xs
xsm
sm
md
lg

คำเตือนก่อการร้าย - นลินี ทวีสิน และ“เด็กเกเร”อเมริกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นลินี ทวีสิน (ขวา) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รูรั่วในรัฐนาวาปู ที่กำลังถูกสังคมถามหาจริยธรรมทางการเมือง
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปฏิบัติการดีสเครดิตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ของชาติมหาอำนาจจากกรณีคำเตือนก่อการร้าย ลุกลามมาถึงแบล็กลิสต์รัฐมนตรีป้ายแดง “นลินี ทวีสิน” ผู้ถูกกล่าวหามีสัมพันธ์ลึกกับครอบครัวจอมเผด็จการซิมบับเว และได้รับตำแหน่งเพื่อภารกิจเคลียร์คดีปั่นหุ้นของ “นายใหญ่” ในแอฟริกาใต้ จุดชนวนวิพากษ์ “เด็กเกเร” อเมริกา กับจริยธรรมเสื่อมของนักการเมืองไทยอีกครั้ง

ข่าวความอื้อฉาวของ นลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่มีชื่อเสียงเรียงนามปรากฏอยู่ใน “บัญชีรายชื่อของผู้ที่ถูกอายัดทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการเป็นผู้มีส่วนร่วมในการบ่อนทำลายกระบวนการหรือสถาบันตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศซิมบับเว” ตามแถลงการณ์ของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา ยังเป็นที่ถกเถียงในสังคมไทย พร้อมๆ กับที่ตัวเธอก้าวเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และถวายสัตย์ปฏิญาณอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเย็นวันที่ 23 มกราคม 2555

โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน นลินีแถลงข่าวปฏิเสธทุกคำกล่าวหา ซึ่งในสายตาสาธารณชน ถ้อยแถลงของเธอล้วนเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทางการสหรัฐอเมริการะบุไว้อย่างสิ้นเชิง เพราะ ตัวเธออ้างว่าไม่มีความพัวพันทางธุรกิจการเมืองกับผู้นำซิมบับเว มีเพียงความสัมพันธ์ทางสังคม คือเป็นมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน ขณะที่ทางการสหรัฐระบุว่าเธอทำธุรกิจค้าอัญมณีกับภรรยาของประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ้ และมีส่วนสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ระหว่างแถลงการณ์ของอเมริกาและคำปฏิเสธจากนลินี สิ่งใดจริง สิ่งใดเท็จ จริงหรือที่ไทยไม่จำเป็นต้องใส่ใจเด็กเกเรอย่างอเมริกา เช่นที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เอ่ยอ้าง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การปะทะกันระหว่าง นลินี ทวีสิน กับชาติมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก เป็นอีกภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทย - สหรัฐอเมริกา ที่ดูเหมือนไม่ค่อยราบรื่นนักในระยะนี้ หลังจากคณะรัฐบาลไทยเพิ่งช็อคจากการออกคำเตือนเรื่องผู้ก่อการร้ายโดยไม่แจ้งหรือมีกระบวนการปรึกษาหารือกันก่อนดุจมิตรที่ดี และพาลทำให้ประเทศอื่นๆ ประกาศเตือนพลเมืองของตนเองตามสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมหาศาล ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน สหรัฐอเมริกา ก็ถูกสังคมไทยโจมตีผ่านโซเซียลเน็ตเวิร์กกรณีมาตรา 112 อย่างหนักหน่วง

การเมืองเบื้องหลังสหรัฐอเมริกากระทำต่อไทย เชื่อมโยงเป็นคนละเรื่องเดียวกันหรือไม่ มีอะไรซุกซ่อนอยู่ภายใต้ปฏิบัติการดีสเครดิตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ของสหรัฐอเมริกา หรือว่าประเทศไทยกำลังกลายเป็นหมากในการเดินเกมของชาติมหาอำนาจตะวันตก

ดังมุมมองจากสายตานักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่าง รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ที่ว่า การที่อเมริกาประกาศว่าไทยมีผู้ก่อการร้ายฮิซบอลเลาะฮ์นั้น เป็นเพียงหนึ่งในแผนการของอเมริกาที่ต้องการก้าวเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อคานอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ที่แผ่ขยายครอบคลุมไปทั้งเอเชีย …มาติดตามคลี่ทีละประเด็น

กลเกมช่วงชิงบทบาทคานอำนาจจีน

รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงแรงจูงใจของอเมริกาในการประกาศว่ามีผู้ก่อการร้ายกลุ่มฮิสบอลเลาะฮ์ในไทยไว้อย่างน่าขบคิดว่า

“กรณีที่อเมริกาบอกว่ามีกลุ่มฮิสบอลเลาะฮ์เตรียมก่อการร้ายในไทย เป็นการกล่าวหาที่ห่างไกลจากความเป็นจริงมาก แกนนำฮิสบอลเลาะฮ์เองก็ออกมาปฏิเสธแล้วว่าผู้ที่ถูกจับไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในขบวนการฮิสบอลเลาะฮ์ และโดยวัฒนธรรม โดยกฏหรือจารีตของกลุ่มฮิสบอลเลาะฮ์นั้น เขาจะก่อการเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง และเป็นการก่อการแบบจรยุทธ์ เป็นการก่อการในรูปแบบของกองกำลังทางทหาร
กลุ่มฮิสบอลเลาะฮ์ไม่ก่อการนอกอาณาเขตหรือนอกพื้นที่ห่างไกล การต่อสู้ของเขาจำกัดอยู่เฉพาะในแถบนั้น

“ในความเห็นส่วนตัวของผม กรณีที่อเมริกากล่าวอ้างถึงขบวนการฮิสบอลเลาะฮ์ในไทยเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าอเมริกาพยายามเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุผลสำคัญประการแรก นั่นก็เพราะขณะนี้ จีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลอย่างมากในภูมิภาคนี้ ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับพม่า ในขณะที่พม่าก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้สหรัฐพยายามเข้ามามีบทบาท ต่างจากจีนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับพม่ามานาน ประการที่สองซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน และทำให้อเมริกาพยายามเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือความต้องการครอบครองเส้นทางการค้าในเขตช่องแคบมะละกา”

นอกจากนั้น รศ.ดร. จรัล มะลูลีม ยังวิเคราะห์ถึงกรอบความคิดที่โลกตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา มีต่อโลกอาหรับ

“ตะวันตกเรียกฮิสบอลเลาะฮ์ว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ ขณะที่โลกอาหรับให้การรับรองและยอมรับกลุ่มฮิสบอลเลาะฮ์ โดยเฉพาะในเลบานอน ฮิสบอลเลาะฮ์คือคณะปกครองที่ถูกต้องตามกฏหมาย ผมเองก็เคยพบปะกับผู้นำกลุ่มฮิสบอลเลาะฮ์เมื่อครั้งที่ได้รับเชิญไปเยือนเลบานอน ซึ่งทำให้ผมได้เห็นว่าไม่มีความขัดแย้งใดๆ ภายใต้การปกครองที่มีผู้นำเป็นกลุ่มฮิสบอลเลาะฮ์ เหล่านี้คือสิ่งยืนยันว่าโลกอาหรับให้การรับรองฮิสบอลลฮ์เป็นคณะปกครองในเลบานอน ขณะที่ตะวันตกเรียกเขาว่าผู้ก่อการร้าย

“ในความเห็นส่วนตัวของผม การที่อเมริกาอ้างถึงการก่อการร้ายในไทย อาจเป็นเพราะอเมริกากำลังรู้สึกว่าถูกคุกคาม เพราะในสภาพความเป็นจริง ชาติตะวันตกด้วยกันเช่นฝรั่งเศสก็ไม่ได้เห็นด้วยกับอเมริกา ฝรั่งเศสยังเคยวีโต้อยู่บ่อยครั้งเพื่อขอถอนกำลังออกจากอิรัก หรือแม้แต่เหตุการณ์การก่อวินาศกรรมที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในข้อเท็จจริงแล้ว มีคนอเมริกันเสียชีวิตน้อยมาก แต่มีคนอิรักเสียชีวิตนับแสน และมีคนอัฟกานิสถานเสียชีวิตนับหมื่น”

