xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าอุ้มคนรวย - ช่วยคนจนรอก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ครม.ยิ่งลักษณ์ สร้างภาพรักษาคำสัญญา เดินหน้าเอาใจคนรวย ช่วยคนชั้นกลาง ทั้งขึ้นเงินเดือนหมื่นห้า ยกเว้นภาษีบ้านหลังแรก คืนภาษีรถคันแรก ขณะที่ความหวังคนจนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ยังลูกผีลูกคน

มติคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน และ 20 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่า เป็นปฏิบัติการเดินหน้าอุ้มคนรวย ช่วยคนชั้นกลางอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการและบุคคลากรภาครัฐ การยกเว้นภาษี 5 แสนบาทสำหรับบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท และการคืนภาษีซื้อรถคันแรก 1 แสนบาท เรียกได้ว่าพยายามซื้อใจกันเต็มที่ แต่เมื่อพลิกดูเนื้อในจริงๆ จะพบว่าทำได้ไม่จริงดังคำสัญญาที่หาเสียงไว้

ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ครม.ยิ่งลักษณ์ โชว์การปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ว่าสามารถทำได้ แต่เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่าครม.เห็นชอบในหลักการให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราวที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 1.5 หมื่นบาท ให้ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นรวมรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท

ส่วนการปรับฐานเงินเดือนจริงนั้น ครม.ได้ตีกลับไปให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กลับไปพิจารณาปรับโครงสร้างอัตราบัญชีเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบทุกปี เป็นเวลา 4 ปี จนกว่าฐานเงินเดือนจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทแล้วนำมาเสนอครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป (ดูรายละเอียดในมติครม.)

สรุปชัดๆ ก็คือ เป็นเพียงการปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวเท่านั้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ส่วนเงินเดือนจบปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้นั้นต้องรอการปรับโครงสร้างของ ก.พ.เสียก่อน ถึงจะมีความชัดเจน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่า ต้องการให้กระทรวงการคลังกลับไปทบทวนรายละเอียด และให้กลับไปดูให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ไม่จบปริญญาตรี และส่วนต่างฐานเงินเดือนของผู้ที่จบปริญญาโท ปริญญาเอกด้วย เพราะนโยบายนี้มีผลกระทบต่อคนหลายกลุ่ม

นโยบายขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทจึงไม่ใช่นโยบายที่ทำได้ มีผลทันที แต่ใช้ลูกเล่นประเภทเอาตัวรอดไปก่อนแล้วค่อยตามแก้ไขปัญหาทีหลัง อย่างน้อยก็ได้สร้างภาพว่าทำได้จริง ไม่ได้มีแต่โม้ไปเสียทั้งหมด

เช่นเดียวกันกับนโยบายบ้านหลังแรก ภาษี 0% เป็นเวลา 5 ปี ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล เคยโฆษณาหาเสียงไว้ สุดท้าย มติครม.เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ว่า แต่เป็นการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ที่จะซื้อบ้านหรืออาคารชุด ที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีนิติบุคคลธรรมดา โดยได้รับการยกเว้นสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท (ดูรายละเอียดในมติครม.)

มติครม.ที่ออกมายกเว้นให้จริง กับสิ่งที่หาเสียงไว้ เหมือนหนังคนละม้วน แต่ถือว่าเป็นการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะได้รับอานิสงค์จากนโยบายนั้นกว่า 9 หมื่นยูนิต โดยเฉพาะการขยายมูลค่าที่แต่เดิมจะให้สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ก็ดันขึ้นไปถึง 5 ล้านบาท เป็นการเอาใจผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และลูกค้าชนชั้นกลางในเมืองผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง โดยงานนี้ รัฐบาลควักเงินจากภาษีอากรของประชาชนไปอุดหนุน ประมาณ 1,700 ล้านบาท

ขณะที่นโยบายอุ้มคนรวยช่วยคนชั้นกลาง ก่อนหน้านี้ มติคณะ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 เพิ่งอนุมัติควักเงินงบประมาณประจำปี 2556 จำนวน 30,000 ล้านบาท ไปอุดหนุนโครงการคืนเงินภาษีสำหรับรถยนต์คันแรกในวงเงินรายละไม่เกิน 1 แสนบาท กระตุ้นยอดขายรถยนต์ให้เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งล้านคันโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์รับประโยชน์ไปเต็มๆ ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับนโยบายประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศ

นโยบายเอาใจคนรวยช่วยคนชั้นกลางทั้งปรับเพิ่มค่าครองชีพก่อนปรับฐานเงินเดือน การยกเว้นภาษีซื้อบ้าน ซื้อรถ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นไปตามคำโฆษณทั้งหมด มีรายการแหกตา สับขาหลอกบ้าง แต่ก็ยังมีออกมาให้เห็น แต่สำหรับนโยบายช่วยคนจน โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จนถึงวันนี้ยังลูกผีลูกคน ทำได้ไม่ง่ายเหมือนโม้

ล่าสุด กระทรวงแรงงาน ออกมายืนยันอีกครั้งว่า จะเร่งดำเนินการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ให้ได้ตามนโยบายของรัฐบาล และจะทำให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ และจะให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2554 เหมือนกับการปรับขึ้นค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐที่จบปริญญาตรี

แต่มาตรการของกระทรวงแรงงานที่จะสั่งไปยังแรงงานทุกจังหวัดให้ไปทำความเข้าใจกับคณะอนุกรรมการค่าจ้างทั่วประเทศ หรือคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐ นายจ้างและลูกจ้าง เพื่อขอให้ปรับขึ้นค่าแรงตามนโยบายของรัฐบาลนั้นจะได้ผลหรือไม่ ยังต้องรอติดตามอีกหลายยก เพราะฝ่ายนายจ้าง ผู้ประกอบการ ค้านมาโดยตลอด จนถึงเวลานี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เป็นจริงได้อย่างไร

ถึงแม้ว่า กระทรวงแรงงานจะสั่งการลงไปแต่หากฝ่ายนายจ้างซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคี ไม่เอาด้วยโอกาสที่จะปรับขึ้นค่าแรงก็ยากที่จะเกิดขึ้น การงัดมาตรการสุดท้าย คือ การโหวตลงคะแนน ซึ่งถือเป็นการ “หักคอ” นายจ้าง เพื่อให้นโยบายช่วยคนจน เอาใจฐานเสียงคนชั้นล่างที่อุ้มชูพรรคเพื่อไทยกจริงๆ จะทำได้หรือไม่ ยังต้องรอติดตามกันต่อไป

////////////////////////////////////////

มติครม. 20 กันยายน 2554 ปรับเงินค่าครองชีพชั่วคราว

น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (20ก.ย.) ว่า ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีอัตราเงินเดือน หรืออัตราค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 15,000 บาท ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวปรับเพิ่มขึ้น เมื่อรวมแล้วจะมีรายได้เดือนละ 15,000 บาท

ขณะที่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ที่สำเร็จการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ที่มีอัตราเงินเดือน หรืออัตราค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 9,000 บาท ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมแล้วมีรายได้เดือนละ 9,000 บาท ซึ่งในส่วนนี้ ได้รวมทหารกองประจำการ ซึ่งได้รับเงินเดือนรวมกับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 8,610 บาท ให้ปรับขึ้นเป็น 9,000 บาทด้วย

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 เป็นต้นไป โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จากการปรับเพิ่มในครั้งนี้ จำนวน 649,323 อัตรา ใช้งบประมาณในการดำเนินการจากเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ซึ่งเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 18,864 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ครม.ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กลับไปทบทวนตัวเลขเกี่ยวกับการปรับขึ้นรายได้ของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ที่ได้รับเงินเดือนในอัตราระหว่าง 15,500-20,000 บาท และกรณีผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับข้าราชการที่ปรับขึ้นเงินในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะใช้ในรูปแบบการให้ค่าวิชาการเพิ่มเติมก็ได้ และยังให้ก.พ. พิจารณาการปรับโครงสร้างอัตราบัญชีเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบทุกปี เป็นเวลา 4 ปี จนกว่าฐานเงินเดือนจะอยู่ที่ 15,000 บาท เพื่อนำเสนอให้ครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไป

มติครม. 20 กันยายน 2554 ยกเว้นภาษีบ้านหลังแรก

ครม.ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยยกเว้นเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1)เป็นเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ตามจำนวนที่จ่ายจริง ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

(2)ผู้มีเงินได้มีสิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีเป็นเวลา 5 ปีภาษีต่อเนื่องกัน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

(3)การยกเว้นภาษีจะใช้วิธีการหักค่าลดหย่อน ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถเลือกใช้สิทธิ์ครั้งแรกสำหรับเงินได้ในปีที่ได้โอนกรรมสิทธิ์หรือปีถัดไปก็ได้ โดยสามารถหักเป็นค่าลดหย่อนได้ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 ปี

(4)ผู้มีเงินได้ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แล้วเสร็จ ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2554ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555

(5)ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน

6)ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะได้มีประกาศอธิบดีกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่อไป

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เป็นการลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชน โดยการใช้สิทธิยกเว้นภาษีดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ประมาณ 1,700 ล้านบาท แต่ผลของมาตรการดังกล่าวยังทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น