xs
xsm
sm
md
lg

“วังช้าง” เตรียมทำแพลำเลียงอาหารช้างรับมือน้ำท่วม ไม่มั่นใจ รบ.เอาอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระนครศรีอยุธยา - วังช้างแลเพนียดกรุงเก่า เตรียมทำแพ 25 แพ ลำเลียงอาหารช้างรับมือน้ำท่วม ไม่มั่นใจรัฐบาลเอาอยู่ ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลวังขนายยื่นมือช่วยปลูกอ้อยเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงช้างช่วงน้ำท่วม

วันนี้ (21ก.ย.) นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ผู้อำนวยการวังช้างแลเพนียด จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ทางวังช้างฯ ได้เตรียมทำแพไว้สำหรับลำเลียงอาหารในช่วงน้ำท่วมไว้จำนวน 25 แพๆ หนึ่งสามารถรับน้ำหนักอ้อยที่เป็นอาหารช้างได้ 60-80 ต้น และเตรียมสถานที่สำหรับเป็นที่พักช้างไว้ที่ทุ่งนเรศวร ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา สำหรับช้าง 103 เชือก
 
นอกจากนี้ เตรียมหญ้า ฟาง อาหารเม็ดไว้สำหรับเลี้ยงช้างตอนน้ำท่วม เพราะยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถป้องกั้นน้ำไม่ให้ท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ และยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่รับปากว่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือช้างอย่างจริงจัง จึงต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองก่อน แต่ยังโชคดีที่มีหน่วยงานเอกชนอย่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลวังขนายได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการปลูกอ้อยเพื่อเลี้ยงช้าง

ปัจจุบัน ทางวังช้างอยุธยาแลเพนียด มีความต้องการอาหารเพื่อใช้ในการเลี้ยงช้างในความดูแลกว่า 100 เชือก หรือคิดเป็นวันละ 25 ตัน หรือถ้าเป็นค่าใช้จ่ายก็ตกวันละ 30,000 บาท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาใหญ่ให้แก่ทางวังช้างอยุธยาแลเพนียดเป็นอย่างมาก เมื่อมีโครงการสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืนให้แก่ช้างไทย โดยทางกลุ่มวังขนายได้จัดทำขึ้นมา จึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะทำให้ช้างได้มีอาหารกินตลอดทั้งปี ซึ่งนอกจากอ้อยแล้ว ช้างก็ยังต้องการอาหารอื่นๆ อีกด้วยเช่นกัน เช่น ต้นหญ้าจัมโบ้ และพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งจะต้องกินเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง

“แต่อย่างไรก็ตาม การจัดทำโครงการสร้างแหล่งอาหารให้ช้างจนได้มีกินอย่างเดียวก็คงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงใคร่ขอเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจ ต้องการเข้ามาให้ความช่วย หรือให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ช้างไทย ทั้งในเรื่องโครงการปลูกพืชต่างๆ ที่จะเป็นอาหารของช้างอย่างยั่งยืน หรือในด้านงบประมาณ ซึ่งขณะนี้มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ช้างจะได้มีชีวิตอยู่คู่กับคนไทยไปอีกนาน” นายลายทองเหรียญ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจให้ความช่วยเหลือวังช้างอยุธยาแลเพนียด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ทุกวันที่โทรศัพท์ 08-6901-3981 หรือติดต่อโดยตรงได้ที่วังช้างอยุธยาแลเพนียด เลขที่ 74/1 หมู่ 3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรี อยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ด้านนางจิตต์สุภา สุขเจตนี ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์องค์กร และกิจกรรมสังคม กลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลโลว์เคมิคอล ได้นำพนักงานมาร่วมในกิจกรรมตัดอ้อยปลอดสารเคมี เพื่อสานต่อในโครงการ “วังขนายอนุรักษ์ช้างไทย” ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 55 ทางกลุ่มวังขนายได้มาปลูกอ้อยปลอดสารเคมีไว้เป็นจำนวน 10 ไร่ ทั้งนี้เพื่อให้ช้างจะได้มีอาหารกินที่ยั่งยืนตลอดทั้งปี เมื่อนับเวลารวมถึงวันนี้แล้วก็เป็นเวลากว่า 7 เดือน ต้นอ้อยของกลุ่มวังขนายนั้น ก็ได้เจริญเติบโตงอกงามจนมีลำต้นขนาดใหญ่ สามารถตัดนำไปใช้เป็นอาหารของช้างได้ตามความต้องการ

นางจิตต์สุภา กล่าวต่ออีกว่า เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว ทางกลุ่มวังขนายได้มาทำการปลูกอ้อยปลอดสารเคมี พร้อมสอนวิธีการดูแลอ้อยที่ถูกต้องให้แก่พนักงานของวังช้างอยุธยาแลเพนียด เพื่อที่ช้างไทยจะได้มีอ้อยกินตลอดทั้งปี ถือเป็นการสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืนให้แก่ช้าง โดยอ้อยที่มาปลูกในครั้งนี้นั้นรวมแล้วเป็นจำนวน 10 ไร่ นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานประเพณีเกี่ยวกับช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยให้คงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี โดยตลอดระยะะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา ปรากฎว่า ได้มีหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจโทรศัพท์เข้ามามาสอบถามในเรื่องการสร้างแหล่งอาหารให้ช้างไทยหลายครั้ง

สำหรับต้นอ้อยที่กลุ่มวังขนายได้มาปลูกไว้นั้น จะได้เริ่มทำการตัดเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารช้างต่อไป โดยหลังจากที่ตัดอ้อยให้ช้างกินแล้ว ทางกลุ่มวังขนายจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อบำรุงตออ้อย เพื่อให้อ้อยเจริญเติบโตอีก เพราะอ้อยสามารถปลูกแล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 3-5 ปี และมีโครงการที่จะขยายพื้นที่ปลูกต่อไปอีก สำหรับโครงการปลูกอ้อยไร้สารเคมี ที่วังช้างอยุธยาแลเพนียด นั้นถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม ที่กลุ่มวังขนายได้ทำต่อเนื่องมานานกว่า 37 ปีแล้ว
 
“โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาแก่เยาวชนไทย ซึ่งได้มีทั้งเรื่องการมอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนที่อยู่รอบโรงงาน โครงการสร้างห้องสมุดประชาชน รวมถึงโครงการบริหารและจัดการน้ำในภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่โครงการของวังขนายจะไม่ค่อยใหญ่โต หรือมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากในระดับประเทศ แต่จะเน้นเรื่องความยั่งยืน หรือเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน หรือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป็นสำคัญ”



กำลังโหลดความคิดเห็น