xs
xsm
sm
md
lg

ไม่รับรอง ‘ปริญญาบัตร AIT’บานปลาย! นักศึกษาต่างชาติหวั่นกระทบเหมือนเด็กไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภวัต ตรัยพัฒนากุล อดีตประธานนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT(Asian Institute of Technology)
 
ประชาคม AIT ทุกภาคส่วนตื่นตัวจี้กระทรวงต่างประเทศเร่งจัดประชุม Board of Trustees แก้ปัญหาปริญญาบัตรไม่ถูกกฎหมายไทย ชี้บรรดานักศึกษาต่างชาติหวั่นจะได้รับผลกระทบเหมือนนักศึกษาไทย ด้านสมาคมนักเรียนเก่า AIT (ประเทศไทย) แจงความเห็นกฤษฎีกาตีความกฎหมายกฎบัตรเก่า-ใหม่ละเอียดยิบ ชี้คณะมนตรี (Council) ออกปริญญาภายใต้กฎบัตรใหม่เป็นการทำผิด พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 พร้อมตั้งคำถาม “ลอรีเอต” ว่าจ้างหรือสมยอม

หลังจากนักศึกษาปริญญาโท-เอก ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT (Asian Institute of Technology) ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อหาทางออกของปัญหาปริญญาบัตรที่อยู่ภายใต้กฎบัตรใหม่ หรือ AIT-IO ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมายไทย ทำให้นักศึกษากว่า 200 คน ไม่สามารถนำไปใช้ปรับวุฒิและสมัครงานในระบบข้าราชการไทยได้

โดยกลุ่มนักศึกษาได้ยื่นหนังสือต่อผู้บริหารสถาบันเอไอที-กระทรวงการต่างประเทศ-กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2555 และสัปดาห์ต่อมากลุ่มสภาอาจารย์และพนักงานกว่า 100 คนก็ร่วมลงชื่อและยื่นหนังสือตอกย้ำให้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

โดยทิศทางความเห็นต่อกรณีดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ กลุ่มนักศึกษาและสภาอาจารย์-พนักงานเอไอทีจำนวนหนึ่ง ต้องการให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสูงสุดของเอไอที หรือ Board of Trustees (BOT) ตามกฎบัตรเก่า เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ ของสถาบัน และดำเนินงานในสถาบันระหว่างรอกระบวนการเปลี่ยนแปลงเอไอทีตามกฎบัตรใหม่ จนกว่ารัฐบาลไทยจะลงสัตยาบัน และออก พ.ร.บ.ที่รองรับกฎบัตรใหม่

ขณะที่ ศ.ซาอิด อิรานดุส อธิการบดีสถาบันเอไอที ยืนกรานที่จะให้คณะมนตรี (Council) บริหารงานสถาบันภายใต้กฎบัตร AIT-IO ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2555 โดยขณะนั้นมีผู้ลงนามและให้สัตยาบันทั้งหมด 7 ประเทศ ส่วนประเทศไทยลงนามแล้วแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน

โดยนายอิรานดุสอ้างว่ากลุ่มนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่ยังสามารถนำปริญญาบัตรที่มีการลงนามตามกฎบัตรใหม่ไปใช้สมัครงานในบริษัทเอกชนได้ตามปกติ

เมื่อมีความเห็นไปคนละทาง เบื้องต้นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจึงต้องวิ่งเข้าหากระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง เพื่อหาทางออกโดยเร็วที่สุด และหลังจากนี้จะหาทางออกร่วมกันอย่างไร กลุ่มนักศึกษา และสมาคมนักเรียนเก่าสถาบันเอไอที (ประเทศไทย) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีความขัดแย้งที่ผ่านมา และบอกถึงแนวทางการเคลื่อนไหวกับทีม Special Scoop ดังนี้
นายธานินทร์ บำรุงทรัพย์ นายกสมาคมนักเรียนเก่าสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (ประเทศไทย)
 
