xs
xsm
sm
md
lg

ดร.อ้อย-สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ชำแหละกรุงเทพฯ ทำไมทรุด? ทำไมจม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ย้อนกลับไปก่อนหน้าเหตุการณ์มหาอุทกภัย หากมีใครเอ่ยว่า กรุงเทพฯในอนาคตจะกลายเป็นเมืองบาดาลหรือจมอยู่ใต้น้ำ ยังมีน้อยคนนักที่จะปักใจเชื่อ… ทว่าท่ามกลางผู้คนหมู่มากที่ชะล่าใจและไม่เคยคาดคิดว่าวิกฤติน้ำท่วมจะเกิดขึ้นจริง กลับมีกลุ่มคนในแวดวงนักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อม กำลังเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ดร.อ้อย-สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

ในแวดวงนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชื่อของดร.อ้อยได้รับความเชื่อถือทั้งในเรื่องความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น พร้อมลุยแบบถึงไหนถึงกัน เธอมุ่งมั่นกับการรณรงค์ให้คนกรุงเทพฯปั่นจักรยานตั้งแต่ยุคที่จักรยานฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear) ยังไม่กลายเป็นแฟชั่นสุดฮิต เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มักรวมกลุ่มเยาวชน จัดกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างโครงการนักสืบสายลม, นักสืบชายหาด พาเด็กๆไปสำรวจระบบนิเวศน์ตามชายฝั่งทะเล ภูเขา, สำรวจหาอากาศบริสุทธิ์ตามแหล่งต่างๆในเมืองหลวง

ตลอดเวลาหลายสิบปี เธออุทิศตนให้กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว เธอเคยบอกกับเราเมื่อหลายเดือนก่อนว่า กรุงเทพฯ มีโอกาสเกิดวิกฤติน้ำท่วม! …และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เราจึงขอถือโอกาสนำมุมมองการวิเคราะห์ของเธอมาถ่ายทอดแก่ท่านผู้อ่าน ณ ตรงนี้ล้วนๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวเตรียมใจในอนาคตที่อุทกภัยอาจเกิดขึ้นอีก

ถาม ณ ตอนนี้ กรุงเทพมหานครในสายตาของคุณเป็นอย่างไร?

ตอบ คงไม่ต้องสาธยายนะคะว่ามันมีสภาพเลวร้ายยังไง อย่างแรกต้องยอมรับว่า ถ้าพูดถึงกรุงเทพฯ ตอนนี้ คงมีเรื่องใหญ่ที่เราเป็นห่วงกันอยู่ 2-3เรื่อง คือ วิกฤติที่ตั้งของเมืองและวิกฤติน้ำท่วม รวมทั้งวิกฤติโลกร้อนหรือภัยพิบัติที่เกิดจากโลกร้อน หรือเรื่องที่ทะเลรุกแผ่นดินเข้ามาเรื่อยๆ

ในอนาคต ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นหรือปัญหาของน้ำใต้ดินเอง ผิวดิน และตัวตะกอนที่เป็นผิวดิน มันไม่ไหลลงมาถม ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าคนกรุงเทพฯ ต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับเมืองจมน้ำ

หลายๆ คนก็มองไปถึงทางออกแบบวิศวกรรมศาสตร์ เป็นทางออกแข็งๆแบบวิศวะเหมือนเดิม เช่น จะสร้างเขื่อนปิดปากช่องอ่าวไทยตอนในอย่างที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอ แต่ไม่ว่าอย่างไรมันก็เป็นเรื่องที่จะต้องมาหารือกันอย่างจริงจัง

 
   
ภาพจากบล็อคโอเคเนชั่น
ในฐานะที่ดิฉันก็เป็นนักสิ่งแวดล้อม การจะไปสร้างเขื่อนปิดช่องอ่าว มันก็จะไปทำลายระบบนิเวศน์อย่างรุนแรง สิ่งที่ดิฉันอยากเห็นก็คือ มันเป็นเรื่องที่นักวิชาการทุกฝ่ายจะต้องหารือร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะต้องมีเวทีที่ทุกฝ่ายจะมาแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งทางออกที่ดิฉันอยากเห็น ดิฉันก็เชื่อว่า มันต้องเป็นเรื่องของการผสมผสานระหว่างวิธีการที่ต้องสอดคล้องกับระบบนิเวศน์และธรรมชาติของท้องถิ่น

ถาม แล้วปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุดตัว น่าเป็นห่วงแค่ไหน?

ตอบ ตัวอย่างของบริเวณวัดขุนสมุทรจีน ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นอยู่แล้วว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับอะไร แต่ปัญหาของวัดขุนสมุทรจีนก็ยังไม่ใช่ภาวะของวิกฤติโลกร้อน อาจยังมีส่วนแต่ก็ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้น

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เปรียบเสมือน 'กรรมเก่า' มากกว่า เป็นสิ่งที่เราทำมาแล้ว เช่น การสูบน้ำใต้ดิน มีกฏระเบียบไม่ให้ไปขุดกันมั่วซั่ว

แผ่นดินกรุงเทพฯ นั้น เป็นดินตะกอนปากแม่น้ำค่อนข้างเป็นดินใหม่ การอยู่ได้หรือการสะสมของแผ่นดินนั้น เราได้มาจากระบบที่แม่น้ำเจ้าพระยาขนเอาตะกอน นำพาตะกอนธรรมชาติเข้ามามาทางปากอ่าว คราวนี้มันก็ต้องมีปริมาณตะกอนเยอะพอสมควร เพราะมันเป็นการต่อสู้กันระหว่างทะเลกับแผ่นดิน ถ้าตะกอนน้อย ทะเลก็รุกขึ้นมาได้เยอะ ตะกอนเยอะ แผ่นดินก็สร้างเข้าไปได้มันประกอบไปด้วยหลายส่วน

ภาพจากกลุ่มนักสืบสายลม
ถาม ตะกอนธรรมชาติลดน้อยลงหรือหายไปด้วยสาเหตุอะไรบ้าง?

