xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิ ป.ตรี 15,000 บาทยังเป็นแค่ตัวเลข! ขรก.-รัฐวิสาหกิจตั้งตารอ “ตกเบิก”-ลูกจ้างหน่วยงานรัฐฝันสลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
สำรวจนโยบายขึ้นค่าแรง วุฒิปริญญาตรี 15,000 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และพนักงานของรัฐ ส่วนใหญ่ได้รับเพียงตัวเลข ขณะที่หน่วยงานยันมี “ตกเบิก” หรือจ่ายย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ส่วนพวกลูกจ้างเหมาปฏิบัติงานราชการวุฒิ ป.ตรี ฝันสลาย! ด้านข้าราชการหวั่นรับ 15,000 โดยการบวกเป็นค่าครองชีพ ไม่มีความมั่นคง สามารถยกเลิกได้ทันที ชี้นโยบายนี้แค่หาเสียงดูดคนลงคะแนน ด้านภาคเอกชนไม่จ่าย 15,000 บาท เว้นสายงานเฉพาะทาง

ผลจากนโยบายประชานิยมหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ชูประเด็นขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน และปรับขึ้นค่าจ้างข้าราชการวุฒิปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่มีเงินเดือนอยู่ที่ 11,680 บาท และจากการประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) วุฒิปริญญาตรีเงินเดือนแรกบรรจุ บวกค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อเดือน ปริญญาโท 17,500 บาทต่อเดือน ปริญญาเอก 21,000 บาทต่อเดือน จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา

โดยนโยบายดังกล่าวล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน (31 ตุลาคม 2555) และจากการสุ่มสำรวจอัตราค่าจ้างวุฒิปริญญาตรีของกระทรวงต่างๆ, หน่วยงานในสังกัดกระทรวง อาทิ องค์การมหาชน, รัฐวิสาหกิจ, ภาคเอกชน กลับพบว่านโยบายนี้ยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จะมีก็เพียงตัวเลขที่ข้าราชการ บวก ลบ คูณ หาร กันเองว่าหากมีการ “ตกเบิก” ตามที่หน่วยงานในสังกัดบอกกล่าวอย่างไม่เป็นทางการ จะได้รับเงินเพิ่มคนละเท่าไร

ข้าราชการหลายหน่วยมีเฮ!ได้ 15,000
 

เริ่มจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พนักงานราชการ วุฒิปริญญาตรี ได้อัตราค่าจ้างแรกเข้าอยู่ที่ 11,680 บาท+ค่าครองชีพ ให้ถึง 15,000 บาท ลูกจ้างประจำ 11,680 บาท +ค่าครองชีพให้ถึง 15,000 บาท

ขณะที่ลูกจ้างเหมาปฏิบัติงาน ส่วนนี้ไม่ยึดวุฒิการศึกษา ดูที่เนื้องานมากกว่า วุฒิปริญญาตรี อัตราค่าจ้างประมาณ 12,000-15,000 บาท สัญญาปีต่อปี แต่ละกองอัตราค่าจ้างไม่เท่ากัน ในส่วนนี้ไม่มีสวัสดิการให้ ไม่มีประกันสังคม วงเงินเหมาครอบคลุมค่าจ้างทั้งหมด

ต่างจากลูกจ้างชั่วคราวที่เบิกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ เช่น ทำงานต่างจังหวัด ฯลฯ แม้การจ้างจะเป็นแบบปีต่อปี ค่าจ้างตามกฎสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่ไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี

สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บรรจุวุฒิปริญญาตรีทั่วไป อยู่ที่ 13,000 บาทในกรณีไม่มีประสบการณ์+ค่าครองชีพ ให้ได้ 15,000 แต่หากมีประสบการณ์ก็จะเพิ่มค่าประสบการณ์ด้วย แต่หากเกิน 15,000 บาท ก็จะไม่มีค่าครองชีพ ส่วนปริญญาโทอยู่ที่ 18,000 บาท ปริญญาเอกอยู่ที่ 30,000 บาท ด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์วุฒิ ป.ตรีอยู่ที่ 15,500 บาท ปริญญาโทอยู่ที่ 20,000 บาท ปริญญาเอกอยู่ที่ 30,000 บาท ซึ่งในอดีตจะอยู่ที่อัตรา ป.ตรีทั่วไป 11,000 บาท ปริญญาโท 17,000 บาท