'นักศึกษา-อาจารย์-พนักงาน' จ่อรวมตัวแสดงจุดยืน

นายภวัต ตรัยพัฒนากุล อดีตประธานนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT (Asian Institute of Technology) กล่าวถึงจุดยืนของนักศึกษาประเด็นการไม่รับรองใบปริญญาว่า ทางนักศึกษา AIT จะดำเนินการเคลื่อนไหวต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการรับรองใบปริญญาที่ถูกต้อง โดยมีการพูดคุย ปรึกษาระหว่างนักศึกษาถึงแนวทางในการเดินหน้าร่วมกัน ปัจจุบันนักศึกษาก็เฝ้ารอผลของกระทรวงการต่างประเทศอยู่ด้วย โดยหวังว่าจะมีผลตอบกลับ แต่ถ้าไม่มีก็จะวางแผนกันต่อไปว่าจะเดินหน้าอย่างไร และจะมีการเคลื่อนไหวโดยประเมินสถานการณ์เป็นช่วงๆ นักศึกษาพร้อมจะเดินหน้า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2555 นี้

“ครั้งต่อไปกลุ่มนักศึกษาจะรวมตัวกับกลุ่มอาจารย์และพนักงานของสถาบันเอไอที โดยขณะนี้ปริมาณนักศึกษาและอาจารย์ ที่มีจุดยืนตรงกันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาอาจารย์และเจ้าหน้าที่จะไม่ค่อยกล้าออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบจากการมีฐานะเป็นลูกจ้าง แต่ในส่วนของนักเรียนหากเปรียบสถาบันเป็นบริษัท นักศึกษาก็คือลูกค้า เราจึงพยายามบอกเพื่อนนักศึกษาทุกคนว่าไม่ต้องกลัว เรากำลังเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง ในสิทธิที่เราพึงมี”

นอกจากนั้น ในวันที่นักศึกษาออกมาเรียกร้องครั้งล่าสุด ยังส่งผลให้ทางคณาจารย์ พนักงานมีการตื่นตัว และมีการเรียกร้องตามมา ซึ่งวันนี้ (30 ตค. 55) ก็มีการเคลื่อนไหวด้วยการแต่งชุดดำเข้าร่วมประชุม Instiute Forum ที่อธิการบดีจัดขึ้น โดยได้มีการพูดคุยกันระหว่างนักศึกษาตลอดเวลา มีการให้ข้อมูล เอกสาร ข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่นักศึกษากำลังกังวลอยู่ คือ เรื่องปริญญา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แม้จะมีประเด็นอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม

ส่วนทางออกที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) บอกมาแล้วว่าสามารถรับรองวุฒิได้ แต่ไม่สามารถรับรองใบปริญญาได้ โดยพูดในเชิงว่า ถ้าจะไปสมัครงาน หรือสมัครเรียนจะต้องติดต่อเป็นรายๆ ไป ซึ่งทางนักศึกษามองว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นปัญหามาก การแก้ปัญหาในลักษณะนี้เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่เราก็เข้าใจ สกอ. ว่าสามารถช่วยได้แค่นี้ เต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายนักศึกษาก็ยังได้รับผลกระทบเรื่องใบปริญญาอยู่ดี

 
นักศึกษาไทย-เทศ AIT ตื่นตัว!

อดีตประธานนักศึกษาสถาบัน AIT กล่าวต่อว่า ผลจากการไม่รับรองปริญญาย่อมกระทบโดยตรงต่อนักศึกษาไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่มาจากกระทรวงเกษตรฯ มาจากภาคหนึ่งของข้าราชการ มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่หน่วยงานส่งมาเรียน นักศึกษาเหล่านี้คือ คนที่รับราชการทั้งนั้น ฉะนั้นดีกรี หรือใบปริญญาสำคัญมากสำหรับคนเหล่านี้ แต่แท้จริงแล้วใบปริญญาย่อมสำคัญสำหรับทุกคน ในส่วนของนักศึกษาต่างชาติ จากการพูดคุยกันพบว่าขณะนี้นักศึกษาต่างชาติก็เริ่มมีความกังวลแล้วเหมือนกัน

