xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำบุกตลาดอาเซียน โชว์จุดเด่นทุกสถาบัน-มธ.เจ๋ง! เป็นที่ 2 ของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 
เจาะลึก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำเปิดหลักสูตรใหม่ มุ่งสู่ AEC มธ.ชิงเปิด “อาเซียนศึกษา” ครอบคลุม 3 เสาหลัก เป็น ป.โทแห่งแรกในไทย แห่งที่ 2 ของโลก พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกมาสอนเพียบ! ด้านมหิดลมุ่งสร้างผู้บริหารสาธารณสุขอาเซียน วางเป้าเป็นศูนย์กลางการเรียนสู่ด้านสาธารณสุขมูลฐานและสุขภาพชุมชนระดับอาเซียน ส่วน ม.หอการค้าเน้น สร้างนิสิตด้านเศรษฐศาสตร์อาเซียน ขณะที่อธิการบดี ม.เกษตรฯ มั่นใจ “ลอจิสติกส์-วิทยาลัยพยาบาล” สอดคล้องตลาดแรงงาน ม.ศรีปทุมติดอาวุธบัณฑิต 4 ด้าน จับมือมหา’ลัยในอาเซียนสร้างความโดดเด่น

ทีม special scoop นำเสนอเรื่องระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามาแล้ว 2 ตอน ตอนแรก “ม.เอกชนป่วน! หลายแห่งรอปิดกิจการ หลังถูก ม.รัฐเปิดภาคพิเศษชิงตลาดนักศึกษาจบใหม่” ตอนที่ 2 “สกอ.ตีตรา “ป.ตรี” จบศูนย์ฯ หวั่นไร้คุณภาพ สภาอุตฯ แจงวิธีคัดเลือก “เด็กเจ๋ง” เข้าทำงาน” และในตอนที่ 3 จะเป็นการนำเสนอการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาได้ตัดสินใจเลือกให้เหมาะกับตนเอง

แม้จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2557 ก็ตาม แต่เชื่อว่าปรากฏการณ์เคลื่อนย้ายทั้งด้านสังคม การค้า เศรษฐกิจ การเชื่อมโยง และการโยกย้ายของภาคแรงงาน ฯลฯ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในสังคมไทย โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากบัณฑิตที่จบออกมาจะต้องเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น การเรียนเพื่อใช้ในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป จึงส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องปรับหลักสูตร เพิ่มสาขาวิชาให้กว้าง และสอดรับกับตลาดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

มธ.ชูธงผู้นำเปิด “อาเซียนศึกษา” ป.โทแห่งแรกในไทย
 

รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพันธุ์ เวสสะโกศล คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า สังคมไทยมีความตื่นตัวต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2557 ที่จะถึงนี้ ซึ่งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษา ย่อมมีหน้าที่ในการเตรียมบุคลากรสู่สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทางคณะกรรมการอำนวยการของมหาวิทยาลัย พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ มองว่าวิทยาลัยนานาชาติฯ ควรเตรียมหลักสูตรอาเซียนศึกษาไว้รองรับ จึงทำให้วิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการเตรียมหลักสูตรนี้ขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการเตรียมหลักสูตรเป็นปี ได้ผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ซึ่งในกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียน และมีการเปิดให้วิจารณ์หลักสูตรในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายวิชาการ ฯลฯ

สำหรับหลักสูตรอาเซียนศึกษา อยู่ในปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ถือเป็นหลักสูตรใหม่ในระดับปริญญาโทของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จะมีการเปิดการเรียนการสอนในปี 2556 เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย และเป็นหลักสูตรที่ 2 ของโลกที่สอน “อาเซียนศึกษา” ต่อจากมาเลเซีย ซึ่งโดยปกติแล้ว เดิมหลักสูตรทั่วไปมักจะเป็นหลักสูตรที่เน้นเกี่ยวกับภูมิภาคศึกษาเท่านั้น แต่หลักสูตรนี้ไม่ได้ดูเพียงแค่ด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงด้านการพาณิชย์ด้วย เพื่อให้สร้างคนเข้าสู่โลกสมัยใหม่ได้อย่างรอบด้าน

