xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนมหาอุทกภัย รับมือน้ำท่วมซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ความเสี่ยงในการเกิดมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 54 ยังตามหลอนไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ระดับนโยบายและกลไกการบริหารจัดการน้ำของประเทศยังไม่มีความพร้อม ความเสียหายรุนแรงถึงขั้นหายนะอันดับ 4 ของโลก กระตุ้นให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขร่วมถอดบทเรียนเพื่อรับมือความสูญเสียโดยเฉพาะชีวิตของคนไทยที่ยังแขวนอยู่บนความไม่พร้อมและไม่ชัดเจนดังเช่นที่ผ่านมา

เวลานี้เหตุการณ์น้ำท่วมยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ตั้งแต่เหนือ กลาง ตะวันออก ใต้ รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เสียงเตือนภัยพิบัติจากหน่วยงานพยากรณ์อากาศบ่งชี้ว่ายังคงมีความเสี่ยงจากน้ำท่วม แม้หลายฝ่ายจะเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์คงไม่รุนแรงซ้ำรอยปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลของประชาชนยังคงเกิดขึ้น เพราะความไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรับมืออุทกภัยที่เกิดขึ้น ดังกรณีน้ำท่วมสุโขทัยที่บ่งชี้ว่ายัง “เอาไม่อยู่” อย่างทันท่วงที

ด้วยความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ก่อให้เกิดหายนะจากอุทกภัยและภัยพิบัติในหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่เผชิญกับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญต่อความอยู่รอดปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ร่วมกันถอดบทเรียนจากประสบการณ์มหาอุทกภัย 2554 เพื่อรับมือวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปีนี้และอนาคตข้างหน้า

***หายนะอันดับ 4 ของโลก

คณะทำงานสังเคราะห์บทเรียนการรับมืออภิมหาอุทกภัย 2554 โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สรุปภาพรวมว่า นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2554-ม.ค. 2555 มีพื้นที่ 36 ล้านไร่จมน้ำ ครอบคลุม 65 จังหวัด สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน 12 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 815 ราย มีประชาชนที่กลายเป็นผู้อพยพ 5.38 ล้านคน คนงานเกือบ 6.5 แสนคนตกงานหรือได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจพินาศ 1.425 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554

สำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2554 ถือเป็นความเสียหายถึงขั้นหายนะ ขณะที่ธนาคารโลกจัดอันดับความเสียหายทางเศรษฐกิจแพงเป็นอันดับ 4 ของโลก ถัดจากแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น (2554) แผ่นดินไหวในโกเบ (2538) และเฮอริเคนแคทรีนา (2548)

ไม่เพียงความเสียหายมโหฬารสำหรับประเทศไทย มหาอุทกภัย 2554 ยังได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจแผ่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกผ่านการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระดับข้ามชาติ เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ผลการสำรวจครัวเรือนประสบภัยน้ำท่วม ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2554 ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม 61 จังหวัด จำนวน 36,910 ราย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ UNICEF และ WORLD HEALTH ORGANIZATION พบว่ามีครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วม 3.9 ล้านครัวเรือน และมีสมาชิกในครัวเรือน 12.9 ล้านคน

ผลสำรวจมีข้อค้นพบที่น่าวิตกก็คือ การเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมในการเอาชีวิตรอดนั้น มีประชาชนถึงร้อยละ 51.1 ว่ายน้ำไม่เป็น มีเพียงร้อยละ 18.6 ว่ายน้ำได้ตามมาตรฐานสากล คือว่ายน้ำขึ้นตลิ่งฝั่งตรงข้ามที่มีระยะทาง 25 เมตร ขณะสวมใส่เสื้อผ้าตามปกติ มีเพียงร้อยละ 3.7 ช่วยเหลือตัวเองได้เพียงลอยคอหรือพยุงตัวในน้ำในเวลาเฉลี่ย 10 นาที

“เด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีว่ายน้ำได้น้อยมาก ส่วนจำนวนผู้ที่ว่ายน้ำได้มีเพียงร้อยละ 18.6 เท่านั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อม เช่น การจัดหลักสูตรว่ายน้ำในโรงเรียนเพื่อลดความสูญเสีย” นางสาวรัจนา เนตรแสงทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้ข้อมูล

***ไม่มีความพร้อมในทุกระดับทุกพื้นที่

ในภาพรวมแล้ว ข้อค้นพบสำคัญจากการถอดบทเรียน พบว่าหน่วยงานรัฐยังไม่มีความพร้อมในทุกระดับทุกพื้นที่ในการรับมือกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งแผนการรับมืออุทกภัยอย่างได้ผลย่อมเป็นไปได้ยากเมื่อหาความชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารน้ำไม่ได้ ดังปรากฏปริศนาที่ไม่มีคำตอบสำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระดับน้ำในเขื่อนและการปล่อยน้ำจากเขื่อน ดังนั้น แม้เมื่อมหาอุทกภัยผ่านไปแล้ว ความกังวลต่อการเตรียมป้องกันน้ำท่วมก็ไม่ได้เบาบางลงในสายตานักวิชาการ

ขณะที่ความพร้อมของหน่วยงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์โดยรวมสรุปได้ว่า ในส่วนของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติไม่พบหลักฐานบ่งชี้การปฏิบัติงานของโครงสร้างกลไกการจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัด (กพฉ.จังหวัด) ในสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งที่กลไกดังกล่าวได้มีการจัดตั้งครอบคลุม 40 จังหวัด กลไกนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่คาดหวัง

ในมุมมองของ Mark Salter ผู้เชี่ยวชาญจาก Health Protection Agency สหราชอาณาจักร ระบุว่า การรับมือมหาอุทกภัยในทางสาธารณสุขของไทยยังมีข้อจำกัดด้านการวางแผน ทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างฉุกละหุก เขาจึงเสนอว่า การวางแผนก่อนเกิดภัยและการทำงานร่วมกับนักวิชาการน่าจะช่วยให้การเตรียมการรับมือดีขึ้น เช่น การระบุพื้นที่น้ำท่วมและอาคารที่อาจใช้เป็นศูนย์พักพิง และการสำรองยาสำหรับคนไข้โรคเรื้อรังเนื่องจากถูกตัดขาดจากบริการรักษาพยาบาล

ขณะที่ภาวะพร่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมใน กทม.และเมืองอื่นในภาวะปกติ ออกอาการกำเริบอย่างเด่นชัดเมื่อมหาอุทกภัยมาเยือนซ้ำเติมภาวะเสี่ยงต่อโรคระบาด เช่น ฉี่หนู ดังปรากฏข่าวใจความว่า “ใน กทม. ขยะวันละ 8 พันตันในยามปกติ ปนเปื้อนไปทั่ว นำไปสู่ความเสี่ยง เช่น โรคฉี่หนู เป็นต้น ส่วนศูนย์พักพิงที่รองรับผู้อพยพนับล้าน ยังมีคำถามที่ตามมาคือ คุณภาพการดูแลผู้พักพิงเป็นอย่างไรในด้านความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน

นอกจากนั้น ภาวะน้ำท่วมขังยาวนานนับเดือนกินพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 65 จังหวัด 36 ล้านไร่ ทั้งย่านชุมชนที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ได้ก่อความวิตกอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการปนเปื้อนทางเคมี และชีวภาพ ที่ไม่มีตัวเลขขอบเขตความรุนแรง ประเภทของความเสี่ยงแน่ชัด เท่าที่ปรากฏหลักฐานจำกัดจากระบบเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุข ผลกระทบทางสุขภาพในลักษณะโรคติดเชื้อ ขณะที่ภาพจระเข้ออกเพ่นพ่านในชุมชนหลายพื้นที่แม้แต่ กทม. ชวนให้วิตกเกี่ยวกับความบกพร่องของการบังคับใช้เทศบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์

***ปรับรื้อขีดความสามารถโครงสร้างกลไกเจ้าภาพใหม่

เวลานี้ประเทศไทยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านภัยพิบัติ ส่วนการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งปกติแล้วมีการทำงานโดยใช้การสั่งการตามลำดับขั้นเป็นหลัก ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การประสานงานและการทำงานร่วมกันเป็นผลสำเร็จ คือการซ้อมแผนร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และกลไกเจ้าภาพต้องสั่งสมความเชี่ยวชาญด้านการจัดการและเทคนิคดังเช่นหน่วยงานรับผิดชอบด้านภัยพิบัติของต่างประเทศ

ทั้งนี้ ก่อนหน้ามหาอุทกภัย 2554 ในสายตาขององค์การระหว่างประเทศ มองว่า ขีดความสามารถในการรับมือภัยพิบัติของประเทศไทยจัดว่าสูงกว่าหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก เป็นรองก็แต่มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบด้านการประเมินความเสี่ยง กฎระเบียบในแต่ละสาขา โครงสร้างการป้องกันภัย ความต่อเนื่องในการวางแผน ระบบเตือนภัย ระบบฉุกเฉิน ระบบประกันภัยและกองทุนภัยพิบัติ รวมทั้งแผนฟื้นฟู แต่อย่างไรก็ตาม บทเรียนหลังมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น บวกกับความสูญเสียสะสมในรอบ 30 ปี และแนวโน้มในอนาคตที่ประเทศไทยจะประสบกับภัยพิบัติ จำเป็นต้องทบทวนขีดความสามารถของประเทศเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับน้ำท่วม และภัยแล้ง

สำหรับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งทำหน้าที่กลไกเจ้าภาพระดับชาติ โดยมีเครื่องมือทางการบริหารและกฎหมายรองรับ ได้แก่ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 นโยบายเตรียมความพร้อมแห่งชาติ ในส่วนความมั่นคงมีแผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมรองรับ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อยู่ในข่ายนี้

ในส่วนบริการการแพทย์ มี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ซึ่งในเชิงโครงสร้างการจัดการ หน่วยงานเจ้าภาพระดับชาติคือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่ปรากฏหลักฐานว่าทำหน้าที่ต่อเนื่องทั้งในยามปกติและยามภัยพิบัติ แต่ไม่ชัดเจนว่าศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข มีความต่อเนื่องหรือไม่ ขณะที่ในระดับจังหวัด โครงสร้างการบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินระดับต่างๆ น่าจะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพเฉพาะในส่วนบริการการแพทย์ที่อาจอนุโลมให้ทำหน้าที่ในยามภัยพิบัติ แต่ดูเหมือนไม่ครอบคลุมในส่วนบริการสาธารณสุข

ในทางปฏิบัติ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ากลไกเจ้าภาพและกลไกอื่นๆ ในสองขอบเขตที่กล่าวนี้ในทุกระดับมีความพร้อมตามที่ควรจะเป็นสักเพียงใดเมื่อเทียบกับความต้องการในสถานการณ์จริงของมหาอุทกภัยที่ผ่านมา ในขณะที่ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจากฝ่ายต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศบ่งชี้ไปในทิศทางอันน่าวิตก

ประเทศที่เผชิญภัยพิบัติอยู่เนืองๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง โดยหมั่นฝึกซ้อมและปรับแผนรับมือภัยพิบัติให้ทันสมัยอยู่เสมอ สำหรับประเทศไทยซึ่งไม่ถูกกระตุ้นด้วยการเผชิญภัยพิบัติอยู่บ่อยๆ แต่ก็มีความจำเป็นต้องฝึกซ้อมให้มากไม่ยิ่งหย่อนกว่าประเทศเหล่านั้น ทำนองเดียวกับในกรณีการซ้อมปฏิบัติการคอบราโกลด์ที่มีรูปธรรมโดดเด่นในการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศต่อเนื่องกันมา 31 ปี

***ประเมินความพร้อมรับมือภัยพิบัติ

การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติ ถึงแม้จะมีโครงสร้างและสายบังคับบัญชาชัดเจน แต่จุดที่ไม่ชัดเจนคือเนื้อหาของแผนอำนวยการและการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ เช่น ภาคชุมชน และภาคเอกชน

เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปในระดับหน่วยปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น กรมควบคุมโรค ปรากฏว่าไม่มีแผนรองรับกรณีเกิดอุทกภัย มีเพียงการแจ้งเตือนหน่วยงานระดับจังหวัดให้ดำเนินการป้องกันโรค

ส่วนกรมอนามัย มีแผนด้านการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ด้านการแก้ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม และแผนการพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แม้มีแผนปฏิบัติการ แต่ยังขาดความชัดเจนด้านขอบเขตความรับผิดชอบว่าครอบคลุมทั้งภายในและนอกโรงพยาบาลทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุขหรือไม่

นอกจากนั้น กรมควบคุมโรคยังระบุว่า มีปัญหาการประสานงานและการสั่งการที่มีความซ้ำซ้อน ขณะที่กรมอนามัยชี้ว่า การประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่นทำได้ยากเพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แต่ละหน่วยก็มีภารกิจมาก ไม่มีใครให้ข้อมูลได้ ขาดข้อมูลที่เป็นจริงในสถานการณ์จริง

ในส่วนของบริการสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัยระบุว่า เมื่อเกิดสถานการณ์จริง ไม่มีใครสนใจทำงานตามแผนหรือขั้นตอนที่กำหนดไว้ แต่ทำงานตามคำสั่ง และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ในด้านหนึ่งอาจตีความว่าเป็นเช่นนี้เพราะไม่มีการซ้อมแผน ซึ่งกรมอนามัยยอมรับ ในอีกด้านหนึ่งกรมอนามัยก็ยอมรับว่า แผนล่วงหน้ากับสถานการณ์จริงไม่สอดคล้องกันเท่าที่ควร