“ยกตัวอย่าง ถ้านักศึกษาต่างชาติต้องการไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส พอไปยื่นใบปริญญา ทางมหาวิทยาลัยที่นั่นก็ต้องเช็กกลับมาทางรัฐบาลไทย เขาไม่ได้เช็กกลับมาที่ AIT โดยตรง และถ้าดีกรียังไม่ได้รับการรับรอง สุดท้ายนักศึกษาเหล่านั้นก็ไม่สามารถศึกษาต่อได้อยู่ดี ซึ่งนักศึกษาต่างชาติตระหนักถึงจุดนี้ อย่างทางทีวีในประเทศเวียดนามเองก็มีการรายงานข่าวเรื่องดีกรีของ AIT และไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาประเทศเวียดนามที่มีความกังวล แต่นักศึกษาชาติอื่นๆ ที่ได้คุยก็มีความกังวลเช่นกัน”

แน่นอนว่าวันนี้นักศึกษาไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้ ขณะที่นักศึกษาต่างชาติอาจยังไม่ได้รับผลกระทบ หรือบางคนอาจไม่ได้รับผลกระทบเลยก็เป็นได้ แต่ในอนาคตไม่มีใครการันตีได้ว่าจะไม่มีปัญหา ดังนั้นใบปริญญาที่ออกไปควรเป็นใบปริญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย นักเรียนทั้ง 100% ควรสามารถใช้ใบปริญญาได้อย่างแน่นอน โดยไม่มีปัญหาอะไรตามมาในอนาคต และหากนักศึกษามีปัญหาแค่คนเดียวก็ถือว่าผิดแล้ว

“ได้ถามนักศึกษาต่างชาติบางท่านว่ารู้สึกอย่างไร โกรธไหมที่นักศึกษาไทยออกมาเคลื่อนไหว เขาตอบว่ารู้สึกซาบซึ้งด้วยซ้ำไปที่นักศึกษาไทยเริ่มทำอะไรบางอย่างแล้ว เพราะเขาอยากทำแต่กลัว และไม่มีสิทธิ์ เพราะบ้านนี้ไม่ใช่บ้านเมืองของเขา เขาไม่รู้ระบบ แต่เห็นด้วยและดีใจที่เห็นนักศึกษาไทยเริ่มดำเนินการ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเขาจะมาร่วมกับนักศึกษาไทยหรือไม่ เพราะเขาอาจติดเรื่องสถานทูตไม่อนุญาตก็ได้” อดีตประธานนักศึกษาสถาบัน AIT กล่าว

 
ประชุม Board of Trustees ความหวังของ นศ.AIT

นายภวัตกล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการรับรองปริญญาบัตรว่า บางคนอาจคิดว่าแค่ให้รัฐบาลไทยลงสัตยาบันจะได้จบเรื่อง แต่คำถามคือ ไม่ใช่ว่าลงสัตยาบันเรียบร้อยแล้วดีกรีจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สิ่งที่บอกว่า AIT สามารถดำเนินการได้ถูกต้องตามกฎหมายคือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การลงสัตยาบันไม่ได้แปลว่า พ.ร.บ. จะออกมาทันที เพราะการจะออก พ.ร.บ.มาได้ ต้องใช้เวลาเป็นปี ต้องผ่านกระบวนการมากมายตามกฎหมายของไทย ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จภายในวันนี้พรุ่งนี้ได้

ดังนั้นการลงสัตยาบันในกฎบัตรใหม่จึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ณ ปัจจุบัน และไม่ได้บอกว่าการลงสัตยาบันไม่ดี เพียงแต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา

ขณะที่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดของเรื่องนี้คือ การเรียกคณะกรรมการอำนวยการ หรือ Board of Trustees กลับมา ตามคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีเดียวที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ตามกฤษฎีกาตีความเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในการบริหาร AIT ถูกต้องตามกฎหมาย มีอำนาจในการประสาทปริญญา และจะทำให้ใบปริญญาถูกต้องตามกฎหมายอย่างแน่นอน

อีกทั้งยังแก้ปัญหาด้านอื่นๆ ของ AIT ทำให้รัฐบาลไทยสามารถโอนเงินสนับสนุนต่างๆ ให้สถาบันได้ตามปกติ รวมถึงการที่บอร์ดกลับมาจะสามารถสร้างความกระจ่างในการบริหารงาน และเรื่องธรรมาภิบาล พอเคลียร์เรื่องต่างๆ เสร็จไป ก็มาคุยกันในประชาคม AIT ว่า กฎบัตรใหม่ กฎบัตรเก่า มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร

การเรียกประชุมบอร์ดในกฎบัตรเก่ามีอยู่ 2 แบบคือ 1. ให้ประธานบอร์ด คือ คุณเตช บุนนาค อดีตประธานสภามหาวิทยาลัย AIT เรียกประชุม แต่คุณเตช บุนนาค ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าหมดอำนาจลงแล้ว จึงต้องตัดทิ้งไป 2. ให้สมาชิกอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เรียกประชุมบอร์ด ปัจจุบันยังไม่รู้เลยว่าสมาชิกของเราคือใครบ้าง ข้อนี้จึงเป็นไปได้ยาก
 

แต่มีอีกวิธีการหนึ่ง คือ การให้กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้รักษาการแทนตาม พ.ร.บ. เป็นผู้เรียกประชุมบอร์ด ซึ่งนักศึกษาได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งเข้าใจว่าในมุมมองของกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่อยากก้าวก่ายงานภายใน แต่ก็หวังว่าเขาจะช่วยแก้ปัญหาให้กับนักศึกษา

“ในส่วนของคุณเตช บุนนาค ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่สามารถเรียกประชุมบอร์ดได้ เพราะจะทำให้เสียสัจจะและศักดิ์ศรี ซึ่งพวกเรามองว่าบางครั้งการให้ความสำคัญกับสัจจะและศักดิ์ศรีมากกว่าความเดือดร้อนของนักศึกษาก็ดูไม่ค่อยดีนัก เมื่อนักศึกษาเดือดร้อน และต้องการให้ท่านช่วย แต่ท่านห่วงเรื่องนั้น เรามองว่าไม่ถูก เพราะสิ่งที่สำคัญคือ นอกจากการรักษาสัจจะและศักดิ์ศรีแล้ว ยังต้องมีการทำเพื่อส่วนรวมด้วย”
 

 
เผยเหตุไทยไม่ลงสัตยาบัน
 

ประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยยังไม่ลงสัตยาบันในกฎบัตรใหม่ เป็นเพราะมีข้อร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทางอธิการบดีต้องตอบคำถามให้ชัดเจนก่อน โดยต้องผ่านการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้ที่มีอำนาจสอบสวนได้คือ Board of Trustees เพราะในกฎบัตรเดิมบอกไว้อย่างชัดเจนว่าอำนาจทั้งปวงของสถาบันมอบไว้ให้กับคณะกรรมการอำนวยการ เมื่อถึงเวลาที่บอร์ดรวมตัวกันได้ และมีการสอบสวนเรื่องนี้ ทางศิษย์เก่าก็พร้อมจะยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ แต่จากการพูดคุยกับทางสมาคมศิษย์เก่าถึงเหตุผลที่ยังไม่ได้ยื่นเอกสารขณะนี้ เป็นเพราะต้องการยื่นให้กับคนที่มีอำนาจในการสอบสวนมากกว่า