ส่วนด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์วุฒิ ป.ตรีอยู่ที่ 14,000 บาท ป.โท 19,000 บาท มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ระบบการจัดการจะกำหนดเอง คณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณา แม้อิงอยู่กับราชการ แต่ก็มีปัจจัยด้านอื่นๆ ให้พิจารณา เช่น เงินรายได้, การตัดสินใจของคณะกรรมการ ฯลฯ มีการปรับขึ้นเงินเดือนทุกปี

กระทรวงอุตสาหกรรม เงินเดือน ป.ตรีข้าราชการแรกเข้าอยู่ที่ 11,680+ค่าครองชีพ ให้ได้ 15,000 บาท มีการพิจารณาขึ้นเงินเดือน 2 รอบในเดือนเมษายน และตุลาคม ส่วนของลูกจ้างประจำ มักจะรับวุฒิที่ต่ำกว่า ป.ตรี ส่วนของจ้างเหมาจะพิจารณาขึ้นอยู่กับงานมากกว่าวุฒิการศึกษา ส่วนของลูกจ้างชั่วคราว อิงกับอัตราค่าจ้างข้าราชการ สัญญาจ้าง 1 ปี แต่ตอนนี้การจ้างลูกจ้างชั่วคราวน้อยลง จะหันมาจ้างแบบเหมามากกว่า แล้วแต่โครงการ

 
กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของลูกจ้างชั่วคราว แล้วแต่กรมว่าจะขึ้นระเบียบไหน ซึ่งโดยทั่วไปวุฒิ ป.ตรี สายงานทั่วไป อัตราค่าจ้างเริ่มต้นอยู่ที่ 9,530 บาทต่อเดือน+ค่าครองชีพ ให้ได้ 15,000 บาท พยาบาลวิชาชีพ อยู่ที่อัตรา 11,760+เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งด้านสาธารณสุข (พตส.)+ค่าครองชีพ ให้ได้ 15,000 บาท สัญญาจ้างปีต่อปี

ส่วนของพนักงานราชการ วุฒิ ป.ตรี กลุ่มบริหารงานทั่วไป อัตราค่าจ้าง 14,020+ค่าครองชีพชั่วคราวจำนวน 980 บาท เป็น 15,000 บาท กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ อาทิ พยาบาล ได้ 15,190 บาท ไม่มีค่าครองชีพ

ขณะที่ข้าราชการสาธารณสุขอัตราค่าจ้างเริ่มต้น วุฒิ ป.ตรี อยู่ที่ 11,680+ค่าประสบการณ์ เฉพาะแรกเข้า+ค่าครองชีพ ในกรณีที่ไม่เกิน 15,000 บาท ส่วนข้าราชการพยาบาลที่จบ ป.ตรี 4 ปี บรรจุตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 ได้อัตราค่าจ้างที่ 11,680-12,850 บาทต่อเดือน+ค่าครองชีพ ให้ได้ 15,000 บาท+ใบประกอบวิชาชีพ+ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข การจ้างงานยังมีรายละเอียดต่างๆ ตามสายงาน ในการพิจารณาเงินเดือน และในส่วนของหน่วยงาน หรือในส่วนของต่างจังหวัดก็ต้องขึ้นกับการส่งเรื่อง อาจมีความล่าช้าในการให้ค่าครองชีพ แต่ก็จะมีผลย้อนหลังตั้งแต่มกราคม 2555

ส่วนของข้าราชการตำแหน่งครู วุฒิ ป.ตรี ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ได้อัตราเงินเดือน 8,340+ค่าครองชีพ เป็น 15,000 บาท พอถึงปี 2557 อัตราเงินเดือนจะเป็น 15,000 บาท

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับข้าราชการเรื่องอัตราเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีที่รัฐบาลรับปากกับประชาชนตอนหาเสียงว่าจะขึ้นให้เป็นเงินเดือนจริง 15,000 บาทต่อเดือน แต่กลับทำได้เพียงให้เป็นค่าครองชีพชั่วคราวแทน กว่าจะให้เป็นตัวเงินเดือนได้จริงก็ต้องรอนานถึงปี 2557 ทำให้ผู้ที่ได้รับเกิดความไม่มั่นใจ ในความมั่นคงของรายได้ดังกล่าว

ทั้งนี้เพราะปกติหากได้รับตัวเงินเดือน จะไม่มีการลดเงินเดือนลง แต่หากได้รับเป็นค่าครองชีพอาจไม่จ่ายเมื่อไรก็ได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น เช่น เปลี่ยนรัฐบาล, เกิดวิกฤตทางการเงิน เป็นต้น

