ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องพิพากษากลับยกฟ้อง “ประชัย-เชียรช่วง” กับพวกในคดีปั่นหุ้นบริษัททีพีไอ ไม่ต้องจ่าย 6.9 พันล้าน ชี้โจทก์มีพยานรู้เห็นเพียงปากเดียว ส่วนพยานบอกเล่าบางปากให้การขัดแข้งกัน
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.ทีพีไอฯ บริษัท สเติร์น สจ๊วต (ประเทศไทย) จำกัด และนายเชียรช่วง กัลยาณมิตร กรรมการบริหาร บจก.สเติร์น ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลักทรัพย์ เผยแพร่ข้อมูล และร่างหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่หนังสือชี้ชวนจะมีผลบังคับใช้ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง (ปั่นหุ้น) และร่วมกันกระทำการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ม.77 และ 239 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 4 ร่วมกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 77, 239, 280, 296 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยกระทำความผิดเป็นความผิดหลายกรรมต่างวาระ ให้ลงโทษเรียงกระทงตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 91 ในความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลและร่างหนังสือเสนอชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่หนังสือชี้ชวนจะมีผลบังคับใช้ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง(ปั่นหุ้น) ให้ปรับจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 300,000บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กับ 4 คนละ 1 ปี ส่วนในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดๆอันเป็นการช่วยเหลือในการดำเนินกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ พิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นจำนวนเงินคนละ 6,900 ล้านบาท และจำคุกจำเลยที่ 2 และ4 คนละ 2 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 6,900,300,000 บาท และรวมจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 3 ปี การกระทำความผิดของจำเลย ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรง และทางอ้อม จึงไม่มีเหตุรอลงอาญา ต่อมาจำเลยทั้ง 4 ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมหารือกันแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนหลักทรัพย์ในประเทศไทย และเริ่มทำการซื้อขายตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันมีทุนที่ชำระแล้ว 2 หมื่นล้านบาทเศษ และอยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งในการเสนอขายหุ้นจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยแสดงรายการข้อมูลเสนอการขายหลักทรัพย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ ก่อนเกิดเหตุในช่วงปี 2544 จำเลยที่ 1 เคยยื่นต่อ ก.ล.ต.เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญรวม 3 ครั้ง ครั้งแรกจำเลยได้รับอนุญาต แต่หลังจากได้รับอนุญาตแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ที่จะขายหุ้น การอนุญาตจึงไม่มีผลบังคับใช้ ครั้งที่ 2 จำเลยที่ 1 ยื่นขออนุญาตขายหุ้นจำนวน 714 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 17 บาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ยกเลิกการเสนอขายในภายหลังอีก และครั้งที่ 3 ยื่นขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 37 บาท ซึ่งในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยจำเลยที่ 1-2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท เวิล์ดไวด์ จำกัด ทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่สื่อโฆษณาเรื่องการเผยแพร่ธุรกิจเปิดจองหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2546 โดยจำเลยที่ 3 และ 4 ว่าจ้างบริษัทคิธ แอนด์ คินฯ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ โดยได้มีการเผยแพร่สื่อทุกแขนงว่าจำเลยที่ 3 ประเมินมูลค่าองค์กรของจำเลยที่ 1 อยู่ที่ 91,357 ล้านบาท และราคาหุ้นที่เหมาะสมของจำเลยที่ 1 อยู่ที่ 89 บาท ต่อมาหลังจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำการตรวจสอบข่าวดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 5 สิงหาคม 2547 จึงแจ้งความร้องทุกข์กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 4 ตามฟ้อง เนื่องจากมีพฤติการณ์ในลักษณะเป็นการปั่นหุ้น จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ
ทั้งนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 4 ประการแรกว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าคำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามมาตรา 239 และไม่ได้บรรยายตามฟ้องว่าจำเลยที่ 2-4 กระทำผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา 77 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง ห้ามไม่ให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ซึ่งเป็นการกำหนดกรอบอำนาจพิพากษาเอาไว้ ดังนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นส่วนที่ว่า จำเลยที่ 1 ผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 239 , 296 และลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,900,300,000 ล้านบาท และพิพากษาว่าจำเลยที่ 2-4 ผิดมาตรา 77 , 280 และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 300,000 บาท จึงเป็นคำพิพากษาในข้อที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้ง 4 ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาต่อไป จำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีเพียงเจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เบิกความเพียงปากเดียว ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวการเสนอข้อมูลหุ้นและราคาหุ้นของจำเลยที่ 1 ว่าการเผยแพร่ข่าวตามสื่อต่างๆ ในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2546 ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนหรือไม่ กระทั่งมีหนังสือตอบกลับมาจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่มีการแจ้งหรือเปิดเผยข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด จึงทำการสอบสวนได้ความว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ทำการประเมินมูลค่าองค์กรของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างบริษัท คิธ แอนด์ คินฯ ให้ทำการเผยแพร่ผลงานของจำเลยที่ 3 ซึ่งการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นของจำเลยที่ 1 สูงขึ้น จึงมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อจำเลยที่ 1-3 ว่ากระทำความผิดตามฟ้อง
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ได้รู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยินยอมแก่จำเลยที่ 3 ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวตามฟ้อง โดยการที่พยานอ้างว่า จำเลยที่ 4 ให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนว่าได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ด้วยวาจานั้น จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย อีกทั้งคำบอกเล่าดังกล่าวขัดแย้งกับบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัทคิธ แอนด์ คินฯ ทำการประชาสัมพันธ์ผลงานของจำเลยที่ 3 โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1-2 ทราบ และจำเลยที่ 1-2 ไม่มีส่วนร่วมในสัญญา ทำให้พยานเอกสารที่พยานโจทก์นำสืบมาแตกต่าง ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามคำบอกเล่าของพยานโจทก์ โดยพยานโจทก์ที่เป็นประธานบริษัทคิธ แอนด์ คินฯ ยืนยันตรงกันว่าจำเลยที่ 1-2 ไม่มีส่วนรู้เห็นในการข้อมูลข่าวสารแก่สื่อต่างๆ ส่วนหัวข่าวเรื่องการประเมินราคาหุ้นของจำเลยที่ 3 นั้น เป็นการดึงเนื้อหาสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ให้ข้อมูลวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับหุ้นของจำเลยที่ 1 คำเบิกความของพยานโจทก์จึงแตกต่างจากข้อเท็จจริง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่ชัดเจนและขัดแย้งแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และ 2 จนไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นผู้เผยแพร่ หรือร่วมกันเผยแพร่ หรือ มอบหมายให้ผู้อื่นเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และ2 จึงไม่มีความผิด เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดแล้ว จำเลยที่ 3-4 จึงไม่อาจร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้ง 4 ฟังขึ้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออื่นๆ ของจำเลยทั้ง 4 ต่อไป เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสร็จ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ได้กล่าวขอบคุณ และยกมือไหว้