“ทีม Special Scoop” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษอดีตท่านทูต เตช บุนนาค อดีตประธานสภามหาวิทยาลัย AIT (Asian Institute of Technology) หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นบุคคลสำคัญในการไขข้อเท็จจริงถึงปัญหาของ AIT ที่กำลังสับสน วุ่นวายอยู่ในขณะนี้
ข้อเท็จจริง ปัญหาของ AIT อยู่ที่ไหน?
ข้อเท็จจริงก็คือว่า เมื่อประมาณมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทางสภามหาวิทยาลัย AIT หรือ Board of Trustees ซึ่งตอนนั้นมีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ตั้งแต่สมัยนั้นก็ได้พิจารณากันแล้วว่า AIT ในสภาพเดิม ที่มีมาเกือบ 50 ปี ไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนอีกต่อไป เพราะว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา องค์การร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development) หรือ OECD ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงปารีส ได้วินิจฉัยว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือโดยตรงได้อีกต่อไป เรียกว่า Foreign Direct Assistance (FDA)
ด้วยเหตุนี้ AIT จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานภาพให้เป็นองค์การระหว่างประเทศ ขณะนั้นท่านอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน อายุมากแล้วก็ขอลาออกไป และขอให้ผมมาเป็นประธานสภามหาวิทยาลัย AIT แทนท่าน
เมื่อต้นปี 2548 ผมก็รับนโยบายมาจากสภามหาวิทยาลัยว่า AIT ต้องเป็นองค์การระหว่างประเทศ เสร็จแล้วเราก็เริ่มต้นร่างกฎบัตรใหม่ขึ้น ซึ่งจะทำให้ AIT เป็นองค์การระหว่างประเทศ แล้วสมาชิกของสภาก็ออกมาบอกว่าไม่ได้หรอก เรื่องนี้ในเมื่อจะเป็นองค์การระหว่างประเทศ ก็ต้องมีการเจรจาระหว่างประเทศ ต้องโอนเรื่องทั้งหมดไปให้กระทรวงการต่างประเทศ เพราะฉะนั้นกระทรวงการต่างประเทศก็เป็นประธานในการยกร่างกฎบัตรใหม่ขึ้นมา
ซึ่งมาร่างเสร็จในสมัยคุณกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อกลางปีที่แล้วได้ลงนามในกฎบัตรใหม่ในนามของรัฐบาลไทย หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เป็นชุดท่านอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่องนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
หลังจากนั้นก็มีการเลือกตั้งใหม่ และมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมา รัฐบาลใหม่ถือว่า AIT เป็นองค์การระหว่างประเทศที่รัฐบาลเก่าได้ลงนามในกฎบัตรใหม่ไว้แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร เมื่อ 27 ธ.ค. 2554 ครม.ได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการให้สัตยาบรรณต่อกฎบัตรใหม่นี้ ซึ่งตั้งแต่มีการลงนามไป หลายประเทศเค้าได้ลงนามกันไปแล้ว
แต่ต่อมาประธานนิสิตเก่าของ AIT ก็ประท้วง มีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็เลยไม่ดำเนินการให้ลงสัตยาบรรณ ในเมื่อกระทรวงการต่างประเทศไม่ให้สัตยาบรรณ AIT จึงเหมือนอยู่ในสุญญากาศ ในแง่มุมของกฎหมายไทย รัฐบาลไทยในแง่ของคุณกษิตลงนามในกฎบัตรใหม่แล้ว แต่ชุดปัจจุบันยังไม่ให้สัตยาบรรณ
ในขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ให้สัตยาบรรณแล้ว จึงมีผลในแง่ของด้านกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา หมายความว่าในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ สภามหาวิทยาลัยเก่า และกฎบัตรเก่าได้สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555
