“รสนา” ค้านรัฐซื้อนิคมอุตสาหกรรม หลังน้ำลด ชี้ ควรให้ความเท่าเทียมเกษตรกร ประชาชนทั่วไป จี้ แก้ปัญหาน้ำทะลักเมืองกรุงก่อนดีกว่า ติงมัวแต่ตั้งรับ กทม.จมน้ำแน่ หนุนใช้ถนนพร่องน้ำ แต่ต้องไม่ใช่เส้นสำคัญ แนะจ้างชาวบ้านริมคลองเก็บผักตบที่ขวางทางน้ำ
วันนี้ (25 ต.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงมาตรการที่จะฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยหนึ่งในหลายมาตรการ คือ ให้รัฐบาลซื้อนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถฟื้นฟูกิจการต่อได้ ว่า หากรัฐบาลมีมาตรการดังกล่าว ควรคำนึงถึงความเท่าเทียมของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม อาทิ เกษตรกร และประชาชน เพราะบุคคลดังกล่าวได้รับผลกระทบและใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากเช่นกัน ทั้งนี้ ตนขอค้านหากรัฐบาลเตรียมที่จะแก้ไขปัญหาของภาคอุตสาหกรรมก่อนจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ทะลักเข้ามาในพื้นที่ กทม. เพราะตนเชื่อว่าหากรัฐบาลใช้วิธีแบบตั้งรับแบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้ กทม.จะถูกน้ำท่วมแน่นอน อีกทั้งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย และในที่สุดประเทศจะล้มละลาย จนไม่มีเงินที่จะไปฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม ตามที่รองนายกฯ กำหนดเป็นมาตรการ
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ กทม.ที่คลองทวีวัฒนา พบว่า การไหลของน้ำจากต้นทาง คือ คลองภาษีเจริญ และน้ำปลายทาง คือ คลองทวีวัฒนา ยังไม่สมดุลกัน โดยประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา สามารถระบายน้ำได้มากถึง 22 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่กระแสน้ำในคลองไหลช้ามาก คือ 5 กม.ต่อชั่วโมง ทำให้ประชาชนริมคลองได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อท่วมที่พัก
“รัฐบาลต้องเน้นการทำงานเชิงรุก โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม อาทิ จ้างประชาชนริมคลองเข้ามาเก็บผักตบชวาที่ขวางทางน้ำ และเป็นอุปสรรคทำให้น้ำไหลช้า และรัฐบาลต้องหาวิธีผันน้ำในคลอง กทม.ให้เร็วที่สุด อีกทั้งต้องเพิ่มทางน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ เช่น ขุดถนนมอเตอร์เวย์ บางนา-ตราด ให้น้ำได้ระบายลงสู่แม่น้ำ ไม่ใช่ใช้ถนนสายสำคัญ เป็นช่องทางน้ำไหล” ส.ว. กทม.กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า ในวันที่ 26 ต.ค.เวลา 10.00 น.ในการประชุมร่วมร่วมกันของ 3 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วุฒิสภา ได้แก่ กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กมธ.ศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล จะมีการเสนอวาระให้เครือข่ายภาคประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำใน กทม.และเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน สำนักการระบายน้ำ กทม.มาร่วมหารือ และวางแผนการรับมือน้ำเหนือที่ไหลเข้าสู่พื้นที่ กทม.โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลมากเกินไป