xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองต่างขั้วสุมไฟขัดแย้ง-เหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตหลังน้ำลดเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปชป.-เพื่อไทย เล่นการเมืองแก้วิกฤตน้ำท่วมบนความทุกข์ของประชาชนไม่เลิก สุมไฟความขัดแย้งคนในและนอกคันกั้นน้ำจุดชนวนเกิดม็อบรายวันร้องรัฐเร่งระบายน้ำ หนำซ้ำยังมีข่าวปูดการช่วยเหลือเยียวยาระหว่างคนกรุงเทพฯกับจังหวัดรอบนอกเหลื่อมล้ำ กนย.ฉีกหน้ารัฐบาลปูอ้ำอึ้งบอกความจริงน้ำยังจะขังอีกนานอาจลากยาวเกือบถึงปีใหม่

สถานการณ์น้ำท่วมโดยรวมในหลายพื้นที่เริ่มดีขึ้นตามลำดับ บางแห่งน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติโดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ที่เหลือจุดน้ำท่วมขังเพียงบางส่วน แต่สำหรับพื้นที่จังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ เช่น นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม รวมถึงพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนอุตสาหกรรมของประเทศ ส่วนใหญ่น้ำยังท่วมขัง แม้ว่าน้ำจะลดลงบ้างแต่เป็นไปอย่างเชื่องช้า และรัฐบาลไม่สามารถบอกได้ว่าอีกนานแค่ไหนสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ

ในขณะที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่สิ่งที่ยังเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนบัดนี้คือ ความขัดแย้งของประชาชนที่อยู่นอกและในคันกั้นน้ำในหลายๆ พื้นที่ที่ปะทุขึ้นมาเป็นระยะนับแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม บางแห่งสามารถเจรจาแก้ไขปัญหาได้ แต่บางจุด เช่น ดอนเมือง เกิดความรุนแรงถึงขั้นใช้กำลัง ซึ่งความขัดแย้งจากการสร้างคันกั้นน้ำเพื่อเบี่ยงมวลน้ำไปยังจุดที่ต้องการโดยฝืนธรรมชาติของน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำที่มีปัญหามาโดยตลอดนั้น สองพรรคการเมืองใหญ่ต่างขั้ว คือ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหรือเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเหล่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพยายามรักษาพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ปลอดภัยจากน้ำท่วมอย่างสุดฤทธิ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัทธ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้พื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ นับแต่อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ต้องพบกับปัญหาน้ำท่วมสูงและท่วมขังยาวนานกว่าปกติ เพราะความพยายามปิดกั้นทางน้ำ การเบี่ยงมวลน้ำให้ลงฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกกรุงเทพฯ โดยไม่ให้น้ำเข้าสู่เขตชั้นในกรุงเทพฯแม้แต่หยดเดียว ทั้งที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในที่ราบลุ่มและเป็นทางผ่านของน้ำลงสู่ทะเล

การเรียกร้องให้ประชาชนนอกคันกั้นน้ำเสียสละและให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำแบบเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ สองมาตรฐานเพื่อรักษาพื้นที่เศรษฐกิจในเขตกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ เพราะพื้นที่ที่น้ำท่วมในเขตจังหวัดรอบนอกก็ถือได้ว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ราบลุ่มภาคกลางเขตปลูกข้าวเพื่อการส่งออก หรือจังหวัดที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมซึ่งทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ที่สำคัญสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะถูกน้ำท่วมหรือไม่ท่วมตามธรรมชาติถูกละเมิดภายใต้ข้ออ้างเพื่อการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยและผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์

ที่สำคัญ นับแต่น้ำท่วมกระทั่งถึงบัดนี้ ไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่าผู้เสียสละที่ถูกเลือกปฏิบัติให้จมน้ำท่วมลึกกว่า นานกว่า นั้น จะได้รับการช่วยเหลือ เยียวยา คุ้มค่าต่อความเสียสละนั้นหรือไม่ เมื่อพื้นที่อื่นน้ำลดลงแล้ว พื้นที่ที่รับน้ำให้นั้นจะได้รับการเร่งระบายน้ำออกไปให้เร็วขึ้นภายในเวลาที่ไม่แตกต่างกันจนเกินไปหรือไม่ เช่น เมื่อพื้นที่อื่นน้ำลดแล้วจุดที่เสียสละรับน้ำให้ก่อนนี้น้ำจะลดลงตามมาภายในสัปดาห์หรืออย่างช้าสองสัปดาห์หรือไม่ เพราะการปิดกั้นทางน้ำนั้นได้สร้างความไม่ยุติธรรมต่อประชาชนตั้งแต่คิดจะทำแล้ว

หากรัฐบาลโดย ศปภ. และกทม. มีคำตอบที่ชัดเจนให้กับประชาชนผู้เสียสละเหล่านั้น ความขัดแย้งคงไม่ปะทุขึ้นจนกลายเป็นม็อบรายวัน เพราะเวลานี้ประชาชนผู้เสียสละได้เรียนรู้ว่า การนิ่งเฉย เป็นประชาชนที่อยู่ใต้โอวาทของรัฐบาลและผู้ว่าฯ กทม.นั้น ไม่มีอะไรดีขึ้นสำหรับพวกเขา แต่หากลุกขึ้นปิดถนน ก่อม็อบ รื้อบิ๊กแบ็ค เพื่อให้น้ำไหลไปจากที่สูงไปที่ต่ำตามธรรมชาติ โอกาสน้ำจะลดลงยังพอมี และเสียงของพวกเขาจะดังและมีคนฟังบ้าง