กรมควบคุมโรคยังมีบทเรียนพื้นที่จัดเก็บเวชภัณฑ์ที่ไม่เพียงพอและเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ขณะที่ระบบสารสนเทศยังมีลักษณะแบบตั้งรับมากกว่ารุก ส่วนสำนักบริหารการสาธารณสุข (สบรส.) เสนอให้อพยพหรือส่งต่อผู้ป่วยดำเนินการแต่เนิ่นๆ และให้มีการแจ้งเตือน การสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ในระยะยาว ด้านกรมอนามัยระบุว่าแผนที่เตรียมไว้เป็นแผนตั้งรับ ซึ่งไม่ได้ดำเนินการเมื่อเกิดเหตุจริง
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ส่วนประเด็นความพร้อมเมื่อเกิดภัยนั้น พบว่าแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขไม่สอดรับกับสถานการณ์ เพราะผลกระทบมีบริเวณกว้าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด

สำหรับความพร้อมหลังเกิดภัย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดกิจกรรมฟื้นฟูและระบบบริการใน 45 วัน การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค การฟื้นฟูสุขอนามัยที่ครอบคลุมคุณภาพอาหาร น้ำ การล้างตลาด การปรับปรุงระบประปาและคุณภาพสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชน และการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยกำหนด 10 ตัวชี้วัดสำหรับการติดตามฟื้นฟู จำแนกเป็น 3 ระดับของสภาวะสุขภาพ คือ ปกติ ดีขึ้นบางส่วน และต้องฟื้นฟูอย่างมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะจากการศึกษาไม่พบว่ามีกลไกการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้

***ถอดบทเรียนสำคัญสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้สรุปปัญหาหลักที่พบในช่วงมหาอุทกภัยปี 2554 และถอดบทเรียนสำคัญเพื่อเสนอแนะในเชิงนโยบายในแต่ละประเด็นปัญหา ดังนี้

ประเด็นแรก กลไกเจ้าภาพยังขาดความชัดเจน ควรกำหนดและพัฒนาความเข้มแข็งของกลไกเจ้าภาพของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นจุดตั้งต้นสืบสานความเข้มแข็งของกลไกเจ้าภาพส่วนอื่น และนำไปสู่ความพร้อมในทุกระยะ ความต่อเนื่องของบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติทุกระดับ น่าจะช่วยลดความสับสนในการประสานงานจากการตัดสินใจสั่งการที่ฉุกละหุกและขาดข่าวกรองที่ดี โดยองค์ประกอบสำคัญที่ประกันความต่อเนื่องของกลไกเจ้าภาพ คือจัดระบบบันไดวิชาชีพและการพัฒนากำลังคนที่เกื้อหนุนการสืบสานความเชี่ยวชาญ และมีงบประมาณรองรับพันธกิจการบริหารจัดการภาพรวมอย่างสม่ำเสมอเพียงพอและคล่องตัว พร้อมทั้งการอภิบาลกลไกเจ้าภาพโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ โปร่งใส มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และใช้ความรู้ชี้นำ

ประเด็นที่สอง ความสับสนของการประสานงาน ควรมีการเตรียมแผน ทบทวนแผนโดยรวมภาคส่วนทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข

ประเด็นที่สาม สถานการณ์จริงไม่สอดคล้องกับการคาดการณ์ ควรมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์และสาธารณสุขยามภัยพิบัติ โดยรวมทุกภาคส่วนทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน

ประเด็นที่สี่ การบริหารจัดการและการวางผังเมืองที่ผิดพลาด ทำให้น้ำที่ควรไหลสู่ทะเลท่วมขังอยู่บนบกนานเกินไป ควรจัดตั้งกลไกแห่งชาติในการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติและควรมีการทบทวนกฎหมายและมาตรการต่างๆ เช่น การใช้ที่ดินสำหรับพาณิชยกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณูปโภค เพื่อปรับปรุงผังเมืองให้สอดคล้องอย่างยั่งยืนกับสภาพภูมิอากาศ ประชากร เศรฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ประเด็นที่ห้า ศูนย์อพยพจัดตั้งอย่างเร่งด่วน ควรเตรียมทำเลจัดตั้งศูนย์อพยพกรณีเกิดภัยพิบัติครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมกับเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สวัสดิภาพต่อชีวิตและทรัพย์สิน สุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมนันทนาการ เป็นต้น

ประเด็นสุดท้าย ประชาชนขาดความรู้และทักษะในการเตรียมความพร้อม ควรเสริมสร้างทักษะการเตรียมพร้อมให้แก่ประชาชน เช่น การเก็บออมเงินยามฉุกเฉิน การเตรียมยาสามัญประจำบ้านและยารักษาโรคประจำตัว การเตรียมถุงยังชีพยามฉุกเฉิน ความรู้ในการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การติดต่อขอความช่วยเหลือ รวมทั้งทักษะการเอาชีวิตรอด เช่น การว่ายน้ำ ปีนต้นไม้ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น