xs
xsm
sm
md
lg

อาชีพสื่อเสื่อม “ทุน-นักการเมือง” เจาะพรุน ซื้อหัวขบวนยันครอบครัวนักข่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงการสื่อถึงยุคอับ คดี “สรยุทธ” แค่น้ำจิ้ม ประธานสภาการหนังสือพิมพ์รับสภาพวันนี้ความอยู่รอดองค์กรกับอุดมการณ์สื่อขัดแย้งกัน คนในวงการสื่อชี้ที่ร้ายแรงกว่าคือซื้อเจ้าของสื่อรับใช้นักการเมือง ยอมรับวันนี้เปลี่ยนจากการคุกคามสื่อเป็นครอบงำสื่อ เดินเกมซื้อทั้งตัวธุรกิจสื่อและนักข่าว พัฒนาการถึงขั้นซื้อยันครอบครัว ชี้สถานการณ์เข้าขั้นอันตราย สื่อให้ข้อมูลไม่จริงทำสังคมแตกแยกอย่างทุกวันนี้

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) หรือช่อง 9 ที่ให้ความช่วยเหลือ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โฆษณาเกินกำหนดเวลาในสัญญาเป็นเงิน 138 ล้านบาท ทำให้นักเล่าข่าวชื่อดังอย่าง สรยุทธ สุทัศนะจินดา กำลังเป็นที่จับตาจากผู้คนในสังคมถึงท่าทีต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะที่เจ้าตัวใช้เวลาในรายการของตัวเองทางช่อง 3 ชี้แจงและประกาศที่จะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
สรยุทธ สุทัศนะจินดา
เรื่องดังกล่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ถึงเรื่องดังกล่าวเมื่อ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญคือ ในฐานะที่ผู้ถูกกล่าวหา (สรยุทธ) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อถือ ไว้วางใจของประชาชนเป็นสำคัญ กรณีนี้จึงมีเหตุผลที่สังคมควรต้องตั้งคำถาม และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ

ถึงแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมิได้เป็นสมาชิกโดยตรง แต่ก็นับเป็นภาระรับผิดชอบร่วมกับองค์กรสื่ออื่นๆ ที่จะต้องยืนยันหลักการการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดี ที่ต้องไม่ประพฤติ ปฏิบัติการใดๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาแม้จะยังไม่มีบทสรุปทางกฎหมาย แต่ในแง่ของการประกอบวิชาชีพ นับว่าไม่เหมาะสม มีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจรรยาบรรณแล้ว

ขณะที่กลุ่มภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชัน เดินหน้าเคลื่อนไหวให้มีการถอนการสนับสนุนรายการที่สรยุทธจัดอยู่ โดยในเดือนมกราคม 2556 จะมีบริษัทใหญ่ 4 แห่งประกอบด้วย ปูนซิเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัท โตชิบา และโตโยต้า ยกเลิกซื้อโฆษณาในรายการของสรยุทธ

ยอมรับเสือกระดาษ

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยอมรับว่าในเรื่องของการตรวจสอบด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนนั้น ขอพูดตรงๆ โดยโครงสร้างที่เป็นอยู่ในเวลานี้เราทำไม่ได้เต็มที่ รวมถึงปัจจัยภายนอก ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ตามที่สังคมคาดหวัง ในเรื่องของการท้วงติงหรือตักเตือนนั้นต้องให้เป็นหน้าที่ขององค์กรต้นสังกัดเข้ามาร่วมด้วย

“คนทั่วไปเข้าใจไม่ถูกต้อง มองว่าทางสภาฯ จัดการเรื่องเหล่านี้ไม่เด็ดขาด เราทำหน้าที่ได้แค่การลงโทษทางสังคม ไม่มีอำนาจตัดสิน”
จักร์กฤษ เพิ่มพูล
องค์กรสื่อ-ทุกคนมีสังกัด

