3 ทูตพาณิชย์แนะเจาะตลาดเอเชียเลี่ยงวิกฤตยุโรป สินค้าเกษตร-อาหารไทยยังโตได้ แยกประเทศอินโดฯ เนื้อหอมแต่เปลี่ยนกฎบ่อย เน้นรับลงทุนโดยตรง ดูไบเด่นศูนย์กระจายส่งต่อภูมิภาคอื่น ส่วนฮ่องกงโตตามจีน แนะทำการค้าผ่านออนไลน์ ร่วมงานแสดงสินค้าเพิ่มยอด
ขณะนี้ตลาดอาเซียน และตะวันออกกลาง ถือเป็นตลาดที่ไทยตั้งความหวังว่าจะทำการค้า และเพิ่มยอดส่งออกได้มากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนตลาดยุโรป-อเมริกาที่นับวันจะลดลง แต่การจะเข้าไปในอาเซียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ขาดความรู้ ทั้งทางด้านกฎหมาย กติกา และวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาครัฐบาลจึงต้องหาแนวทางในการรับมืออย่างรอบคอบ และทันท่วงที ก่อนที่จะกระทบเศรษฐกิจของประเทศไปมากกว่านี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 70% โดยในปีนี้การส่งออกของไทยวางเป้าขยายตัวที่ 15%
ASTV ผู้จัดการรายวัน ได้สัมภาษณ์พิเศษทูตพาณิชย์ทั้ง 3 ประเทศ สะท้อนให้เห็นตลาดและทิศทางประเทศคู่ค้าอย่างรอบด้าน ทำให้เห็นถึงจุดแข็งด้านธุรกิจ และอุตสาหกรรมอาหาร ที่ไทยยังคงได้รับการยอมรับ ทั้งในเรื่องของคุณภาพ และรสชาติที่ถูกปาก ส่งผลให้แนวโน้มตลาดอาหารของไทยยังคงเติบโตได้อีกมาก หากรู้จักทำตลาดให้ถูกจุด และไม่ประมาทคู่แข่งที่พร้อมจะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในขณะนี้ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา ฯลฯ
อินโดฯ เปลี่ยนกติการายวัน
นางสาววิลาสินี โนนศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย กล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาล เครื่องดื่ม สินค้าตกแต่งบ้าน เครื่องนุ่มห่มที่มีดีไซน์ของไทยมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี ยังเป็นที่ต้องการของชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะคนอินโดนีเซียที่มีฐานะดี แม้จะมีสัดส่วนประมาณ 10% เท่านั้น แต่ก็เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ มีกำลังซื้อสูง ต้องการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ และหันมาดูแลสุขภาพ เหมาะกับตลาดสินค้าที่ไทยเป็นอย่างยิ่ง
ขณะที่ปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจ และส่งออกสินค้าไปขายยังประเทศอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรกว่า 240 ล้านคน และมีเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงเติบโต ซึ่งผู้ประกอบการชาวไทยเองก็ได้ส่งสินค้าไปขายเหมือนกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเภทผัก ผลไม้ หอมแดง ฯลฯ
ผลจากการที่สินค้าจำนวนมากจ่อคิวเข้ามายังอินโดนีเซีย จึงทำให้รัฐบาลหาแนวทางในการปกป้องประชากรมากขึ้น ซึ่งขณะนี้นโยบาย กฎข้อบังคับ กติกามีการปรับเปลี่ยนเกือบทุกวัน ยังไม่นิ่ง ทำให้ยากต่อการส่งสินค้ามาขาย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเรียนรู้ ศึกษาและปรับตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะธุรกิจขนาด SMEs ที่ไม่มีทีมงานด้านกฎหมายในการดูแลโดยตรง อาทิ การปรับเปลี่ยนท่าเรือในการส่งสินค้าบางชนิด โดยให้เหตุผลว่าท่าเรือเดิมแน่น หรือในกรณีอาหาร ผลไม้ จะให้เหตุผลถึงเรื่องการดูแลสุขอนามัยที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งการย้ายท่าเรือในการส่งสินค้าก็จะส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มตามมา เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจขนาด SMEs ควรหาคู่ค้าที่เหมาะสม ก็จะสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น อาจเป็นท้องถิ่น หรือคู่ค้าต่างชาติ อย่างสิงคโปร์ มาเลเซียก็ได้ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้เข้าไปติดต่อค้าขายในอินโดนีเซียมายาวนาน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
