ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ ระบุ ประเทศไทยมีระบบข้อมูลน้ำพร้อม แต่ขาดการวิเคราะห์และนำไปใช้ จึงเกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ มั่นใจปีนี้น้ำท่วมไม่หนัก แม้ปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย และภาคกลางจะได้รับผลกระทบจากพายุมากสุด เตรียม3 โมเดลเสนอนายกฯ แก้วิกฤตน้ำ เตือนพื้นที่ภาคกลาง สุโขทัย-อ่างทอง-สิงห์บุรี สร้างพนังกั้นน้ำริมน้ำเจ้าพระยาสูงแค่ 7 เมตร อันตราย น้ำมีสิทธิท่วมข้างใน-ทำให้เจ้าพระยาล้นเข้าจังหวัดอื่น ขณะที่ภาคเอกชนและธุรกิจขนาดใหญ่ ตื่นตัวขอข้อมูลเตรียมรับมือวิกฤตน้ำท่วมแล้ว!
สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ที่ผ่านมา นับเป็นมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยประสบ เพราะช่วงปลายปีก่อน (กรกฎาคม 2554-มกราคม 2555) ประเทศไทยต้องประสบกับพายุมากถึง 5 ครั้ง และเจอร่องความกดอากาศถึง 3 ครั้ง ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั้งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำทุ่งตามจังหวัดต่างๆ เดือดร้อนกันถ้วนทั่ว
ขณะที่ธนาคารโลกประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมากถึง 1.44 ล้านล้านบาท มีประชาชนได้รับผลกระทบมากถึง 12.8 ล้านคน นับเป็นความเสียหายอุทกภัยร้ายแรงเป็นอันดับ 4 ของโลก
แม้เวลานี้จะผ่านมาแล้ว 4 เดือน แต่กลับพบว่า คนที่ประสบเหตุน้ำท่วมในปีที่แล้ว ยังมีความวิตกกังวลใจอย่างมาก โดยผลสำรวจของนิด้าโพล เรื่อง “ความกังวลใจของคนเคยท่วม" ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมปลายปี 54 ยอมรับว่ามีความกังวลใจ ระดับมากถึงมากที่สุดสูงถึง 61.42%
อย่าแปลกใจที่ใครๆ ก็ต่างกังวลใจว่า ปีนี้จะเจอน้ำท่วมหนักเหมือนปีที่แล้วอีกหรือไม่ และรัฐบาลจะเอาไม่อยู่ หรือเอาอยู่ได้จริงเสียที!
น่าเสียดายที่บทบาทของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ที่รวมเอาสุดยอดกูรูด้านน้ำมาช่วยกันคิดแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบนั้น ต่างไม่ค่อยมีเวลาและยังมีข่าวความขัดแย้งทางความคิดอยู่เนืองๆ
ทำให้ปัจจุบันนี้ กยน.ได้แปลงสภาพเป็นเพียงคณะที่ปรึกษาของรัฐบาล และรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แยกงานด้านน้ำท่วมออกเป็น 2 หน่วยงานใหญ่ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กนอช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ดูแลงานด้านยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาน้ำ รวมทั้งการเวนคืนที่ดินเพื่อเตรียมพื้นที่ flood way และแก้มลิง
อีกหน่วยงานหนึ่งคือสำนักงานบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ สบอช. มีหน้าที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงาน มาจัดทำระบบข้อมูลเรื่องน้ำทั้งระบบ ส่งข้อมูลตรงถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเร่งด่วน
โดยระบบข้อมูลถือเป็นส่วนงานด้านการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่สำคัญมาก ทั้งการพยากรณ์ระดับปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ รวมถึงการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ดร.รอยล จิตรดอน กูรูผู้คร่ำหวอดในแวดวงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และมีบทบาทในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
ขณะนี้ ดร.รอยล จึงถือเป็นหนึ่งในผู้ที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการทิศทางน้ำ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับสู่สังคมไทยอีกครั้ง ปัจจุบัน ดร.รอยล รับหน้าที่หลัก ในฐานะ ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. รับผิดชอบการทำระบบข้อมูลน้ำทั้งประเทศ เพื่อใช้ทั้งในยามปกติ และยามฉุกเฉิน โดยข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งเข้า ครม.พิจารณาทุกสัปดาห์
ดังนั้นคนไทยจะมั่นใจ “น้ำท่วม-ไม่ท่วม” อยู่ที่ระบบข้อมูลน้ำที่ ดร.รอยลกำลังดำเนินการทำอยู่ในขณะนี้ “ASTV ผู้จัดการรายวัน” จึงได้สัมภาษณ์ ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อให้คนไทยได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงซึ่งจะช่วยลดความตื่นตระหนกของผู้คน รวมทั้งเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติได้ไม่น้อย!
