปี เป็นผู้ดูแลพ่อแม่อายุ 70-90 ปี ขณะเดียวกันลูกที่อายุ 50-60 ปีก็มีปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพค่อนข้างมาก มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคเรื้อรังเองภายในเวลาไม่นาน ทำให้สังคมไทยเริ่มเกิดสภาพเตี้ยอุ้มค่อมให้เห็นพอสมควร
ขณะที่การเตรียมพร้อมของภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นการตั้งรับมากกว่าแนวรุก

“ถ้าเราดูแนวโน้มในต่างประเทศ รัฐบาลมักจะผลักภาระออกไปจากงานรักษาโรค เช่น ผลักภาระส่วนหนึ่งให้เป็นของนายจ้าง อีกส่วนหนึ่งให้เป็นภาระของรัฐบาลท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีผู้สูงอายุอยู่อาศัย มีแนวโน้มว่าในเมืองไทยจะเป็นไปตามนั้นเช่นกัน ในที่สุดคนในท้องถิ่นก็ต้องรับงานดูแลคนป่วยโรคเรื้อรังไป โดยใช้งบประมาณของท้องถิ่น และภาระอีกส่วนหนึ่งนายจ้างก็รับไป เพราะรัฐบาลกลางถนัดเรื่องการตั้งรับ รอให้ป่วยได้ที่แล้วค่อยมารักษากัน รัฐบาลกลางยังไม่ได้ทำอะไรในเชิงรุก โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเท่าที่เห็นมีเพียงไม่กี่หน่วยงานที่ทำ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งทำสิ่งที่มีคุณค่า แต่ผลกระทบในเชิงกว้างยังไม่มาก วิถีการใช้ชีวิตของผู้คนยังไม่เปลี่ยนไปในทางที่จะลดปัจจัยเสี่ยงได้ ทุกคนยังไม่ออกกำลังกาย อาหารที่กินก็ยังเป็นอาหารแคเลอรีสูง ทั้งที่ 2 อย่างนี้เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้สุขภาพดีได้” นพ.สันต์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยควรเตรียมรับมือปัญหาของสังคมผู้สูงอายุใน 2 ส่วนด้วยกันคือ

1.ลงมือป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตั้งแต่วันนี้ โดยวางแผนสังคมขนาดใหญ่ ให้คนเปลี่ยนอาหารและปรับแนวทางการใช้ชีวิตให้มีการออกกำลังกาย

2.ฝึกทักษะให้คนที่สูงอายุแล้ว เช่น คนที่กำลังจะเกษียณอายุ ให้ใช้ชีวิตในรูปแบบที่สามารถดูแลตัวเองได้อีกนานเท่านาน

“มีงานวิจัยระบุว่า คนเราจะเดี้ยงจริงๆ ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น ระหว่างนั้นไม่ได้เดี้ยง 100% ซึ่งถ้าฝึกทักษะให้ เขาจะดูแลตัวเองได้ เหตุที่ควรฝึกทักษะให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองเป็น เพราะสังคมไทยจากนี้ไปถึงปี 2025 จะไม่สามารถหาผู้ดูแลที่ได้รับการฝึกอบรมเหมือนคนใช้ตามบ้านเช่นปัจจุบันนี้แล้ว เพราะคนแก่มีมากขึ้นขณะที่วัยหนุ่มสาวลดลงไป”

ดังนั้น รัฐควรจะต้องรีบวางระบบให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ และมีกิจกรรมชุมชนที่ผู้สูงอายุดูแลกันและกันได้ เพราะโดยธรรมชาติผู้สูงอายุจะชอบอยู่ด้วยกัน อย่างน้อยก็สามีภรรยา แล้วขยายวงออกไปยังเครือญาติ เพื่อนในชุมชน เพื่อเบาแรงผู้ดูแล ซึ่งถ้าเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้าเขาจะมีทักษะดูแลตัวเองได้ โดยต้องสร้างค่านิยมให้ผู้สูงอายุรู้สึกเท่ที่ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เพื่อชะลอความทุพพลภาพออกไปให้ช้าที่สุด

นพ.สันต์ย้ำว่า ค่านิยมใหม่ที่ว่าผู้สูงอายุที่เท่จะต้องดูแลตัวเอง แอกทีฟ และดูแลกันและกัน จะเป็นทางเดียวที่จะรับมือกับขนาดของปัญหาที่ใหญ่มากในอนาคต แต่คนไม่ค่อยคิดที่จะวางแผนรับมือ ทุกคนคิดเอาง่ายๆ ว่า แก่แล้วก็ให้ลูกดูแล แต่ลืมไปว่าโครงสร้างประชากรไม่เหมือนเดิมแล้ว สมัยก่อนเรามีลูกหลานเยอะ แต่ปัจจุบันคนคน หนึ่งมีลูกหลานเฉลี่ยแทบไม่ถึง 2 คนด้วยซ้ำ