ปัญหาก็เกิดขึ้นว่า รัฐบาลไทยหลัง 30 มกราคม 2555 ยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณ ปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาด้านความขัดแย้งทางกฎหมาย เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมาก อย่างไรก็ตามประเด็นที่อยากจะเน้นก็คือ นักศึกษายังไม่เข้าใจ แล้วสมาคมศิษย์เก่า AIT ก็ยังไม่เข้าใจ ว่ารัฐบาลไทยลงนามกฎบัตรนี้ไปแล้ว แต่ยังไม่ให้สัตยาบรรณ เลยทำให้ AIT ไม่มีสถานะตามกฎหมายไทย
ด้วยเหตุนี้สำนักงบประมาณเลยไม่ได้ให้งบประมาณ และไม่ให้งบประมาณสำหรับการฟื้นฟูวิทยาเขตด้วย ซึ่งประสบมหาอุทกภัยอย่างหนักที่สุด หนักกว่าธรรมศาสตร์อีก เพราะเราอยู่พื้นที่ที่ต่ำที่สุด อยู่มานานที่สุด แต่โชคดีที่มีทางได้เงินมาจากการที่เราประกัน รวมอุทกภัยด้วย ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ช่วยด้วย เพราะเค้ามองว่า AIT เช่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์ จึงได้งบประมาณตรงนั้นมา สิ้นปีการซ่อมก็จะเสร็จสิ้น จะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ตอนนี้ AIT ถือว่าอยู่ภายใต้กฎบัตรใหม่ หรือกฎบัตรเก่า ?
รัฐบาลไทยถือว่าอยู่ภายใต้กฎบัตรเก่า แต่ AIT ถือว่าอยู่ภายใต้กฎบัตรใหม่ ระหว่างประเทศทั้งหมดก็ถือว่ารัฐบาลไทยได้ลงนามไปแล้ว เพียงแต่รอให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบรรณเท่านั้น ปัญหาทางด้านกฎหมายถือว่า ผมใช้คำว่านวนิยาย กฎหมายเป็นกระดาษ แต่ AIT มีตัวตน เหมือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีตัวตน มีนักศึกษาจริงๆ เรียนจริงๆ การที่รัฐบาลไทยไม่ให้งบประมาณมันมีปัญหากับ AIT จริงๆ ทั้งๆ ที่ AIT ได้งบประมาณมาจากที่อื่น และมีเงินสำรอง มีการสนับสนุนจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลไทยเคยให้เงินมากที่สุดถึง 27% ถือว่าขาดไปเยอะ 1 ใน 4 ส่วน
นักศึกษาที่จบภายใต้กฎบัตรใหม่ของ AIT ขณะนี้รัฐบาลไทยรับรองวุฒิหรือไม่?
เป็นปัญหาที่รัฐบาลไทย เพราะฉะนั้นอะไรที่ก่อนหน้า 30 มกราคม 2555 ก.พ. รับรอง โดยที่รัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบรรณนะ หลังจาก 30 มกราคม 2555 ก็ไม่รับรองวุฒิบัตร ป.โท ป.เอก แต่ต้องไม่ลืมว่านักศึกษา แม้แต่ที่เป็นคนไทยที่ AIT ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับราชการ และทุกแห่งก็ยังรับรองหลักสูตรของ AIT เหมือนเดิม สกอ.ก็เช่นกันต้องไปตามรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็ไม่รับรองปริญญา AIT แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เป็นคนไทยไม่รับราชการ ที่อื่นๆ เค้าก็รับรอง ส่วนนักศึกษาที่เป็นต่างชาติ อย่างที่มาจากเวียดนาม ซึ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติมากที่สุด เค้าไม่แคร์ว่ารัฐบาลไทยจะรับรองหรือไม่ เพราะว่ารัฐบาลเวียดนามรับรอง เค้าก็ลงนาม
ทางแก้ไขสถานภาพของ AIT ต้องแก้อย่างไร?
เรื่องปัญหากฎหมายต้องแก้ให้ได้ ซึ่งขณะนี้ AIT ก็ขอให้กระทรวงการต่างประเทศเรียกประชุมผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ซึ่งก็ไม่ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศจะทำเมื่อใด ปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาของกระทรวงการต่างประเทศ เลยพาลมากระทบ AIT ด้วย
ประเด็นที่นักศึกษาและนิสิตเก่าเข้าใจคลาดเคลื่อนมีอะไรบ้าง?
