xs
xsm
sm
md
lg

1 ปี “ยิ่งลักษณ์” หุ้นตระกูลชินวิ่งกระฉูด แรงต่อยันปี 56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธุรกิจตระกูลชินในรอบ 1 ปีเศษโดดเด่น หุ้นวิ่งกันคึกคัก จนหลายฝ่ายลืมมัวแต่สนใจ “ยิ่งลักษณ์” เป็นหลัก นักวิเคราะห์เผยหุ้นกลุ่มนี้ถูกเก็บกันมาตั้งแต่ช่วงหาเสียง เก็งเพื่อไทยชนะ แบ่งได้ 4 กลุ่มชินของทักษิณเดิม กลุ่มเจ๊แดง เอสซีฯ ที่ยิ่งลักษณ์เคยบริหารและล่าสุด PAE หลานนายกฯ เข้ามาฮุบไล่ราคากันสนุก ราคาหุ้น 1 ปี SC ปรับขึ้นแรง 133.74% คาดปีหน้ายังแรงต่อถ้าเก้าอี้นายกฯ ไม่เปลี่ยน

การเข้ามาบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนสุดท้องของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในรอบ 1 ปีเศษ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเข้ามาเป็นตัวแทนของพี่ชาย หรือทักท้วงนโยบายในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ทุกอย่างไม่เป็นผลเมื่ออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตกอยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย

สมญานาม “ปูกรรเชียง” ทำให้เธอรอดจากหลายเรื่องที่หลายฝ่ายพยายามจะโจมตีการบริหารประเทศมาได้ตลอด รวมไปถึงทีมงานทางการเมือง เครือข่ายในหน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงพลพรรคเสื้อแดงช่วยอุ้มให้นายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทยอยู่รอดมาได้

ด้วยการโฟกัสไปที่นโยบายของรัฐบาลที่เน้นประชานิยมแบบสุดตัว เอาใจฐานเสียงรากหญ้าเป็นหลัก รวมไปถึงการจับจ้องอากัปกิริยาของผู้นำประเทศคนนี้ จนทำให้หลายคนได้ละความสนใจถึงรากฐานธุรกิจของคนในตระกูลชินวัตรไปอย่างสิ้นเชิง

ในอดีตยุคที่ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศ ทั้งกิจการธุรกิจในตระกูลชินวัตรได้รับผลบวกจากหลายโครงการของรัฐบาล ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มบีบคั้นทักษิณจึงตัดสินใจขายหุ้นในเครือชินออกไปให้กับกลุ่มเทมาเส็กจากสิงคโปร์ ยกเว้นบริษัท เอสซี แอสเสท หรือ SC ที่เป็นของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภรรยาของทักษิณ ครั้งนั้นมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทนี้

แม้จะมีการขายหุ้นบริษัทในกลุ่มชินออกไป มีบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์เข้ามาถือหุ้นแทน แต่โครงสร้างการบริหารเกือบทั้งหมดยังเป็นของทีมงานทักษิณ และมีการจ่ายเงินปันผลออกไปเป็นจำนวนมากและจากการขายหุ้นออกไปในต้นปี 2549 เงินปันผลที่จ่ายออกไปน่าจะมากกว่าเงินที่เทมาเส็กใช้เข้ามาซื้อกิจการของชินคอร์ป

อย่างไรก็ดี การเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองของคนนามสกุลชินวัตรครั้งที่ 2 ไม่นับกรณีของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีของเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ (ชินวัตร) น้องสาวของทักษิณ ที่ยิ่งลักษณ์นั่งบริหารประเทศไทยที่มีพี่ชายอย่างทักษิณออกมาเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเสนอแนวความคิด หรือกล่อมฐานเสียงคนเสื้อแดงให้สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ รวมไปถึงสโลแกนก่อนการเลือกตั้งในปี 2554 ว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ทุกอย่างจึงคลุมเครือ ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ปฏิเสธถึงเรื่องการเข้ามาบงการของพี่ชาย