สื่อมวลชนอาวุโสในวงการกล่าวว่า แม้ว่าในวงการสื่อจะมีองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลนักข่าวอย่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพหรือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วการควบคุมหรือดูแลสมาชิกนั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากองค์กรที่มีอยู่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะตัดสินหรือลงโทษนักข่าวที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมได้

นอกจากนี้การเข้ามาเป็นกรรมการ ประธานหรือเป็นนายกสมาคมฯ จะมาจากตัวแทนของสื่อต่างๆ ที่อาสาเข้ามา ดังนั้นคนที่เข้ามาบริหารงานในองค์กรเหล่านี้จึงมีสังกัดตามสื่อที่ตนเองทำงานอยู่ทั้งสิ้น อีกทั้งสื่อส่วนใหญ่ก็จะรู้จักกันหรือนับถือกันเป็นพี่เป็นน้อง ดังนั้นเมื่อเกิดเรื่องที่สื่อประพฤติตัวไม่เหมาะสมจึงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการออกแถลงการณ์

“บางครั้งนักข่าวที่ทำตัวไม่เหมาะสมอยู่ในสังกัดเดียวกับนายกหรือประธานฯ ทำให้การตัดสินใจใดๆ ทำได้ลำบาก หรืออย่างกรณีสรยุทธเมื่อมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยแถลงการณ์ออกมาในวันที่ 4 ตุลาคม รุ่งขึ้น 5 ตุลาคม สรยุทธก็ทำหนังสือขอลาออกจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ยิ่งไม่สามารถทำอะไรได้”

คนในวงการข่าวรู้กันดีว่า ไม่ใช่มีแค่เรื่องของบริษัทไร่ส้มเท่านั้น แต่ยังมีความไม่เหมาะสมในหลากหลายรูปแบบอีกมาก แต่บังเอิญเรื่องยังไม่ถูกเปิดเผยออกมาเท่านั้น

วันนี้สถานการณ์ของสื่อมวลชนเปลี่ยนไปมาก เงินกลายเป็นตัวตั้งหลักในการทำงาน ดังนั้นทำให้การทำงานของสื่อมวลชนทุกวันนี้อ่อนแรงลงไปมากในเรื่องการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลขององค์กรธุรกิจหรือนักการเมือง

สื่อที่มีการตรวจสอบภาคธุรกิจหรือนักการเมืองอย่างเข้มข้นในอดีตจะถูกคุกคาม ด้วยการทำร้ายหรือใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาบีบ แต่วันนี้สถานการณ์นั้นเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนจากการคุกคามเข้ามาสู่การครอบงำ

คุกคามสื่อ-หนักยุคทักษิณ

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รูปแบบการคุกคามสื่อเปลี่ยนไป เดิมทำแบบตรงไปตรงมา ยึดแท่นพิมพ์ ใช้อำนาจของคณะปฏิวัติเข้ามาสั่งปิด จุดเปลี่ยนดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2547 ที่ทุนทางธุรกิจเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านั้นคนในสังคมก็ต่อต้านเรื่องดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดสังคมก็ยอมรับสภาพแม้จะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตาม

ช่วงปี 2547 ถือว่าธุรกิจด้านโทรคมนาคมเติบโตอย่างมาก มีงบประชาสัมพันธ์จำนวนมากที่ทุ่มมาให้กับสื่อหนังสือพิมพ์ ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนหลัก ดังนั้นสื่อจึงเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง หากมีการนำเสนอข่าวที่สร้างผลกระทบในด้านลบก็มีการยกเลิกโฆษณา

“การคุกคามสื่อในปัจจุบันร้ายแรงกว่ายุคเผด็จการ เราจำยอมเพราะสื่อก็เป็นธุรกิจไปแล้ว ไม่ใช่อุดมการณ์ล้วนๆ ทุนรัฐบาลที่ให้โฆษณาสัญญายาวๆ การนำเสนอเนื้อหาหรือทำหน้าที่สื่อที่ไม่มีเงื่อนไขจะทำได้อย่างไร เพราะมันเกี่ยวกับปากท้อง”