ประเด็นที่สมาคมศิษย์เก่า และนักศึกษายังไม่เข้าใจ เค้าคิดว่า AIT ต้องการจะปรับสถานะ นอกจากจะเป็นองค์การระหว่างประเทศแล้ว ต้องการจะไปร่วมมือกับเอกชน ซึ่งอันนี้ไม่มีความจริงเลย เพราะว่า AIT ทั้งในกฎบัตรเก่า และกฎบัตรใหม่ มีข้อหนึ่งมาตราได้เขียนไว้เลยว่า AIT เป็นองค์การที่ไม่แสวงหากำไร เพราะฉะนั้น เวลา AIT จะทำอะไร กับเอกชนก็ต้องไม่เป็นกำไร สมมติว่าแทนที่จะมีนักการภารโรง เราจ้างบริษัทมาทำความสะอาด ไม่ได้หมายความว่าไปร่วมมือกับเอกชน อันนี้ก็เช่นเดียวกัน
สิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการบริหารที่อยู่ภายใต้สภามหาวิทยาลัยได้รับมอบหมายให้ไปทำก็คือ ให้ไปดูว่าเราสามารถร่วมมือกับเอกชนในทางใดได้บ้าง รายงานของเอกชน บริษัทที่เค้าเคยว่าจ้างก็ยังไม่มีตัวตน เพราะว่าเลิกไปเสียก่อน ยุติตั้งแต่ 30 มกราคม 2555 และก็ไม่เคยมีด้วย
สิ่งที่เคยมีแน่นอนคือ เคยมีบันทึกความเข้าใจลงนาม โดยประธานคณะกรรมการบริหาร ที่ว่าจ้างบริษัทนี้คือ บริษัท ลอรีเอท เข้ามาศึกษา ด้วยเหตุที่ว่าจ้างลอรีเอทเพราะลอรีเอทเป็นบริษัทเดียวที่ยินดีเข้ามาศึกษา เค้าจะเข้ามาเสนอความคิดเห็นว่า ถ้าหากมีการร่วมมือกับเอกชนจะทำได้ไง ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำกับบริษัท ลอรีเอท ทำกับใครก็ได้
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริหาร อดีตประธานเคยเป็นผู้แทนธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นชาวเบลเยียม เค้าก็ทำการศึกษาของเค้าเอง และเป็นที่ทราบกันว่าลอรีเอททำการศึกษาไม่สอดคล้องกับที่ AIT ต้องการ ซึ่งเริ่มต้นเลยว่าต้องไม่แสวงหากำไร ก็ตกไปโดยปริยาย การว่าจ้างลอรีเอทก็หมดสิ้นไป
แต่กลับมีการกุเรื่องว่าเราไปร่วมมือกับเค้าแล้ว ซึ่งไม่มีความเป็นจริงทั้งสิ้น ไม่ได้เข้ามาร่วมทุน แดงเดียวก็ไม่มี เอกสารก็ไม่มี เพราะล้มเลิกไปเสียก่อน ที่ว่าเจ้าหน้าที่ลอรีเอทเข้ามาก็ไม่มี เมื่อก่อนมีคนเดียว แต่เลิกจ้างไปแล้ว เพราะหมดคอนแทรกต์ก่อนที่จะเขียนรายงานด้วยซ้ำ
ตอนนี้นักศึกษาเข้าใจว่าคนที่เซ็นชื่อในวุฒิบัตรเป็นคนของลอรีเอท?
คนที่เซ็นชื่อในวุฒิบัตรออกไปคือ ประธานของสภามหาวิทยาลัย ตามกฎบัตรใหม่คือท่านทูตปากีสถาน และอธิการบดี คือช่องที่เซ็นตรงนี้ เมื่อก่อนผมเป็นคนเซ็นในฐานะประธาน ประเทศของเค้าทุกคนก็ลงนามในกฎบัตรใหม่แล้ว ประเทศของเค้าก็ให้สัตยาบรรณแล้ว ตอนนี้กำลังเป็นปัญหาด้านกฎหมายภายในของไทย การเมืองภายในของไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่ง AIT ได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศเรียกประชุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว
นักศึกษา อาจารย์ เค้าคุยกันว่าคนที่จะยุติเรื่องนี้ได้ก็คือ ท่านเตช บุนนาค เรียกประชุม?
