"สุขุมพันธุ์" ลงพื้นที่ตรวจ ถ.เพชรเกษม พบระดับน้ำลดลงเล็กน้อย จับตาน้ำก้อนใหม่หากได้เครื่องสูบน้ำจากศปภ.ผันน้ำลงแม่น้ำท่าจีนได้ ซ่อมประตูระบายน้ำ 14แห่งสำเร็จ น้ำใหม่ไม่ทะลักเข้าเส้นทางสายหลักถนนจะแห้งใน 3 สัปดาห์ ส่วน"บางพลัด" รออีก7 วันน้ำแห้ง
เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (10 พ.ย.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ลงพื้นที่ตรวจจุดที่มีน้ำท่วมขัง บริเวณถนนกาญจนาภิเษกตัดถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเขตบางแคและเขตบางบอน โดยทาง กทม.ได้ประกาศให้ทั้งเขตบางแคเป็นพื้นที่อพยพแล้ว และล่าสุดเขตบางบอนบางส่วนได้ประกาศอพยพแล้วเช่นกัน
โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ว่า ขณะนี้ถนนเพชรเกษมน้ำได้ลดลงแล้วเล็กน้อย แต่น้ำก็ได้แผ่ไปในบางพื้นที่แต่ยังช้ามาก โดยยังมีเขตบางขุนเทียน ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ คลองสาน ที่น้ำยังท่วมไม่ถึง นอกจากนี้พื้นที่ฝั่งธนบุรี เช่น บางพลัด ระดับน้ำก็ได้ลดลงเช่นกัน ซึ่งหากกทม. ได้รับมอบเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จากศปภ.ก็สามารถผันน้ำจากคลองภาษีเจริญไปยังคลองมหาชัยไปยังแม่น้ำท่าจีนได้ ซึ่งคาดว่าเครื่องสูบน้ำจะสามารถติดตั้งแล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 วันนี้ หากน้ำใหม่ไม่เข้ามาปริมาณก็น่าจะลดลง จากการเร่งสูบน้ำออก กทม.ฝากความหวังกับกระทรวงเกษตรฯ ในการซ่อมประตูระบายน้ำ 14 แห่ง ที่จะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 13 พ.ย.นี้ หากน้ำใหม่ไม่เข้ามาในเส้นทางหลัก คาดว่าจะแห้งใน 2-3 สัปดาห์
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำท่วมที่อยู่ในพื้นที่จุดอ่อน ซึ่งเป็นจุดที่อยู่นอกอำนาจหน้าที่ของกทม.นั้น ในอนาคตอยากให้ทุกฝ่ายมองวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส ในการพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและนอกพื้นที่ เพราะปัจจุบันมีการแยกอำนาจหน้าที่ออกเป็นหลายฝ่ายหลายองค์กร ไม่สามารถทำงานอย่างบูรณาการได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่นายกฯตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด เพื่อฟื้นฟูประเทศอย่างยั่งยืน แต่ไม่มีคนของกทม. เข้าไปอยู่ในคณะดังกล่าว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการมีจุดเน้นในระดับชาติ ซึ่งการทำงานอาจมีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมาเพื่อดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้ ซึ่งหวังว่าจะมีคนของกทม.เข้าไปร่วมด้วย
นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กดดันให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออกเช่นเดียวกันเพื่อแสดงความรับผิดชอบปัญหาน้ำท้วมว่า ตนไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้ แต่จะทำงานจนนาทีสุดท้ายจนกว่าจะหมดวาระหรือโดนปลดออก ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีคนในพรรคประชาธิปัตย์มาพูดกับตน และเป็นจินตนาการของใครก็ไม่รู้ หากมีคนพูดจริง