ข้อมูลน้ำมีพร้อม แต่ไม่มีการนำมาใช้
การจะเริ่มบูรณาการระบบน้ำ จะต้องเริ่มจากต้นน้ำคือ “ระบบข้อมูล” ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ หรือด่านแรกในการวางแผน ก่อนนำไปวิเคราะห์ และกำหนดทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อนำไปลงมือปฏิบัติต่อไป และจากบทเรียนปีที่ผ่านมาพบว่า เมื่อเกิดอุทกภัยน้ำท่วมขึ้นจริง หน่วยงานรัฐไม่สามารถจัดการน้ำได้เป็นระบบ อาจเนื่องจากขาดเสถียรภาพในการบริหาร แม้จะมีการเก็บข้อมูลไว้จากหน่วยงานต่างๆ ประกอบกับการจัดการด้านระบบการควบคุมในหลายส่วนไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร อาทิ บานประตูเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ, ท่อส่งน้ำขนาดใหญ่, คูคลองตื้นเขินไม่ได้รับการดูแล ฯลฯ เมื่อเกิดปัญหาเข้าจริง หรือในภาวะฉุกเฉิน จึงไม่สามารถรับมือได้ทัน
สำหรับข้อมูลเรื่องระบบน้ำของประเทศไทยมีพร้อมทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครเอาข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ และไม่เคยมีการประชุมหน่วยงานด้านน้ำทั้งหมด แต่ตอนนี้มีแล้ว และภายในเดือนกรกฎาคมจะมีการสรุปการประชุมและส่งบทวิเคราะห์ให้ที่ประชุม ครม.ทุกสัปดาห์
จากการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในปีนี้น่าเป็นห่วงน้อยกว่าปีที่แล้ว แม้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยก็ตาม แต่คาดว่าจะพอควบคุมได้ โดยเกณฑ์เฉลี่ยปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยปกติจะอยู่ที่ 1,374 มิลลิเมตร โดยปีที่แล้วมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,820 มิลลิเมตร แต่ปีนี้คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะอยู่ที่ 1,500 มิลลิเมตร จึงคาดว่าจะไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักเหมือนปีที่แล้ว
ประกอบกับที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการสำรวจระดับแม่น้ำ และคลองสายสำคัญโดยสำรวจความลึกของคลองด้วยคลื่นเสียง (Echo Sounder) รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 150 กิโลเมตร อาทิ คลองลาดพร้าว, คลองบางเขน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นคลองสำคัญๆ ที่จะช่วยรองรับปริมาณน้ำได้มาก
พร้อมจัดทำแผนที่แสดงความลึกคลองในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ระยะทาง 3,600 กว่ากิโลเมตร รวมคลองเล็กคลองน้อย คาดว่าจะสำรวจเสร็จใน 4 เดือนต่อจากนี้ และจากสภาพคลอง ประตูระบายน้ำที่ดีขึ้น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะสามารถรองรับน้ำได้เพียงพอ
ส่วนด้านการทำระบบข้อมูลที่ทางสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรรับผิดชอบจะแล้วเสร็จทันใช้ในปีนี้ และจะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จะเริ่มส่งรายงานเข้า ครม.ทุกสัปดาห์ ซึ่งครม.จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ หรือดำเนินงานต่อไปอย่างไร
อีกทั้งในปีนี้มีการขุดลอกคูคลองจำนวนมาก และตั้งบานประตูน้ำเพิ่ม รวมถึงให้มีประสิทธิภาพ จึงคาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น
น้ำท่วมปีนี้ ภาคกลางเจอ 2 เด้ง!
สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำในปีนี้ เมื่อดูข้อมูลหลายส่วนแล้วพบว่า ในปีนี้ประเทศไทยจะมีช่วงที่เจอฝนตกหนัก 2 ช่วง คือ
ช่วงแรกเป็นช่วง 3 เดือนนับแต่นี้ไป คือ พฤษภาคม-กรกฎาคม 2555 จะมีฝนมากในบริเวณภาคอีสานตอนใต้, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคใต้ตอนบน
ส่วนช่วงที่ 2 คือช่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2555 จะมีฝนมากที่บริเวณภาคเหนือตอนบน, ภาคอีสานฝั่งตะวันออก, ภาคกลางตอนล่าง
โดยปีนี้ ภาคกลางถือว่าเป็นภาคที่จะเจอภาวะปริมาณน้ำฝนจำนวนมากกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทั้ง 2 ส่วน อาจทำให้มีฝนตกเป็นช่วงๆ ติดต่อกัน จากมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ และลมตะวันตกเฉียงเหนือที่ยังแรงอยู่ในช่วง 3 เดือน แต่ก็มีปริมาณน้ำฝนไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา
3โครงการเด่นใช้แก้ปัญหาน้ำ
แต่หากในปีนี้เกิดภาวะผิดปกติของพายุหรือร่องความกดอากาศ ข้อมูลของ สสนก. มีการวางแผนงานดำเนินการรองรับทั้งสถานการณ์ปกติ จนถึงภาวะผิดปกติ ตั้งแต่การวัดระดับน้ำด้วยโทรมาตร เครื่องบิน UAV เรือหุ่นยนต์สแกนความลึก รถยนต์ติด IMU เพื่อวัดระดับถนน โมเดลแผนที่ CCTV ประตูระบายน้ำ มีระบบเชื่อมโยงคลังข้อมูล มีการทำวิจัยต่างๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัย ฯลฯ รวมถึงเมื่อเกิดเหตุก็จะมีรถที่เก็บข้อมูลเคลื่อนที่คอยให้ความสะดวก สามารถโยกย้ายไปไหนก็ได้ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยที่ทันสมัย หากเกิดภาวะผิดปกติจะมีการส่ง SMS ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระบบเตือนภัย ฝน พายุ น้ำในเขื่อน
ส่วน 3 โครงการเด่นที่จะใช้เตรียมรับมือกับปัญหาน้ำก็คือ เรื่องของการติดตั้งประตูระบายน้ำที่ใช้ระบบสัญญาณมือถือในการสั่งการเพิ่ม 70 บาน แทนการใช้คนไปเปิด-ปิดที่อาจไม่ทันต่อการแก้ปัญหาในภาวะฉุกเฉิน ส่วนของประตูระบายน้ำเพื่อการชลประทานเดิม ตอนนี้ที่กรมชลประทานได้รับงบประมาณไปแก้ให้ประตูใหญ่ และกว้างขึ้นแล้ว
รวมทั้งจะมีการเพิ่มโทรมาตรที่ใช้ระบบเรดาร์เพิ่ม 662 ตัว เพื่อวัดระดับน้ำให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ใช้ระบบหัววัดลงไปในแม่น้ำ และเมื่อกระแสน้ำแรง โทรมาตรจะเสียหายได้ง่ายกว่า รวมถึงการนำรถติด IMU วัดระดับถนนและภาพตัดของคลองแม่น้ำ ปัจจุบันมีประมาณ 3 ชุด ซึ่งคาดว่าเพียงพอต่อการใช้งาน เพราะจะโฟกัสไปในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีปัญหาน้ำท่วมมากๆ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดปริมณฑล โดยจังหวัดที่จะมีการดูแลใกล้ชิดได้แก่ นนทบุรี และปทุมธานี
3 โมเดลบริหารข้อมูลน้ำครบวงจร
เมื่อนำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มารวมไว้ในที่เดียวกันแล้ว ก็จะมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และจัดทำโมเดลข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล ฯลฯ ปัจจุบันเริ่มทดลองทำโมเดลละเอียดในพื้นที่ กทม. กับตะวันออก อาทิ บางปะกง แล้วที่เตรียมเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยจะมี 3 โมเดลดังนี้