เมื่อการก่อม็อบได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้จุดประกายให้ประชาชนที่เดือดร้อนลุกขึ้นมาทวงสิทธิและความเป็นธรรม ไม่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่กำลังเกิดลุกลามขึ้นในขณะนี้เท่านั้น แต่ในจังหวัดอื่นๆ เช่น อ่างทอง ลพบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งบางพื้นที่ยังจมน้ำอยู่นานเกือบสองเดือนแล้ว กำลังมีการประสานงานเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการระบายน้ำที่ท่วมขังมานานเช่นกัน

ระยะเวลาการท่วมขังของน้ำจะยาวนานแค่ไหนโดยเฉพาะในเขตจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีซึ่งเชื่อมต่อไปถึงอยุธยาด้วยนั้น เวลานี้รัฐบาลยังไม่กล้าบอกความจริงกับประชาชน

แต่อย่างไรก็ตาม นายรอยล จิตรดอน กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลังงานเสวนาธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการน้ำ จัดโดยคณะกรรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ปริมาณน้ำเหนือยังมาก

อีกทั้งกำลังมีคลื่นกระฉอกหรือปรากฏการณ์คลื่นเซช (Seiche) ขึ้นมาสูงกว่า 40 ซม.คลื่นดังกล่าวเกิดจากกระแสลมที่สมัยก่อนเรียกว่าลมสลาตัน ทำให้น้ำทะเลยังไม่ลดลง จึงระบายน้ำไม่ได้หรือลงไปได้ช้าจากเดิมที่คาดว่าประมาณต้นเดือนพ.ย.จะสามารถระบายน้ำออกได้หมด แต่เมื่อมีคลื่นเซซเข้ามาการระบายน้ำเหนือที่ค้างอยู่ทั้งหมดอย่างช้าสุดจะเป็นสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กทม. กรมชลประทาน ต้องเร่งทำงานให้หนักเพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม ส่วนความไม่เข้าใจของประชาชนในพื้นที่นนทบุรี หรือจังหวัดรอบ กทม.ที่ยังประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังนั้น ต้องมีการชี้แจงและให้ข้อมูลที่แท้จริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจและยอมรับและคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น” นายรอยล กล่าว

ไม่เพียงแต่ไม่มีคำตอบว่าจากปากของนายกรัฐมนตรีและครม.ว่าประชาชนผู้เสียสละในเขตรอบนอกกรุงเทพฯ จะต้องทนน้ำท่วมไปอีกนานแค่ไหน การจ่ายค่าชดเชยให้กับความเสียหายและการเสียโอกาสในการทำมาหากินที่นานกว่าคนอื่น ยังไม่แตกต่างไปจากผู้ที่ถูกน้ำท่วมน้อยกว่า สั้นกว่า โดยเบื้องต้นรัฐบาลจะจ่ายชดเชยให้ครอบครัวละ 5 พันบาท

ขณะที่ในเขตกรุงเทพฯ กลับมีกระแสข่าวว่าผู้ประสบน้ำท่วมจะได้รับการชดเชยที่มากกว่า เร็วกว่า ทั้งที่กรุงเทพฯ นั้นถูกน้ำท่วมทีหลังและท่วมไม่นาน ทั้งยังได้รับการเร่งระบายจนลดลงเป็นปกติในเร็ววัน ยกเว้นเขตที่ติดกับปริมณฑลที่ยังย่ำแย่

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยา ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า มาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยได้กำหนดไว้ 2 ส่วน คือ บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายทั้งหลังจะได้รับเงิน 20,000 บาท และหากเครื่องใช้ในบ้านได้รับความเสียหายจะได้รับเพิ่มอีก 10,000 บาท

ส่วนพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเกิน 7 วันจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ซึ่งในกรณีของเงินช่วยเหลือดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้ฝากไปถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ให้ช่วยเร่งรัดสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนประชาชน และเสนอเรื่องเข้ามาหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติในหลักการไปแล้วเพื่อจะได้ดำเนินการเยียวยาให้ทั้งหมดอย่างทั่วถึง ส่วนรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันออกไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้นั้น ทางแต่ละเขตจะเสนอเรื่องเข้ามายังรัฐบาลเอง ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ

นายกรัฐมนตรี ไม่ได้บอกว่า ได้สั่งการให้ผู้ว่าฯ จังหวัดอื่นๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วมขังเร่งรัดสำรวจความเสียหายและให้รีบเสนอเรื่องเข้ามา และพื้นที่ที่มีความเสียหายแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับการพิจารณาชดเชยเพิ่มเติมหรือไม่ และเมื่อไม่มีคำสั่งการ โอกาสที่ประชาชนในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพฯ จะได้รับการพิจารณาชดเชยเพิ่มเติมคงเป็นไปได้ยาก ไม่ต้องดูอื่นไกลเอาแค่ผู้ว่าฯ เมืองนนท์ ถ้าไม่เจอม็อบลุยจี้ก้นให้เจรจากับกทม.เพื่อเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มป่านนี้คนนนทบุรีคงจมน้ำไปอีกนาน และไม่ต้องฝันไปไกลว่าจะได้รับการเยียวยาพิเศษใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น