ASTVผู้จัดการออนไลน์ - น่าจับตาว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ กรมวิชาการเกษตรจะขึ้นทะเบียนคาร์โบฟูราน สารเคมีเกษตรพิษร้ายแรงที่ทั่วโลกห้ามใช้ได้สำเร็จตามความประสงค์ของคนบางกลุ่มหรือไม่? และเม็ดเงินร้อยล้านเพื่อการล็อบบี้ขึ้นทะเบียนครั้งนี้ที่เล่าลือในวงการสารเคมีนั้นมีจริงหรือ และตกอยู่ในมือของผู้มีอำนาจระดับใด?
คาร์โบฟูราน หรือฟูราดานคือสารเคมีฆ่าแมลงที่มีปริมาณการนำเข้าประเทศสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีฆ่าแมลงทั้งหมดที่นำเข้าประเทศไทย โดยสถิติเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมามีการนำเข้าสารพิษร้ายแรงที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้วนี้เข้ามาในประเทศไทยสูงถึง 9.5 ล้านกิโลกรัม! โดยมากกว่า 90% ถูกนำเข้ามาโดยบริษัทข้ามชาติ “เอฟเอ็มซีคอร์ปอเรชั่น” บริษัทสัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีโรงงานผลิตสารนี้อยู่ทั้งในสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย
สารเหล่านี้ถูกผลักดันท่วมทะลักประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ เพราะสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ หรืออีพีเอได้ประกาศให้ยกเลิกการใช้ฟูราดานในพืชทุกชนิดในประเทศของตนโดยสิ้นเชิงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ในขณะที่สหภาพยุโรปที่มีประเทศต่างๆ เป็นสมาชิกจำนวน 27 ประเทศ ห้ามใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว
ไม่นับประเทศจีนที่แต่ก่อนได้ชื่อว่ามีปัญหามาตรฐานเรื่องอาหารต่ำที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ยักษ์ใหญ่ของเอเชียได้ประกาศแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารพิษนี้อีกต่อไป
สหรัฐฯ ประเมินล่าสุดพบมีพิษภัยร้ายแรงเกินกว่าจะยอมรับได้
หลังจากมีรายงานว่าคนอเมริกันได้รับพิษจากการบริโภคแคนตาลูปที่มีการใช้ฟูราดานจำนวนหลายราย อีพีเอได้เริ่มประเมินความเสี่ยงจากสารพิษนี้อย่างจริงจังเมื่อกลางปี 2548 ในรายงานอย่างเป็นทางการของอีพีเอ (Carbofuran; Order Denying FMC’s Objections and Requests for Hearing; Final Rule) พบว่ามีความเสี่ยงสูงถึงขนาดที่ว่าเด็กอายุ 3-5 ขวบที่บริโภคผลแคนตาลูปในปริมาณเพียงครึ่งถ้วยจะมีโอกาสได้รับปริมาณคาร์โบฟูรานระหว่าง 1.8-72 เท่าของค่ามาตรฐาน (aPAD-Acute Population Adjusted Dose)
ลองนึกดูว่าประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าสหรัฐฯ 20 เท่า แต่มีปริมาณการใช้ฟูราดานต่อปีมากกว่านั้น เด็กหรือผู้หญิงมีครรภ์ที่บริโภคแตงโม องุ่น หรือคะน้าที่มาจากแปลงที่หยอดฟูราดานนั้นจะได้รับสารอันตรายนี้ขนาดไหน?!
หลังจากศึกษาอย่างรอบคอบว่า “การตกค้างของคาร์โบฟูรานในอาหารมีความเสี่ยงร้ายแรงเกินระดับที่จะยอมรับได้ ไม่ว่าจะมีการตกค้างในระดับใดก็ตามล้วนไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค” อีพีเอได้ประกาศให้ยกเลิกการใช้ฟูราดานในสหรัฐอเมริกาในพืชเกษตรและอาหารทั้งหมดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2552
เอฟเอ็มซีวิ่งพล่านคัดค้านเรื่องนี้ โดยล็อบบี้ให้กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ 3 กลุ่ม คือ สมาคมผู้ปลูกข้าวโพด สมาคมทานตะวัน และสภามันฝรั่ง กดดันให้ยกเลิกคำประกาศดังกล่าว พร้อมขอต่อรองกับทางการสหรัฐฯ ให้อนุญาตเพื่อใช้กับพืชบางประเภทได้ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ พวกเขาจึงยื่นฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ในวันที่ 22 มีนาคม 2553 ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินไม่รับคำร้อง
พันธมิตรแห่งสารพิษกลุ่มนี้ไม่ยอมแพ้ โดยยื่นต่อศาลสูงสหรัฐฯ ให้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง และต่อมาศาลสูงสหรัฐฯ ได้มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2011 ยืนตามศาลอุทธรณ์ ส่งผลให้คาร์โบฟูรานหรือฟูราดานไม่สามารถใช้กับพืชเกษตรและอาหารในแผ่นดินสหรัฐอเมริกาได้อีกต่อไป
กรมวิชาการเกษตร : หรือกรมการสนับสนุนสารพิษ?