1.MIKE Basin โมเดลช่วยบริหารเขื่อนจะใช้บริหารตั้งแต่ช่วงปกติ การจัดสรรน้ำแต่ละพื้นที่ พอสัญญาณเริ่มแสดงว่าพื้นที่ไหนน้ำเริ่มจะขาด หรือเริ่มมีปริมาณมาก จะพร้อมใช้เดือนกรกฎาคม 55 จากนั้นทาง สสนก.ก็จะรันโมเดลที่ 2 คือ MIKE 11 Real-Time โมเดลคำนวณการไหลในลำน้ำ จะทำให้รู้ระดับน้ำในลำน้ำเกือบทั้งหมด ทั้งระดับน้ำ ปริมาณ และความเร็ว เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วันข้างหน้าว่าจะล้น หรือแล้ง
จากนั้นจะร่วมวิเคราะห์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ว่าจะนำน้ำออกทางไหน หรือว่าจะพักน้ำไว้ที่จุดใด
3.MIKE FLOOD ใช้ในช่วงภาวะผิดปกติ โมเดลจะคำนวณน้ำหลากเมื่อน้ำล้นตลิ่ง หรือเกิดน้ำท่วม
ขณะนี้โมเดลต่างๆ จะใช้ฐานข้อมูล และแผนที่เดิมที่ทาง สสนก.มีอยู่ และเมื่อข้อมูลใหม่ เช่น แผนที่ภูมิประเทศที่จะสำรวจระดับความสูงต่ำของพื้นที่เพื่อดูทิศทางการไหลของน้ำ โดยความร่วมมือของ JICA ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ไทย เสร็จเรียบร้อย หรือการสำรวจอัปเดตภาพปัจจุบันจากโครงการสำรวจแม่น้ำและลำคลองสายสำคัญ จะช่วยให้การคำนวณแม่นยำขึ้น
4 อุปสรรคแก้วิกฤตน้ำท่วม
ส่วนปัญหาน้ำที่น่าห่วงในขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องใหญ่ ประกอบด้วย 1.โทรมาตรวัดระดับน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นระบบที่จะใช้เรดาร์ในการวัดระดับน้ำ ขณะนี้ก็มีอยู่แล้ว 520 เครื่อง ซึ่งปีนี้มีแผนที่จะติดเพิ่มอีก 140 เครื่อง รวมเป็น 662 เครื่อง คาดว่ามิถุนายนจะสามารถติดได้หมด ก็จะสร้างความปลอดภัยขึ้นได้มาก 2.แผนที่ความละเอียดสูงที่ไจก้าร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์จัดทำ ขณะนี้เพิ่งเริ่มต้น จึงทำให้อาจได้ผลล่าช้าไปบ้าง ถ้าแผนที่เสร็จไม่ทัน ก็ใช้รถยนต์ติด IMU วิ่งสำรวจระดับความสูงของถนนไปก่อน
3.เป็นเรื่องที่ห่วงที่สุดคือ เรื่องการทำพนังกั้นน้ำของท้องถิ่น ตั้งแต่จังหวัดที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาลงมา คือตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ โดยเฉพาะจังหวัดที่น่าเป็นห่วงอย่างมากได้แก่สุโขทัย ที่ทำพนังกั้นน้ำสูง 7 เมตร อ่างทองสูง 4 เมตร และสิงห์บุรี 3-4 เมตร คิดว่าในจังหวัดเหล่านี้น่าจะเจอปัญหาน้ำท่วมหนักกว่าที่อื่นในปีนี้
“ถ้าทำเหมือนกันหมดก็เหมือนเป็นการบีบน้ำเข้าลำน้ำเจ้าพระยา และจะเกิดปัญหาเมื่อฝนตกในทุ่งก็จะเอาน้ำออกไม่ได้อีกด้วย เพราะไม่มีตัวปั๊มน้ำใหญ่ๆ กลายเป็นต้องมาไล่แก้ปัญหากันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการกั้นพนังกั้นน้ำโดยไม่รู้ว่าจะสร้างอันตรายให้ตัวเอง”
ที่สำคัญนอกจากทำพนังกั้นน้ำแล้ว ยังพบว่าชาวบ้านริมถนนใหญ่ๆ ที่สามารถจะจัดทำเป็นพื้นที่ระบายน้ำได้นั้น ยังมีชาวบ้านบุกรุกมาทำนาปลูกพืชตลอดเส้นทาง ซึ่งหลายคนได้ตั้งบ้านเรือนและบางพื้นที่มีการออกเลขที่บ้านให้ทั้งๆ ที่เป็นที่ห้ามบุกรุก ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมจะติดขัดในจุดนี้ได้เช่นกัน