ผมเข้าใจ และเห็นใจ แต่ผมไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะในฐานะในการประชุมครั้งสุดท้ายของ Board of Trustees เก่า ผมได้พูดแล้ว ต้องรักษาคำพูด ต้องมีสัจจะ ศักดิ์ศรี ได้พูดไว้แล้วว่า ในฐานะประธานบอร์ดเก่า ผมถือว่าบอร์ดเก่าสิ้นสุดลงแล้ว ตอนนี้ให้ประธานคนใหม่ทำต่อไป แต่ขณะเดียวกันผมเข้าใจดีว่า มันมีปัญหาด้านกฎหมายเกิดขึ้น เพราะผมคิดว่าตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ลงนามแล้ว ครม.อนุมัติให้ลงสัตยาบรรณ เมื่อเดือนธันวาคมแล้ว เรื่องจะเข้าสภา แต่ก็คาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะว่าไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของการศึกษา เป็นสถาบันที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมา 50 กว่าปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นนิสิตเก่า มีปัญหาอะไรวุ่นวายแบบนี้
ผมเห็นว่าประเทศไทย รัฐบาลไทย 1. ขายหน้าที่ไม่ให้สัตยาบรรณ 2. พลาดโอกาส ทำให้เสียโอกาสที่จะพัฒนา AIT ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง AIT มีประวัติมาแล้ว 2 ภาคด้วยกัน 1. เชี่ยวชาญด้านวิศวะ อยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ 2. มาเปิดเป็น AIT ด้วยกฎบัตรเก่า มี พ.ร.บ.ไทยรองรับ นี่จะเป็นฉากที่ 3 ของ AIT ซึ่งเราต้องการให้มันดีขึ้นอีก ให้มี พ.ร.บ.รองรับ เหมือนกับของเก่า
ผมเคารพในความคิดต่างของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ผมเห็นว่าเค้าคิดผิด ผมก็พยายามโน้มน้าวให้เค้าเข้าใจว่า AIT เก่าอนาคตมันจบแล้ว ต้องพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ระบบเก่าเป็นการไปขอเงิน แบบ FDA ซึ่งไม่มีใครเขาให้ประเทศไทยแล้ว บางประเทศเค้าเลิกให้เราตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ส่วนใหญ่เลิกให้ตอน ค.ศ. 1996
นักศึกษาพวกนี้ยังไม่รู้ ผมไปวิ่งเต้น จ่ายเงินด้วยกระเป๋าของผมเอง ไปหามาให้ตั้งเท่าไร แล้วก็เลี่ยงออกไปว่าไม่ได้เป็น FDA แต่เป็นทุน เป็นโครงการร่วมมือ ตะแบงทั้งนั้น เพื่อให้ AIT อยู่ได้ ผมเคารพนะที่เขาอยากเป็น AIT แบบเก่า อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบเก่า ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว AIT ก็เปลี่ยนไปแล้ว โลกนั้นหมดไปแล้ว ที่เราไปแบมือขอเงินเค้าไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ผมเป็นอยู่ 8 ปี ผมก็ไปแบมือขอเงิน
ประเทศไทยขาดโอกาสที่จะทำให้ AIT ดีขึ้นยังไง?
ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเวียดนาม เค้าบอกเลยว่า ถ้าประเทศไทยไม่ต้องการ AIT แล้ว ไปอยู่เวียดนามได้ ตอนนี้เราก็มีอยู่ 2 ศูนย์ ที่ฮานอย และโฮจิมินห์ ย้ายเมื่อไรไปได้เลย นี่คือข้อเท็จจริง ผมอยากจะโน้มน้าวให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบรรณกฎบัตรใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอยากให้นิสิตเก่าไทยเข้าใจสถานะที่แท้จริง ข้อเท็จจริง เพื่อพัฒนา AIT เป็น MIT ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กฎบัตรใหม่ทำเสียงโหวตไทยลดลง เสียประโยชน์หรือเปล่า?
