ศาลอาญาส่งคืนสำนวนศาลฎีกา กรณี บมจ.ทีพีไอ ฎีกาคัดค้านการบังคับโทษจ่ายเงินค่าปรับเงิน 6.9 พันล้าน เหตุคดีปั่นหุ้นถึงที่สุดแล้ว ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง อัยการโจทก์-จำเลยไม่ติดใจยื่นฎีกา
ที่ห้องพิจารณา 910 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (8 พ.ย.) เมื่อเวลา 15.00 น. ศาลมีคำสั่งให้งดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลข อ.937/2549 ยื่นคัดค้านการบังคับคดีที่ศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2550 ให้ปรับบริษัทเป็นเงิน 6,900,300,000 บาท กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กรณีปั่นหุ้น โดยศาลอาญามีคำสั่งงดอ่านคำพิพากษาฎีกากรณีดังกล่าว พร้อมให้ส่งสำนวนกลับคืนไปยังศาลฎีกา
ทั้งนี้ ทีมทนายความของ บมจ.ทีพีไอ กล่าวว่า การอ่านคำพิพากษาเรื่องบังคับคดีน่าจะกระทำไม่ได้ เนื่องจากการพิจารณาคดีหลักนั้น ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยไปหมดแล้ว ดังนั้น ต้องส่งเรื่องกลับไปให้ศาลฎีกาตามเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีหลักที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.ทีพีไอฯ บริษัท สเติร์น สจ๊วต (ประเทศไทย) จำกัด และนายเชียรช่วง กัลยาณมิตร กรรมการบริหาร บจก.สเติร์นฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลักทรัพย์ เผยแพร่ข้อมูล และร่างหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่หนังสือชี้ชวนจะมีผลบังคับใช้ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้น หรือลดลง (ปั่นหุ้น) และร่วมกันกระทำการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่ผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ม.77 และ 239 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 4 ร่วมกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้ปรับจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 300,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กับ 4 คนละ 1 ปี ส่วนในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือในการดำเนินกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ พิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นจำนวนเงินคนละ 6,900 ล้านบาท และจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 2 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 6,900,300,000 บาท และรวมจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 3 ปี การกระทำความผิดของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรง และทางอ้อม จึงไม่มีเหตุรอลงอาญา ต่อมาจำเลยทั้ง 4 ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าโจทก์มีพยานรู้เห็นเพียงปากเดียว ส่วนพยานบอกเล่าบางปากให้การขัดแย้งกัน ทั้งนี้ อัยการโจทก์ และจำเลยไม่ติดใจยื่นฎีกาแต่อย่างใด