ในความเห็นของ รศ.ดร.จรัญ การที่อเมริกากล่าวอ้างว่ามีขบวนการฮิสบอลเลาะฮ์ในไทย เป็นประเด็นที่หมิ่นเหม่และละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยมีความสัมพันอันดีกับกลุ่มประเทศในโลกอาหรับ ดังนั้น การที่อเมริกาประกาศเช่นนี้ นอกจากแสดงให้เห็นว่าไม่ใส่ใจประเทศเล็กๆ อย่างไทยแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างไทยและโลกอาหรับด้วย

“ในประเด็นนี้ ผมมองว่าไทยควรแสดงออกถึงจุดยืนที่ชัดเจน และมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังที่ไทยได้แถลงไปแล้วว่าไม่มีผู้ก่อการร้ายอยู่ในประเทศเรา นอกจากนั้น ยังมีสิ่งที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีของไทยกับโลกอาหรับ นั่นคือการที่ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก เราลงนามรับรอง ‘ปาเลสไตน์’ ทั้งที่อิสราเอลและสหรัฐมีมุมมองตรงกันข้ามกับเรา ผมเห็นว่าการที่เรายอมรับการมีอยู่ของปาเลสไตน์ คือการแสดงให้เห็นว่าไทยมีใจเป็นธรรมต่อกลุ่มประเทศในโลกอาหรับ”

กรณีอเมริกาและโลกอาหรับนั้น รศ.ดร.จรัญ ยังแสดงทัศนะว่า ในเวทีโลกสหรัฐเน้นย้ำเรื่องการต่อต้านการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่ในทางกลับอิหร่านก็เผยว่าสหรัฐอเมริกาลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ของอิหร่านไปหลายชีวิต ขณะที่เหตุการจลาจลในอียิปต์นั้น แท้ที่จริง ก็มีประชาชนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศเท่านั้นที่เห็นด้วยกับอเมริกา

จากมุมมองดังกล่าว เมื่อเชื่อมโยงกับทิศทางความมั่นคงของพลังงานและน้ำมันในตะวันออกกลางที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างมีความพยายามเข้าไปสานสัมพันและเจรจาระดับทวิภาคีกับอิหร่านเพื่อขอสัมปทานในการขุดและพัฒนาน้ำมันดิบในอิหร่านโดยตรง อาจเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ยิ่งตอกย้ำให้อเมริการู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการเป็นมหาอำนาจ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การกล่าวอ้างถึงขบวนการก่อการร้ายจากตะวันออกกลางว่าเข้ามาซ่อนตัวในไทย อาจเป็นหนึ่งในแผนการที่สร้างความแตกแยกให้ไทยกับโลกอาหรับ และเป็นหนึ่งในแผนการที่มุ่งโจมตีโลกอาหรับซึ่งเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ถือครองทรัพยากรอันมีมูลค่ามหาศาลที่สุดในโลกอย่าง‘น้ำมัน’
“นลินี ทวีสิน” กับบรรทัดฐานที่คดงอ

แต่ความเกเรของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก โดยเฉพาะความกินแหนงแคลงใจกับโลกอาหรับ ย่อมไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุผลหรือข้ออ้างในการวางเฉยต่อการถูกขึ้นบัญชีดำของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อย่างนลินี ทวีสิน เหมือนดังที่ มีชัย ฤชุพันธ์ เอ่ยอ้าง เพราะกรณีนี้ จะว่าไปแล้วไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เป็นเรื่องระหว่างสหรัฐอเมริกากับตัวบุคคลคือนลินี ทวีสิน โดยตรง ซึ่งตามข้อมูลที่ทางการสหรัฐแถลงการณ์นั้น ระบุไว้ชัดเจนถึงเหตุผลที่นลินีถูกขึ้นบัญชีอายัดทรัพย์สิน เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวพันทางธุรกิจกับประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ ทั้งมีส่วนสนับสนุนระบอบเผด็จการในซิมบับเว