ส่วนอีกประเด็นที่ทำให้ผู้รับราชการบางคนเกิดความรู้สึกไม่ดีนั้นก็คือ การที่ข้าราชการที่เข้ามาปฏิบัติงานก่อนที่นโยบายวุฒิ ป.ตรี 15,000 บาทจะมีผลบังคับใช้ นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากที่รับเงินเดือน 15,000 บาทอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้ค่าครองชีพ ซึ่งต่างจากเด็กใหม่ที่เพิ่งเข้ามาจะได้ค่าครองชีพและรับเงิน 15,000 บาทเท่ากับคนกลุ่มดังกล่าว

รัฐวิสาหกิจบอกได้แต่ตัวเลข
 

ด้านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาล หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของทุนเกินกว่าร้อยละ 50 มีการบริหารงานอยู่ระหว่างระบบราชการและระบบธุรกิจ เป็นอีกส่วนงานหนึ่งที่ได้ปรับขึ้นเงินเดือนวุฒิ ป.ตรี ในลักษณะของค่าครองชีพชั่วคราว เป็น 15,000 บาทต่อเดือน พบว่า

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อัตราเงินเดือนวุฒิ ป.ตรีแรกเข้า เดิมอยู่ 10,810+ค่าครองชีพไม่เกิน 1,500 บาท แต่ต้องไม่เกิน 11,700 บาท ต่อมา 1 เมษายน 2554-ธันวาคม 2554 มติเงินเดือน+ค่าครองชีพ ขยายจาก 11,700 เป็น 12,285 บาท ส่วนของบรรจุปีที่แล้วขั้นต่ำอัตราค่าจ้างไม่ถึง 12,285+ค่าครองชีพต้องไม่เกิน 1,500 บาท ขณะที่อัตราค่าจ้าง 1 มกราคม 2555 เงินเดือนแรกเข้า ป.ตรี+ค่าครองชีพ ให้ถึง 15,000 บาท โดยเงินเดือนแรกเข้าอยู่ที่ 12,001+ค่าครองชีพ แต่ในส่วนของค่าครองชีพพนักงานยังไม่ได้รับจริง คาดว่าจะได้รับอย่างเร็วประมาณสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งจะให้ย้อนหลังนับจากเดือนมกราคม 2555

ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า พนักงานของ กฟภ.วุฒิ ป.ตรี ได้รับแต่เพียงเงินเดือนจริง ส่วนที่จะเพิ่มขึ้นมาที่เป็นค่าครองชีพให้ครบ 15,000 บาทตามนโยบายนั้น ก็มีเพียงตัวเลขที่พนักงานทุกคนจะได้รับในอนาคตเท่านั้น

ส่วนของการประปานครหลวง พนักงานประจำวุฒิ ป.ตรี อัตราค่าจ้างอยู่ที่ 10,740+ค่าครองชีพ ให้ได้ 15,000 บาท นั้นที่ผ่านมาได้รับเพียงแค่ตัวเงินเดือน ส่วนค่าครองชีพนั้น ผู้บริหารแจงว่าจะมีการให้ย้อนหลังตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ในส่วนที่ขาด โดยจะเริ่มจ่ายได้จริงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง

ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อัตราค่าจ้าง ป.ตรี อัตราแรกเข้า พนักงานทั่วไป จะสูงกว่านโยบายวุฒิ ป.ตรี ของรัฐบาลโดยมีอัตราจ่ายจริง อยู่ที่ประมาณ 15,000+ค่าครองชีพ แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

 
“เอกชน” ยังไม่ให้ ป.ตรี 15,000 บาท
 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอัตราค่าจ้างวุฒิปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน ไม่ได้บังคับใช้ตามกฎหมาย ภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายในอัตราจ้างดังกล่าว แต่ผลของการขึ้นเงินเดือนราชการ และอัตราค่าแรง 300 บาทต่อวัน ที่สูงขึ้น 40% ก็เป็นส่วนที่ทำให้อัตราค่าจ้าง และตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลกำหนดให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ย่อมส่งผลให้อัตราค่าจ้างวุฒิการศึกษาอื่นๆ ปรับขึ้นตามไปด้วย อย่าง ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ก็ต้องได้ค่าแรงขึ้นเป็นหมื่นกว่าบาท

ส่วนของวุฒิ ป.ตรีก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และตามแนวทางที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างวุฒิ ป.ตรีราชการให้เป็น 15,000 บาทต่อเดือน ภาคเอกชนก็จะจ้างอยู่ที่ประมาณ 13,000-14,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่อยู่ประมาณ 10,000-12,000 บาท

