xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้า” พบช่องทางกู้วิกฤต “4 พืชการเมือง” เชื่อไทย “ฮับยางพาราของอาเซียน” เลิกพึ่งสิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 
นิด้าทำวิจัยเจาะลึก 4 พืชการเมือง ชี้ทางรอดวิกฤตจำนำข้าวไทย ต้อง “จับมือเอกชน-เพิ่มตลาด-ยอมขาดทุน” ก่อนพินาศ ขณะที่ระยะยาวเน้นลดต้นทุน “ระบบลอจิสติกส์-เสริมทางราง” เชื่อช่วยลดรายจ่าย 5-10% ของ GDP ขณะเดียวกัน ไทยมีศักยภาพเป็น “ศูนย์กลางค้ายางพาราของอาเซียน” ไม่จำเป็นต้องพึ่งสิงคโปร์ เตรียมจัดสัมมนาเชิญผู้เกี่ยวข้องภาครัฐ-เอกชน เข้าร่วม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการค้าและการผลิตในอนาคต

สถานการณ์การส่งออก และภาพรวม “พืชเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของไทยอยู่ในช่วงที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ “พืชการเมือง” หรือพืชที่มีผลเชื่อมโยงจากนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ ดูเหมือนว่านับวันจะยิ่งสร้างปัญหาให้แก่เกษตรกร และงบประมาณบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดเจนกรณีปัญหา “ข้าว” ที่อยู่ในภาวะวิกฤต สืบเนื่องจากนโยบายจำนำข้าวที่ทำให้เกิดปัญหาบิดเบือนราคาตลาด ส่งผลให้ตลาดส่งออกข้าวไทยสูญรายได้จากการส่งออกมหาศาล หากเทียบจากตัวเลขการส่งออกในปี 2554 ที่มีมูลค่าสูงถึง 210,527 ล้านบาท

ขณะที่พืชเศรษฐกิจที่สำคัญตัวอื่นๆ ก็ประสบปัญหาในหลายกรณีเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญในการวางแผนการจัดการในด้านความต้องการตลาด และปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกัน แต่กลับรอให้ปัญหาเกิดก่อนจึงแก้ไข เช่น ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากปริมาณการผลิตส่วนใหญ่กว่า 90% ใช้ในการส่งออก เมื่อประเทศจีนชะลอการนำเข้า จึงส่งผลโดยตรงต่อราคายาง ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราสูงถึง 15 ล้านไร่ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หากรัฐไม่มีการวางแผนที่ดีก็จะเจอปัญหาขึ้นอีก

สอดคล้องกับข้อมูลตัวเลขการส่งออกระยะ 12 เดือนของปี 2555 ที่ทางกระทรวงพาณิชย์เปิดเผย ในหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรว่ามีภาพรวมลดลง 10.8% โดย ข้าว -28% ยางพารา -31.1% กุ้งแช่แข็งและแปรรูป -17.3% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง +6.9% อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไม่รวมกุ้ง +11.6% ผักและผลไม้ +1% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป +10% น้ำตาล +8.7% เป็นต้น
ดร.พลาพรรณ คำพรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการตลาดพืชเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
 
 
นิด้าทำวิจัยแก้วิกฤต “พืชการเมือง”
 

จากปัญหาพืชการเมืองที่สั่งสม และเพิ่มดีกรีความร้อนแรง จนปะทุกระทบภาพรวมการส่งออกพืชผลทางการเกษตร และเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะจากกรณี “การจำนำข้าว” ปีที่ผ่านมา

อีกทั้งภาครัฐยังไม่มีแนวทางในการระบายข้าวให้เห็นในเชิงปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งที่นักวิชาการ พ่อค้า และภาคเอกชน ออกมาทักท้วง แต่รัฐบาลก็ยังออกมายืนยันจะเดินหน้าตามนโยบายที่ตนได้หาเสียงไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยการตลาดพืชเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เห็นถึงความสำคัญของพืชการเมือง ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีพื้นที่กว่าครึ่งใช้เพื่อการเกษตร ซึ่งไทยยังเป็นผู้ส่งออกพืชอาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ดังนั้นประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงควรเร่งแก้ไข ก่อนนำไปสู่วิกฤตในระยะยาว