ด้วยความเป็นธรรมศาสตร์ที่มีคณาจารย์ บุคลากรที่ทรงคุณวุฒิ สามารถเชิญมาสอนได้ จึงเป็นจุดเด่นของหลักสูตรนี้ ส่วนอาจารย์ประจำก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียน เช่น อาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง อีกทั้งยังมีการประสานงานกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และมีแผนจะเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาสอนในหลักสูตรนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเทศกลุ่มตะวันตก, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ ฯลฯ และหลังจากที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนพ้นตำแหน่ง ก็จะมาเป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

“หลักสูตรนี้ถูกพัฒนาจากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และปฏิบัติงานในด้านนี้ ไม่ได้เกิดจากนักการศึกษาทำ แล้วหยิบมาจากทฤษฎี ซึ่งจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ให้นำไปข้างหน้า”

ครอบคลุม 3 เสาหลักอาเซียน
 

คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกอีกว่า วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นผู้นำ เป็นผู้บุกเบิกการสอน “อาเซียนศึกษา” โดยมีจุดเด่นในส่วนของหลักสูตรที่เน้น 3 เสาหลักของอาเซียนเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านดังนี้ 1. การค้าเศรษฐกิจ 2. สังคม วัฒนธรรม 3. การเมือง ต่างจากบางหลักสูตรที่เน้นเพียงเศรษฐกิจ การค้าเท่านั้น

ดังนั้นผู้ที่เรียนจะมีความรู้ความเข้าใจในตัวองค์กร หรืออาเซียน ขณะเดียวกันก็มีความรู้ความเข้าใจในภูมิภาคของทั้ง 10 ประเทศสมาชิก และจะมีความรู้เรื่องของภาษาอาเซียนด้วย เนื่องจากตามหลักสูตรกำหนดให้นักศึกษาเลือกเรียนภาษาเพิ่มในส่วนของภาษาอาเซียน 1 ภาษา เช่น อินโดนีเซีย, พม่า, เวียดนาม เพราะมองว่าภาษาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจ เป็นตัวนำที่ดี ในการที่จะทำให้บัณฑิตทุกคนพร้อมไปทำงานได้

โดยผู้ที่จบหลักสูตรนี้สามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ หรือต่อยอดในอาชีพที่ต้องการ หรือกลายเป็นผู้ประกอบการ หรือทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ ได้หลากหลาย ต่างจากที่อื่นตรงที่หลายแห่งส่วนใหญ่จะเน้นเฉพาะทาง และแทรกวิชาที่เกี่ยวกับอาเซียนเข้าไปเท่านั้น แต่ยังไม่มีที่ไหนสอนโดยตรงเป็นองค์รวมเหมือนหลักสูตรนี้

ขณะเดียวกันการเปิดสอนหลักสูตรนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะแค่ทำหลักสูตรก็ 1 ปีแล้ว โดยมีการนำหลักสูตรมาวิเคราะห์ วิจารณ์ กันมากมาย และระดับ ป.โท ยิ่งเพิ่มความยากมากขึ้น หากไม่พร้อมก็ทำไม่ได้ จึงส่งผลให้หลายมหาวิทยาลัยใช้วิธีการแทรกวิชาเข้าไปแทน หรือเปิดศูนย์อาเซียนศึกษาจะง่ายกว่า เร็วกว่า ซึ่งที่ ม.ธรรมศาสตร์ ก็มีศูนย์อาเซียน ซึ่งเปิดได้เร็วกว่าการเปิดหลักสูตร เพราะเมื่อเปิดศูนย์ก็สามารถดำเนินกิจกรรมในเชิงศึกษา อบรม ให้บริการด้านข้อมูลได้ทันที