ส่วนสายวิชาชีพบางสายที่มีความต้องการของตลาดก็มีค่าจ้างเกินแล้ว เช่น ปิโตรเคมี จะอยู่ที่ประมาณ 17,000-20,000 บาทขึ้นไป จะพิจารณาจากสถาบันการศึกษา, เกรดที่จบออกมา, ประสบการณ์ทำงาน, ความสามารถ ฯลฯ

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกถึงอัตราค่าจ้างวุฒิ ป.ตรี 15,000 บาทต่อเดือนว่า ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่มีการปรับตัวโดยการขึ้นค่าจ้างวุฒิ ป.ตรีในสาขาทั่วไป แม้รัฐบาลไม่ได้ประกาศบังคับใช้ก็ตาม เนื่องจากหากไม่ปรับอัตราเงินเดือนขึ้น คนเก่งๆ มีความสามารถ ก็จะหันไปทำงานราชการแทน

ในกรณีคนเก่งค่าจ้างบริษัทใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 15,000-17,000 บาทต่อเดือน คาดว่าในระยะกลางปีหน้า-2 ปีข้างหน้า อัตราค่าจ้าง ป.ตรีของธุรกิจขนาดกลาง และขนาดใหญ่จะตั้งต้นที่ 14,000-15,000 บาทต่อเดือน ส่วนของวุฒิ ปวช. ปวส. จะอยู่ที่ 10,000-12,000 บาทต่อเดือน และแนวโน้มจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น หรืออาจทดแทนแรงงานคน

ในส่วนของ นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุถึงการประชุมคณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรมจังหวัด ส.อ.ท. ประเด็นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันว่า จากการที่เอกชนต้องแบกรับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมากแล้ว แต่การจะปรับขึ้นอีก 40% เป็นเรื่องที่ธุรกิจรับไม่ไหว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม ที่เป็นธุรกิจจำนวนมากของประเทศ แต่หากถามว่าตอนนี้มีโรงงานปิดไปเยอะแล้วหรือยัง คงต้องตอบว่าไม่มาก เพราะไม่ว่าใครก็ต้องกัดฟันพยายามพยุงธุรกิจของตนให้อยู่รอด

อีกทั้งการที่ภาคเอกชนจากทั่วประเทศในนามของประธานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 70 จังหวัดเดินทางมามอบจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการบอกข้อเท็จจริงของภาคธุรกิจที่ต้องแบกรับ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น และขอให้เลื่อนการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไปก่อน เพราะเชื่อว่าหากมีการเยียวยาก็จะไม่ทัน อาจส่งผลให้ธุรกิจต้องปิดตัวลง

“การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ค่าใช้จ่ายย่อมไปตกที่ตัวสินค้า ซึ่งผู้ที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายก็คือ ผู้บริโภค แต่ทั้งนี้หากภาคเอกชนขึ้นค่าผลิต ก็จะส่งผลให้คู่ค้าหันไปสั่งผลิตสินค้าที่ประเทศอื่นแทน”

ขณะที่ประเด็นการขึ้นเงินเดือนราชการวุฒิ ป.ตรี 15,000 บาทต่อเดือน ไม่ได้มีผลบังคับไปยังภาคเอกชน จึงเห็นว่าควรเป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่า เช่น หากเป็นวิชาชีพที่ต้องการในพื้นที่นั้นๆ ก็จะมีอัตราค่าจ้างที่ปรับขึ้น เป็นต้น

สำหรับข้อมูลที่ได้ทำการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับเงินเดือน+ค่าครองชีพรวม 15,000 บาทต่อเดือนแล้วบางแห่ง ขณะที่บางแห่งยังไม่ได้ แต่ทุกหน่วยงานต่างทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐมีความหวังว่าจะมีการ “ตกเบิก” ซึ่งหมายถึงมีการย้อนหลังให้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 จนถึงปัจจุบัน ส่วนลูกจ้างเหมาปฏิบัติงานของหน่วยราชการแม้จะมีวุฒิ ป.ตรีก็อาจไม่ได้ถึง 15,000 บาทต่อเดือน เพราะหน่วยงานรัฐต่างๆ อ้างเป็นการจ้างเหมาตามเนื้องาน
ส่วนภาคเอกชนไม่สามารถสนองนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอัตราจ้างวุฒิ ป.ตรี ที่ 15,000 บาทต่อเดือนได้ ยกเว้นสายงานที่มีความต้องการสูงเท่านั้น หรือองค์กรใหญ่ที่ต้องการดึงตัวคนเก่งเข้าร่วมงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น