ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พิสูจน์กึ๋นรัฐบาลยิ่งลักษณ์จัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามพระราชดำรัสของในหลวงจะสำเร็จลุล่วงหรือไม่ เมื่อหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชนไม่เชื่อน้ำยา “คณะทำงานเฉพาะกิจ กยน.” กระทุ้งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่บริหารจัดการเรื่องน้ำอย่างถาวร ดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม
ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ขอให้ร่วมกันปัดเป่าความลำบากเดือดร้อนของประชาชนจากน้ำท่วมให้ผ่านพ้นผ่านไปโดยเร็ว และจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดแจงนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ในวันถัดมาทันที
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุม กยน. มีเพียงการเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติงานเร่งด่วน แผนการจัดการระบบข้อมูล แผนจัดการพื้นที่รับน้ำ แผนการพัฒนาพื้นที่เฉพาะ แผนจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการน้ำระยะยาว และแผนการใช้งบประมาณ โดยแผนดังกล่าวจะเสนอเข้ามาสู่ที่ประชุมภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้
นั่นหมายความว่า นับแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประกาศจัดตั้ง กยน. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) หวังเรียกความเชื่อมั่นให้กับประเทศมาร่วมเดือนแล้ว กยน.ยังไม่สามารถจัดทำแผนงานด้านต่างๆ มาเสนอต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนซึ่งทุกฝ่ายต่างเฝ้ารอดู เพราะไม่ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่ปฏิบัติกันมา
ความไม่เชื่อมั่นใน กยน. ทั้งที่คณะกรรมการชุดนี้มีทั้งหน่วยราชการที่ดูแลเรื่องน้ำและคณะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ยังสะท้อนผ่าน ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่วิพากษ์ กยน. ว่า เป็นแค่คณะทำงานเฉพาะกิจและยังไม่มีแผนที่ชัดเจน
ส.อ.ท. ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรม ภาคส่วนที่ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบมากที่สุดในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เริ่มเคลื่อนไหวไล่จี้รัฐบาลด้วยการเตรียมนำเสนอยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ โดยเบื้องต้นจะเสนอเรื่องการจัดทำผังเมืองอย่างยั่งยืน ทางระบายน้ำในภาพรวมของลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด รวมทั้งระบบเตือนภัยที่เป็นสากลมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเบื้องต้นจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการถาวรขึ้นมาใหม่ โดยดึงทุกภาคส่วนทั้งหน่วยราชการ เอกชนที่เกี่ยวข้อง มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะ คณะกรรมการชุดนี้จะคงอยู่แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล
เช่นเดียวกันภาคประชาชนที่มอง กยน. แบบไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจ หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) วิจารณ์ว่า กยน. ไม่มีตัวแทนภาคส่วนประชาชน มีแต่นักเทคนิค เน้นแต่เรื่องก่อสร้าง ลงทุน กรรมการ กยน.บางคนไม่น่าไว้วางใจเพราะมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาบริษัทขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้าง ที่ผ่านมา กยน. แสดงบทบาทผลักดันการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นวาระเร่งด่วน แทนที่จะปรับมุมมองการบริหารจัดการน้ำแบบที่เอาชนะธรรมชาติเป็นการอยู่ร่วมอย่างสอดคล้องและเข้าใจ ซึ่งถ้า กยน.ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ภาคประชาชนจะจัดเวทีและเสนอวิธีคิดไปยังรัฐบาล
ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน หนึ่งใน กยน. เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพราะไม่คุ้มค่า ซึ่งประสบการณ์จากการติดตามถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานานนับสิบปี ปราโมทย์ เล่าว่า เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแนะให้ระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และให้ทำฟลัดเวย์ หรือทางระบายน้ำ แต่ปรากฏว่านักการเมืองซึ่งเข้ามาบริหารประเทศกลับไปสร้างสนามบินสุวรรณภูมิและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตามมาทั้งหมู่บ้าน อพาร์ทเม้นท์ ปลูกสร้างกันแบบไร้ขอบเขตไร้การควบคุม ซึ่งล้วนไปขวางทางน้ำ ขณะที่แต่เดิมนั้นพื้นที่หนองงูเห่าอยู่ในแนวที่ลุ่มมันจึงเป็นฟลัดเวย์โดยธรรมชาติ แต่รอบนี้ห้ามไม่ให้มันไป สกัดไม่ให้ไป จนเกิดแรงดันทะลุทะลวงพังเพระเนระนาด การทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ทำกันแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลจะสร้างสนามบินสุวรรณภูมิแต่ยังสามารถทำฟลัดเวย์ได้โดยทำในพื้นที่ใกล้เคียงและไม่ได้ใช้พื้นที่มาก เราสามารถทำแนวฟลัดเวย์ให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและสังคมในปัจจุบันโดยเอาภาพถ่ายทางอากาศ เอาแผนที่มาดูว่าสามารถทำฟลัดเวย์ตรงไหน อย่างไร สนามบินอยู่ในแนวรับน้ำก็ต้องวางระบบป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว แนวฟลัดเวย์ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อสนามบิน แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการคำนึงถึงเรื่องนี้กันเลย
อนึ่ง กยน. มีนายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ และอดีตเลขาธิการกปร.เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นที่ปรึกษา ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์, นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ, นายปราโมทย์ ไม้กลัด และนายกิจจา ผลภาษี อดีตปลัดอธิบดีกรมชลประทาน, นายรัชทิน ศยามานนท์ อดีตอธิบดีกรมการผังเมืองและอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด, นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตปลัดกระทรวงการคลัง
กลุ่มนักวิชาการด้านน้ำ ประกอบด้วย นายรอยล จิตดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร, นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นายสนิท อักษรแก้ว ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, นายสมบัติ อยู่เมือง นักวิชาการจากศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทยภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ, นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, นายเสรี ศุภราทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร, นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิศาสตร์สารสนเทศคณะกรรมการผลักดันน้ำ ร่วมเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
กรรมการฝ่ายข้าราชการประจำที่ทำหน้าที่สนับสนุนด้านข้อกฎหมาย ได้แก่ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. อธิบดีกรมชลประทานคนปัจจุบัน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อำนาจหน้าที่ของ กยน. คือ ทบทวนนโยบาย แผนงานและแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ระดมความคิดเห็น และความรู้เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาและวางระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศ รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและวางกรอบ ยุทธศาสตร์การลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศเสนอแก่รัฐบาลทั้งนี้ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและการสร้างอนาคตประเทศ