xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์สุดเซ็งถูกบีบงบ “30บาทรักษาทุกโรค” จำใจจ่ายยา “เบาหวาน-ความดัน” คุณภาพต่ำ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หมอโรงพยาบาลประจำอำเภอชี้ 30 บาทแค่นโยบายประชานิยมอุ้มชนชั้นกลาง ให้เงินน้อยบีบรพ.ลดคุณภาพยา “เบาหวาน-ความดัน” ได้ยาคุณภาพต่ำ พญ.เชิดชู อัด 30 บาทมหันตภัย นักวิชาการสาธารณสุขเผย 30 บาทแนวคิดดีแต่ความเป็นจริงสวนทาง รพ.ศูนย์บางแห่งผ่าตัดหัวใจยังไม่ได้ แฉวิธีจัดสรรงบ สปสช.โบราณ-ไร้มาตรฐาน-ขาดข้อมูล

แม้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จะเป็นนโยบายยอดนิยมด้วยแนวคิดที่ดี สามารถตีโจทย์ในใจประชาชนแตก จนทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถซื้อใจมวลชนได้ตลอดมา แต่หากลงลึกในรายละเอียดภาคปฏิบัติยังพบว่ามีปัญหาอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการแก้ไข ผูกปมใหม่แทนคลายปมเก่า จากลดความเหลื่อมล้ำจึงกลายเป็นเพิ่มความเหลื่อมล้ำ แถมด้วยการลิดรอนสิทธิ์ เพราะประชาชนเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพได้เท่าเทียมกันตามที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้แต่อย่างใด

นโยบายลดความแออัด รพ.รัฐ ลิดรอนสิทธิ์คนไข้หนัก

แพทย์คลินิกเวชกรรมชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครเผยว่า แม้ว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีแนวคิดที่ดีคือลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า นโยบายหลายอย่างเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำและลิดรอนสิทธิ์ประชาชน เนื่องจากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี
โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งโรงเรียนแพทย์ 14 แห่งกระจุกตัวอยู่ในเขตใจกลางเมือง หรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเดิมกรุงเทพมหานครยังมีขนาดเล็ก แต่เมื่อเมืองมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงเรียนแพทย์มีเท่าเดิม ประชาชนจึงต้องเดินทางไปโรงพยาบาลไกลขึ้น กอปรกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยหลายคนไม่ต้องการเดินทางไปรักษาไกล จึงทำให้เกิดปัญหาคนเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข

ขณะเดียวกันโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่ได้สังกัดกระทรวงเดียวกันทั้งหมด ทำให้นโยบายไม่เป็นไปในทางเดียวกัน จนเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้รับบริการในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ปัญหาหนึ่งซึ่งเพิ่งส่งผลกระทบต่อคนไข้ของโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลพระมงกุฎ คือ
นโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาลภาครัฐ ซึ่งโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งเพิ่งประกาศให้คนไข้ในระบบ 30 บาท ทั้งคนไข้ใหม่และคนไข้เก่า ออกไปเริ่มต้นรับการรักษาในคลินิกเวชกรรมภายใต้สังกัดตนเอง ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความระส่ำระสายให้กับคนไข้เก่าซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อรังจำนวนมาก เพราะต้องไปเริ่มต้นการรักษากันใหม่ทั้งหมด

นโยบายนี้แม้เป็นไปตามแนวคิดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ให้ส่งต่อคนไข้จากสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สู่ระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิตามลำดับ เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลศูนย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ภาพของการเลือกปฏิบัติ โดยเอาคนไข้ในระบบ 30 บาทออกทั้งหมด แบบไม่คำนึงว่าควรเลือกเอาใครออกบ้าง

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือคนไข้ที่ป่วยหนัก หรือเป็นโรคเรื้อรังหลายโรค จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นประจำ เมื่อต้องเข้าสู่ระบบการรักษาแบบส่งต่อ จึงอาจได้รับการรักษาที่ล่าช้าเกินไป

ขณะที่คนไข้ต้องทำตามนโยบายที่โรงพยาบาลศูนย์ประกาศมา โดยไม่มีอำนาจการต่อรอง และไม่รู้ตัวกระทั่งว่าตนกำลังถูกลิดรอนสิทธิ์ แทนที่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ กลับกลายเป็นโครงการที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติ

‘4 โรคร้าย’ สปสช.ให้งบไม่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม แง่ดีของสิทธิการรักษาพยาบาลในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อเทียบกับสิทธิการรักษาประเภทอื่นๆ ขณะนี้มีโรคหัวใจ โรคไต ขาเทียม และโรคเอดส์ ที่มีเครือข่ายในการรักษา และส่งต่อ ถือว่าเป็นการรักษาที่มีระบบดี

โครงการเหล่านี้จะได้งบประมาณมากกว่าการรักษาโรคอื่นๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นโครงการเหล่านี้มักจะไม่อยู่ยั่งยืน สุดท้ายพอ 2-3 ปีก็อาจตัดงบลงเหมือนเดิม อย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนเลนส์แก้วตา ซึ่งให้งบเพิ่มเพียง 2-3 ปีเท่านั้น

แนวทางในการเลือกให้งบประมาณเพิ่มของ สปสช. มาจากการที่ประชาชนร้องเรียนโรคไหนมาก มีเคสเยอะ ทาง สปสช.ก็จะให้งบประมาณในการจูงใจแก่หน่วยงานที่รักษา

หากระบบโดยรวมของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคยังเป็นเช่นนี้ต่อไป และไม่มีการทำความเข้าใจกับประชาชน ในอนาคตแพทย์จะมีคุณภาพในการรักษาที่ต่ำลง และออกจากระบบมากยิ่งขึ้น!

นโยบาย 30 บาทงบน้อย บีบรพ.ใช้ยาคุณภาพต่ำ

ด้านแพทย์โรงพยาบาลประจำอำเภอกล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่จับกลุ่มคนชั้นกลางที่เป็นฐานคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ มากกว่าการคำนึงถึงการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย

ในอดีตที่ผ่านมา การรักษาผู้มีรายได้น้อยหรือมีฐานะยากจนจะอยู่ในรูปแบบของการสงเคราะห์ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว อีกทั้งผู้มีรายได้น้อยมากส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อยู่ดี เนื่องจากต้องคำนึงถึงค่าเดินทางไปรับการรักษา ขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลางไม่ถึงขั้นยากจน เดิมก็มีบัตรสุขภาพ ที่ประชาชนต้องจ่ายในราคา 500 บาท ซึ่งจะลดปริมาณการเข้ารับการรักษาแบบไม่จำเป็นลง

ปัจจุบันผู้ใช้สิทธิ์ 30 บาทจริงๆ จะเป็นผู้ที่มีเวลามานั่งรอ ซึ่งใช้เวลาเกิน 3 ชั่วโมง แต่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย หรือเป็นคนจนแฝง! จนเกิดกรณีการใช้ยาและทรัพยากรทางการแพทย์ที่เกินความจำเป็น อาทิ กรณีขอยาเผื่อไว้ก่อน และบางรายขอยาไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่

การรักษาด้วยระบบนี้ทำให้แพทย์ที่มีอยู่จำนวนเท่าเดิมต้องรับผู้ป่วยมากขึ้น จึงเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพียงไม่กี่นาที การจะมีคุณภาพจึงเป็นเรื่องยาก อาจตรวจพลาด รวมถึงการจะให้ข้อมูลครบถ้วนก็เป็นเรื่องยากมาก และการจ่ายยาของโรงพยาบาลรัฐย่อมมีคุณภาพต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ผู้ป่วยจ่ายค่ารักษาตามปกติ

“ยาในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีคุณภาพในระดับหนึ่ง พอใช้ได้เท่านั้น อาจมีผลข้างเคียงมาจากยา เนื่องจากต้นทุนในการจัดการไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง อย่างเช่น โรคเบาหวาน ความดัน ยาจะต่างจากการรักษาในระบบปกติ”

อย่างไรก็ดี การรักษาโรคเบาหวานและความดันในระบบบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีมาตรการลดความแออัดของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป โดยให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) หรือสถานีอนามัยเดิมแทน

“กระทรวงสาธารณสุขให้เหตุผลว่าโรคเบาหวาน ความดัน เป็นโรคเรื้อรัง ไม่ใช่โรคที่ต้องการรักษาเร่งด่วน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ รพ.สต และ อสม.สามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและความดันได้อยู่แล้ว ซึ่งคนไข้ก็รับยาได้ที่นี่”