อดีตประธานนักศึกษาสถาบัน AIT กล่าวทิ้งท้ายว่า ศิษย์เก่า กับนักศึกษาไม่มีส่วนได้ ส่วนเสีย ดังนั้นไม่มีใครจะคิดร้ายกับสถาบัน วันนี้คนที่เป็นศิษย์เก่า อดีตก็เคยเป็นนักเรียน ปัจจุบันคนที่เป็นนักเรียน อนาคตก็ต้องเป็นศิษย์เก่า ทุกๆ คนรัก AIT ทั้งนั้น ทุกคนจบออกไปก็มีตรา AIT ประทับอยู่บนหน้าผาก สิ่งที่พวกเรานักศึกษาทำก็ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เข้ามาเรียน เข้ามาทำงานที่ AIT การปกป้องสถาบันของตนเองเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ คนไม่ดีมีอยู่ทั่วไป แต่ที่เป็นปัญหาเพราะคนส่วนใหญ่เพิกเฉยกับปัญหาที่มีมานานแล้ว จึงสั่งสม หากเข้าไปถามที่ AIT ใครๆ ก็รู้ว่าตัวแสบเป็นใคร

 
กฤษฎีกายันกฎบัตรเดิมยังมีผลบังคับใช้

ด้าน นายธานินทร์ บำรุงทรัพย์ นายกสมาคมนักเรียนเก่าสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (ประเทศไทย) บอกถึงความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการใช้กฎบัตรใหม่ในประเทศไทยว่า กฎบัตรฉบับใหม่นี้ได้เริ่มร่างขึ้นเมื่อปี 2549 จนแล้วเสร็จและมีการลงนามในปี 2553 โดยมีผู้ลงนาม 12 ประเทศกับหนึ่งองค์การ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที เพราะมีเงื่อนไขว่าผู้ที่ลงนามจะต้องให้สัตยาบัน แล้วจึงจะมีผลบังคับใช้เมื่อครบ 6 เดือนนับจากที่มีผู้ลงนามมาให้สัตยาบันครบ 5 ราย การให้สัตยาบันครบ 5 รายเกิดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2554

ดังนั้น กฎบัตรฉบับใหม่จึงจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2555 โดยในขณะนั้นมีผู้ลงนามและให้สัตยาบันแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ศรีลังกา, ปากีสถาน, เนปาล และบังกลาเทศ จึงถือว่า 7 ประเทศนี้เป็น “เจ้าของร่วม” ของเอไอที ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2555 เป็นต้นมา (ต่อมามีมาเพิ่มอีก 2 ประเทศ คือเวียดนามและกัมพูชา) ส่วนรายอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยที่ลงนามแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน จึงยังไม่ถือว่าเป็นภาคีของกฏบัตรนี้

เนื่องจากการให้สัตยาบันของประเทศไทยต่อกฏบัตรใหม่ เพื่อตั้งให้สถาบันเอไอทีใหม่มีสถานะเป็นองค์การระหว่างรัฐบาล (AIT-IO) ที่สมบูรณ์นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งปกติเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานาน จึงไม่สามารถทำได้ทันวันที่กฏบัตรใหม่มีผลใช้ ดังนั้น รัฐสภาจึงไม่สามารถออก พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานฉบับใหม่ เพื่อมายกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานสถาบันเอไอที พ.ศ. 2510 และให้มีการสืบทอดทรัพย์สิน สินทรัพย์ บุคลากร สิทธิและหน้าที่จากสถาบันเอไอทีตามกฏบัตรเดิม (AIT) ไปสู่สถาบันเอไอทีตามกฏบัตรใหม่ (AIT-IO)

ในเชิงกฏหมายแล้ว AIT-IO กับ AIT จึงเป็นสองสถาบันที่ยังไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เพราะผู้ก่อตั้งเป็นคนละกลุ่มกัน และตามหลักกฎหมายไทยนั้น กฎบัตร AIT พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย พ.ศ. 2510 ยังมีผลใช้บังคับในประเทศไทย
 