นอกจากนี้หากมีการคุกคามผ่านตัวองค์กรสื่อก็จะทำให้สื่ออยู่ในภาวะลำบาก ในความเป็นจริงแล้วความจำเป็นทางธุรกิจกับภาระในเชิงอุดมการณ์และวิชาชีพ เป็นภาวะที่ปีนเกลียวกันอยู่ สื่อจะขยายขอบเขตการทำงานได้ก็ต้องมีเงินลงทุน

มรดกทักษิณสู่ยิ่งลักษณ์

สำหรับในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเข้ามาคุกคามสื่อเช่นกัน อย่างกรณีของนักข่าวช่อง 7 อย่างนางสาวสมจิตร นวเครือสุนทร ที่ตั้งคำถามจนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินหนี แล้วนางสาวพรทิพย์ ปักษานนท์ประธานกลุ่มคนเสื้อแดงเพชรบุรี นำเอาภาพของเธอเผยแพร่ทางอีเมล พร้อมด้วยข้อความว่าเจอที่ไหนให้จัดการ จนมีคดีความกัน ปัจจุบันพรทิพย์ ปักษานนท์ ได้รับการตอบแทนเป็นกรรมการอิสระในบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ขณะที่นักข่าวรายนี้ยังถูกกีดกันไม่ให้เธอไปทำข่าวนายกยิ่งลักษณ์ที่ประเทศกัมพูชา

นอกจากนี้ยังมีกรณี จ.เจตน์ หรือนายจิรปาณ ศรีเนียน บุกไปหานายกนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรรายการ ข่าวข้นคนข่าว ที่ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาถึงการทำหน้าที่หลังจากไม่พอใจการนำเสนอข่าวของพิธีกรดัง กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ท้ายที่สุดรายการของกนกก็หายไปจากผังรายการช่อง 9

เข้าสู่ยุคครอบงำ

เมื่อการใช้กำลังเข้าข่มขู่หรือคุกคามสื่อ ส่วนใหญ่มักจะได้รับการตอบโต้จากองค์กรสื่ออย่างสมาคมนักข่าวและหน่วยงานอื่น ๆ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อรัฐบาล ดังนั้นการเลือกใช้แนวทางที่นุ่มนวลกว่าและได้ผลอย่างการเข้าไปค่อย ๆ ครอบงำจึงกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

เห็นได้จากอีเมลของนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย หลุดออกมาต่อสาธารณชน ในเรื่องการจ่ายเงินเลี้ยงดูสื่อมวลชนในช่วงที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังหาเสียงเลือกตั้ง จนทำให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสอบสวนเรื่องดังกล่าว ทำให้สื่อหลายค่ายลาออกจากการเป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ รวมถึงไม่ร่วมสังฆกรรมกับสมาคมนักข่าว

ล่าสุดกับกรณีการเดินทางไปดูงานที่ประเทศอังกฤษ แถมด้วยการชมฟุตบอลคู่แดงเดือดของคณะประธานรัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับงบประมาณ 7 ล้านบาท แถมสื่อมวลชนร่วมคณะมุ่งเน้นไปที่สื่อที่นำเสนอข่าวเชียร์รัฐบาล รวมทั้งมีการนำเอาชื่อนักวิชาการกลุ่มคนเสื้อแดงสวมเข้าไปในสังกัดของสื่อ

การเลือกแนวทางว่าจะเข้าจัดการกับสื่ออย่างไรขึ้นอยู่กับว่าสื่อนั้นยอมเป็นพวกด้วยหรือไม่ หากไม่ก็จะมีทีมงานอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเข้าไปจัดการ เมื่อเกิดเป็นข่าวขึ้นมาก็ปฏิเสธว่าคนเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่ถ้าเป็นการเลือกซื้อหรือครอบงำจะอาศัยคนในพรรคการเมืองนั้นเข้าไปดำเนินการเพราะประเมินออกว่านักข่าวคนใด ค่ายไหน สามารถที่จะใช้วิธีการเลี้ยงดูปูเสื่อได้