มหันตภัย 30 บาท

สอดคล้องกับ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ได้แสดงความเห็นถึงการที่นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เพิ่มสิทธิให้ประชาชนเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ปีละ 4 ครั้ง จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ในเวทีทัศน์ของเว็บไซต์อิศรานิวส์ ในหัวข้อ มหันตภัย “30 บาทรักษาทุกโรค”

หนึ่งในบทความดังกล่าวระบุว่า ประชาชนจะรู้ไหมว่า ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคนี้ กำลังก่อให้เกิดมหันตภัยอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชน และมาตรฐานการแพทย์ไทย ดังนี้

1. โรงพยาบาลไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานได้ ทั้งนี้เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินใส่เข้าไปเท่าไรก็ยังไม่ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดีที่สุด เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ “จำกัดรายการยา” ให้แพทย์ไม่สามารถสั่ง “จ่ายยา” ได้ตามดุลพินิจทางวิชาการแพทย์เฉพาะทาง (ไม่ต้องเปรียบเทียบกับ รพ.ชุมชน หรือ รพ.ตำบลที่ส่วนใหญ่แล้วต้องการใช้แค่ยาสามัญประจำบ้านขององค์การเภสัชกรรม เพราะใช้รักษาโรคง่ายๆ (ที่ประชาชนก็อาจจะรักษาตัวเองได้ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ท้องผูก ท้องเดิน ฯลฯ)

การจำกัดรายการยาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงถือเป็นการ “ละเมิดสิทธิผู้ป่วย” และเป็นการ “ละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการแพทย์” ซึ่งจะส่งผลกระทบแก่คุณภาพการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทุเลาจากอาการป่วย กลายเป็นโรคเรื้อรัง และอาจตายทั้งที่ยังไม่สมควรตาย

2. ประชาชนอาจไม่ได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษา นอกจากคณะกรรมการหลักประกันฯ จะ “จำกัดรายการยา” ไว้เป็นบางชนิดแล้ว ต่อไปประชาชนอาจจะไม่ได้รับยาที่เหมาะสมกับการเจ็บป่วยของตน เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเงินซื้อยาไว้รักษาผู้ป่วย เนื่องจาก สปสช.จ่ายเงินให้ รพ.ล่าช้า และจ่ายเงินไม่ครบตามต้นทุนที่โรงพยาบาลใช้ในการรักษาผู้ป่วย ไม่คุ้มต้นทุนในการรักษาผู้ป่วย ทั้งๆ ที่งบประมาณแผ่นดินที่จ่ายไปเป็น “กองทุนหลักประกันสุขภาพ” ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มจาก 27,612 ล้านบาท มาเป็น 107,814 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2555 เพิ่มมากขึ้น 3 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 288.35

ทั้งๆ ที่งบประมาณแผ่นดินต้องให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างมากมายมหาศาลเช่นนี้ แต่หน่วยบริการประชาชนคือโรงพยาบาลและสถานบริการต่างๆ กลับได้รับเงินงบประมาณไม่พอที่จะทำงานได้ มีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมากหลายร้อยโรงพยาบาล ต่อไปโรงพยาบาลอาจไม่มียาที่เหมาะสมในการจ่ายให้ผู้ป่วยอีกแล้ว หรืออาจจะต้องจ่ายเฉพาะยาพาราฯ หรืออาจไปเอายาเก่า (ที่แลกกับไข่กลับคืนมาจากประชาชน) มาจ่ายให้ผู้ป่วยแทน?

3. ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากความผิดพลาดของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น เนื่องจากประชาชนไปโรงพยาบาลปีละ 200 ล้านครั้ง แต่แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยมีไม่ถึง 10,000 คน ที่เหลือก็ไปทำงานบริหาร งานนโยบายกันหมด แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยใน รพ.สธ.ต้องทำงานสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง โดยเฉพาะศัลยแพทย์ต้องอดนอนยืนผ่าตัดตลอดคืน แต่ในตอนเช้ามีผู้ป่วยฉุกเฉินต้องผ่าตัดอีก ญาติผู้ป่วยจะกล้าเสี่ยงให้แพทย์คนนี้ผ่าตัดอีกหรือไม่? หรือจะเสี่ยงพาผู้ป่วยไปรักษาที่ รพ.อื่นที่ห่างกันอีก 100 กม.?