ดังนั้น สถาบัน AIT และองค์การต่างๆ ของ AIT รวมทั้ง AIT Board of Trustees ยังมีพันธะที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ ส่วนกฎบัตร AIT-IO ฉบับใหม่ แม้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2555 แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน AIT-IO และองค์กรบริหารสูงสุด คือ AIT-IO Council ซึ่งเกิดขึ้นตามกฎบัตร AIT-IO ฉบับใหม่ จึงยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เพราะไม่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของ AIT-IO ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในหนังสือ นร 0901/1555 ลงวันที่ 4 กันยายน 2555 และทางกระทรวงการต่างประเทศก็ได้แจ้งให้อธิการบดีสถาบัน AIT รับทราบอย่างเป็นทางการแล้ว 2 ครั้งในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 และ 13 กันยายน 2555 และคณะรัฐมนตรีก็เคยมีมติเห็นชอบด้วยคำชี้ขาดนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555

“คณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่าการให้สัตยาบันของประเทศไทยต่อกฎบัตรระหว่างประเทศ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งปกติเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานหลายปี ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าสมาคมนักเรียนเก่า AIT มีหนังสือประท้วงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้รัฐมนตรีไม่ดำเนินการให้สัตยาบันและ AIT จึงเหมือนอยู่ในสุญญากาศในแง่มุมของกฎหมายไทย จึงไม่เป็นความจริง”

นายกสมาคมนักเรียนเก่า AIT (ประเทศไทย) ย้ำว่าหากจะเกิดสุญญากาศทางกฎหมายจริง คงเกิดจากการที่ประธานบอร์ดสถาบัน AIT ประกาศสลายคณะกรรมการอำนวยการ หรือ Board of Trustees ในวันที่ 30 มกราคม 2555 โดยที่องค์กรตามกฎบัตรใหม่ยังไม่มีกฎหมายไทยรองรับให้ดำเนินการได้มากกว่า

นอกจากนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้ว่า ตามหลักกฎหมายไทยนั้น กฎบัตร AIT พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเอไอที พ.ศ. 2510 ยังมีผลใช้บังคับ จนกว่าจะมีกฎหมายระดับเดียวกันหรือสูงกว่ามายกเลิก ดังนั้น ตามคำชี้ขาดของกระทรวงการต่างประเทศ สถาบัน AIT และองค์การต่างๆ ของ AIT รวมทั้ง AIT Board of Trustees ยังมีพันธะที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ

ส่วนกรณีของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศตามกฏบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามไว้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553 นั้น เนื่องด้วยประเทศไทยยังมิได้แสดงเจตนาให้มีผลผูกพันกฏบัตร และยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศ สถาบันตามกฏบัตรใหม่จึงมิได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายไทยที่จะดำเนินการใดๆ ที่ต้องอาศัยความมีสภาพบุคคลภายใต้กฏหมายไทยได้”

“ดังนั้น ปัญหาที่ปริญญาภายใต้กฎบัตรใหม่ไม่ได้รับการรับรองในประเทศไทย ถือเป็นการทำผิด พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 ตามหนังสือลงวันที่ 19 มิถุนายน 2555 ซึ่ง สกอ. ได้แจ้งแก่อธิการบดีว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเคยชี้แจงให้ทราบแล้วว่า AIT-IO และคณะมนตรีผู้ปกครอง คือ AIT-IO Council ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ในประเทศไทย ดังนั้น การที่ AIT-IO Council ประสาทปริญญาภายใต้กฎบัตรฉบับใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ย่อมถือเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 เพราะเอกสิทธิ์ที่สถาบันเอไอทีเดิมเคยมีนั้น ไม่สามารถ่ายโอนให้แก่ AIT-IO ได้ เพราะยังไม่มีกฏหมายรองรับ” นายธานินทร์ระบุ