ศูนย์วิชาการอาเซียน
 

ด้วยจุดเด่นของหลักสูตร และการตื่นตัวของโลกที่มีต่อการเปิดเออีซี ทำให้มีผู้สนใจจากนานาประเทศติดต่อเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่น, อเมริกา, ออสเตรเลีย ฯลฯ มีความหลากหลายของสาขาวิชาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ทำงานแล้ว และรู้ว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตนเองได้อย่างไรจากการเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดในสายงานต่างๆ ขณะที่ทางหลักสูตรตั้งเป้าผู้เรียนจำกัด 35 คนต่อรุ่น เรียน 2 ปี เรียนตอนเย็น กับเสาร์-อาทิตย์ เพราะต้องการเน้นคนทำงาน ส่วนค่าเล่าเรียนรวม 200,000 บาท พร้อมพาไปทัศนศึกษาที่ประเทศกลุ่มอาเซียน

“ก้าวต่อไปของวิทยาลัยนานาชาติฯ นอกจากการเปิดการเรียนการสอนแล้ว เราจะเป็นศูนย์กลางของนักวิชาการด้านอาเซียน นอกจากทำงานวิจัย เขียนตำรา ก็มาถ่ายทอดด้วยการสอน ในโปรแกรมนี้อาจจัดอบรมตามความต้องการสำหรับบุคคลทั่วไป” คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ
 
 

 
 
มุ่งสร้างผู้บริหารสาธารณสุขอาเซียน
 

ด้าน พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชาการ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหิดล และประธานหลักสูตรการจัดการสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติเน้นการทำวิจัย) กล่าวว่า หลักสูตรการจัดการสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต เป็นหลักสูตรปริญญาโทที่มีการเปิดสอนมาแล้วกว่า 28 ปี และได้มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการปรับเนื้อหาให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความเป็นอาเซียนมากยิ่งขึ้น

โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการ ผู้ที่เรียนจบจะสามารถบริหารงานในรูปของการป้องกันมากกว่าการรักษา ซึ่งเป็นการลดต้นทุนของการรักษาพยาบาลได้อย่างมหาศาล จุดเด่นของหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรเตรียมนักบริหารสาธารณสุขเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้บริหารสาธารณสุขในอนาคต

สำหรับหลักสูตรการบริหารสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต (Master of Primary Health Care Management) ได้เริ่มดำเนินการจากความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ Japan International Corporation Agency หรือ JICA ที่มอบทุนเพื่อการพัฒนาโครงการ และให้ทุนการศึกษากับประเทศอาเซียนมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนโดยทุนส่วนตัวมากขึ้นเป็นลำดับ มีค่าใช้จ่ายปีละ 140,000 บาทขึ้นไป

ขณะที่จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือการใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปี รวมการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งหมายถึงการออกแบบการเรียนการสอนที่ต้องเอื้อให้เกิดกระบวนการการค้นคว้า โจทย์วิจัยไปในเวลาเดียวกัน ประกอบกับการลงแรงของคณาจารย์ที่ต้องใส่ใจดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด โดยสถาบันฯ จัดให้มีหอพักนักศึกษาภายในสถาบัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นคว้าและทำงานร่วมกัน ลดเวลาในการเดินทาง ทำให้นักศึกษามีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริง ซึ่งประสบการณ์ที่นักศึกษาได้รับ จะส่งผลเมื่อยามกลับภูมิลำเนา นักศึกษาจำนวนมากได้เป็นผู้บริหารองค์กรระดับต่างๆ ที่สถาบันฯ ยังคงเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายในการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐาน

ส่วนความเป็นอาเซียนนั้น สถาบันฯ มีโอกาสรับนักศึกษาจากกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งมีสมาชิกจากนานาประเทศทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ซึ่งแสดงถึงความเป็นนานาชาติ ที่ทำให้นักศึกษาสามารถบูรณาการเนื้อหาด้านการสาธารณสุขของนานาประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์กับบริบทของบ้านเมืองตนเองได้เป็นอย่างดี
ด้วยกระบวนการเรียนการสอนที่หลากหลาย อาทิ การศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม การสาธิต การแก้ปัญหาจากประสบการณ์ตรง ล้วนถูกออกแบบให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกันด้วยการสื่อสารสองทางทั้งจากกลุ่มเพื่อน ชุมชน และคณาจารย์ที่มีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

ส่วนแผนในอนาคตนั้น สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน จะขยายฐานความเป็นศูนย์กลางการเรียนสู่ด้านสาธารณสุขมูลฐานและสุขภาพชุมชนสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยกลไกการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนและนานาชาติ
 
 

 
 
เจาะลึกเศรษฐศาสตร์อาเซียน
 

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มณฑา ตั้งหลักมงคล ประธานคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรคณะเศรษฐศาสตร์ กลุ่มวิชาเศรษฐศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงการเปิดสาขากลุ่มวิชาเศรษฐศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า ทางคณะเห็นว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบใกล้มาถึงแล้ว เรื่ององค์ความรู้ด้านนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งภาครัฐบาล และเอกชนต่างต้องการบุคลากรที่มีความรู้ในด้านนี้

ประกอบกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความพร้อม จึงทำให้จัดตั้งกลุ่มวิชาเศรษฐศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยตรงขึ้น โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในภาคของเอกชน และนักวิชาการนอก ร่วมกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยในการร่างหลักสูตร เพื่อมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้ตรงต่อความต้องการของตลาด โดยเปิดในปี 2555 ที่ผ่านมา นักศึกษาจะสามารถเลือกเรียนสาขาเอกได้ในปี 3 โดยค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรอยู่ที่ประมาณ 245,000 บาท หรือหน่วยกิตละ 1,400 บาท เท่ากับสาขาอื่นในคณะเศรษฐศาสตร์

นอกจากความโดดเด่นในเรื่องของการสอนนิสิตให้ตรงต่อความต้องการของตลาดแล้ว ยังเน้นการเจาะลึกในทุกรายวิชา ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเงิน การตลาด ฯลฯ และโดยพื้นฐานนักศึกษาจะมีความรู้ในเชิงทฤษฎี แต่นักศึกษาของเราต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์เป็น พร้อมทั้งมีการฝึกปฏิบัติจริง

นอกจากนี้สาขานี้จะเน้นเรื่องของภาษา ผู้เรียนจะต้องเลือกเรียนภาษาอาเซียน หรือภาษาที่ใช้ในอาเซียน เป็นวิชาโท 1 ภาษา เช่น ภาษาอินโดนีเซีย, ภาษาจีน ฯลฯ เนื่องจากผู้ที่จบจะมีทักษะด้านภาษา 2 ภาษา คือ ภาษาที่ใช้ในอาเซียน และภาษาอังกฤษ ประกอบกับความรู้ จึงสามารถทำงานได้ในตลาดอาเซียนอย่างแท้จริง เพราะหากเข้าไปในระดับท้องถิ่น ประชากรหลายประเทศก็ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

เกษตรฯ โชว์ “ลอจิสติกส์-สาธารณสุข” นำอาเซียน
 

ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งแม้จะยังไม่เจาะจงสร้างหลักสูตร หรือภาควิชาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนขึ้น แต่เห็นถึงความตื่นตัว และความสำคัญในการรวมกลุ่มของอาเซียนที่กำลังจะมาถึง พบว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการปรับหลักสูตร เพิ่มวิชา ฯลฯ ให้สอดรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เช่นกัน