เมื่อปี 2552 กรมวิชาการเกษตรร่วมกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายสร้างข่าวฉาวโฉ่เมื่อประกาศให้พืชสมุนไพรจำนวน 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย โดยผู้ใดก็ตามที่เพียงแต่แปรรูปเบื้องต้นพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเพื่อขายสำหรับวัตถุประสงค์ในการควบคุมศัตรูพืชจะมีความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับหากไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงาน
น่าฉงนที่พืชสมุนไพรที่ปู่ย่าตายายใช้รับประทานมานานหลายชั่วคนกลายเป็นสารพิษที่ต้องควบคุม? แต่สารพิษแท้ๆ ที่หลายประเทศทั่วโลกเลิกใช้อย่างคาร์โบฟูรานกำลังจ่อประกาศให้ขึ้นทะเบียน? นี่คือกรมวิชาการเกษตรซึ่งควรทำหน้าที่ทางวิชาการอย่างโปร่งใส หรือ “กรมการสนับสนุนสารพิษ” กันแน่?
ขณะที่กำลังนับถอยหลังการเกษียณอายุของข้าราชการระดับบิ๊กในกรมวิชาการเกษตร มีบางอย่างไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหลายประการ
ประการที่หนึ่ง ช่วงชิงใช้คนของตนทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนบริษัท
หลังจากเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยเคลื่อนไหวอย่างหนักให้ยกเลิกสารเคมี 4 ชนิดซึ่งมีคาร์โบฟูราน และเมโทมิลเป็นเป้าหมายหลัก เอฟเอ็มซีพยายามลดความกดดันโดยแสดงความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนให้ฟูราดานสำหรับใช้กับนาข้าวเป็นหลักเท่านั้น
ความไม่ชอบมาพากลเริ่มต้นขึ้นเมื่ออธิบดีกรมวิชาการเกษตรรับลูกด้วยการมอบหมายให้นักวิชาการของกรมฯ ไปศึกษาเรื่องผลกระทบของสารนี้ในนาข้าว ทั้งที่การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องข้าวนั้นควรเป็นหน้าที่ของกรมการข้าว ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำเรื่องนี้โดยตรงและติดตามปัญหาของสารพิษตัวนี้มานาน ปรากฏว่าผลการทดลองของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรออกมาเป็นที่พอใจของบริษัทเอฟเอ็มซีอย่างมาก เพราะผลการทดลองซึ่งกรมฯ นำมาเผยแพร่ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมานั้นระบุว่า เมื่อทดลองในนาข้าวพบว่าไม่มีผลกระทบต่อปริมาณตัวอ่อนแมลงที่เป็นประโยชน์ และไม่พบการระบาดเพิ่มของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ขัดแย้งกับผลการทดลองส่วนใหญ่ทั่วโลก
ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปตามหมากที่วางไว้ แต่แล้วจู่ๆ ตัวแทนจากกรมการข้าวซึ่งรับฟังการนำเสนองานดังกล่าวด้วยความอดทนมานานลุกขึ้นแย้งว่า ฟูราดานเป็นสารพิษที่กรมการข้าวไม่แนะนำให้ใช้มานานแล้ว (ตั้งแต่สมัยที่กองการข้าวยังรวมอยู่เป็นกองหนึ่งของกรมวิชาการเกษตร) และข้อมูลที่กรมการข้าว ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องข้าวของประเทศขัดแย้งกับข้อสรุปของนักวิชาการที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรมอบหมายให้ไปทำการทดลอง! การโต้แย้งนี้เกิดขึ้นในที่ประชุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คนจากหลายภาคส่วน
หากกรมวิชาการเกษตรดึงดันให้บริษัทเอฟเอ็มซีได้รับการขึ้นทะเบียนตามคำขอ นั่นหมายความว่ากรมวิชาการเกษตรนอกจากจะรับศึกหนักจากเครือข่ายภาคประชาชนและสาธารณชนแล้ว กรมวิชาการเกษตรกำลังเผชิญหน้ากับกรมการข้าวและนักวิชาการเรื่องข้าวด้วย! อธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งจะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายนนี้จะตัดสินใจอย่างไร?
ประการที่สอง เอาสีข้างเข้าถูเพื่อให้ได้ทะเบียนคาร์โบฟูราน
สัญญาณความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง เมื่อตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเข้าไปชี้แจงเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถ(ลง) ต่อที่ประชุมว่า บริษัทเอฟเอ็มซีมิได้ประสงค์จะขึ้นทะเบียนคาร์โบฟูรานในนาข้าวแต่อย่างใด!?
