xs
xsm
sm
md
lg

จี้“กสทช.”ทบทวนแผนฯ สื่อ-ปชป.ค้านยืดเวลา หวั่นเอื้อประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(20 มี.ค.)นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่คาดว่าจะสรุปร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมในวันที่21 มี.ค. ว่า คาดว่าจะมีการสรุปขั้นตอนสุดท้ายของแผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งตนเป็นห่วงในประเด็นที่กสทช.ระบุให้หน่วยงานที่ไม่ได้ระบุวันหมดสัญญา สามารถยืดอายุวันหมดสัญญาออกไปอีก โดยกำหนดให้อายุสัมปทานของกิจการสื่อวิทยุ 5 ปี กิจการโทรทัศน์ 10 ปี และกิจการโทรคมนาคม 15 ปี
ที่ผ่านมากสทช.ได้มีการจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ในการร่างแผนแม่บทดังกล่าวมาแล้ว 4-5 ครั้ง โดยเฉพาะระยะเวลาของการหมดสัญญาตามที่กสทช.เสนอมานั้นนานเกินไป จึงอยากให้กสทช.ตอบคำถามกับสังคมให้ได้ เพราะกสทช.ต้องทำให้การแข่งขันเกิดเสรีและเป็นธรรมมากที่สุด ซึ่งหากให้ตามเวลานี้กว่าจะเป็นธรรมต้องรอเวลาอีกหลายปี ซึ่งถือว่านานเกินความจำเป็น และบางคนมองว่ากสทช.ชุดนี้ต้องแสดงฝีมือก่อนที่ตัวเองจะหมดวาระคือ 6 ปี ดังนั้น การที่มีการต่อสัญญาออกไปอีก 5-10 ปีนั้น อาจจะมองในแง่ของผลประโยชน์
“ต้องตั้งคำถามกับกสทช.ชุดนี้ด้วยว่าได้ประโยชน์หรือไม่ในการให้เวลาที่ยาวนานมากขึ้น หรือเกรงกลัวว่าหน่วยงานต่างๆ จะเสียประโยชน์ เพราะหากมีการจัดการคลื่นใหม่ หน่วยงานเดิมที่เคยได้คลื่นความถี่ต่างๆ ก็จะไม่สามารถบริหารเพื่อแสวงหาผลกำไรได้ ต้องเป็นอิสระ กล้าหาญเพื่อประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง ต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะในกฎหมายของกสทช.มีอยู่มาตราหนึ่งที่ระบุว่า หากกสทช.ทำล่าช้า ส.ส.และส.ว.สามารถเข้าชื่อถอดถอนได้” นายบุญยอดกล่าว
อีกด้านนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมคณะกรรมการ ยื่นหนังสือต่อ พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะประธาน กสทช. ให้ทบทวน สาระสำคัญในการกำหนดระยะเวลาเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาชีพ และนักวิชาการจำนวนมากทักท้วงไม่เห็นด้วยกับกรอบระยะเวลาการเรียกคืนคลื่นความถี่ กิจการวิทยุภายใน 5 ปี กิจการโทรทัศน์ภายใน 10 ปี และกิจการโทรคมนาคมภายใน 15 ปี
“องค์กรวิชาชีพสื่อฯ เห็นว่าระยะเวลาที่นานเกินไป ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว จะทำให้ร่างแผนการบริหารคลื่นความถี่ฯนี้ อาจไม่มีผลบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ พร้อมเสนอให้เร่งระยะเวลาสิ้นสุดการใช้คลื่นในกิจการกระจายเสียงว่าไม่ควรเกิน 2 ปี และกิจการโทรทัศน์ไม่ควรเกิน 4 ปี เพื่อให้กิจการแต่ละประเภทปรับเข้าสู่ระบบใบอนุญาตในรอบต่อไปได้เร็วขึ้น”
ทั้งนี้ ข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีต่อแผนยุทธศาสตร์การคืนคลื่นความถี่ฯต้องการให้เร่งรัดการจัดสรรคลื่นความถี่โดยเร็วที่สุด กสทช.ปฏิเสธความเห็นเหล่านี้ เท่ากับปฏิเสธความคิดเห็นและปฏิเสธการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขัดต่อแนวทางหลักที่จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการบริหารงานและกำหนดทิศทางนโยบายในอนาคต จึงขอเรียกร้องให้ กสทช.ทบทวนแนวคิดดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ก่อนประกาศใช้แผนฯ หรือมาตรการใดๆที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น