ข้อมูลข่าวกรองที่สหรัฐมีอยู่กระทั่งนำไปสู่แถลงการณ์ประกาศว่านลินีถูกขึ้นบัญชีดำนั้น เป็นสิ่งที่นลินีต้องตอบคำถามคนในสังคมให้ได้มากกว่าข้ออ้างเพียงว่า “ดิฉันไม่ได้ถูกแบล็คลิสต์ตามที่ถูกกล่าวหา”และมากกว่าเพียงแค่คำพูดที่ยืนยันว่าตนเองมีวีซ่าและยังเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้ เพราะมันอาจเป็นเพียงคำโกหก ตราบใดที่นลินีไม่มีหลักฐานชัดเจน หรือคนไทยทั้งประเทศไม่ได้เห็นกับตาตัวเอง ว่าเธอสามารถย่างก้าวบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาได้อย่างสง่างาม

แหล่งข่าวจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย อธิบายกับ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ถึงหลักเกณฑ์ของการขึ้นบัญชีต้องห้ามหรือบัญชีดำ (แบล็คลิสต์) แสดงให้เห็นว่ากรณีของนลินี ก็คือการถูกแบล็คลิสต์ ห้ามเดินทางเข้าประเทศ มิใช่เพียงเพราะถูกแซงชั่น หรือคว่ำบาตรตามที่นลินีกล่าวอ้าง

“การที่ใครสักคนจะถูกทางการสหรัฐอเมริกาแบล็คลิสต์นั้น มีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ ประเด็นแรกคือการที่บุคคลผู้นั้นมีส่วนเกี่ยวพันกับอาชญากรรมร้ายแรง รวมทั้งการค้ายาเสพติดหรือค้ามนุษย์ ประเด็นที่สอง คือการที่บุคคลผู้นั้นมีส่วนเกี่ยวพัน พัวพัน หรือให้การสนับสนุนใดๆ กับผู้นำในระบอบเผด็จการ ให้การสนับสนุนในธุรกิจผิดกฏหมาย หรือยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณให้การสนับสนุนในทางใดทางหนึ่งกับผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ในพม่า คุณก็ติดแบล็คลิสต์ หรือมีความเกี่ยวพันเช่นทำธุรกิจใดๆ ที่เอื้อให้เกิดการบ่อนทำลายกระบวนการหรือสถาบันประชาธิปไตย”

เมื่อมองจากหลักการดังกล่าว กรณีของนลินีที่เข้าข่ายประเด็นที่ 2 จึงถือเป็นผู้ที่ถูกแบล็คลิสต์อย่างแน่นอน มิใช่เพียงแค่คว่ำบาตร อายัดทรัพย์หรือห้ามทำธุรกรรมใดๆ ตามที่เธอกล่าวอ้าง

ส่วนคำถามที่ว่าเมื่อถูกแบล็คลิสต์แล้ว เหตุใดนลินีจึงอ้างว่าเธอมีวีซ่าและสามารถเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้นั้น แหล่งข่าวของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ให้ข้อสังเกตว่า

“การที่ใครสักคนถูกแบล็คลิสต์นั้น จริงๆ แล้ว เจ้าตัวหรือคนทั่วไปจะรู้ว่าคนๆ นั้นติดแบล็คลิสต์หรือไม่ ก็ต่อเมื่อเขาหรือเธอลงจากเครื่องบิน มาเหยียบแผ่นดินอเมริกาแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะให้คำตอบในตอนนั้นว่า คุณสามารถเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่ เพราะข้อมูลที่ระบุว่าใครติดแบล็คลิสต์ สามารถเดินทางเข้าอเมริกาได้หรือไม่นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจตราในด่านสุดท้ายก็คือเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง”