รพ.ศูนย์ยังด้อยศักยภาพ

ขณะที่หน่วยบริการระดับตติยภูมิ จะให้บริการที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงขึ้นไปอีก และมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Excellent Center) ด้านต่างๆ เช่น ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เป็นต้น มีแพทย์เฉพาะทางสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ สถาบันเฉพาะทางต่างๆ หรือสังกัดมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์

“โรงพยาบาลศูนย์หลายแห่งในปัจจุบันไม่ได้มีศักยภาพมากพอตามแนวคิดที่วางไว้ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ที่อุดรธานีผ่าตัดหัวใจไม่ได้ รักษาโรคมะเร็งได้น้อย ต้องส่งต่อไปรักษาข้ามเขต ทั้งที่โรงพยาบาลศูนย์ต้องมีศักยภาพสูงพอๆ กับโรงเรียนแพทย์ สาเหตุหนึ่งเนื่องจากเดิมโรงพยาบาลศูนย์ถูกยกระดับขึ้นมาจากโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลทั่วไปก็ดิ้นรนอยากเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ทั้งที่บางแห่งไม่ค่อยจำเป็น แต่ระบบสาธารณสุขของเรามักถูกวางไว้ตามนักการเมือง”

วิธีจัดสรรงบ สปสช.สุดห่วย

แหล่งข่าวในวงการแพทย์ ระบุว่าปัญหาที่แท้จริงของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในมุมมองของนักวิชาการสาธารณสุข คือ วิธีการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ และคุณภาพของโรงพยาบาลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้แนวคิดที่ดีไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดปัญหาตามมามากมาย

สำหรับการจัดสรรงบประมาณของโครงการ 30 บาทฯ มี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการทำตัวเลขงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวซึ่งเปรียบได้กับการทำก้อนเค้ก และขั้นตอนการแบ่งงบประมาณหรือการแบ่งเค้ก

“การทำตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัวในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำโดยไม่มีการคำนวณตามหลักวิชาการ ไม่มีข้อมูล unit cost ที่แท้จริง เนื่องจากคนทำขาดความรู้ด้านนี้ แต่ได้รับความไว้ใจจากผู้ใหญ่ให้ทำ ดังนั้นวิธีการทำก้อนเค้กของ สปสช. จึงนับเป็นวิธีที่โบราณ ขาดข้อมูล และเป็นวิธีที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของ สปสช.”

นอกจากนั้น สปสช.ยังไม่เคยคำนวณล่วงหน้าว่า ถ้าจัดสรรแบบนี้ บริการใดจะขาดทุนบ้าง บอร์ดที่เข้ามานั่งคุมก็รู้รายละเอียดน้อย รู้ไม่ลึกจริง ทำให้ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงและที่มาของข้อมูลเป็นอย่างไร

“เมื่อวิธีการคำนวณก้อนเค้กเพี้ยนมาแต่ต้น เราจึงไม่รู้ว่าก้อนเค้กมันเหมาะหรือไม่เหมาะ หรือควรจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน ขณะเดียวกันขั้นตอนต่อไปคือวิธีการแบ่งเค้ก ถ้าแบ่งดี ทุกคนจะได้กินพอๆ กัน แต่ถ้าแบ่งไม่ดี บางคนจะอิ่ม แต่บางคนจะอด”

เช่นเดียวกับปัญหาที่ประสบในปัจจุบันคือ โรงพยาบาลใหญ่รวยอู้ฟู่ ขณะที่โรงพยาบาลเล็กยากจน หรืออีกกรณีหนึ่งคือโรงพยาบาลที่บริหารไม่ดีก็จะขึ้นตัวแดงเช่นกัน

ข้อมูลงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวของ สปสช. ในปีแรกอยู่ที่ประมาณหัวละ 1,200 บาท ขณะที่ปีนี้อยู่ที่หัวละ 2,700 บาท เท่ากับ 10 ปีที่ผ่านมางบประมาณเพิ่มขึ้น 200-300% แต่จำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นเพียง 30% ขณะที่ผู้ป่วยในเพิ่มเพียง 20% เท่านั้น

นั่นหมายถึงคนยังเข้าถึงบริการได้น้อย ทำให้รัฐบาลไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะเขามองเห็นแล้วว่างบขึ้นตั้งเกือบ 300% ขณะที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึง!

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น