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า ทางมหาวิทยาลัยเห็นถึงความสำคัญ และได้เตรียมความพร้อมนักศึกษามานานแล้ว โดยเน้นการสอนภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะการฟัง เนื่องจากเชื่อว่าหากฟังได้ก็จะเข้าใจความหมาย และเพิ่มความเข้มข้นในด้านไอทีในทุกคณะของมหาวิทยาลัย

“เด็กที่เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในปัจจุบันเป็นที่น่าหนักใจในเรื่องของภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่ยังไม่แข็งแรง ยังอ่อนอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน แม้ทางมหาวิทยาลัยจะเน้นมากขึ้น แต่ตัวของนักศึกษาเองก็ควรต้องใฝ่รู้ด้วยตนเองด้วย เช่น ดูจากภาพยนตร์, ฝึกทางออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมเครื่องมือในการเรียนรู้นอกห้องเรียนไว้อำนวยความสะดวก และสอดรับกับการเรียนรู้ไว้”

ส่วนของสาขาที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความโดดเด่น และเล็งเห็นว่าจะสอดรับการเติบโตในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ถือเป็นโอกาสมี 2 สาขาดังนี้ 1. ด้านลอจิสติกส์ ระดับ ป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่น เนื่องจากครบทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ พาณิชย์นาวี, ทางอากาศ อยู่ในภาควิชาวิศวกรรมการบิน และอวกาศ, ทางบก เช่น สอนเรื่องระบบรางระบบใหม่ หลักสูตรมีความทันสมัย มองว่าสามารถตอบโจทย์การเติบโตของอาเซียนได้ เนื่องจากจะมีการขนส่งระหว่างกันมากขึ้น ผู้ที่จบสามารถทำงานด้านลอจิสติกส์ได้ในระดับอาเซียน

สาขาที่ 2 คือวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ในระดับ ป.โทของมหาวิทยาลัย สร้างชื่อเสียงโดยผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข และได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ เช่น มีนักศึกษาจากประเทศอินโดนีเซียมาเรียนแล้ว 2 รุ่น และหากผลตอบรับดีคาดว่าจะเปิดสอนเพิ่มในระดับ ป.ตรี และ ป.เอก ต่อไป
 
 

 
 
“ศรีปทุม” ติดอาวุธบัณฑิต 4 ด้าน
จับมือมหา’ลัยในอาเซียนสร้างความเด่น
 

ด้าน ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า วันนี้มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบัณฑิตออกไปเพื่อเป็นบัณฑิตของประเทศเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องผลิตให้เป็นบัณฑิตสากล ซึ่งมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันได้กับบัณฑิตจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน

ส่วนของมหาวิทยาลัยศรีปทุมมีแนวทางในการเตรียมความพร้อมบัณฑิต 4 ด้าน คือ 1. ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพในบริบทสากล 2. ความสามารถด้าน IT 3. ความเป็นนานาชาติ ทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม และ 4. ความรับผิดชอบต่อสังคม

ในทุกหลักสูตรทั้งหมด 90 หลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยมีการปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์อาเซียน โดยเพิ่มวิชาภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ และความรู้ของวิชาชีพในบริบทอาเซียนเข้าไป โดยเฉพาะหลักสูตรที่คู่สัญญาของมหาวิทยาลัยในอาเซียน และอาเซียนบวก 3 ให้ความสนใจ เช่น สาขาในคณะดิจิตอลมีเดีย, สาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบริการ, สาขาทางด้านลอจิสติกส์ ซึ่งมีทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ก็ได้รับความสนใจจากต่างประเทศมาก

“มหาวิทยาลัยศรีปทุมเน้นเปิดหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น และด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการสร้างหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยนานาชาติเป็นจำนวนมากในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ จีน พม่า เป็นต้น”

อย่างไรก็ดี ในการร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้ ม.ศรีปทุมสามารถสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาของสถาบันในการเลือกที่จะมีความรู้ในบริบทของต่างประเทศได้อย่างดี นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรที่เป็นความต้องการของอาเซียนเป็นจำนวนมากด้วย
 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น