หากสงสัยว่า “ถ้าคณะรัฐมนตรีมีภารกิจซึ่งต้องเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา แล้วนางสาวนลินี ทวีสิน ติดตามไปด้วยในฐานะรัฐมนตรี จะมีปัญหาใดหรือไม่” คำตอบที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่สถานทูตผู้นี้ก็คือ “คุณนลินีจะรู้คำตอบก็ต่อเมื่อต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ ตอนนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะบอกเอง ว่าคุณสามารถเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่ หรือถูกแบล็คลิสต์ มีรายชื่อเป็นบุคคลที่ถูกสั่งห้ามเข้าประเทศ”

กรณีที่มีชัย ฤชุพันธ์ เอ่ยสนับสนุนนลินีว่าไม่จำเป็นต้องใส่ใจเด็กเกเรอย่างอเมริกานั้น มีชัยคงหลงลืมไปว่าจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้ความสามารถ

เพราะฉะนั้น ตราบใดที่นลินี ทวีสิน ไม่สามารถให้ความกระจ่างแก่สังคมได้ในกรณีถูกขึ้นบัญชีดำ ทั้งไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้จริง และตราบใดที่นลินี ทวีสิน ไม่สามารถไขความกระจ่างให้กับข้อกล่าวหาของ ชวนนท์ อินทโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้นลินีได้รับการผลักดันให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ก็เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มแอฟริกาใต้ เนื่องจาก บริษัทโกเบิ้ล พีเอส เทเลคอมอินเวส เมนต์ ของทักษิณ ทำการปั่นหุ้นในแอฟริกาใต้และปัจจุบันบริษัทดังกล่าวได้ถูกทางการแอฟริกาใต้ดำเนินการสอบสวนและถูกสั่งห้ามการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของแอฟริกาใต้

นอกจากนั้น เม็ดเงินมหาศาลที่นลินีได้รับจากการถือหุ้นใน 25 บริษัท ทั้งที่ยังเปิดกิจการและปิดกิจการไปแล้วนั้น มูลค่าหลายร้อยล้านบาทที่ได้จากการถือหุ้นในบริษัทเหล่านั้น มีผลได้ผลเสียกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือเอื้อให้เกิดการเติบโตใดๆ ทางธุรกิจเมื่อครั้งที่นลินีได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทยในปี 2554 หรือไม่? ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อให้เกิดผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องหรือไม่?

ตราบใดที่สังคมยังไม่ได้รับความกระจ่างจากหลากหลายข้อกังขาที่กล่าวมา ชื่อของ 'นลินี ทวีสิน' ย่อมได้รับการจารึกไว้เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่อื้อฉาวที่สุดของไทย

ถามหาจริยธรรม บรรทัดฐานใหม่นักการเมืองไทย

ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ควรสร้างบรรทัดฐานสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ชัดเจน เช่นที่ ผศ.ดร.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำว่า ในทัศนะของเขาสิ่งที่ควรใส่ใจที่สุดคือบรรทัดฐานที่คนในสังคมต้องร่วมกันสร้างขึ้นมา โดยไม่เน้นไปที่การโจมตีเป็นรายบุคคล แต่ต้องร่วมกันสร้างระบบที่แสดงให้เห็นว่า ความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นต้องประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง มิใช่ยึดเพียงคำกล่าวอ้างของสหรัฐอเมริกาเป็นเกณฑ์แล้วมุ่งโจมตีกันโดยไม่มีการตรวจสอบหรือไม่มีบรรทัดฐานที่เหมาะสม

สำหรับ ผศ.ดร. สุรัตน์ หากการดำรงตำแหน่งนั้นไม่ผิดกฏหมายของรัฐไทยและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ก็ไม่มีสิ่งใดที่ต้องกังวล เว้นเสียแต่สังคมจะร่วมกันสร้างระบบหรือบรรทัดฐานใหม่ๆ ที่มีความชัดเจน เป็นธรรม และคนทั้งสังคมเห็นพ้องต้องกัน