ฝ่ายที่คัดค้าน บอกว่าเมื่อสมัยก่อน Board of Trustees ในสภามีสมาชิก 30 คน 7 คนเป็นคนไทย อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจ รู้สึกว่า 7 คนที่เราไปเชิญมาอาจไม่ถูกต้องนัก คือ AIT เวลาประชุมไม่มีการโหวต เป็นฉันทามติ ตกลงกันนะ ทุกคนก็ตกลงกัน พวกนี้ก็ตกลงกันมาตลอดในสิ่งที่เราทำกัน 8 ปีที่อยู่มาไม่เคยมีเสียงคัดค้าน ตกลงกันมาทุกครั้งว่าเราจะทำอะไรกันบ้าง เค้าบอกว่าพอกฎบัตรใหม่ออกมาจากที่คนไทยมี 7 เสียง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามี 7 เสียงจริงหรือเปล่า ต้องเช็กอีกที ตอนนี้จะมีเสียงเดียว ก็จะโดนคนประเทศอื่น Out vote ได้
คนที่เข้าใจว่าการประชุมที่คนไทยมีเสียงโหวต 7 เสียง จาก 30 เสียงนั้นเข้าใจผิด ต้องรู้ว่าข้อเท็จจริงในการประชุมของ AIT ที่ผ่านมาไม่เคยมีการโหวต และที่สำคัญในการประชุมไม่ว่าในองค์การระหว่างประเทศไหน ประเทศที่เป็นเจ้าของสถานที่ ประเทศที่เป็นผู้บริจาคมากที่สุด แม้จะมีเสียงเดียว ย่อมจะเป็นเสียงที่ดังที่สุด คนอื่นๆ จะยอม เป็นธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ ก็เท่านั้น
ทางออกของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน?
กระทรวงการต่างประเทศจะต้องจัดการ ซึ่งผมก็พร้อมที่จะช่วยเท่าที่ทำได้ หากเขาต้องการให้ผมช่วยนะ จะให้ผมไปเป็นประธาน Board of Trustees เป็นไปไม่ได้ เพราะผมได้พูดไปแล้ว เราต้องรักษาสัจจะ ผมก็มีศักดิ์ศรี
ผมถามผู้ที่คิดขัดแย้งว่าอยากให้ AIT ย้ายไปเวียดนามไหม เค้าตอบ ไม่ได้ๆ ต้องอยู่ที่ประเทศไทย และถามว่าอยากให้ธรรมศาสตร์เข้าไปเทกโอเวอร์ AIT เลยไหม เค้าตอบว่าไม่ได้ๆ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเป็นไปตามกฎบัตรใหม่ ผมว่าเค้าเองก็สับสน
AIT มีความจำเป็นต้องอยู่ที่ประเทศไทยไหม?
ควรจะอยู่ เพราะมันเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย ก่อตั้งมาที่ประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยประสาทปริญญาบัตร AIT ครั้งแรก สมเด็จพระเทพฯ เป็นศิษย์เก่า ในสายตาต่างประเทศ AIT คนไทยอาจไม่รู้ว่าเป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เค้าพูดว่า AIT ที่อยู่ที่ Thailand เป็นหน้าเป็นตา
ผมอยากให้ผู้ที่ให้ทุนคือกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ใช่ สกอ. เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งมาตลอดของนโยบายการต่างประเทศ คุณพจน์ สารสิน สร้างขึ้นมา คุณถนัด คอมันตร์ สร้างขึ้นมา คุณอานันท์ อดีตราชเลขาฯ หม่อมราชวงศ์พีรพรรณ เกษมศรี ซึ่งมาจากกระทรวงการต่างประเทศ ท่านอานันท์ ก็มาจากกระทรวงการต่างประเทศ ผมก็มาจากกระทรวงการต่างประเทศ มันเป็นเครื่องมือทางการต่างประเทศของประเทศไทย