เต็มใจถูกครอบงำ

ด้านเจ้าของรายการสถานีข่าวกล่าวว่า การครอบงำสื่อต้องแยกเป็น 2 แนวทางคือ เป็นแบบเต็มใจ เนื่องจากมีอุดมการณ์ที่เหมือนกันกับเจ้าของทุน รูปแบบที่สองเป็นการใช้อำนาจทุนเข้ามากดดัน

ขณะนี้บริบทของสื่อเปลี่ยนไปมาก มีสื่อรูปแบบใหม่ๆ หลากหลายช่องทาง ทั้งดาวเทียม เว็บไซต์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมไปถึงเรื่องการตลาด ที่สื่อปัจจุบันเริ่มหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ความอยู่รอด กำไรขององค์กร กลายเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการทำสื่อยุคนี้

สื่อหลายแห่งนำเอาบริษัทของตนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อหาทุนขยายกิจการหรือใช้หนี้สินที่มีอยู่ ทำให้การหารายได้เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องอื่น สื่อบางค่ายเมื่อยอดขายลดลง โฆษณาน้อย จึงมีการเปลี่ยนแนวทางในการนำเสนอข่าว บางแห่งเลือกที่จะละจุดยืนเรื่องความถูกต้อง หันไปตอบสนองพรรคการเมืองหรือกลุ่มทุนที่เป็นรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ยอดขายและโฆษณาเพิ่มขึ้น

ซื้อเจ้าของสื่อง่ายสุด

วันนี้กลุ่มทุนและนักการเมืองฉลาดพอที่จะไม่เลือกใช้วิธีคุกคามสื่อที่เสนอข่าวโจมตี เพราะเป็นภาพพจน์ที่ไม่ดี แต่จะใช้อำนาจและพลังเงินที่มีทำให้สื่อนั้นๆ อ่อนแรงลงไปเอง เริ่มจากการทุ่มเม็ดเงินโฆษณาทั้งจากภาคธุรกิจในเครือข่ายของนักการเมืองเข้ามาซื้อโฆษณาในสื่อนั้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วสื่อก็มักจะเลี่ยงไม่นำเสนอข่าวในเชิงตรวจสอบต่อกิจการหรือเรื่องที่รัฐกำลังทำ หากฝ่ายข่าวยังนำเสนอเรื่องที่กระทบต่อทุนและนักการเมืองต่อ ก็จะใช้วิธีการถอนโฆษณา

การถอนโฆษณาแม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อนักธุรกิจกลายมาเป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล เมื่อเครือข่ายทางธุรกิจของรัฐบาลไม่ลงโฆษณาในสื่อที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างหนักแล้ว ภาคธุรกิจอื่นก็ไม่กล้าที่จะลงโฆษณาในสื่อนั้นๆ เหตุผลหนึ่งคือเกรงจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล อีกประการหนึ่งคือมีการสกัดกั้นจากภาครัฐไม่ให้ลงโฆษณาในสื่อนั้นโดยมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาต่อรอง

ขณะเดียวกันมีสื่อหลายแห่งที่ตั้งบริษัทลูกเพื่อหารายได้มาเลี้ยงตัวสื่อหลัก ด้วยการรับจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ช่องทางนี้ทุนและรัฐบาลก็สามารถเข้ามาทุ่มเงินเข้ามาสนับสนุน ที่ผ่านมามีหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่ใช้เงินโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กรกว่า 30 ล้านบาท ในจำนวน 10 ล้านบาทตกอยู่กับสื่อเพียงเจ้าเดียว ดังนั้นการนำเสนอข่าวองค์กรรัฐแห่งนั้นจึงเป็นไปในเชิงบวก

วิธีการต่อมาทุนธุรกิจในเครือข่ายของนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลอาจจะเลือกใช้ช่องทางที่ตัวสื่อเองเปิดไว้ เช่น เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยการเข้ามาไล่เก็บหุ้นจนมีสัดส่วนมากพอที่จะส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการได้ หรืออาจซื้อหุ้นใหญ่ทั้งจำนวนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถกำหนดทิศทางต่างๆ ได้

