สวรส.สรุปบทเรียนมหาอุกทกภัยปี 54 พบคนงานเกือบ 6.5 แสนคนตกงาน เศรษฐกิจพัง 1.425 ล้านล้านบาท ธนาคารโลกจัดเสียหายทางเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก คนในพื้นที่น้ำท่วมกว่า 51% ว่ายน้ำไม่เป็น มีการเตรียมรับมือย้ายสวิตช์ไฟ/ปลั๊กไฟน้อย แนะ 5 นโยบายรับมือหากเกิดซ้ำ ลดการสูญเสีย
วันนี้ (3 ก.ย.) ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานเชิญร่วมงานแถลงข่าว “มหาอุทกภัย ปี 2554 : บทเรียนจากประสบการณ์” ว่า สถานการณ์ภัยธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่ไกล และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่มีการเตรียมความพร้อม ขาดการทบทวนประสบการณ์ ขาดการค้นคว้าหาข้อมูลและศึกษาวิจัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์ครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้น อาจทำให้ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น รวมทั้งเสียงบประมาณในการฟื้นฟูเยียวยาหลังภัยพิบัติมากขึ้นด้วย ทำให้ไม่สามารถนำเงินไปใช้พัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่
นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า สธ.ได้ปรับบทบาทและวิธีดำเนินงานให้เป็นเชิงรุก เพื่อเข้าถึงประชาชนและสเข้ากับสถานการณ์ปัญหามากขึ้น อาทิ การจัดทีมดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน การเปิดสายด่วนคลายเครียดช่วงน้ำท่วม 1667 การป้องกันปฐมพยาบาลจากไฟดูด เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ได้เรียนรู้การทำงานในสถานการณ์จริง ส่งผลดีต่อการปรับแนวทางการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก หากต้องเผชิญภัยพิบัติในอนาคต
น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการสำรวจครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วง ก.ค.-ธ.ค.2554 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 61 จังหวัด ครัวเรือนถูกน้ำท่วม 3.9 ล้านครัวเรือน ประชากร 12.9 ล้านคน ระยะเวลาน้ำท่วมในบ้านเฉลี่ย 27 วัน นอกบ้าน 25 วัน ความสูงของน้ำในบ้านเฉลี่ย 88.83 ซม.นอกบ้าน 87.35 ซม.มีการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมร้อยละ 57.1 ส่วนมากนิยมยกของขึ้นที่สูง และสำรองของกินของใช้ ซึ่งการเตรียมตัวมีความสัมพันธ์กับรายได้ของครัวเรือน ขณะที่การย้ายสวิตช์/ปลั๊กไฟขึ้นที่สูงเพียง 5.5% ทั้งที่เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมร้อยละ 51.1 ว่ายน้ำไม่เป็น และว่ายน้ำได้ 25 เมตรขึ้นไป ร้อยละ 18.6 ส่วนในภาคแรงงานมีการตกงานเพิ่มขึ้น รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนลดลงจากช่วงก่อนน้ำท่วม ร้อยละ 10 ขณะที่การเข้าถึงบริการสุขภาพ พบว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมมีสมาชิกได้รับบาดเจ็บ ป่วย หรือเสียชีวิตจากน้ำท่วม ร้อยละ 8.1 ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิต ร้อยละ 0.3 มีสาเหตุมาจากไฟฟ้าดูด/ช็อต
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ความเสียหายจากมหาอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้แผ่นดินกว่า 36 ล้านไร่จมน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ ถึงกรุงเทพฯ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน 12 ล้านคน เสียชีวิต 815 คน 5,388,204 คน กลายเป็นผู้อพยพ คนงานเกือบ 650,000 คนตกงาน หรือได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจพินาศ 1.425 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 และธนาคารโลกจัดอันดับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก ถัดจากสึนามิในญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในโกเบ และเฮอริเคนแคทรีน่า
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนควรมีความรู้เบื้องต้นด้านการดูแลสุขภาพยามที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม เช่น เรื่องการป้องกันและปฐมพยาบาลจากไฟช็อต การช่วยเหลือตนเองกรณีว่ายน้ำไม่เป็น การเตรียมถุงยังชีพ การเตรียมยาสามัญประจำบ้าน อนามัยส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น สามารถดาวน์โหลด คู่มือสำหรับป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมได้ที่เว็บไซต์กรม www.ddc.moph.go.th โดยควรยึดหลัก รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ.สวรส.กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย มี 5 เรื่องหลัก คือ 1.สธ.ควรพัฒนาบทบาทการเป็นเจ้าภาพหลักในการรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพให้มากขึ้น 2.ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมแผน ซ้อมแผน ทบทวนแผนเป็นระยะ 3.ควรพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์และสาธารณสุขยามภัยพิบัติ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งในและนอก สธ. 4.ควรหาและกำหนดทำเลจัดตั้งศูนย์อพยพกรณีภัยพิบัติครอบคลุมทั่วประเทศและเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ และ 5.ควรเสริมสร้างทักษะการเตรียมความพร้อมแก่ประชาชน