อุดรธานี-นักลงทุนมาเลเซียสนใจเมืองอุดร ร่วมลงนาม MOU กับพ่อเมืองและภาคเอกชนอุดรธานี วางโครงการลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารฮาลาล และโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ เผยแผนตั้งโรงงานอาหารฮาลาล ตั้งงบลงทุนไว้เกือบ 2,000 ล้านบาท เล็งตลาดชาวมุสลิมใน 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวมถึงผู้นับถือศาสนาอื่น
วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ห้องประชุมคำชะโนด ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายพรเทพ ศรีสุจริต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ Mr.ไพโซล อีสซาส ประธานกรรมการบริษัท GMC International Holding จำกัด (มหาชน) จากประเทศมาเลเซีย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ร่วมกันในด้านการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารสากล และอุตสาหกรรมผลิตรถจักรยานยนต์
โดยมีนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยนายพูลศักดิ์ อยู่ประเสริฐ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นายธนัชชัย สามเสน รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี นายอมร พรมดีลาศ ผู้จัดการบริษัทเมืองอุตสาหกรรมเมืองอุดรธานี จำกัด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม MOU ดังกล่าว
บันทึกความเข้าใจ MOU ทั้งสองฝ่ายนั้นได้ลงนามความร่วมมือกัน 3 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องแรก ความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมสากล โดยจะใช้จังหวัดอุดรธานีเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำโขง ประการต่อมา ความร่วมมือด้านการสนับสนุนการลงทุนการตั้งโรงงานผลิตจักรยานยนต์ และประการสุดท้าย ความร่วมมือด้านการสนับสนุนการจัดกิจกรรมแสดงเครื่องบิน 121 ลำ ในโอกาสครบรอบการก่อตั้งเมืองอุดร 121 ปี
นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เปิดเผยว่า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย และการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันยุทธศาสตร์ให้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีมีความพร้อมหลายด้าน เช่น ทำเลที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางประเทศของอนุภูมิภาคของอนุลุ่มน้ำโขง การเดินทางสะดวกสบาย สามารถเดินทางเชื่อมโยงไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม จีน กำพูชา และพม่า
ทั้งหมด 6 ประเทศในกลุ่ม (GMS) ดังกล่าวมีตลาดรวมกันกว่า 300 ล้านคน อีกทั้งจังหวัดอุดรธานีตั้งอยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ (North-South Economic Corridor) และแนวเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก (East-West Economic Corridor) มีความพร้อมด้านแรงงาน มีปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปศุสัตว์ หรือประมงน้ำจืด สามารถรองรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้
นายเสนีย์กล่าวต่อว่า จังหวัดอุดรธานีมีความมุ่งหวังจะผลักดันยุทธศาสตร์ความเป็นศูนย์กลางในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเต็มที่ ทั้งด้านความร่วมมือ การลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว ตลอดจนด้านการท่องเที่ยว สามเหลี่ยมมรดกโลก และความร่วมมือในมิติอื่นๆ เพื่อสร้างงานและรายได้ให้แก่ชาวอุดรธานี และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ไม่ต้องละทิ้งครอบครัวไปทำงานต่างจังหวัดและต่างประเทศ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเตรียมพร้อมการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
เตรียมลงทุนโรงงานผลิตอาหารฮาลาล
นายอาดัม อับดุลลัค (ADAM ABDOIIAG) เปิดเผยว่า โครงการการลงทุนทำโรงงานผลิตอาหารฮาลาลที่จังหวัดอุดรธานีจะใช้พื้นที่ประมาณ 148 เอเคอร์หรือประมาณ 600 ไร่ ลงทุนประมาณ 500-2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการผลิตอาหารฮาลาล เป็นการผลิตที่มีต้นทุนสูง จะต้องทำให้สะอาดและถูกหลักของศาสนาอิสลาม ซึ่งตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดใหญ่มาก
เฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนมีประชากรมากกว่า 300 ล้านคน เป้าหมายตลาดเบื้องต้น เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 30 ล้านคนก็เพียงพอสำหรับการลงทุน เฉพาะมาเลเซียแห่งเดียวมีมูลค่าการตลาดถึง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดไทยน่าจะสูงกว่าหลายเท่าตัว อีกทั้งอาหารฮาลาลไม่ได้จำกัดกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะผู้นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ผู้นับถือศาสนาอื่นก็สามารถบริโภคได้ เพราะเป็นอาหารที่สะอาด มีรสชาติดี ยังไม่นับตลาดกลุ่มสหภาพยุโรป และอเมริกา ที่เป็นตลาดใหญ่กว่าอาเซียนหลายเท่าตัว