ตอบ ลองมาดูที่ต้นทางกันก่อนว่าตะกอนมันหายไปไหน งานวิจัยที่ทางจุฬาลงกรณ์เคยทำไว้พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของตะกอนไม่ไหลลงมาแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาเราสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ปิดกั้นการเดินทางของตะกอน ปิดกั้นบริเวณปากอ่าว แล้วเมื่อมาเจอกับการทำลายป่าชายเลนตามริมตลิ่ง พวกพืชพรรณธรรมชาติที่อยู่ตามริมตลิ่งซึ่งเป็นตัวดักตะกอนไม่ให้น้ำนำพาตะกอนเหล่านี้ไปได้ก็สูญหายไป เราขาดตัวที่จะคอยเก็บกักสิ่งที่ไหลลงมา แล้วก็ยังมาเจอการก่อสร้างทำนบ ซึ่งดิฉันไม่ได้หมายถึงเขื่อน แต่คือแนวกำแพงกั้นหาดกั้นชายน้ำต่างๆ

สิ่งนี้เองมันจะเปลี่ยนกระแสน้ำ ทำให้กระแสคลื่นเปลี่ยนแปลงแล้วก็เพิ่มกำลังในการกัดเซาะชายฝั่ง ดังนั้น แม้จะสร้างได้ดีแค่ไหนก็ยังมีโอกาสที่กระแสน้ำจะกัดเซาะ และก็ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะเพื่อนบ้านอีกด้วย ถ้าแต่ละคนป้องกันพื้นที่ของตัวเองด้วยวิธีแบบนี้ ก็จะทำให้เกิดปัญหากระแสคลื่นบนชายฝั่งเปลี่ยนแปลงกัดเซาะมากยิ่งขึ้น ซึ่งมันแก้ไม่ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็ต้องรู้ตัวปัญหาก่อนเราจึงจะแก้ไขได้

ต้องยอมรับว่า โดยธรรมชาติดั้งเดิมก่อนที่บรรพบุรุษของเราจะมาตั้งรกรากจนสร้างเมืองขึ้นมานั้น เดิมทีพื้นที่ตรงนี้มันไม่ใช่ที่ที่คนจะมาอยู่ได้ง่ายนัก เพราะว่ามันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ช่วงหน้าน้ำในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่ดอนมันก็จะถูกน้ำท่วมหมด พอหน้าแล้งไม่มีน้ำ ดินก็โผล่

ดังนั้น การจะอยู่ให้ได้ก็ต้องสร้างที่ระบายน้ำ เราจึงต้องมีการขุดคลองกันเยอะแยะ เพื่อให้เราอยู่ได้ ช่วงหน้าแล้งก็มีน้ำใช้ ช่วงหน้าน้ำก็มีน้ำระบายไป ผสมผสานกับวิธีสร้างบ้านเรือนให้สอดคล้อง ซึ่งก็คือการปรับตัวอยู่กับระบบนิเวศน์ อยู่กับพื้นที่น้ำท่วมตามฤดูกาล

ถาม มีแนวทางใดที่จะช่วยบรรเทาวิกฤติเมืองจมน้ำได้?

ตอบ วิธีการแก้ปัญหาของเรา ต้องผสมผสานกับหลายวิธีการ ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ขณะเดียวกันเราก็ต้องเตรียมรับมือกับการผันแปรของภูมิอากาศ ซึ่งก็ไม่มีคำตอบตายตัว เช่น อาจมีแก้มลิงหรือทางระบายน้ำ บางคนอาจเรียกว่าเจ้าพระยา 2 หรืออาจมีทางที่ปล่อยให้น้ำท่วม

และก็ต้องมาดูว่าการอยู่อาศัยของเราเอง จำเป็นจะต้องปรับให้อยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้ไหม ต้องขุดคูคลองเพิ่มมากขึ้นไหม เช่น การขุดประตูระบายน้ำของเรา มีคนศึกษาเรื่องนี้ได้ดีกว่าดิฉัน ดังนั้น ดิฉันจะพูดในภาพกว้างๆ อย่างเรื่องของวิถีชีวิต เราจะปรับตัวกันอย่างไร

โจทย์ใหญ่คือ ถ้าจะรักษาพื้นที่เศรษฐกิจเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในพื้นที่อื่นๆ ดิฉันไม่เชื่อว่าการแก้ปัญหาด้วยรูปแบบเดียวมันจะสามารถช่วยให้แก้ปัญหาหลายอย่างได้ ต้องระวังว่ามันจะไปสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมา

สำคัญที่สุด ดิฉันคิดว่า รัฐบาลต้องอาศัยความกล้า นักการเมืองจะต้องมีวิสัยทัศน์และความกล้าหาญทางการเมือง ในการออกนโยบายที่จะนำพาเราไปสู่การแก้ไขและการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

เรื่องโดย Lady Manager
ภาพโดย ศิวกร เสนสอน
 


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น