xs
xsm
sm
md
lg

แนะ “ยิ่งลักษณ์” จับมือ “พันธมิตร” ไม่เสียดินแดนให้เขมร ปล่อยลูกหาบ “เพื่อไทย” ป้ายสีระวังเมษาเดือด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ส.เพื่อไทย-วิทยุชุมชนเครือข่ายเริ่มปลุกประชาชนอีสานต้านพันธมิตรฯ อ้างมีแผนล้มรัฐบาล-ชื่นชมฮุนเซน ส่งผลการเมืองเมษาเดือดหนักแน่! ขณะที่นักวิชาการด้านความมั่นคง-กฎหมาย ศึกษาทางออกการต่อสู้คดีเขาพระวิหาร มีแต่ต้องรวมความคิดคนไทยให้เป็น “เอกภาพ” ให้เร็วที่สุด และยืนกรานไม่รับอำนาจศาลโลก แนะรัฐบาล ฟังข้อเสนอของพันธมิตรฯ พร้อมประกาศชัดไม่ยอมเสียดินแดน เอาผลประโยชน์ชาติเป็นตัวตั้ง และเร่งทำให้สำเร็จภายใน 2-3 เดือนนี้

กรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลส่งหนังสือที่มีข้อเสนอ 7 ข้อให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดำเนินการโดยด่วน หรือกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ด่าหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ ว่า “ไอ้ผู้จัดการเขียนห่วย” จนกระทั่งมีกลุ่มทหารบุกบ้านพระอาทิตย์เพื่อให้หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการขอโทษ ผบ.ทบ. จนท้ายที่สุด ผบ.ทบ.ต้องออกมาขอโทษสังคมในกรณีคุกคามสื่อในที่สุดนั้น

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นตัวบ่งชี้ว่าการเมืองไทยในปี 2556 นอกจากเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีความต่างๆ และการแก้รัฐธรรมนูญลดทอนอำนาจองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลต่างๆ แล้ว เรื่องคดีเขาพระวิหารที่ประมาณวันที่ 15-19 เมษายนนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก จะมีการสอบสวนเพิ่มเติมคดีเขาพระวิหารในปี 2505 ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยใน 2 ประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรว่าเป็นของใครระหว่างไทย กับ กัมพูชา และจะมีการตัดสินปลายปี 2556 นี้
จะเป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยต้องเผชิญในกลางปี และปลายปีนี้แน่!

ประเทศไทยต้องไม่รับอำนาจศาลโลก-คาดแพ้!

อาจารย์คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ดี ว่ากัมพูชาพยายามที่จะทำให้เราเข้าใจว่าเป็นการยื่นเพื่อตีความเพิ่มเติมคดีในปี พ.ศ. 2505 ที่กัมพูชาได้ยื่นให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความว่าปราสาทพระวิหารเป็นของใคร และมีการยื่นให้ตีความเพิ่มเติมในการใช้แผนที่ระวาง 1 ต่อ 200,000 เพิ่มเติม แต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิจารณาเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารว่าเป็นของกัมพูชา และไม่ได้พิจารณาในส่วนของพื้นที่ 1 ต่อ 200,000 ที่กัมพูชายื่นขอเพิ่มในตอนนั้น

ประเด็นอยู่ที่ว่า การตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2505 นั้น ประเทศไทยได้ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และได้ประกาศออกจากภาคีไปแล้ว

ดังนั้น การที่กัมพูชายื่นคำฟ้องใหม่นั้น จึงไม่ได้ขอในคำพิจารณาจากคดีเดิมของปี พ.ศ. 2505 แต่ที่จริงแล้วเป็นการตั้งคำฟ้องใหม่ โดยเนื้อหาสาระคือให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความเรื่องพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร เป็นของใคร โดยให้ใช้พื้นที่ 1 ต่อ 200,000 แทน หลักการสากลที่ใช้พื้นที่ 1 ต่อ 50,000 ตามหลักสันปันน้ำ ซึ่งจะทำให้ไทยเสียพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นของไทยไปจำนวน 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ที่จะมีปัญหา 7 จังหวัดลากยาวมาถึงเขตพื้นที่ในอ่าวไทย ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์น้ำมันในอ่าวไทยจำนวนมหาศาล