ภายใต้ระยะเวลาการบริหารประเทศ 1 ปีเศษของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หุ้นในกลุ่มชินวัตรถูกจับจ้องจากนักลงทุน ที่คาดหมายกันว่าน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีไม่แพ้ยุคที่ทักษิณเป็นผู้นำประเทศ

ตระกูลชิน 4 กลุ่ม

นักวิเคราะห์อาวุโสกล่าวว่า หากจะแบ่งหุ้นในกลุ่มตระกูลชินวัตรสามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วน คือ กลุ่มเดิมที่ทักษิณเคยบริหารประกอบด้วยบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือINTUCH ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งมีรายได้หลักจากการถือหุ้นบริษัทลูกที่โดดเด่นมากคือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ซึ่งเริ่มพลิกสถานการณ์กลับมามีกำไร ส่วนบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL ยังไม่โดดเด่นนัก ขณะที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV นั้นถูกแปรสภาพเป็นทีวีสาธารณะ

กลุ่มที่ 2 คือหุ้นในกลุ่มน้องสาว เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่มีทั้งบริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK ที่เพิ่งถูกขึ้นเครื่องหมายพักการซื้อขายไปในกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากที่เคยเกี่ยวข้องอย่างบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ WIN ที่มีการเปลี่ยนมือกันไปมา ส่วนหุ้นบริษัทก่อสร้างอย่างบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASCON ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในกลุ่มนี้สถานะของบริษัทใหญ่อย่าง MLINK อยู่ในสถานะขาดทุนและเตรียมที่จะขายกิจการอย่างพอร์ทัลเน็ตออกไป

กลุ่มที่ 3 คือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารนี้ก่อนที่จะเข้ามาสู่วงการเมือง ซึ่งการโดดลงสนามทางการเมืองไม่กี่วันเธอก็ก้าวขึ้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ สถานะของ SC ดีวันดีคืน คาดหมายกันว่ากำไรในปีนี้น่าจะสูงที่สุด อันเนื่องมาจากโครงการคอนโด 3 แห่งได้มีการโอนกันในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2555

กลุ่มที่ 4 คือบริษัทก่อสร้างอย่างบริษัท พีเออี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PAE หุ้นมหัศจรรย์ ที่มีการเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเด็กหนุ่มที่เข้ามาบริหารจัดการบริษัทแห่งนี้เอง รัชพล วงศ์นภาจันทร์ ลูกชายของ วีระชัย วงศ์นภาจันทร์ กับเยาวเรศ ชินวัตร คือหลานของ 3 นายกรัฐมนตรีของครอบครัวชินวัตร เข้ามาถือหุ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายนและไล่เก็บจนถือครองหุ้นได้ 11.34% พร้อมกับเสกราคาหุ้นจากระดับที่ต่ำกว่า 1 บาทให้ขึ้นมาเกือบแตะระดับ 3 บาทได้ในระยะเวลาไม่นาน
รัตนพล วงศ์นภาจันทร์
ชินเดิม-SC มีปัจจัยหนุน

หากกลับไปดูราคาหุ้นในเครือนี้ทั้งหมดถือว่าปรับขึ้นมารวดเร็ว ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการไหลเข้าของเม็ดเงินต่างประเทศจากสหรัฐฯ ตามมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมไปถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยและอาเซียนที่ถือเป็นจุดปลอดภัยสำหรับนักลงทุนในสหรัฐฯ และยุโรป สิ่งที่ตามมาถือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไต่ขึ้นมาเกือบระดับ 1,400 จุด

หุ้นในตระกูลนี้ถูกเก็บกันมาตั้งแต่ช่วงที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มว่าจะชนะเลือกตั้งแล้วกลับมาเป็นรัฐบาล เมื่อแยกเป็นประเภทในกลุ่มสื่อสารถือว่ามีปัจจัยรองรับทั้งเรื่องของ 3G และ 4G ในปีหน้า หรือเรื่องของทีวีดิจิตอลและผู้ที่ใช้บริการของดาวเทียมไทยคม