ขณะที่ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า ในกรณีที่มีการตรวจสอบหรือพิสูจน์ได้แน่ชัดแล้วว่านลินี ทวีสิน โดนแบล็คลิสต์จากอเมริกา เมื่อนั้น นายกรัฐมนตรีคือผู้ที่สมควรต้องออกมาชี้แจงและให้คำตอบที่ชัดเจนแก่สังคมไทย ว่าเพราะเหตุใด? ทำไม? จึงต้องแต่งตั้งนลินีเป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ทั้งที่ถูกแบล็คลิสต์

หรือหากนายกฯ เห็นว่าความรู้ความสามารถของนลินีเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่าที่จะมัวใส่ใจการถูกขึ้นบัญชีดำจากอเมริกา นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก็ยิ่งต้องอธิบายให้ได้ ว่าความรู้ความสามารถที่ว่านั้นคืออะไร มีอะไรบ้างและความรู้ความสามารถของนลินี ทวีสิน เมื่อถัวเฉลี่ยหรือกลั่นกรองดูแล้วนั้น สำคัญเพียงใด จึงเป็นเหตุให้เราไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่ารัฐมนตรีของเราถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ

“ถ้าเราเป็นเวเนซุเอล่าที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจอเมริกาก็คงไม่เป็นไร ผมยังยืนยันว่าสิ่งที่ผมต้องการได้ยินที่สุดก็คือคำตอบจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ถึงเหตุผลในการแต่งตั้งคุณนลินีเป็นรัฐมนตรี ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เคยได้ยินคำตอบจากนายกฯ”

นอกจากการทวงถามของ ดร.ไชยันต์แล้ว นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องเตรียมคำตอบแก่นางผานิต นิติทัณฑ์ประภาส ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย เนื่องจากภายหลังการประชุมหารือแล้วเสร็จ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำสั่งขอให้ตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรณีการแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในข่ายที่ผู้ตรวจฯสามารถรับไว้พิจารณาได้ เพราะเป็นเรื่องของจริยธรรม

โดยขณะนี้ผู้ตรวจการรัฐสภามีข้อสรุปว่าจะทำหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่แต่งตั้งรัฐมนตรี คือ นายกรัฐมนตรี และ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 1-2 วันนี้ ในฐานะผู้กลั่นกรอง เพื่อให้ชี้แจงถึงเหตุผลว่า เหตุใดจึงมีการแต่งตั้งบุคคลที่มีปัญหาเข้ามารับตำแหน่ง และการแต่งตั้งได้คำนึงถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 279(4) ที่ระบุว่า “การพิจารณาสรรหาหรือแต่งตั้งบุคคลใดเข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม และคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าว” หรือไม่

เมื่อชาติมหาอำนาจยังถูกตั้งคำถามจากประชาคมโลก ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ควรได้รับการตรวจสอบจากประชาชนในประเทศเช่นกัน

กรณีนลินี ทวีสิน ติดแบล็คลิสต์ และกรณีที่สหรัฐอเมริการะบุว่ามีขบวนการก่อการร้ายในไทย ทั้งสองประเด็นที่กลายเป็นข่าวคราวความอื้อฉาวระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา จึงล้วนคู่ควรแก่การถูกตั้งคำถามจากสังคมไทยและสังคมโลกไม่น้อยไปกว่ากัน
 
*หมายเหตุ ผู้สนใจทราบรายละเอียดกรณี 'นลินี ทวีสิน' หรือ 'นลินี จอย ทวีสิน' ถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้ถูกอายัดทรัพย์สินตามแถลงการณ์ของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา ติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.treasury.gov/press-center/press-releases/Pages/hp1295.aspx
และสำหรับผู้ต้องการทราบข้อมูลธุรกิจและการถือหุ้นใน 25 บริษัทของนลินี ทวีสิน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่สำนักข่าวอิศรานำมาเผยแพร่ ที่
http://www.isranews.org/component/flexicontent/items/item/5044-เปิดขุมธุรกิจ-25-บ-"นลินี    
กำลังโหลดความคิดเห็น