"ผมก็ทำหน้าที่ของผม คนที่พูดก็ทำหน้าที่ของเขาไป ทั้งนี้ พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ก็ไม่ได้กำหนดให้การบริหารของพรรคสามารถปลดผู้ว่าฯกทม.ได้ และหากมีใครที่คิดจะเลื่อยขาเก้าอี้ ผมก็ยังสามารถนั่งทำงานกับพื้นได้" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำบริเวณถนนเพชรเกษมยังคงมีปริมาณน้ำท่วมขังสูง 60- 80 ซม. เป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้วและมีแนวโน้มว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งน้ำเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น โดยการลงพื้นที่วันนี้ กทม.ได้นำรถน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพหรือน้ำอีเอ็มมาฉีดในพื้นที่ด้วย เพื่อลดจุลินทรีย์ในน้ำและปรับสภาพน้ำให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังมีชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ที่ไม่อพยพแต่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน และสัญจรไปมาโดยการใช้รถบรรทุกของทหาร หน่วยงานเอกชน ที่เข้ามาให้บริการกับประชาชน รวมถึงเรือรับจ้างอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขยะที่ไม่ได้รับการจัดเก็บ เนื่องจากมีระดับน้ำสูง และเป็นอุปสรรคในการจัดเก็บนั้น ขณะที่ทางเขตก็ได้เร่งเก็บขยะอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเรือเข้ามาทำการจัดเก็บสิ่งปฏิกูลออกจากพื้นที่ อีกทั้งวันนี้ถือเป็นวันแรกที่กทม.จ้างคนในชุมชน ด้วยค่าจ้างวันละ 300 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำที่หน้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสจตุจักรน้ำลดลง 8 ซ.ม. คลองสองลดลง 11 ซ.ม. นอกคันบิ๊กแบ๊กลดลง 10 ซ.ม. และความต่างระหว่างนอกคันและในคันบิ๊กแบ๊กอยู่ที่ 30 ซ.ม. ส่วนหัวน้ำล่าสุดยังอยู่ที่แยกสะพานควาย จตุจักร กำลังเข้าสู่สะพานควายและถนนพระราม 2 น้ำจากเขตบางขุนเทียนหัวน้ำห่างจากถนนพระราม 2 อยู่ 700 เมตร ขณะที่แนวคิดเรื่องบิ๊กแบ๊กด้านตะวันตก จะไม่ดำเนินการแล้ว
ด้านนายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ขณะนี้เครื่องสูบน้ำในอุโมงค์ยักษ์ทุกเครื่องยังทำงานเต็มที่ทุกจุด หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลงในช่วงน้ำทะเลหนุนไม่หนุนสูง จะมีการประเมินอีกครั้งว่าจะเร่งระบายน้ำจากจุดใดลงแม่น้ำเจ้าพระยา
ขณะที่ น.ส.สุรีย์ วัชนะประพันธ์ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ล่าสุด เริ่มดีขึ้นตลอดช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา ระดับน้ำลดลงเฉลี่ยวันละ 10-15 เซนติเมตร โดยระดับน้ำบนถนนจรัลสนิทวงศ์เกือบตลอดทั้งสายเริ่มแห้งจนใกล้ที่จะกลับสู่สภาวะปกติแล้ว โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่เชิงสะพานพระราม 7 เป็นต้นมาทั้งขาเข้าและขาออก ซึ่งรถเล็กสามารถวิ่งได้ตามปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางช่วงของถนนจรัญสนิทวงศ์เท่านั้นที่ยังไม่สามารถระบายน้ำได้ อาทิ จากช่วงโรงพยาบาลยันฮีถึงบริเวณแยกบางพลัดที่จำเป็นต้องใช้รถขนาดใหญ่ ซึ่งทางกทม.จะพยายามอย่างเต็มที่ในการสูบน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด คาดภายใน 7 วันนับจากนี้ สถานการณ์จะกลับสู่ปกติ ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ประสบปัญหา
น.ส.สุรีย์ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่นั้น หลังน้ำเริ่มลด ทางเขตสามารถเก็บขยะได้ถึงกว่า 600 ตันตลอด 8-9 วันที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละ 160 ตัน จากปกติในช่วงน้ำไม่ท่วมที่จัดเก็บได้วันละประมาณ 120 ตัน โดยทางเทศบาลต่างๆ ในจ.ชลบุรีได้ส่งรถเก็บขนขยะและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือกทม.จัดเก็บ ทำให้ล่าสุดขณะนี้สถานการณ์กลับสู่ปกติไม่มีขยะตกค้างส่งกลิ่นเน่าเหม็น โดยเฉพาะตามบริเวณริมถนนจรัญฯ ส่วนกรณีน้ำเน่าเสียในพื้นที่ต่างๆ เขตได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษแจกจ่ายอีเอ็มบอลและฉีดพ่นน้ำยาอีเอ็มอย่างต่อเนื่องจนกว่าปัญหาน้ำท่วมจะคลี่คลาย