4.เรื่องอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่สอดรับกับระบบระบายน้ำ เช่น รัชดา-วิภาวดี จะระบายน้ำออกไปที่ไหน หรือว่าจะใช้เป็นที่พักน้ำเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา
ส่วนคลองระบายน้ำใน กทม. ที่มีอยู่เดิมถ้ามีการปรับปรุง พัฒนาได้หมด ก็จะช่วยเรื่องน้ำได้มาก แต่จะมีปัญหาด้านเทคนิค เช่นเรื่องของการทำบ่อพักสำหรับสูบจะต้องขยาย, เรื่องระบบสูบ ทำอย่างไรให้เดินเครื่องได้ 60-70% สลับกันเดิน และไม่ใช้แค่ปั๊มน้ำออกเท่านั้น หากน้ำหลากเข้ามา ควรจะปรับทิศทางเครื่องสูบให้สอดคล้องได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ดีก็คือ กทม.จากไม่มีเครื่องผลักดันน้ำเลย ขณะนี้มีการหาเพิ่มมาได้ 130 กว่าตัวแล้ว ซึ่งถือว่าเพียงพอ
โดยระบบการแก้ปัญหาน้ำที่ดี จะต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนด้วย ขณะนี้ ทาง สสนก.จึงได้มีการรณรงค์สร้างความร่วมมือการแก้ปัญหาน้ำท่วมของชุมชนต่างๆ และจัดทำเป็นเครือข่าย ซึ่งปีนี้คาดว่าจะได้รับความร่วมมือ 157 ชุมชน จากปีที่แล้วที่มีเครือข่ายอยู่ 107 ชุมชน เพื่อให้มีการประสานงานกันในการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพด้วย
เอกชน-ชุมชนแห่ใช้ข้อมูล www.thaiwater.net
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ สสนก.จัดทำ และรวบรวมข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำจากแหล่งต่างๆ นั้น ที่มีการเผยแพร่ในเว็บ www.thaiwater.net หรือคลังข้อมูลสภาพน้ำ พบว่ามีความละเอียด ซึ่งไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่นำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ได้ หากแต่ภาคเอกชนและประชาชนก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการวิเคราะห์ และจัดการกับความเสี่ยง หรือรู้ทันสถานการณ์น้ำได้เป็นอย่างดี
น่าเสียดายที่หน่วยงานรัฐ โดยรัฐบาลในเวลานี้ยังให้ความสนใจกับระบบข้อมูลน้ำนี้ยังไม่มากนัก ไม่เหมือนภาคเอกชนที่ให้ความสนใจมาก ถึงกับเดินทางมาขอข้อมูลระบบน้ำที่ สสนก. หลายราย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความต้องการนำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอด รวมถึงภาคชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเอ็นจีโอที่มีการนำข้อมูลไปใช้เพื่อเตือนภัยให้กับชาวบ้านในพื้นที่หรือดูสถานการณ์ สภาพอากาศในพื้นที่
สรุปให้เห็นชัดเจนก็คือเมื่อระบบข้อมูลนี้ถ้าทำสำเร็จ รวมกับการทำงานแบบบูรณาการ คือมีการประชุมทุกสัปดาห์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำทั้งหมด เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ทหารเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ แล้วก็ถือว่ากระบวนการจัดทำระบบน้ำ มีความครบถ้วนในเรื่องของข้อมูล ซึ่งจะส่งตรงถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทุกสัปดาห์
ดังนั้นเมื่อข้อมูลพร้อมทุกอย่าง จึงเหลือแค่ผู้รับผิดชอบหลักอย่างรัฐบาลเท่านั้น ที่จะตัดสินใจบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ และรวดเร็วทันใจประชาชนได้อย่างไร!