โดย ดร.พลาพรรณ คำพรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการตลาดพืชเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า พืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในภาคส่วนเศรษฐกิจ เชื่อมโยงถึงการเมืองมีด้วยกัน 4 ตัวหลักๆ ประกอบด้วย ข้าว, อ้อย, มันสำปะหลัง และยางพารา หรือเรียกว่าเป็น “พืชการเมือง”

พืชการเมืองในที่นี้จะเป็นพืชที่ออกผลผลิตตลอดเกือบทั้งปี แล้วมีส่วนเกี่ยวพันกับนโยบายของภาครัฐในทุกยุคทุกสมัย เช่น การจำนำ, ประกันราคา ฯลฯ โดยเมื่อราคาตกต่ำภาครัฐจะเข้าแทรกแซงในเชิงนโยบาย เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาด้านราคา

ทางรอด 4 พืชการเมือง

เริ่มจากกรณีปัญหาข้าว ที่มีผลมาจากการ “จำนำข้าวทุกเม็ด” ของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อประกาศรับจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาสูง ส่งผลให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ครอบครองข้าวเกือบทั้งหมดของประเทศ จากเดิมที่มีการค้าข้าวอย่างเสรี โดยจะกระทบ “หยง” ขนาดเล็กที่มีหน้าที่เป็นตัวกลางการค้าข้าวระหว่างโรงสี กับพ่อค้าส่งออก และโรงสีกับพ่อค้าขายส่ง แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เหมือนรัฐบาลทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางเสียเอง ต่างจากการประกันราคาข้าวที่ข้าวยังอยู่ในมือชาวนา

ดังนั้น การที่ภาครัฐยังคงยืนยันเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป เพราะเชื่อว่ามีปัจจัยหนุนที่จะส่งผลให้ข้าวในตลาดโลกขาดแคลนและกลายเป็นผลบวกกับประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่จะเกิดตามมาจากนโยบาย “จำนำข้าวในราคาสูง” ของไทยกลับทำให้ข้าวในตลาดขยับสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไทยเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ และหากข้าวในตลาดไม่ขาดแคลน ไทยก็มีภาวะเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงมาก

อีกทั้งการที่ประเทศไทยตั้งราคาส่งออกข้าวสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ย่อมส่งผลให้หลายประเทศหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน ขณะที่ประเทศคู่แข่งก็เห็นช่องทาง จากการเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่า ในคุณภาพที่ต่างกันไม่มากนัก เช่น เวียดนาม, อินเดีย, เขมร ฯลฯ ย่อมส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกข้าวของไทยต่ำเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกันการดีดขึ้นของราคาข้าวจึงทำให้ประเทศเหล่านั้นเร่งเพาะปลูกมากยิ่งขึ้นเพื่อส่งออก ประกอบกับประเทศเหล่านั้นยังมีพื้นที่เหลือ สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูก และมีกำลังประชากรเพียงพอในการขยายอีกด้วย ขณะที่ชาวนา ชาวไร่ไทย อย่างในพื้นที่รกร้างก็นำมาเปลี่ยนเป็นนาแทน หรือเปลี่ยนจากปลูกพืชชนิดอื่นมาทำนา เพราะเห็นว่ารัฐฯ รับซื้อทั้งหมดในราคาสูง ดังนั้นภาวะขาดแคลนจึงเป็นไปได้ยาก คาดว่าจะมีจำนวนข้าวในตลาดเพิ่มขึ้น จากรอบการเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึงเสียมากกว่า และเมื่อถึงเวลานั้นจะส่งผลเป็นลูกโซ่ สู่คุณภาพข้าวที่เสื่อมลง พื้นที่เก็บข้าวที่ไม่เพียงพอ และหากสร้างที่เก็บไม่มีคุณภาพ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพข้าวที่นำมาเก็บในที่สุด

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการตลาดพืชเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เสนอทางออกของภาคการส่งออกข้าวไทยว่าต้องหาตลาดส่งออกใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันตลาดส่งออกของไทยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในเอเชีย และอเมริกาเหนือ อาทิ ไนจีเรีย, อิโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้น้อย กำลังซื้อไม่มากนัก การที่ไทยขึ้นราคาข้าวอยู่ใน “กลุ่มพรีเมียม” ประเทศเหล่านั้นก็มีแนวโน้มจะย้ายไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน

ในส่วนของการที่รัฐครอบครองข้าวส่วนใหญ่นั้นถือว่าไม่สอดรับกับบทบาทที่แท้จริงที่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการไม่ใช่พ่อค้า ขาดความเชี่ยวชาญ ไม่มีประสบการณ์และไม่รู้เทคนิคในการค้าข้าว ดังนั้นการหาช่องทางตลาดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ต่างจากเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการค้าอยู่เดิม และมุ่งเน้นการสร้างรายได้ ผลกำไร ในเวลาอันรวดเร็ว จึงควรเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

“การจำนำที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์แก่ชาวนา แต่กลับเกิดโทษกับระบบการค้า หากอยากเพิ่มรายได้ให้ชาวนาก็ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบในราคาที่เหมาะสม อาจยอมขาดทุนบ้าง หรือได้กำไรน้อยลง แต่สามารถแข่งขันในตลาดได้”
 

 
 
ปรับสมดุล “อ้อย-มัน” สัดส่วนพืชพลังงาน
 

ขณะที่ “อ้อย” ถือเป็นพืชการเมืองมานาน และเป็นพืชที่นำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลส่งออกขาย ซึ่งไทยส่งออกมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ส่วนใหญ่จะส่งไปขายยังประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น กัมพูชา ขณะที่ความผันผวนของราคาไม่มากนัก ถือว่ามีเสถียรภาพ เนื่องจากมีสำนักคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาล ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล ตรวจสอบ จึงไม่ค่อยพบปัญหามากนัก

ในส่วนของ “มันสำปะหลัง” จะอิงไปกับฤดูกาล เป็นการค้าแบบเสรี ส่วนใหญ่จะส่งขายยังประเทศในกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน อเมริกา และยุโรป แต่เมื่อราคามันสำปะหลังตกต่ำ รัฐฯ จะมีมาตรการรับจำนำมันสำปะหลังสด แต่เป็นเหมือนการจำนำระยะสั้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่เก็บได้ไม่นาน ต้องรีบแปรรูป ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการแปรรูป ค่าเก็บมันสำปะหลัง โดยอาศัยการดำเนินงานผ่านโรงงานผลิตมันสำปะหลัง ลานมัน และโกดังสินค้าที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ อย่างในปี 2554/2555 มีโครงการรับจำนำจำนวน 10 ล้านตัน

สำหรับส่วนที่เหลือจากการบริโภค จะเอามาทำเป็นพืชพลังงาน หรือเอทานอล ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับตลาด หากราคาน้ำมันสูง มันสำปะหลังก็จะสูงตามไปด้วย เหมือนกรณีน้ำมันพืช ดังนั้นควรสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างพืชที่สามารถนำมาทำเป็นพลังงานได้ ในสัดส่วนที่เพียงพอ การส่งเสริมที่มาก หรือน้อยเกินไปก็ไม่ดี ก็จะเกิดปัญหา อย่างกรณีราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นถึงเท่าตัว จากเมื่อ 3 ปีที่แล้วราคา 10 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 20 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

“เมื่อชาวบ้านเห็นความต้องการพืชของตลาด หรือพืชตัวไหนราคาดี ก็จะแห่ไปปลูก จนอาจทำให้พืชบางตัวมีผลผลิตที่น้อยลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่แล้วกลไกตลาดก็จะปรับตัวเอง ซึ่งการแทรกแซงสามารถทำได้ แต่ไม่ควรทำมากเกินไป”

 
 
ไทยมีศักยภาพ “ศูนย์กลางค้ายางพาราของอาเซียน”
 

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการตลาดพืชเศรษฐกิจนิด้าบอกอีกว่า พืชการเมืองที่มีบทบาทอีกตัวคือ ยางพารา ถือเป็นพืชที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนนิยมปลูกมาก มีปลูกที่ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และในส่วนของประเทศพม่าที่กำลังขยายพื้นที่เพาะปลูกอยู่ ซึ่งลักษณะการส่งออกจะส่งไปรวมที่สิงคโปร์ และน่าแปลกที่ผู้กำหนดราคากลับเป็นพ่อค้าคนกลางอย่างสิงคโปร์