สำหรับโรคชราที่เป็นภาระหนักสำหรับผู้ดูแลมี 2 โรค ได้แก่ หลังอัมพาต และโรคสมองเสื่อม ซึ่งโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุมี 2 แบบคือ สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด ซึ่งป้องกันได้โดยการปรับวิถีชีวิต กับโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุและป้องกันไม่ได้ และเกิดขึ้นกับคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มากเท่าในต่างประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าโรคสมองเสื่อมจะเป็น TOP3 ของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าในอเมริกาและยุโรป
ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจร และบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
“มหิดล” ของบพันล้าน สร้างศูนย์ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุครบวงจร

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเริ่มมีการตื่นตัวของหลายภาคส่วนที่เตรียมรับมือสังคมสูงวัยระดับสุดยอดแล้ว อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดลที่มีโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจร และบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บนพื้นที่ 100 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายให้ได้รับความสะดวกสบาย และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุข โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอจัดสรรงบประมาณต่อสำนักงบประมาณ ซึ่งคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2559

พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประธานร่วมคณะทำงานศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุอยู่ที่ 10-12% แต่จะมีการทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในปี 2563-2564 จะเป็นช่วงที่ไทยมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก และจะเป็นเช่นนั้นไปเรื่อยๆ เพราะในอดีตย้อนหลังไปกว่า 20 ปีเป็นช่วงที่มีเด็กเกิดเยอะ เรียกว่ายุค Baby boom หรือรุ่นเกิดล้าน ซึ่งมีเด็กเกิดมากกว่า 1 ล้านคนในปี 2506-2516

ขณะที่ในปี 2566-2586 จะมีคนอายุมากกว่า 60 ปีเข้าสู่ระบบปีละล้านกว่าคน แต่คนวัยทำงานจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะตั้งแต่ปี 2521 มีการรณรงค์ให้วางแผนครอบครัว อัตราการเกิดของเด็กจึงน้อยลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาจำนวนมาก ทั้งการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนชรา ซึ่งฟื้นฟูยากกว่า และเกิดการสูญเสียความสามารถ เกิดภาวะพึ่งพิง กลายเป็นภาระของผู้ดูแลทั้งเรื่องการเงินและการหาผู้ดูแลไม่ได้ เพราะผู้ดูแลมีน้อยลง

ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลจึงเกิดแนวคิดที่จะทำศูนย์ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีและพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อขยายผลออกไปทั่วประเทศ โดยประกอบด้วย 4 ส่วน คือโซนเดย์แคร์เซ็นเตอร์ (ศูนย์ดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลางวัน), โซนเนิร์สเซอรี (ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตนเองได้), โซนสันทนาการ และโซนพยาบาลผู้ป่วยระยะท้าย (ศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้)

“เราจะทำศูนย์นี้เป็นฐานของการฝึกอบรมคนที่จะให้การดูแลทุกระดับ ทั้งระดับบุคลากรสาธารณสุข ญาติผู้ป่วย อาสาสมัคร และคนทั่วไป ให้เขารู้ว่าเราควรจะดูแลผู้สูงอายุกลุ่มต่างๆ อย่างไร จึงกลายเป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งเน้นให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปทำที่อื่นได้” พญ.สิรินทร กล่าว

สำหรับผู้ที่จะเข้ารับบริการภายในศูนย์ดังกล่าว จะมี 3 กรณี คือ 1. ผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยหรือสถานพยาบาลในเครือโรงเรียนแพทย์ 2. ผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเข้ารับบริการสิทธิขั้นพื้นฐาน 3. ผู้ป่วยระยะท้ายที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการโดยมีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับญาติผู้ป่วยก่อน นอกจากนั้นยังมีบริการในรูปแบบสถานที่พักสำหรับผู้สูงอายุ (Nursing home) ซึ่งเป็นบริการที่มีค่าใช้จ่ายเพราะไม่ใช่การบริการพื้นฐาน โดยศูนย์ฯ สามารถรองรับผู้ป่วยระยะท้ายที่เป็นผู้สูงอายุได้ 60 คน ผู้ป่วยระยะท้ายที่เป็นเด็ก 20 คน และสถานที่พักผู้สูงอายุรองรับได้ 90 คน

“ลักษณะของศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจร และบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายจะเน้นให้เขาได้อยู่กับครอบครัว ดังนั้นสถานที่พักจะมีลักษณะเป็นบ้าน และมีห้องแบบคอนโด แต่ทำให้สะดวกสบายเหมือนอยู่บ้าน อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสงบ แต่ก็สามารถรับบริการการดูแลได้ไม่ยาก โดยผู้สูงอายุจะได้อยู่ร่วมกันภายในบ้านหลังหนึ่ง เพื่อให้เขามีสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ถ้าไม่อยากอยู่ร่วมกับคนอื่น ก็สามารถพักในห้องเดี่ยวซึ่งเรายังดูแลเขาได้อีกด้วย”