อย่างไรก็ตาม การหาทางออกเรื่องปริญญาบัตรนักศึกษาทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ขอให้ ดร.เตช ซึ่งเป็นอดีตประธานสภามหาวิทยาลัย AIT เป็นคนกลางช่วยเรียกประชุม Board of Trustees เพื่อช่วยเหลือนักศึกษา AIT เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งตนคิดว่าไม่เป็นการเสียศักดิ์ศรีหรือผิดสัจจะแต่อย่างใด เพราะหาก ดร.เตช ไม่ต้องการเป็นประธานบอร์ดต่อไป ก็ดำเนินการสรรหาประธานใหม่ ส่วน Board of Trustees ก็ยังทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี พ.ร.บ.ออกมาคุ้มครองกฎบัตรใหม่
 
 

'ลอรีเอต' ว่าจ้าง หรือ สมยอม?

นายกสมาคมนักเรียนเก่า AIT (ประเทศไทย) กล่าวถึงความกังขาต่อบริษัท ลอรีเอต(Laureate) ด้วยว่า การที่ฝ่ายลอรีเอตส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาศึกษารายละเอียดทางการเงินของสถาบัน โดยสามารถขอดูข้อมูลทุกอย่างจากหน่วยงานภายในของเอไอที ไม่ใช่เป็นการว่าจ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการสมยอมตามบันทึกความเข้าใจที่อื้อฉาวนี้

บันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Laureate ที่ลงนามกันในวันที่ 30 กันยายน 2554 มีความไม่ชอบมาพากลจำนวนมาก โดยแอบลงนามกันอย่างซ่อนเร้น เมื่อมีข่าวรั่วออกมา ทางอธิการบดี ศ.อิรานดุสก็ยังไม่ยอมรับ จนผ่านไปเกือบ 3 เดือนจึงได้ออกมายอมรับเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 หลังจากถูกบีบคั้นอย่างหนักจากคณาจารย์และศิษย์เก่า เรื่องนี้ ศ.อิรานดุสอ้างเสมอว่าเป็นเอกสารที่ไม่ผูกมัดและหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ข้อเท็จจริง คือ บันทึกความเข้าใจนี้ เป็นเอกสารส่อเจตนาในการดึงบริษัทธุรกิจเอกชนข้ามชาติมาเป็นพันธมิตรธุรกิจ หลังจากที่สถาบันเอไอทีแปรสภาพตามกฏบัตรใหม่แล้ว ซึ่งจะไม่มีตัวแทนศิษย์เก่าและตัวแทนหน่วยงานไทยคอยคัดค้านในเรื่องนี้เหมือนที่ผ่านมา

โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ Laureate Education, Inc. หนึ่งคน เข้ามานั่งทำงานในเอไอที และมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลภายในของสถาบันเอไอทีทุกอย่าง กิจกรรมนี้เป็นไปตามข้อความที่ปรากฏใน “บันทึกความเข้าใจ” ซึ่งระบุไว้ดังนี้

“คู่สัญญาจะให้โอกาสอีกฝ่ายหนึ่ง สามารถทำการตรวจสอบวิเคราะห์รายละเอียดสถานะทางการเงิน (Due Diligence) ของอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพื่อสามารถวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ (Strategic Partnership) กระบวนการทำ Due Diligent นี้จะทำให้ได้โครงสร้างซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเงินสูงสุดในระยะยาว และอำนวยให้แต่ละฝ่ายได้ใช้ข้อมูลนี้ในการตัดสินใจเพื่อเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจต่อไป”

“ถ้าการจะให้ บริษัท ลอรีเอต มารับจ้างทำงานให้แก่สถาบันเอไอที ตามที่ท่าน ดร.เตช อ้าง เหมือนที่ท่านยกตัวอย่างบริษัทรับจ้างทำความสะอาด มีความจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องให้บริษัทลูกจ้างดังกล่าวมาทำ Due Diligence ต่อสถาบันผู้ว่าจ้างด้วย” นายธานินทร์ตั้งข้อสังเกต


กำลังโหลดความคิดเห็น