ส่วนหุ้นกลุ่มของเยาวภายังมีปัญหาในเรื่องของผลการดำเนินงาน อีกทั้งกิจการร้านขายโทรศัพท์มือถือมีคู่แข่งมาก รวมถึงการโดดเข้ามาของผู้ให้บริการเครือข่ายเข้ามาเล่นตลาดนี้เอง ดังนั้นหุ้นของเจ๊แดงจึงไม่โดดเด่นนัก

หุ้นของ SC มีเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ของลูกค้าเข้ามาหนุนพร้อมกันถึง 3 โครงการในไตรมาส 4 ของปีนี้ จึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมารับ

หุ้นมหัศจรรย์

ส่วนหุ้นที่มหัศจรรย์อย่าง PAE ตัวนี้เป็นกลุ่มก่อสร้างที่คาดหมายกันว่าน่าจะได้งานก่อสร้างในหลายโครงการของรัฐไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อีกทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ลูกเยาวเรศหลานนายกรัฐมนตรีก็มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเหนือความคาดหมายตามทิศทางของนักเก็งกำไร

สำหรับในปี 2556 หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่เปลี่ยน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศตามเดิม หุ้นในสังกัดนี้ก็จะปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งจากปัจจัยที่เข้ามาเกื้อหนุนจากนโยบายของรัฐบาลและแรงเก็งกำไรทางจิตวิทยาของนักลงทุน

ลูกรวย-แม่รวย

INTUCH ทางบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งมีรายได้หลักจาก ADVANC และ THCOM จากผลประกอบการโดดเด่นของ ADVANC ในช่วง 9 เดือนของปี 2555 กำไรสุทธิโตขึ้น 42.40% จากช่วงเดียวกันของปี 2554 และ THCOM 9 เดือนที่ผ่านมา พลิกจากขาดทุนเป็นกำ ไร มีกำ ไรจาก Core Business 349 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่ขาดทุน 176 ล้านบาท

ทาง INTUCH มีแผนจะลงทุนในธุรกิจดิจิตอล ทีวี ตามร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่น
ความถี่และร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช. คาดว่าจะเกิดฟรีทีวีได้ 50 ช่อง INTUCH อาจประมูล 3 ช่อง คาดว่าจะเปิดประมูลเมษายน ปี 2556

พระเอกที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มชินอย่าง ADVANC ทางบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี ประมาณการกำไรจากการดำเนินงานปีนี้อยู่ที่ 35,451 ล้านบาท เติบโต 35% จากปี 2554 สูงสุดในกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการให้บริการเพิ่มขึ้น ยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากการเปิดจำหน่าย iPhone 5 ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ลดลงจาก 30% เหลือ 23% ช่วยหนุนให้มีอัตรากำไร

ในปี 2556 คาดว่า ADVANC จะมีการรุกขยายโครงข่าย 3G บนคลื่นความถี่ใหม่ 2.1GHz มากสุดในกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง คาดว่าบริษัทจะมีการเจรจาร่วมมือกับ TOT ในการขอเช่าเสาสัญญาณซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงทุน

คาดว่ากำไรปีหน้าเติบโตต่อเนื่อง 10% แม้ว่าบริษัทจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขยายโครงข่าย 3G บนคลื่นความถี่ใหม่ 2.1GHz แต่ถูกชดเชยด้วยต้นทุนสัมปทานภายใต้ใบอนุญาตใหม่ที่ลดลงอย่างมีนัยจากปัจจุบันที่ 25% เหลือ 6.5% น่าจะมีกำไรสุทธิ 39,413 ล้านบาท

ส่วน THCOM บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด ได้ปรับราคาเป้าหมายปี 2556 ขึ้นจาก 22.80 บาท เป็น 28 บาท คาดการณ์กำไรปีหน้าเพิ่มขึ้น 51% หลังจากขายกิจการ Mfone ธุรกิจมือถือในกัมพูชาสำเร็จ