แต่จากข้อมูลในกลุ่มอาเซียนในด้านประเทศผู้ผลิตขนาดใหญ่ และจากชัยภูมิที่ตั้งของไทยสามารถเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นพม่า, เวียดนาม, ลาว, จีนตอนใต้ ฯลฯ อีกทั้งยังมีระบบขนส่งที่ดี มีพื้นที่ในการแปรรูป เก็บสินค้านั้น พบว่าประเทศไทยเหมาะแก่การเป็น “ศูนย์กลางการค้ายางพาราของอาเซียน” โดยอาจร่วมมือกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เน้นการพัฒนาด้านลอจิสติกส์ให้มีต้นทุนต่ำลง และมีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งในระยะแรกด้านความเชี่ยวชาญอาจจะสู้สิงคโปร์ไม่ได้ แต่เชื่อว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาลงทุนแน่นอน
 
 

 
 
ระบบลอจิสติกส์กระตุ้นส่งออก “พืชการเมือง”
 

สำหรับการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่สินค้าเกษตรของไทยนั้น ดร.พลาพรรณบอกว่า ในส่วนของ ‘ข้าว” ที่มาจากการจำนำนั้น จะต้องลดต้นทุนด้านอื่น เนื่องจากรัฐบาลยังคงยืนกรานรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาด

ดังนั้น หนทางการจัดการ ต้องเน้นการลดต้นทุน เพื่อพัฒนาศักยภาพห่วงโซ่อุปทาน และระบบลอจิสติกส์ การส่งออกพืชอาหารของประเทศไทย จากผู้ผลิตถึงตลาดส่งออก ก็จะสามารถลดต้นทุนลง 5-10% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถือว่าตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และจะส่งผลดีในระยะยาวต่อพืชส่งออกทุกตัว เนื่องจากต้นทุนในส่วนของระบบลอจิสติกส์ถือว่ามีอัตราที่สูง เมื่อเทียบกับราคาพืช ผัก ผลไม้ ซึ่งปัจจัยต้นทุนของระบบลอจิสติกส์จะขึ้นอยู่กับฤดูกาล และราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ หากมองศักยภาพด้านการคมนาคมของไทยทางถนน ถือว่าดีกว่าประเทศคู่แข่งในการค้าข้าว อย่างเวียดนามที่มีความสะดวกน้อยกว่า หรือบางพื้นที่ ถนนยังไม่เข้าถึง จึงทำให้ไทยได้เปรียบเรื่องการรวบรวมข้าวจากชาวบ้าน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงประเทศคู่ค้าในอาเซียนได้ เนื่องจากมีชัยภูมิที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ

แต่จุดอ่อนของไทยอยู่ที่ระบบราง ซึ่งเป็นระบบการขนส่งที่มีต้นทุนถูกที่สุด จึงเสนอให้มีการพัฒนาระบบรางให้มีศักยภาพเข้าถึงทุกๆ พื้นที่ ตั้งแต่ต้นทางในการผลิต-ปลายทางการส่งออก ในราคาต้นทุนที่ถูก ก็จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาด้านระบบลอจิสติกส์ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ มีด้วยกันหลายประการดังนี้ รถบรรทุกไม่เพียงพอต่อความต้องการ, ห้องแล็บที่ใช้ตรวจคุณภาพสินค้าไม่เพียงพอ สินค้าบางส่วนต้องรอจนทำให้คุณภาพลดลง เนื่องจากต่างประเทศเข้มงวดมาก, ด้านการบริหารข้อมูล ผู้ส่งออก ผู้ผลิต พ่อค้าคนกลาง ต้องทราบว่ามีความต้องการเท่าไร ควรผลิตเท่าไร เพื่อสอดรับกับสายเรือ จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากบางครั้งต้องส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากลับมา ทำให้เสียต้นทุนโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จึงควรปรับสมดุลเชื่อมข้อมูลให้ตรงกัน รวมถึงปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ทำให้เสียต้นทุนไปกับค่าเก็บรักษา โดยเฉพาะฤดูกาลส่งออก

อย่างไรก็ตาม ทางนิด้าได้จัดทำงานวิจัยในเรื่อง “การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน และลอจิสติกส์ การส่งออกพืชอาหารของประเทศไทย” พร้อมจะมีการผลักดันออกมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในเร็วๆ นี้ เพื่อหวังให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศต่อไป
 

กำลังโหลดความคิดเห็น