xs
xsm
sm
md
lg

จำนำข้าวเจ๊ง! หนี้บาน ธ.ก.ส.ตายหยังเขียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มองเห็นความฉิบหายชัดขึ้นเรื่อยๆ สำหรับโครงการอภิมหาประชานิยมรับจำนำข้าวที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดันทุรังเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังเสียงท้วงติง และรอบนี้ดูท่าจะหนักหนาไม่น้อยเพราะยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากไหนมารับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินไว้ให้แล้ว 2.4 แสนล้านบาท

เพราะงานนี้ กระทรวงการคลังไม่อยากจะค้ำประกันเงินกู้ เนื่องจากหนี้สาธารณะของประเทศพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็หัวหมุนล้วงควักเงินของแบงก์ออกมาสนองนโยบายจนใกล้จะถังแตก จะรอเงินจากการขายข้าว กระทรวงพาณิชย์ก็ยังไม่มีปัญญาระบายข้าวให้ได้ตามราคาคุย ไม่นับว่าขาดทุนบักโกรกเพราะรับจำนำหรือรับซื้อมาแพงแต่ขายออกไปในราคาถูก

คราวนี้จะได้เห็นกันจะจะคาตาว่า สารพัดโครงการประชานิยม รวมทั้งการจำนำข้าวทุกเม็ด ที่ปั่นกันจนวงจรการหมุนเงินในโครงการประชานิยมสะดุด จะส่งผลสะเทือนเป็นโดมิโนพังกันทั้งประเทศอีกหรือไม่

วิธีการแก้ผ้าเอาหน้ารอด ตอบคำถามไม่ได้ว่าจะเอาเงินจากไหนมารับจำนำข้าว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหาเงินทุนเพื่อรับจำนำข้าว โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พร้อมด้วย ธ.ก.ส., สำนักบริหารหนี้สาธารณะ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร, กรมการค้าระหว่างประเทศ, องค์การคลังสินค้า ร่วมเป็นกรรมการ

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อธิบายถึงการตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงิน 2.4 แสนล้านบาทในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 วางเป้าหมาย 15 ล้านตัน โดยกระทรวงการคลังจัดหา 1.5 แสนล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์นำส่งเงินจากการระบายข้าว 5 หมื่นล้านบาท แต่เพื่อให้แผนงานการระดมเงินเพื่อรับจำนำข้าวมีความชัดเจน นายกรัฐมนตรีจึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแล

ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องถามกันว่า ที่ผ่านมาแผนระดมเงิน 2.4 แสนล้านบาทเพื่อรับจำนำข้าวยังไม่ชัดเจนใช่หรือไม่ โดยเฉพาะก้อนใหญ่ 1.5 แสนล้านบาทที่กระทรวงการคลังจะต้องจัดหา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไปกู้ยืมมาเพื่อ ธ.ก.ส.จะได้เอาไปรับจำนำข้าว

ส่วนอีก 9 หมื่นล้านบาทนั้น ตามแผนการต้องมาจากการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 4 หมื่นล้านบาทยังไม่ชัดเจนเช่นกันว่าจะเอามาจากไหน

ทำไมกระทรวงการคลังจึงไม่กระตือรือร้นสนองนโยบายของรัฐบาล เพราะว่าเจ้ากระทรวงก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นเบอร์หนึ่งด้านเศรษฐกิจ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ควบ รมว.คลัง นั่นเอง

หรือนี่ก็อาจเป็นอีกสัญญาณที่บอกไปถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าใช่จะมาสั่งให้ข้าราชการขวาหันซ้ายหัน หลับหูหลับตาสนองนโยบายอย่างเดียว เพราะนักการเมืองมาแล้วเดี๋ยวก็จากไป แต่ข้าราชการผู้บริหารกระทรวงการคลังยังต้องอยู่ และต้องดูฐานะการคลัง ดูผลกระทบและความฉิบหายต่อประเทศชาติที่จะตามมาด้วย ไม่ใช่ข้าราชการทุกคนจะชอบสอพลอ “ได้ครับพี่ ดีครับนาย” เสียที่ไหน

เงื่อนปมก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ มีรายงานข่าวว่า มาจากเหตุที่กระทรวงการคลังกับ ธ.ก.ส. ประชุมถกเครียดเรื่องเงินกู้ก้อนใหญ่ในการนำมารับจำนำข้าว แต่ทำความตกลงกันไม่ได้ เพราะกระทรวงคลังบอกว่า ครม.มีมติให้คลังไปหาเงินกู้มาให้ ธ.ก.ส. ภายใต้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท อีก 5 หมื่นล้านบาทให้ไปเอากับกระทรวงพาณิชย์นั้น ปรากฏว่ากระทรวงพาณิชย์มีปัญหาขายข้าวไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ ถึงตอนนี้พาณิชย์ ยังตอบไม่ได้ว่าจะระบายข้าวและมีเงินมาใช้รับจำนำข้าวรอบใหม่เมื่อไหร่และเท่าไหร่ ซ้ำยังมีความต้องการให้คลังกู้เงินให้มากกว่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้เพียงพอต่อการจำนำข้าวรอบใหม่

ต้องย้ำอีกครั้งว่า เรื่องการค้ำประกันเงินกู้นี้ กระทรวงการคลังเคยส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีมาแล้ว โดยบอกชัดเจนว่า กระทรวงการคลังจะไม่มีการค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.นอกเหนือไปจาก 1.5 แสนล้านบาทตามที่เสนอไว้เท่านั้น

โดยหนังสือจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ลงนามโดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.กระทรวงการคลัง ลงวันที่ 3 ต.ค. 2555 ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา นำมาเผยแพร่นั้น ระบุชัดถึงความห่วงใยต่อโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรว่าเป็นภาระงบประมาณสูงมาก โดยวงเงินรับจำนำในปีการผลิต 2554/55 ทั้งในส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. กรอบวงเงินกู้เดิม และส่วนที่อยู่ระหว่างการขยายปริมาณและกรอบการใช้เงิน (กรณีพิเศษ) เพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 408,160 ล้านบาท ซึ่งกินวงเงินค้ำประกันโครงการลงทุนของประเทศของหน่วยงานอื่นๆ

ดังนั้น หากจะดำเนินโครงการต่อเนื่อง ต้องวิเคราะห์ประเมินผลโครงการที่ได้ทำไปแล้ว และเร่งระบายผลผลิตที่รับจำนำก่อนการดำเนินโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรรอบใหม่ หรือปีการผลิต 2555/56 ซึ่งต้องใช้วงเงินสูงถึง 405,000 ล้านบาท ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

หนังสือของกระทรวงการคลังระบุด้วยว่า “เนื่องจากเงินค้ำประกันในปีงบประมาณ 2556 มีจำกัด กระทรวงการคลังเห็นควรจัดสรรวงเงินกู้ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท สำหรับเป็นการหมุนเวียนในการดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล โดยโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 เป็นส่วนหนึ่งของกรอบหนี้ โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินกู้และดอกเบี้ย รัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากเงินกู้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมด

“วงเงินส่วนที่เหลือเห็นควรให้ ธ.ก.ส.ระดมเงินจากตลาดและเงินฝาก ธ.ก.ส.ตามกรอบของพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส. เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ให้โดยไม่ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว” หนังสือระบุ

นั่นหมายความว่า กระทรวงการคลังได้บอกล่วงหน้าแล้วว่า จะค้ำประกันเงินกู้สำหรับ ธ.ก.ส.ใช้ดำเนินการในโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยจำนำข้าวก็เป็นเม็ดเงินที่รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย ส่วนที่เหลือให้ ธ.ก.ส.ไปหาทางระดมเงินเอง หากไม่พอจะกู้เพิ่มกระทรวงการคลังก็จะไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้

ความหมายของคำว่า “ส่วนที่เหลือ” จาก 1.5 แสนล้านบาท ที่ให้ ธ.ก.ส.ไปหาทางระดมเงินหรือจะกู้ก็ได้แต่คลังไม่ค้ำประกันเพื่อมาใช้สำหรับโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรทุกตัวนั้น หักลบกันแล้ว หมายความว่าต้องหาเพิ่มถึง 2.55 แสนล้านบาทถึงจะพอสำหรับรับจำนำผลผลิตการเกษตรในฤดูการผลิต 2555/56 ที่กระทรวงการคลังประเมินว่าต้องใช้เงินมากถึง 405,000 ล้านบาท

การตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาดูแลและบริหารจัดการเรื่องการใช้จ่ายในโครงการจำนำข้าว ที่มีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามานั่งร่วมเป็นกรรมการ มองอีกด้านหนึ่งถือเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส.หากการดำเนินโครงการจำนำข้าวมีปัญหา รวมทั้งผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ที่ ธ.ก.ส.ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการรับจำนำซึ่งคาดว่าจะตามมาอีกไม่น้อย

นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้สะท้อนถึงข้อกังวลนี้เมื่อคราวไปชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.เพชรบูรณ์ เป็นประธานพิจารณาวาระศึกษาผลการดำเนินงานปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2555 ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 55/56 ที่ตั้งวงเงินไว้ 2.4 แสนล้านบาทนั้น เป็นเงินที่กระทรวงการคลังจัดสรรให้ 1.5 แสนล้านบาท ขาดอีก 9 หมื่นล้านบาท แม้จะคืนเงินมาแล้ว 4.2 หมื่นล้านบาท แต่อีก 4 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งต้องรอการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ไม่เช่นนั้นอาจกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ ธ.ก.ส.ได้

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.เชื่อว่า โครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิตนี้ คาดว่าชาวนาจะนำข้าวมาจำนำประมาณ 10 ล้านตัน คงไม่ถึงเป้าหมาย 15 ล้านตันตามที่รัฐบาลตั้งไว้ ดังนั้นน่าจะใช้เงินประมาณ 2 แสนล้านบาท และปีนี้สหกรณ์ได้ออกมารับซื้อข้าวจากสมาชิกเพื่อแปรสภาพและบรรจุถุงขาย จึงช่วยลดปริมาณนำข้าวมาจำนำกับรัฐบาล

ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยง ธ.ก.ส.เท่านั้น การตั้งคณะอนุกรรมการฯ ยังจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศที่กำลังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งธนาคารโลก ออกส่งเสียงเตือนว่า หนี้สาธารณะของไทยปีหน้าจะใกล้เคียง 50% ของจีดีพี จาก 45% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐ สิ่งที่เป็นห่วงคือ หนี้สาธารณะซ่อนเร้นที่รัฐต้องแบกรับ อาจส่งผลต่อฐานะการคลังในภาพรวม จึงควรมีการบริหารจัดการให้ดี

สำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างของประเทศไทย ณ เดือนสิงหาคม 2555 อยู่ที่ 5.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.89 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีข่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่มีฝีมือในการระบายสต๊อกข้าวเพื่อมาใช้เป็นทุนในการรับจำนำข้าวรอบต่อไป นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ กลับออกมาอวดโอ่ว่า จนถึงสิ้นปี 2555 นี้กระทรวงพาณิชย์จะขายข้าวในสต๊อกรัฐ และนำเงินมาคืนให้กระทรวงการคลังได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 8.5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งจะไม่ล้มเลิกโครงการรับจำนำอย่างแน่นอน ส่วนการหาเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ดำเนินโครงการเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะเร่งจัดหามาให้
แบบว่า ท่องคาถาเดินหน้าลงเหวลูกเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น