xs
xsm
sm
md
lg

กยน.บอกชาวนนท์ ปลง! ชี้ระบายน้ำยาก ลมตีโต้น้ำทะเลสูงขึ้น 40 ซม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยล จิตรดอน (แฟ้มภาพ)
กรรมการยุทธศาสตร์ เผยน้ำไม่ลดหลายพื้นที่ เหตุน้ำทะเลตีกลับสูง 40 ซม. กระทบการระบายน้ำจ่อช้ากว่าเดิม 2-3 อาทิตย์ แฉรัฐปิดปากเพราะกลัวตื่นตระหนก-กระทบการลงทุน บอกคนเมืองนนท์ทำใจได้เลยแช่น้ำอีกนาน แนะชาว “คลองมหาสวัสดิ์” หาเรือปิดปากคลองแก้น้ำไหลย้อนเข้าท่วมพื้นที่



วันที่ 22 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการจัดงานเสวนาธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นการจัดงานร่วมกันของคณะกรรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โดยได้เชิญผู้เข้าร่วมเสวนา เช่น นายรอยล จิตรดอน กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) นายพิสิษฐ์ พิบูลย์ศิริ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสาคร และตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน อาทิ นายสุพจน์ ภูมิใจกุลวัฒน์ ประธานสภาพัฒนาสังคมภาคประชาชน กทม. นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ตัวแทนภาคประชาชนใน จ.นนทบุรี ร่วมพูดคุยปัญหาน้ำท่วมและแนวทางแก้ไข

นายรอยลกล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาว่า จากปัญหาน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ที่ย้อนกลับเข้าท่วมพื้นที่แม้ว่าจะมีการระบายน้ำออกแล้วก็ตาม จึงอยากเสนอให้ชาวบ้านใช้วิธีแก้ปัญหาเหมือนที่เคยใช้กับน้ำในคลองบางเขน คือ การทำหูช้าง ด้วยการใช้เรือขนาดใหญ่ปิดปากคลองบางกอกน้อย เมื่อน้ำทะเลลงก็จะเปิดทางให้น้ำไหล แต่เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงก็จะนำเรือดังกล่าวเคลื่อนมาปิดกั้นทางน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำทะเลไหลเข้าสู่พื้นที่ เบื้องต้นนั้น น.อ.สมัย ใจอินทร์ โฆษกกรมอู่ทหารเรือ ในฐานะคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำของรัฐบาล อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทางกองทัพเรือถึงความเป็นไปได้ ซึ่งหากทำได้จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เช่น อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และพื้นที่ฝั่งตะวันตกของ กทม.

นายรอยลยังได้แสดงความเป็นห่วงถึงปัจจัยที่จะซ้ำเติมสถานการณ์ และอาจจะทำให้เกิดภาวะตื่นตระหนกว่า ในขณะที่ปริมาณน้ำเหนือยังมากอยู่ แต่ก็กำลังจะมีคลื่นกระฉอก หรือปรากฏการณ์คลื่นเซช (Seiche) ขึ้นมาสูงกว่า 40 ซม. ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้น หากไปสำรวจน้ำที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ที่มีน้ำสูงกว่าปกติขึ้นมากว่า 40 ซม. โดยเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนานกว่าที่คาด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกระแสลมที่สมัยก่อนเรียกว่า ลมสลาตัน เดิมทีเราคิดว่าหากลมหนาวมา น้ำทะเลจะลดลง แต่ข้อเท็จจริงพบว่ามีการโต้ลมเหนือกลับคืนไป ทำให้น้ำทะเลยังไม่ลดลง นอกจากนี้ ลมสลาตันที่พบ ถือว่าเกิดขึ้นเป็นปีแรก และจะสร้างผลกระทบหนักในบางพื้นที่ที่ไม่มีป่าชายเลน เช่น ในบางจุดของเขตบางขุนเทียน เพราะป่าชายเลนนั้นสามารถเป็นตัวหน่วงน้ำทะเลช่วงน้ำขึ้นได้

“ข้อมูลนี้ผมเล่าให้ฟังในห้องสัมมนาได้ แต่พอพูดออกสาธารณะ ทุกคนจะตระหนก เราต้องเข้าใจกันก่อนว่า เหตุใดถึงระบายน้ำไม่ได้ ทั้งที่เราตั้งความหวังไว้ที่การเปิดประตูระบายน้ำออกไปทะเล อยู่ดีๆ ลมทางอ่าวไทยได้ตีโต้ และหนุนน้ำทะเลขึ้นมาอีก 40 ซม. ต่อจากนี้ไปเราต้องร่วมกันหาทางออก ภายใต้เงื่อนไขที่แย่กว่าเดิม” นายรอยลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงช่วงดังกล่าว ส.ว.หลายคนที่เข้าร่วมได้ท้วงติงและขอคำชี้แจงถึงเหตุที่ไม่ให้เผยแพร่ ทำให้นายพิสิษฐ์ พิบูลย์ศิริ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสาคร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมได้ เพราะขณะนี้นักลงทุนมาดูพื้นที่ของประเทศไทยเสมอ ซึ่งหากพบว่ามีคลื่นสูงอาจทำให้เกิดปัญหาต่อภาคอุตสาหกรรมได้

สำหรับตัวแทนภาคประชาชนได้สะท้อนความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และเรียกร้องให้ภาครัฐเข้าไปแก้ไขโดยเร็ว ทั้งนี้ นายสรรเสริญ เรืองฤทธิ์ ผู้แทนสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้เป็นไปได้ว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงที่สุดอีกครั้งช่วงวันที่ 27-28 พ.ย.นี้ จึงไม่สามารถที่จะระบายน้ำออกไปจากพื้นที่ได้รวดเร็ว ส่วนปัญหาของพื้นที่ จ.นนทบุรีนั้น ต้องยอมรับว่า จ.นนทบุรีไม่ได้มีการวางแผนรับมือกับน้ำท่วมเหมือน กทม. ดังนั้นอยากขอให้ชาวนนทบุรีอดทน เพราะขณะนี้ทางหน่วยงานได้เร่งหาทางบรรเทาปัญหาอย่างเร่งด่วน

ภายหลังการเสวนา นายรอยลให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ระดับคลื่นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 40 ซม.นั้นไม่ได้สูงคงที่ ยังคงเฉลี่ย 20-30 ซม.ในบางพื้นที่ ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ รับทราบข้อมูล แต่คงไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาใดได้ เพราะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นของน้ำทะเล ดังนั้นผลกระทบจะทำให้การระบายน้ำเหนือในพื้นที่ลงสู่ทะเลเป็นไปได้ช้า จากเดิมที่คาดว่าประมาณต้นเดือน พ.ย.จะระบายน้ำออกไปได้ทั้งหมด แต่เมื่อมีคลื่นเซซเข้ามา จะทำให้ระบายน้ำเหนือที่ค้างอยู่ได้ทั้งหมด ช้าสุดสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค.

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กทม. กรมชลประทาน ต้องเร่งทำงานให้หนักเพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม ส่วนความไม่เข้าใจของประชาชนในพื้นที่ จ.นนทบุรี หรือจังหวัดรอบ กทม.ที่ยังประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังนั้น ต้องมีการชี้แจง และให้ข้อมูลที่แท้จริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจและยอมรับและคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น” นายรอยลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น