ASTVผู้จัดการออนไลน์ - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวและระดมความเห็นก่อนงานเสวนาโต๊ะกลม “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค : กรณีจอดำฟุตบอลยูโร 2012” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ เวลา 13.30 น. ที่รร.เอเชีย เพื่อหาทางออกและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีจอดำจากการปิดกั้นสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้
วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีการแถลงข่าวถึงการจัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค : กรณีจอดำฟุตบอลยูโร 2012” ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (14 มิ.ย.) เวลา 13.30 น. ที่ร.ร.เอเชีย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ตัวแทนจาก กสทช., รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, ตัวแทนจากทรูวิชั่นส์, ตัวแทนจากแกรมมี่ฯ และอาร์เอส เป็นต้น
ในการแถลงข่าวข้างต้น ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวของตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนงานเสวนาใหญ่ที่ขึ้น ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ,นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศึกษากฏหมายนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา และ นางสาวสุวรรณา จิตรประภัสร์ ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
นางสาวสารี ได้เน้นการเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน หากข้อเสนอไม่ได้รับการสนองตอบ จะดำเนินการในขั้นเด็ดขาดต่อไป ทั้งย้ำถึงการเร่งรัดให้คณะกรรมการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติโดยเร่งด่วนในการออกคำสั่งบังคับทางปกครองกับช่อง 3,5,9 และให้แพร่ภาพโดยไม่เลือกปฏิบัติกับทุกครัวเรือนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจำนวน 302 องค์กรได้มาประชุมและเห็นร่วมกันว่าการแพร่ภาพฟุตบอลยูโร 2012 ที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดยให้ลิขสิทธิ์ฟรีทีวีช่อง 3, 5, 9 นำไปออกอากาศฟรีทีวีภาคพื้นดินนั้นเป็นการให้เช่าช่วงเวลาที่มีเงื่อนไขทางธุรกิจ ที่ไม่ถือเป็นการบริการสาธารณะแบบปรกติ นับเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของเอกชนโดยอาจขัดต่อแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังเรียกร้องให้ กสท. มีคำสั่งทางปกครองกับช่อง 3, 5, 9 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตบริการสาธารณะที่หยุดให้บริการในปัจจุบัน เช่นเดียวกับบริษัท TRUE หรือหากจะเข้มงวดจริงก็ต้องยกเลิกให้ใบอนุญาตบริการสาธารณะ เพราะปฏิบัติขัดต่อแผนแม่บทการเข้าถึงการกระจายเสียงและการแพร่ภาพสาธารณะ เนื่องจากแผนแม่บทเรื่องการเข้าถึงของ กสทช. ไม่ได้จำกัดเฉพาะวิธีหนวดกุ้งหรือภาคพื้นดินแต่จะเป็นวิธีการแบบไหนก็ได้ไม่ว่าเคเบิ้ลทีวี หรือดาวเทียม
นอกจากนั้น ยังมีการวิพากษ์ถึงลิขสิทธิ์ที่บริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ได้รับ และกล่องสัญญาณราคา 1,500 บาทที่ด้อยประสิทธิภาพแล้ว และยังตั้งคำถามว่าการโฆษณาชวนเชื่อของทรูส์ที่ก่อนหน้านี้ย้ำว่าผู้บริโภคจะสามารถรับชมฟุตบอลยูโร 2012แต่กลายเป็นว่ารับชมไม่ได้นั้น จะถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ และมีการเสนอให้สืบหาข้อเท็จจริงและตั้งคำถามหรือหาหลักฐานว่าใครคือผู้สมคบคิดและอยู่เบื้องหลังกรณีจอดำ เอาเปรียบผู้บริโภคในครั้งนี้
สำหรับประเด็นบทบาทของกสทช. ต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ร่วมเสวนา ทั้งนางบุญยืน, นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข และนางสาวสุวรรณา จิตรประภัสร์ ต่างตั้งคำถามถึงบทบาทและขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของกสทช.
“เราเห็นกสทช.ทำงานเย็นได้อย่างเดียว แต่วันนี้เป็นงานร้อน เราต้องรอไปอีก 4 ปี ใครรับผิดชอบ เราถูกละเมิดสิทธิ์ไปฟรีๆ 4 ปี ใครรับผิดชอบ” นางบุญยืน ตั้งข้อสังเกต
ขณะที่ นางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข มีความเห็นว่า การที่กสทช.อธิบายกับสังคมในทำนองว่ายึดหลักตามข้อกฎหมายนั้น ต้องไม่ลืมว่าการตีความตามกฎหมายที่ถูกต้องตามตัวหนังสืออย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมด้วยนั้น นั่นถือเป็นการใช้กฎหมายที่มีช่องว่าง
ส่วนนางสาวสุวรรณา จิตรประภัสร์ ได้ฝากคำถามที่ท้าทายว่าวันนี้ ผู้บริโภคเดือดร้อน กสทช.ต้องพิจารณา แสดงให้ประชาชนเห็นว่ามีความเป็นอิสระสมกับเป็นองค์กรอิสระจริงๆ มิใช่คิดแบบระบบราชการ
ทางด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ตัวแทนจากกสทช. ยอมรับว่าประเด็นจอดำที่กำลังเกิดขึ้นนี้ สิ่งที่มีพลังที่สุดที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ก็คือการเปิดโต๊ะเจรจาจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และสำคัญที่สุดคือการที่คนในสังคมได้ร่วมกันอภิปราย แสดงความคิดเห็น หาทางออกร่วมกัน และกำหนดกรอบกติการ่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งยอมรับว่าเนื่องจาก กสทช. ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน เพราะเพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 7 เดือนเท่านั้น กรอบกติกาใดๆ จึงยังไม่ชัดเจนมากพอ
“เชื่อมั่นในการแสวงหาทางออกร่วมกันของคนในสังคมและเชื่อในมาตรการทางสังคมที่จะร่วมกันแสดงพลังเพื่อหากรอบกติกาที่เหมาะสมร่วมกัน” นางสาวสุภิญญา กล่าวทิ้งท้าย