เมื่อเป็นคดีใหม่ และรัฐบาลไทยเตรียมที่จะไปขึ้นชี้แจงในเดือนเมษายนนี้นั้น จึงเป็นเรื่องที่ประเทศไทยเสียเปรียบเพราะเป็นท่าทีที่เหมือนไปยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีทางออกในเรื่องนี้ ซึ่งอาจารย์คมสัน บอกว่า เมื่อเรื่องเดินหน้ามาถึงขั้นตอนนี้แล้ว รัฐบาลสามารถไปขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในเดือนเมษายนนี้ได้ แต่ควรไปเพื่อยืนยันไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ชัดเจน เพราะมองว่าการไปชี้แจงเท่ากับการไปยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยปริยาย และมีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่ไทยจะแพ้คดีนี้

ดังนั้นประเทศไทยควรไป แต่ต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจนตั้งแต่เดือนเมษายน ก่อนที่จะมีการพิจารณาในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2556 เพราะเมื่อถึงเวลานั้นมองว่าเป็นเวลาที่สายเกินไป และประเทศไทยจะถูกนานาประเทศกดดันอย่างหนัก เพราะว่าไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเสียตั้งแต่แรก

อีกทั้งรัฐบาลจะต้องพยายามหาช่องโหว่ทางกฎหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะการพิจารณาว่าเรื่องนี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็จะทำให้มีข้ออ้างในการไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้

“เรื่องนี้รัฐบาลต้องทำเลย อย่าไปรอให้ถึงเดือนเมษายน หรือพลาดไปชี้แจงในเดือนเมษาฯ เพราะเท่ากับไปยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยปริยาย อย่าลืมว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น มีความเป็นการเมืองระดับชาติมากกว่าเป็นศาลที่พิจารณาความถูกผิดอย่างเดียว”

ขณะเดียวกัน หากปล่อยให้กระบวนการตัดสินไปถึงขั้นของการพิจารณานั้น อาจารย์คมสันย้ำว่า จะเกิดแนวทางการตัดสินเกิดขึ้น 2 ประการ คือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่รับฟ้อง เพราะมีหลักฐานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังที่หนักแน่น ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ไม่มาก และอีกประการคือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณารับรองแผนที่แนบที่ใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ของกัมพูชา ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก เพราะ MOU 43 สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไปทำไว้
ภาพ :อินเตอร์เน็ต
ปณิธาน’ ชี้กัมพูชากลัวคนไทยมีความคิดเดียวกัน

ขณะที่ รศ.ดร.ปณิธาณ วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ความเห็นของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มี 2 ประการที่คล้ายคลึงกัน คือ ทั้งสองรัฐบาลเห็นด้วยว่ามีความจำเป็นจะต้องเข้าไปต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพราะยังมองว่าเป็นเรื่องที่ผูกพันมาจากคดีแรก การไม่ไปชี้แจงก็จะถือว่าเสียสิทธิไปโดยปริยาย เพราะสุดท้ายจะมีคำวินิจฉัยอยู่ดี และอีกประการหนึ่งคือการปฏิเสธก่อนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะพิจารณาตัดสิน จะทำให้ไทยถูกสังคมโลกมองในแง่ไม่ดีนัก ในเรื่องของความน่าเชื่อถือ และกติกาสากล เพราะว่าไทยยังไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจที่จะกระทำอย่างนั้นได้

แต่มีสิ่งที่แตกต่างกันของ 2 รัฐบาล คือ รัฐบาลหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับกัมพูชา และองค์กรระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาไม่มีการส่งสัญญาณกับกัมพูชาที่เข้มข้นมากนัก ขณะที่อีกรัฐบาลมีการส่งสัญญาณที่เข้มแข็งกับองค์กรระหว่างประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะการที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำสั่งคุ้มครองพื้นที่พิพาทชั่วคราวนั้น แต่จนถึงวันนี้การยอมให้บุคคลที่ 3 เข้าในพื้นที่ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะกระบวนการต่างๆ ย่อมมีข้อจำกัดที่ทำให้ไทยไม่ต้องทำตามทุกอย่างได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ด้านความมั่นคง มองว่า การที่รัฐบาลและประชาสังคม มีความหลากหลายทางความคิด โดยเฉพาะบางรัฐบาลเห็นว่าการค้าเสรีเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะที่ฝ่ายอื่นมองว่าอธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญนั้น ทำให้ฝ่ายกัมพูชามีความได้เปรียบ เพราะทำให้กัมพูชาสามารถเข้ามาแทรกในการทำเรื่องต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้กัมพูชาเอง เห็นได้ชัดจากกรณีการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงประเทศเดียว การยื่นคำฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