นอกจากนี้ลูกค้าไอพีสตาร์ยังเพิ่มขึ้น 35% รวมถึงลูกค้าของไทยคม 6 ที่จะเพิ่มขึ้นในกลางปีหน้า
คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2555 จะพลิกมามีกำไร 421 ล้านบาท หากขาย Mfone สำเร็จ กำไรในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 1,067 ล้านบาท

SC กำไรประวัติศาสตร์

บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส วิเคราะห์สถานะของ SC ว่าในงวดไตรมาส 4 ปีนี้ โครงการคอนโดมิเนียมจะสร้างเสร็จและโอน จำนวน 3 โครงการ (Centric รัชดาฯ-สุทธิสาร, The Crest พหลฯ 11 และ The Crest สุขุมวิท 49) มูลค่า Backlog รวม 1,843 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่น่าจะโอนในงวดไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้การบันทึกรายได้และกำไรเฉพาะไตรมาส 4 ปีนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนปี 2556 คาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มต่อเนื่องมูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ Presale เติบโตต่อเนื่อง ในด้านของการบันทึกรายได้คาดว่าฐานรายได้ของ SC น่าจะปรับขึ้นไปแตะ 1 หมื่นล้านบาท คาดกำไรเติบโตในอัตราสูง 38% จากปี 2555

ปัจจุบัน SC มีโครงการระหว่างพัฒนา 24 โครงการ (ไม่รวมแนวราบที่ชะอำ) มูลค่าโครงการคงเหลือสำหรับขาย 19,987 ล้านบาท ทำให้ประมาณการกำไรปี 2555 น่าจะอยู่ที่ 1,220 ล้านบาท และปี 2556 กำไรสุทธิ 1,683 ล้านบาท

ราคาปิดสิ้นปี SC นำโด่ง

สำหรับราคาหุ้นของตระกูลชินวัตรปิดตลาด 28 ธันวาคม 2555 โฮลดิ้งตัวแม่อย่าง INTUCH ปิดที่ 69 บาท ในวันดังกล่าวได้ทำราคาสูงสุดที่ 70.75 บาทก่อนที่จะถูกแรงเทขายออกมา เพิ่มขึ้น 60.47% จากปี 2554 บริษัทลูกอย่าง ADVANC ปิดที่ 209 บาท เพิ่มขึ้น 48.75% จากปี 2554 หุ้น THCOM ราคาปิด 23.10 บาท เพิ่มขึ้น 126.03% จากปี 2544 และ CSL ปิดที่ 9.80 บาท เพิ่มขึ้น 75% จากปี 2544

ส่วนหุ้น SC ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยนั่งบริหารอยู่ปิดตลาดที่ 28.75 บาท ถือเป็นราคาปิดสูงสุดของปี เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 133.74%

หุ้นของกลุ่มเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ MLINK ปิดตลาดที่ 1.79 บาท เพิ่มขึ้น 36.64% จากปี 2554 โดยหุ้นตัวนี้ถูกพักการซื้อขายเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2555 และเปิดซื้อขายได้อีกครั้งในช่วง 2 วันสุดท้ายของปี 2555 หุ้นในเครืออีกตัวอย่าง WIN ปิดตลาดที่ 0.80 บาท เพิ่มขึ้น 122.22% จากปี 2554

ส่วนหุ้นของลูกชายเยาวเรศ ชินวัตร PAE ปิดตลาดที่ 2.16 บาท เพิ่มขึ้น51.05% จากปี 2554 โดยก่อนหน้า 1 วันหุ้นตัวนี้พุ่งขึ้นไปแตะ 2.96 บาท

ในรอบ 1 ปีของการบริหารงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหุ้นในตระกูลนี้ถูกจับจ้องจากนักลงทุนเป็นพิเศษ และผลงานที่ผ่านมาชัดเจนว่าราคาหุ้นสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจ

กำลังโหลดความคิดเห็น