การก่อสร้างจะทำไปพร้อมกับการวิจัย 3 เรื่องใหญ่คือ 1. การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะท้ายและผู้สูงอายุที่เจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งที่มีภาวะทุพพลภาพและไม่มีภาวะทุพพลภาพในทุกมิติ 2. การพัฒนาชุมชนต้นแบบ และ 3. การสร้างเสริมสุขภาพ โดยทั้ง 3 เสาหลักจะเน้นการบูรณาการและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขจวบจนวาระสุดท้าย

ทั้งนี้ พญ.สิรินทรบอกอีกว่า โรคชราที่ต้องระวังมากที่สุดคืออัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งมีรากมาจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความเครียด และความอ้วน ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ควบคุมปริมาณไขมันและน้ำตาล เนื่องจากปัจจุบันคนมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลมากเกินไป โดยเฉพาะน้ำปั่น น้ำหวาน และผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน เป็นต้น
 
ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจร และบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
สธ.ชี้แผนบันได 3 ขั้น-ห่วงรัฐเก็บภาษีไม่พอดูแลคนชรา

ขณะที่เจ้าภาพภาครัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนยุทธศาสตร์ 3 ขั้นในการรับมือสังคมสูงวัย โดย นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 7-8 ล้านคน หรือคิดเป็น 11% ของประชากร 66 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 14-15 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากร 70 ล้านคน

ทั้งนี้น่าเป็นห่วงในกรณีของผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวระดับรุนแรง หรือที่เรียกว่า กลุ่มติดเตียง เนื่องจากผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียงซึ่งมีประมาณ 4% ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดจะเป็นภาระทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ

“คนเกิดน้อยลง แต่คนแก่มากขึ้น เท่ากับมีคนที่ทำงานสร้างรายได้ให้กับประเทศลดลง คนที่เสียภาษีอากรเพื่อจะเอามาเป็นสวัสดิการดูแลสังคมรวมทั้งผู้สูงอายุจะลดลง แต่คนที่ใช้สวัสดิการคือภาษีอากรมีมากขึ้น จึงเป็นภาระการแบกรับของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาของชาติในแง่ที่ว่าอาจไม่มีภาษีที่เก็บได้เพียงพอมาจัดสวัสดิการผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง นี่คือสิ่งที่คาดไว้ว่าอาจจะมีโอกาสเกิดได้ ถ้าเราไม่ขยับตัวทำอะไรสักอย่าง”

นพ.ธีรพลกล่าวต่อว่า ในประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส หรือกรีซ ก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเก็บภาษีได้ลดลง กอปรกับเศรษฐกิจไม่ดี ภาวะสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นภาระของรัฐบาลมากในการจัดสวัสดิการและเงินบำนาญ

สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายงบประมาณไปตามกรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ นอกจากนั้นยังมีงบประมาณผ่านไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ที่สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้บรรจุเรื่องการพัฒนาระบบบริการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

นพ.ธีรพลกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ 3 ขั้นของกรมอนามัยในการรับมือสังคมสูงวัยว่า กรมอนามัยได้วางวิสัยทัศน์ไว้ว่า อีก 10 ปีข้างหน้าคนไทยจะมีอายุยืนเฉลี่ยแรกเกิดประมาณ 72 ปี และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์หรือสุดยอดอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 14 ของประเทศ และจะมีสภาพเหมือนประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันนี้ ดังนั้นจึงวางแผนกันว่า ถึงวันนั้นเราควรจะมีผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี แข็งแรง และสามารถช่วยตัวเองได้เป็นส่วนใหญ่ ในหลักการคือ อายุยืนแล้วสุขภาพต้องดีด้วย

โดยวางยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการดูแลรักษาตัวเอง ไม่ให้เป็นโรคเรื้อรัง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด โรคข้อเข่าเสื่อม โรคสมองเสื่อม และสนับสนุนให้เกิดกระแสการออกกำลังกายเป็นประจำ การไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ รวมถึงสนับสนุนให้คนสูงอายุมีสังคมเพื่อพัฒนาสมองไม่ให้ฝ่อไป