เมื่อกัมพูชาใช้ความได้เปรียบด้านการแตกแยกทางความคิดของคนในประเทศไทยเป็นหลัก ดังนั้นจึงมองว่า การรวมความคิดให้เป็นเอกภาพของคนไทย รวมถึงแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องผลประโยชน์ชาติ จะทำให้กัมพูชามีการปรับท่าที และฝ่ายไทยจะมีความได้เปรียบมากขึ้น

“กัมพูชามีการข่าวเข้มข้นที่มีการส่งคนมาดูความแตกแยกทางความคิดในสังคมไทย และมีการประเมินอยู่ตลอด สิ่งที่เขากลัวที่สุด คือสิ่งที่พันธมิตรฯ เสนอให้รัฐบาลไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ การไม่ถอนทหารในพื้นที่ และขอให้เร่งผลักดันให้ชุมชนกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย เขากลัวที่สุดว่ารัฐบาลจะรับข้อเสนอของพันธมิตรฯ มาทำ”
ภาพ :อินเตอร์เน็ต
ดังนั้นการที่พันธมิตรฯ มีท่าทีในการเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล จึงเป็นวิธีการดำเนินการอย่างสุภาพ รวมถึงการที่ล่าสุดฝ่าย ส.ว.สรรหา มีการเสนอให้อาจารย์สมปอง สุจริตกุล เข้าร่วมในคณะที่จะไปชี้แจงต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น เป็นท่าทีที่ทำให้รัฐบาลกัมพูชามีความกังวลอย่างมาก

“เมื่อไรที่รัฐบาลรับข้อเสนอของทุกฝ่าย แล้วหาเอกภาพทางความคิดของประเทศได้ เมื่อนั้นจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่กัมพูชากลัว ดูแค่การที่พันธมิตรฯ ไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ก็ทำให้หลังปีใหม่ที่ผ่านมากัมพูชาได้ปรับท่าทีให้ผ่อนคลายโดยเสนอจะปล่อยตัวคุณราตรี”

3 ข้อเสนอแนะรัฐดำเนินการก่อนเมษาเดือด!

รศ.ดร.ปณิธานบอกอีกว่า เวลานี้ก่อนถึงเดือนเมษายน มีข้อเสนอให้รัฐบาลรีบดำเนินการใน 3 ประเด็นโดยด่วน เพื่อสร้างความได้เปรียบของไทย ประกอบด้วย

1. การทำให้เกิดเอกภาพทางความคิดของคนในประเทศ โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากมองว่ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพได้ยาก ก็ควรมีสถาบันการศึกษามาเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้แทน

2. รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่จำนวนมากให้กับภาคประชาสังคม เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างความน่าเชื่อถือระหว่างกันให้มากขึ้น

“รัฐบาลควรสร้างเป็นสายด่วนขึ้นมา เพื่อให้ภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ สามารถต่อสายคุยกันได้ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันเชิงรุก ดีกว่ารัฐบาลจะทำตัวเป็นกำแพง หรือ เผชิญหน้ากับกลุ่มต่างๆ”

3. รัฐบาลควรส่งสัญญาณไปถึงประเทศเพื่อนบ้านให้ชัดเจนว่ามีสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ยอมเสียดินแดนไทย ซึ่งจุดนี้รัฐบาลยังไม่ได้ทำให้เกิดขึ้น

“ทั้ง 3 ข้อ ถ้ารัฐบาลทำได้ และประชาสังคมในประเทศไทยยอมรับ จะทำให้ภาพสถานการณ์ความคิดในประเทศไทยเป็นเอกภาพ และมีการเดินหน้าการต่อสู้อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้กัมพูชาเห็นว่าไทยเอาจริง และไม่ยอมเสียดินแดน ซึ่งเชื่อว่าฝ่ายกัมพูชาจะมีการปรับท่าทีทันทีไม่เหมือนที่กัมพูชาเดินเกมรุกอยู่เหมือนทุกวันนี้”

ที่สำคัญทั้ง 3 ข้อ รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการทำในทันที

ในข้อเสนอของ ดร.ปณิธาณ ที่อยากให้รัฐบาลร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นนั้น ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงในการขับเคลื่อนภาคประชาชนเมื่อลงไปสู่พื้นที่แล้ว ยังพบว่าสถานการณ์การรวมความคิดให้เป็นเอกภาพจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากอยู่ไม่น้อย
ภาพ :อินเตอร์เน็ต
ส.ส.-วิทยุชุมชนเพื่อไทยปลุกมวลชนอีสานต้านพธม.