หากเป็นเช่นนั้นจริง แสดงว่ามีบุคคลบางกลุ่มในกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกำลังเล่นบทสนับสนุนให้บริษัทเอฟเอ็มซีสามารถขึ้นทะเบียนให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด เมื่อการอนุญาตให้ใช้ในนาข้าวกลายเป็นอีกหนึ่งความไม่ชอบธรรมในการขึ้นทะเบียน คนเหล่านี้จึงเลี่ยงหาหนทางอื่นอย่างหน้าไม่เคารพกฎเกณฑ์กติกาใดๆ
คนพวกนี้ทราบดีว่าการอนุญาตให้บริษัทนี้ใช้คาร์โบฟูรานในพืชสักชนิดหนึ่ง เช่น ใช้ในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับเป็นต้นนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว 80% ของสารพิษร้ายแรงนี้จะถูกนำมาใช้กับนาข้าวและพืชอาหารทั้งหมดอยู่ดี พวกเขาขอเพียงแต่จะทำวิธีการใดก็ได้ให้ได้ทะเบียนมาก่อนเท่านั้น เพื่อที่ฟูราดานที่พวกเขานำเข้ามา 10 ล้านกิโลกรัมจะถูกหว่านโปรยไปทั่วผืนดินในประเทศนี้แลกกับผลกำไรที่ปราศจากจริยธรรมกำกับ
ประการที่สาม การเปลี่ยนหลักการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้แม้ประเทศแหล่งกำเนิดปฏิเสธการใช้
หลักปฏิบัติที่ยึดถือกันมานานในกรมวิชาการเกษตรเองและในหลายอารยประเทศ หรือแม้แต่ในวงการด้านยารักษาโรคก็คือ หลัก “Certificate of Free Sale” ซึ่งมีหลักการว่า สารเคมีหรือเวชภัณฑ์ใดก็ตามที่ถูกห้ามใช้หรือไม่รับขึ้นทะเบียนในประเทศผู้ผลิตหรือแหล่งกำเนิด ประเทศผู้นำเข้าจะปฏิเสธที่จะให้นำเข้าหรือเข้ามาค้าขายในประเทศของตน
เรื่องนี้เป็นหลักการทั่วไปในการปกป้องคุ้มครองสุขภาวะของประชาชนนั่นเอง แต่ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังเปลี่ยนหลักการนี้เพียงเพื่อให้คาร์โบฟูรานสามารถขึ้นทะเบียนได้ในประเทศไทย พวกเขาอ้างว่าคาร์โบฟูรานที่นำเข้านั้นมาจากบริษัทเอฟเอ็มซีสาขาอินโดนีเซีย ไม่ได้นำเข้ามาจากบริษัทแม่ในสหรัฐฯ พวกเขาจึงมีสิทธิค้าขายสารพิษนี้ได้เพราะที่อินโดนีเซียยังไม่ห้ามใช้สารนี้ในขณะนี้!
ยากที่จะทำใจให้เชื่อได้ว่าสิ่งที่กรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการอยู่นั้นเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์และสุขภาวะของประชาชนไทยและแผ่นดินไทย? หรือเบื้องหลังสิ่งนี้คือผลประโยชน์จำนวนมากแก่คนบางกลุ่ม?
ทั้งนี้ เนื่องจากตลาด “ฟูราดาน” ของประเทศไทยนั้นมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี การได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้จะทำให้พวกเขาสามารถขายสารพิษนี้ได้ต่อไปอีกอย่างน้อย 6 ปีข้างหน้า ดังนั้น การจ่ายเงินสัก 50-100 ล้านบาทคุ้มค่ามากกับยอดขายมากกว่า 2,000-3,000 ล้านบาทในอีก 6 ปีข้างหน้าสำหรับประเทศไทย และสูงกว่านั้นอีกหลายเท่าถ้าคิดถึงตลาดในภูมิภาคนี้ทั้งหมด
การเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอฟเอ็มซียังแสดงให้เห็นด้วยว่า หากเขาได้รับชัยชนะในประเทศไทย พวกเขาก็จะยังคงสามารถทำตลาดสารพิษร้ายแรงนี้ได้ในหลายประเทศของอาเซียนด้วย เนื่องจากภูมิภาคนี้กำลังเข้าสู่การกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันในปี 2558 ซึ่งหมายถึงว่ามาตรการและกติกาในการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะต้องประสาน “Harmonize” เข้าหากัน
น่าจับตาว่าภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ หรือในระยะเวลาอันใกล้นี้ กรมวิชาการเกษตรจะขึ้นทะเบียนคาร์โบฟูรานได้สำเร็จตามความประสงค์ของคนบางกลุ่มได้หรือไม่? และค่าใช้จ่าย 50-100 ล้านบาทสำหรับการขึ้นทะเบียนสารเคมีสำหรับสารเคมีชนิดนี้ชนิดเดียวที่มีการเล่าลือในวงการสารเคมีนั้นมีจริงหรือ? และถ้ามีมันจะอยู่ในมือของผู้มีอำนาจระดับใด?
ผลจะออกมาอย่างไรน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเครือข่ายองค์กรภาคสังคมประกาศเกาะติดไม่ปล่อยอย่างแน่นอน เพราะคาร์โบฟูรานเป็นเพียงหนึ่งในสารพิษร้ายแรงหลายชนิดที่ประเทศไทยควรเลิกใช้มานานแล้ว