เน้นรับนักลงทุนต่างชาติ
นางสาววิลาสินีกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลของทางอินโดนีเซียจะให้การสนับสนุนในการที่นักลงทุนเข้าไปลงทุนในประเทศมากกว่าการนำเข้าสินค้า เนื่องจากต้องการให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาแรงงาน และเทคโนโลยี อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูป, สินค้าเกษตร, อาหาร ฯลฯ ทั้งนี้ มองว่าเป็นโอกาสของนักธุรกิจชาวไทยในการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะมีตลาดเดียวกัน เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และมีแรงงานที่ราคาถูกกว่าประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 100 บาทต่อวัน แต่ก็เป็นแรงงานที่ไม่ค่อยมีฝีมือ อาจต้องฝึกฝน ทั้งนี้ หากนำความชำนาญของภาคอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรของไทยไปใช้ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ทั้งยังสามารถขายในประเทศอินโดนีเซีย และส่งออกได้อีกด้วย
“ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีสินค้าที่ส่งออกเหมือนกันอยู่หลายรายการ และแนวโน้มการนำเข้าสินค้าก็จะมีกฎเกณฑ์มากขึ้น ซึ่งหากหันมามองในภาคการลงทุนก็จะเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยได้เดินหน้าลงทุนในอินโดนีเซียแล้ว อย่างบ้านปู, SCG, CP ฯลฯ”
‘ดูไบ’ ศูนย์กลางส่งออก
นายณัฐพงศ์ บุญจริง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กล่าวว่า สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดดูไบ คือ สินค้าด้านอาหาร ซึ่งบางสินค้าต้องผ่านมาตรฐานแบบเดียวกับอียูเสียก่อน แต่โดยรวมแล้วมาตรการการนำเข้าสินค้าของดูไบแทบจะไม่มีการกีดกัน อีกทั้งระหว่างไทย-ดูไบยังมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันด้วย
เมื่อดูจากตลาดประชากรในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 7 ล้านคน เป็นชาวท้องถิ่นเพียง 1 ล้านคน นอกจากนั้นเป็นชาวอินเดียเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่ แต่การทำค้าขายจะต้องเรียนรู้ชาวอินเดีย เนื่องจากชาวท้องถิ่นไม่ค่อยเป็นพ่อค้า จะรับจดทะเบียนเสียมากกว่า
ที่น่าสนใจคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าสู่ประเทศรอบข้าง เปรียบเป็น “พ่อค้าคนกลาง” อาทิ แอฟริกาเหนือ, แอฟริกากลาง, ประเทศเครือรัฐเอกราช Commonwealth of Independent States (CIS), รอบอ่าวตะวันออกกลาง ฯลฯ โดยคาดว่าเป้าหมายการส่งออกขยายตัวไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง 15 ประเทศ คาดจะโตอยู่ที่ 12% ซึ่งการส่งออกของดูไบจะมีอยู่หลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านรถยนต์ต่างๆ, เครื่องใช้ไฟฟ้า
“แม้ตามปกติผู้ประกอบการต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศเป้าหมายโดยตรง เพื่อได้ราคาที่สูงกว่า แต่การส่งออกสินค้าผ่านดูไบจะมีข้อดีในด้านความสะดวก พวกเขาจะมีความชำนาญอยู่แล้ว รู้จักประเทศคู่ค้าเป็นอย่างดี และมีกลยุทธ์ในการดำเนินการค้า หากผู้ประกอบการไม่มีความชำนาญ และส่งออกไปยังบางประเทศในแทบนั้นก็อาจถูกโกงได้ง่าย”
ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าไปลงทุนในด้านอุตสาหกรรมนั้น แม้จะไม่ค่อยมีข้อกีดกัน แต่จะติดปัญหาด้านทรัพยากร ไม่มีวัตถุดิบ สภาพอากาศร้อน พื้นที่เป็นทะเลทราย และเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าแรงงาน หากต้องการเข้ามาลงทุนจะต้องยกมาทั้งระบบ จึงเป็นเรื่องที่ลำบาก ขณะที่ด้านวิกฤตยูโรโซนได้รับผลกระทบอยู่บ้างในเรื่องของราคาน้ำมัน เพราะประเทศเป็นผู้ค้าน้ำมัน ขณะที่ช่วงเดือนถือศีลอด การนำเข้า-ส่งออกจะชะลอลง
ฮ่องกงนิยมร้านอาหารไทย
นางลลิดา จิวะนันทประวัติ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง ประเทศจีน กล่าวว่า ขณะนี้ร้านอาหารไทยยังเป็นที่นิยมของชาวฮ่องกงมาก ควรจะสร้างแบรนด์ร้านอาหารให้แพร่หลาย ซึ่งขณะนี้ร้านที่มีอาหารไทยเสิร์ฟ มีอยู่ประมาณ 200 กว่าร้าน มีลักษณะเป็นร้านอาหารไทยโดยตรงประมาณ 40 ร้าน และเป็นที่นิยมติดอันดับประมาณ 20 ร้าน ทั้งนี้ก็มีหลายร้านที่เจ้าของเป็นชาวฮ่องกง
“จากที่เคยสอบถามร้านอาหารไทยในฮ่องกงพบว่า มียอดขายที่ดี รายได้ประมาณ 1 ล้านเหรียญฮ่องกง กำไรประมาณ 30% แต่ร้านอาหารมักประสบปัญหาด้านแรงงาน และพ่อครัว ดังนั้นควรหยิบยกเข้าเจรจาเรื่องแรงงานในสายงานต่างๆ อาทิ พ่อครัว, สปา ฯลฯ”
ส่วนของสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปขายอย่างอาหาร ผลไม้ ยังมีทิศทางที่ดีอยู่ แต่ประชากรในประเทศมีเพียง 7 ล้านคนเท่านั้น มีนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคน ด้านตลาดข้าวไทยที่ฮ่องกงขณะนี้ถูกข้าวเวียดนามตีตลาด อีกทั้งแนวโน้มการรับประทานอาหารของชาวฮ่องกงยุคใหม่จะนิยมรับประทานคาร์โบไฮเดรตน้อยลง ก็จะกระทบเรื่องตลาดส่งออกข้าวด้วย
ชะลอตามจีน
นางลลิดากล่าวถึงเศรษฐกิจ และการนำเข้าสินค้าของฮ่องกงจะขึ้นอยู่กับประเทศจีน เนื่องจากฮ่องกงเป็นประเทศส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่น โดยส่งไปที่จีนกว่าครึ่ง และเนื่องจากประเทศจีนมีแนวนโยบายในการรัดเข็มขัด ประกอบกับส่งออกไปยุโรปเป็นอันดับ 2 จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาสที่ 2 ชะลอตัวตามไปด้วย ขณะที่รัฐบาลฮ่องกงยังคงประมาณการตัวเลขการเติบโตของ GDP ฮ่องกงในปี 2555 ที่ร้อยละ 1 จากเดิมที่ 10%
ส่วนแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับฮ่องกง เดิมใช้การประชาสัมพันธ์ โฆษณา และสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าไทยอยู่แล้ว ก็จะมีการดำเนินงานต่อ รวมถึงการจัดโปรโมชันสินค้าไทยตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ หรือในกรณีข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพสูงของไทยก็จะทำการแจกสินค้าทดลอง เพื่อให้ชาวฮ่องกงได้ลิ้มรสชาติข้าวไทย
อีกหนึ่งแนวทางที่จะใช้กระจายสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จัก และสามารถจับคู่ธุรกิจการค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs เห็นว่าควรส่งเสริม แนะนำให้ผู้ประกอบการชาวไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของฮ่องกง ซึ่งงานแสดงสินค้าของที่นี่ถือว่าเป็นศูนย์กลางแสดงสินค้าระดับโลก และอีกหนึ่งช่องทางในการค้าที่กำลังเป็นเทรนด์ของฮ่องกงก็คือ การติดต่อค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ต หากชาวไทยได้นำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ก็น่าจะเพิ่มยอดขายได้มากยิ่งขึ้น ส่วนแนวโน้มการทำธุรกิจหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคาดว่าฮ่องกงจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างกันมาอย่างยาวนาน และมีคนที่มีเชื้อสายเดียวกัน