ดร.อวยชัย วะทา นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ประธานองค์กรเครือข่ายครูภาคอีสาน กล่าวว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปการเมืองในการเคลื่อนไหวมวลชนภาคอีสานจะมี 5 ยก ในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้ยกที่ 1 และยกที่ 2 กล่าวคือ การเคลื่อนไหวเพื่อให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องคดีเขาพระวิหารที่จะมีการสอบสวนเพิ่มเติมในเดือนเมษายนนี้และเป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนการเคลื่อนไหวจริงในยกที่ 3 โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จะเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ ในช่วงเดือนมีนาคม

ส่วนยกที่ 4 และยกที่ 5 จะเกิดในช่วงเดือนเมษายนที่ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและฝ่ายพันธมิตรฯ จะมีการเคลื่อนไหวต่อสู้กันรุนแรงเพื่อชิงดำ

ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยได้ใช้กลไก 2 ส่วนของพรรค คือ ส.ส. และวิทยุชุมชนต่างๆ ในการขับเคลื่อนภาคประชาชนในภาคอีสานทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ และการต่อต้านการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในคดีเขาพระวิหารอย่างเต็มที่

“ตอนนี้ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเคลื่อนไหวโดยการลงพื้นที่อย่างหนัก เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสร้างข่าวบิดเบือนในพื้นที่ ว่าการต่อสู้ของพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องเขาพระวิหารเป็นการจ้องล้มรัฐบาล โดยใช้การเมืองระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือ เป็นการหาเรื่องและสร้างความวุ่นวายเพื่อล้มรัฐบาลเท่านั้น”

นอกจากนี้ยังพยายามบอกคนภาคอีสานว่า เรื่องคดีเขาพระวิหารของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการปลุกระดมให้คลั่งชาติ ไม่สมควรทำ แต่ให้มองสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในแง่ดี และปลูกฝังว่าเรื่องเขาพระวิหารเป็นเมืองมรดกโลกควรจะเป็นการจัดการของทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน

โดยไม่ได้บอกความจริงกับประชาชนว่าในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้มีการทำหนังสือยินยอมให้รัฐบาลของประเทศกัมพูชาจัดการมรดกโลกเขาพระวิหารได้แต่เพียงประเทศเดียวในสมัย นพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สิ่งที่จะต้องจับตามองจากนี้ไปนั้น ดร.อวยชัยบอกว่า ในเดือนเมษายนนี้ประชาชนภาคอีสานจะมีการต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยจะมีการสกัดกั้นไม่ให้เข้าพื้นที่

ส่วนพรรคเพื่อไทยก็จะมีการสร้างข่าวบิดเบือนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องว่าเป็นการปลุกกระแสปฏิวัติคลั่งชาติ พันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ต้องการล้มรัฐบาล

“พวกแกนนำคนเสื้อแดง และ ส.ส.ในพื้นที่จะมีการเคลื่อนไหวมวลชนแข่งกัน เพราะว่าต้องการสร้างผลงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณเห็น บางคนก็อยากต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล”

ทั้งนี้ ถ้ามองว่าจะมีเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงในพื้นที่หรือไม่ มองว่าไม่มี แต่ก็มีโอกาสที่มือที่ 3 จะมาขยายผลเพื่อยึดอำนาจ เพราะคนกลุ่มนี้รอจังหวะอยู่แล้ว ต้องระวังอย่างมาก

สำหรับสิ่งที่คนไทยทุกภาคส่วนจะต้องกระทำคือ ต้องระลึกไว้เสมอว่า เราเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนเท่านั้น ที่จะพลิกโอกาสให้ไทยกลับมาได้เปรียบ

และความได้เปรียบสูงสุดคือการมีเอกภาพทางความคิดที่ต้องชัดเจนว่า “เราจะไม่ยอมเสียดินแดน”

การต่อสู้ทางการเมืองเรื่องอื่นๆ ควรจะต้องหยุดไว้

ถึงวันนี้สิ่งที่ รศ.ดร.ปณิธานเสนอไว้จึงเป็นเรื่องที่คนไทยควรตระหนักอย่างยิ่ง ด้วยการรับข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหน้า แต่ถือเป็นการเดินหน้ารักษาผลประโยชน์ของชาติไทยเราซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า!

กำลังโหลดความคิดเห็น