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาบริการของรัฐ โดยสร้างระบบบริการที่มีอยู่ของรัฐให้มีความพร้อมในการตอบสนองกับผู้สูงอายุ เช่น พัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคผู้สูงอายุ การดูแลต่อเนื่องระยะยาว เพราะผู้สูงอายุจะมีโรคติดตัวต่างๆ ตลอดไม่หายขาด ทำให้หน่วยบริการของรัฐมีความพร้อม แม้แต่เรื่องอาคารสถานที่ที่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ ราวจับ ทางลาด ทางเดินต่างๆ รวมถึงระบบบริการที่จะเอื้อกับผู้สูงอายุ เช่น มีแพทย์เฉพาะทาง มีห้องโดยเฉพาะ มีหน่วยบริการอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองปัญหาต่างๆ มีการจัดหน่วยที่มีการแก้ปัญหาผู้สูงอายุ เช่น ฝึกเรื่องสมอง หรือสอนเรื่องการดำรงชีวิตต่างๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาชุมชนที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นประจำ โดยทำผ่านทางองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ให้มีความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการจัดบริการเพื่อผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดให้มีชุมชนสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ จัดสังคมให้ผู้สูงอายุมีการรวมตัวกันสม่ำเสมอ ทำให้สมองไม่เสื่อมเร็ว

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย 1. กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดี หรือกลุ่มติดสังคม สามารถออกไปสังสรรค์กับผู้อื่นได้ 2. กลุ่มที่มีโรคเล็กน้อย เดินทางไปไหนไม่สะดวก แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระดับหนึ่ง เรียกว่ากลุ่มติดบ้าน 3. กลุ่มที่มีโรคร้ายแรง มีโรคประจำตัวที่ค่อนข้างรุนแรง ไม่สามารถเคลื่อนไหวและช่วยตัวเองได้น้อย เรียกว่ากลุ่มติดเตียง ซึ่งต้องมีคนดูแลประกบตลอดเวลา

“เราพยายามจะทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มติดสังคมมีมากที่สุด หากเขาป่วยแล้วเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มที่ 3 ก็จะมีระบบฝึกให้เขากลับมาเป็นกลุ่มที่ 1 หรือจากกลุ่ม 3 มาเป็นกลุ่ม 2 หรือจากกลุ่ม 2 มาเป็นกลุ่ม 1ให้เร็วที่สุด เพื่อลดภาระในการดูแล และทำให้เขามีความสุขมากขึ้น ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 จะมุ่งพัฒนาให้ผู้สูงอายุกลุ่มที่ 1 มีมากที่สุด”

นพ.ธีรพลย้ำอีกว่า เรื่องใหญ่ที่ต้องทำคือการสร้างความตระหนักให้ทุกคนตระหนักว่า เรื่องนี้มาแน่ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะมาเร็วเปลี่ยนเร็วกว่าที่คาด ซึ่งรัฐจะต้องสร้างกฎกติกาหรือกฎหมายรองรับสำหรับการจัดบริการผู้สูงอายุ เช่น ระบบภาษี ระบบรัฐสวัสดิการต่างๆ และอาจจะต้องสร้างกองทุนที่จะช่วยสนับสนุนบำเหน็จบำนาญให้กับคนทั่วไป เหมือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อเป็นระบบดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้

กทม.ตั้งงบ 3 พันล้านสร้างศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ รพ.บางขุนเทียน

ด้าน นพ.สามารถ ตันอริยกุล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เผยว่า ในปัจจุบัน กทม.มีประชากรผู้สูงอายุ 728,695 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.84 ในปี 2554 จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย คาดว่าในปี 2563 จำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคน เข้าสู่ภาวะประชากรผู้สูงอายุ กรุงเทพมหานครจึงจัดตั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนเพื่อให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุ และเน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุ การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพ และเป็นสถาบันฝึกอบรมทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงวัย

“โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนจะให้บริการแก่ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไป โดยรองรับได้ 270 เตียง ประกอบด้วย อาคารหอพักผู้ป่วยใน 238 เตียง และอาคารหอพักผู้สูงอายุ 32 เตียง ทั้งนี้ กทม.มีงบประมาณที่ต้องใช้ดำเนินโครงการ 3,011,380,000 บาท โดยใช้เงินงบประมาณของกรุงเทพมหานคร และรับสมทบทุนเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลตากสิน ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายใน 3-4 ปี”

นพ.สามารถกล่าวต่อว่า สำนักการแพทย์ได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของกรุงเทพมหานคร ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรและเตรียมทรัพยากรให้มีความพร้อมในการรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยโรคที่ผู้สูงอายุมารับบริการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

นอกจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์จะให้การดูแลรักษาโรคแล้ว ยังจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้นในโรงพยาบาลเพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสประกอบกิจกรรมร่วมกัน ส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพให้สามารถพึ่งตนเอง และช่วยเหลือสังคมได้ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุให้รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าในสังคมและมีคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง โดยการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุของประชากร เป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะต้องเตรียมใน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การดูแลสุขภาพ (กาย-จิต) การสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจ และการเตรียมสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข!


กำลังโหลดความคิดเห็น