ขั้นตอนที่กล่าวมานั้นขึ้นอยู่กับการปรับใช้ตามสถานการณ์ของตัวสื่อ แต่วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการคุยกับเจ้าของสื่อโดยตรง ช่องทางนี้หากสามารถเข้าถึงได้ก็จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เพราะเจ้าของสื่อคือผู้ที่กำหนดทิศทางของข่าวทั้งหมด เมื่อเจ้าของสื่อเลือกแนวทางเดียวกับรัฐบาล แม้จะมีนักข่าวที่ไม่เห็นด้วยกับเจ้าของสื่อ ท้ายที่สุดนักข่าวนั้นก็ต้องออกด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายไปทำหน้าที่อื่นหรือจ้างออก

สร้างบุญคุณ-ซื้อยาว

การครอบงำตัวนักข่าวนั้นเกิดขึ้นหลายรูปแบบ เช่น คนที่ทำข่าวพรรคเพื่อไทยตลอดเวลาที่ใกล้ชิดกับแหล่งข่าวก็จะซึมซับเอาแนวคิดและวัฒนธรรมของพรรคนั้นมาไว้ในตัว ทำให้เห็นสอดคล้องกับข้อมูลของพรรคนั้น ถือเป็นการครอบงำด้วยวัฒนธรรมและแนวคิดของพรรคนั้นๆ ต่อตัวนักข่าว

อีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผลมาตลอดคือการเลือกเฉพาะระดับหัวหน้าข่าวหรือคอลัมนิสต์ที่ทรงอิทธิพล อาจจะใช้วิธีการเลี้ยงดูหรือมีเงินพิเศษให้ด้วยกรรมวิธีต่างๆ แต่ที่ง่ายที่สุดคือการทำบัตรเครดิตให้และกำหนดวงเงินให้ โดยทุนธุรกิจและนักการเมืองจะรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการรูดบัตรซื้อสินค้า

“วิธีการที่ใช้กันมากขึ้นคือการสร้างบุญให้ตัวนักข่าว นักข่าวก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งและอาชีพนี้เงินเดือนน้อย การเข้ามาด้วยการให้ความช่วยเหลือทั้งงานแต่งงาน หาโรงเรียนดีๆ ให้ลูกนักข่าว หรือการช่วยเหลือดูแลญาติพี่น้องของนักข่าว แค่นี้ก็ซื้อใจนักข่าวได้แล้ว ถือว่าเป็นการซื้อยิ่งกว่าซื้อเสียอีก” ผู้บริหารองค์กรสื่อกล่าว

ทางออกองค์กรสื่อ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้เฉพาะในส่วนขององค์กรสื่อด้วยกันนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การควบคุมหรือการกำกับดูแลสมาชิกให้อยู่ในกรอบการประกอบวิชาชีพที่ดี เพราะไม่มีอำนาจลงโทษเหมือนกับอาชีพอื่น เช่น แพทย์ วิศวกรหรือทนายความ

“ถึงเวลาแล้วที่องค์กรสื่อควรจะต้องมีการออกใบประกอบวิชาชีพสื่อ โดยมีกฎหมายรองรับ มีการดูแลกันเองโดยที่รัฐบาลไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว มีการฝึกอบรม ปลูกฝังอุดมการณ์ จริยธรรมเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ และให้สิทธิกับองค์กรนี้ในการลงโทษหรือเพิกถอนใบอนุญาตหากสมาชิกประพฤติตัวไม่เหมาะสม” สื่อมวลชนอาวุโสแนะนำ

นอกจากนี้ควรมีเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่ดูแลการเข้ามาใช้อำนาจครอบงำสื่อด้วยรูปแบบต่างๆ ของกลุ่มทุนและนักการเมืองควบคู่กันไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เพราะเมื่อสื่อถูกครอบงำตามอำนาจของทุนและนักการเมือง สุดท้ายผู้อ่านหรือผู้ชมก็จะได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและทำให้เกิดความขัดแย้งกันทางความคิด สังคมแตกแยก อย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น